การสังเคราะห์งานวิจัยอิทธิพลของกลยุทธ์การจัดการเรียนรู้ของครูและวิธีการเรียนรู้ของนักเรียนที่มีต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาเคมี
คำสำคัญ:
ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาเคมี การสังเคราะห์งานวิจัย การวิเคราะห์อภิมานบทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาคุณลักษณะงานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับกลยุทธ์การจัดการเรียนรู้ของครูและวิธีการเรียนรู้ของนักเรียนที่มีผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาเคมี 2) เพื่อศึกษาค่าขนาดอิทธิพลของงานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับกลยุทธ์การจัดการเรียนรู้ของครูและวิธีการเรียนรู้ของนักเรียนที่มีผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาเคมี และ 3) เพื่อสรุปองค์ความรู้จากการสังเคราะห์งานวิจัยอิทธิพลของกลยุทธ์การจัดการเรียนรู้ของครูและวิธีการเรียนรู้ของนักเรียนที่มีผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาเคมี งานวิจัยที่นำมาสังเคราะห์ 56 เล่ม มีดัชนีมาตรฐาน 82 ค่า เครื่องมือที่ใช้คือแบบบันทึกคุณลักษณะและแบบประเมินคุณภาพงานวิจัย การวิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติบรรยาย ความแปรปรวนแบบทางเดียว ถดถอยพหุคูณและวิเคราะห์ข้อมูลพหุระดับ 2 ระดับ
ผลการวิจัยพบว่า คุณลักษณะงานวิจัยที่สังเคราะห์มีตัวแปรด้านการตีพิมพ์ 8 ตัว ด้านเนื้อหา 7 ตัว ด้านวิธีวิทยาการวิจัย 9 ตัว และด้านคุณภาพงานวิจัย 1 ตัว มีค่าขนาดอิทธิพลเฉลี่ยรวมทั้งหมด เท่ากับ 0.555 และปัจจัยที่มีค่าขนาดอิทธิพลเฉลี่ยมากที่สุดคือ การสอนโดยวิธีอื่น ๆ การสอนโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และพื้นฐานความรู้ในรายวิชาเคมี ตามลำดับ มีตัวแปรคุณลักษณะงานวิจัย 12 ตัวแปรที่ทำให้ค่าขนาดอิทธิพลมีความแตกต่างกัน มีตัวแปรที่ส่งผลต่อขนาดอิทธิพล 19 ตัว ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์พหุคูณเท่ากับ 0.83 โดยที่ตัวแปรทั้งหมดอธิบายความแปรปรวนของขนาดอิทธิพลได้ ร้อยละ 69.1 และความแปรปรวนของค่าขนาดอิทธิพลส่วนใหญ่เกิดจากตัวแปรระหว่างเล่มงานวิจัย
References
กาญจนา แสงอรุณ. (2555). ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความพึงพอใจของนักเรียนต่อการเรียนรู้โดยใช้พืชท้องถิ่นเป็นฐานเรื่องเคมีอินทรีย์. (ปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต). มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.
นงลักษณ์ วิรัชชัย. (2542). การวิเคราะห์อภิมาน(METTA-ANALYSIS). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. (2552). รายงานการสังเคราะห์งานวิจัยเกี่ยวกับคุณภาพการศึกษาไทย : การวิเคราะห์อภิมาน. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
Glass, G. V. (1976). Prymary Secondary and Meta – Analysis of Research. Education Research. 52(07). 117–125.