บทพิลาปมะระเสี่ยในพิธีมุฮัรรอมของชาวมุสลิมนิกายชีอะห์ในประเทศไทย

Main Article Content

ศรัณย์ นักรบ

Abstract

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาสาระสำคัญของพิธีมุฮัรรอม 2) เพื่อบันทึกและวิเคราะห์ทำนองบทพิลาปมะระเสี่ยในเชิงวิชาการดนตรี ผลจากการวิจัยสรุปได้ดังนี้

1) พิธีมุฮัรรอมได้ถูกนำเข้ามาในประเทศไทยโดยชาวเปอร์เซียที่ได้เดินทางเข้ามาค้าขายกับกรุงศรีอยุธยาในสมัยพระเจ้าทรงธรรม สาระสำคัญของการประกอบพิธีกรรมคือการรำลึกถึงมรณกรรมของท่านอิหม่านฮูเซนที่ถูกสังหารอย่างทารุณพร้อมกับครอบครัววงศ์วานรวม 72 คน ณ สมรภูมิหรือดินแดนที่เรียกว่า "กัรบะลาฮ์" ในวันที่ 10 เดือนมุฮัรรอม ฮิจเราะฮ์ศักราชที่ 61 การดำเนินพิธีกรรมได้กำหนดระยะเวลา 10 วัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอเรื่องราวจากเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ซึ่งแบ่งเนื้อหาออกเป็น 12 ตอน รูปแบบการนำเสนอที่สำคัญคือการเล่าเรื่องตามเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ เรียกว่า "ริวาหยัต" หรือ "โร่หย่า" และการขับบทพิลาปเป็นท่วงทำนองต่าง ๆ เรียกว่า "มะระเสี่ย" ซึ่งได้สืบทอดต่อกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงปัจจุบัน โดยไม่สามารถสืบทราบถึงนามผู้ประพันธ์ได้

2) บทพิลาปมะระเสี่ยได้บันทึกในรูปแบบโน้ตดนตรีสากล จากการวิเคราะห์พบว่าการขับบทพิลาปมะระเสี่ยใช้ภาษาฟาร์ซึ ภาษาอูรดู และภาษาอาหรับ มีลักษณะเป็นประโยคทำนองที่ขับร้องซ้ำไปซ้ำมา ประกอบไปด้วยกลุ่มเสียง 5 เสียง 6 และ 7 เสียง ส่วนมากอยู่ในบันไดเสียงงไมเนอร์ และบางส่วนอยู่ในบันไดเสียง 5 เสียงเมเจอร์ โดยไม่มีการจัดลำดับความสำคัญของเสียง บทพิลาปมะระเสี่ยมีลักษณะเป็นแนวทำนองเดียวที่มีช่วงเสียงแตกต่างกันในหลายขั้นคู่ การเคลื่อนที่ของทำนองเป็นลักษณะตามขั้นและข้ามขั้น ทั้งในทิศทางขึ้น ทิศทางลง และทิศทางคงที่ การเอื้อนทำนองเป็นการประดับทำนองที่สำคัญ โดยปรากฏการซ้ำทำนองที่มีลักษณะจังหวะของทำนองที่หลากหลาย

Article Details

Section
Research Articles
Author Biography

ศรัณย์ นักรบ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาดนตรี คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์