การเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์การเรียนแบบใช้สื่อออนไลน์และการเรียนแบบปกติในชั้นเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์มหภาค
คำสำคัญ:
การเรียนรู้แบบออนไลน์, ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน, เศรษฐศาสตร์มหภาคบทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเรียนแบบใช้สื่อการสอนออนไลน์กับการใช้สื่อการสอนแบบปกติในรายวิชาเศรษศาสตร์มหภาค ระดับปริญญาตรี เครื่องมือที่ใช้ในการทำวิจัย ประกอบด้วย สื่อการสอนออนไลน์ สื่อการสอนแบบปกติ และแบบทดสอบผลสัมฤทธิ์หลังเรียนจบในแต่ละบทเรียน โดยก่อนนำเครื่องมือทั้งหมดไปใช้เก็บข้อมูลเพื่อการทำวิจัยจะมีการประเมินความถูกต้องและสอดคล้องของทุกเครื่องมือกับวัตถุประสงค์ของเครื่องมือโดยผู้เชี่ยวชาญด้านการสอนและการสร้างสื่อการสอนจำนวน 5 ท่าน ประชากรที่ใช้ในการวิจัย คือ นักศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิชาการบัญชี ที่ลงทะเบียนเรียนในรายวิชาเศรษฐศาสตร์มหภาคใน ปีการศึกษา 1/2562 จำนวน 2 กลุ่มเรียนซึ่งมีนักศึกษาในแต่ละกลุ่ม 27 คนเท่ากัน การวัดผลสัมฤทธิ์การเรียนของสื่อการสอนใช้คะแนนจากการทำแบบทดสอบหลังเรียนจบของนักศึกษาทุกคนในแต่ละบทเรียน โดยทำการวัดผลจากแบบทดสอบหลังเรียนไม่เกิน 1 สัปดาห์หลังเรียนจบแต่ละบทเรียน ค่าสถิติ T-test แบบ Two-tailed ประชากรอิสระ ถูกนำมาใช้ในส่วนของการเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของทั้งสองรูปแบบการเรียน โดยกำหนดค่านัยสำคัญของการทดสอบสมมติฐานทางสถิติเท่ากับ 0.05
ผลการวิจัยพบว่า คะแนนเฉลี่ยของนักศึกษาที่เรียนผ่านสื่อการสอนออนไลน์กับสื่อการสอนแบบปกติมีคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ไม่แตกต่างกันในบทเรียนที่ 4, 5, และ 6 เพราะค่า p-value ของการทดสอบสมมติฐานมีค่ามากกว่าค่านัยสำคัญ (p-value > 0.05) ของการทดสอบสมมติฐานทางสถิติ และ คะแนนเฉลี่ยหลังเรียนของนักศึกษาทั้งสองกลุ่มเรียนแตกต่างกันในเนื้อหาบทที่ 1, 2, 3, 7 และ 8 เพราะค่า p-value ของการทดสอบสมมติฐานมีค่าน้อยกว่าค่านัยสำคัญ (p-value < 0.05) ของการทดสอบสมมติฐานทางสถิติ นอกจากนั้นเมื่อเปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยของแต่ละบทเรียนสามารถสรุปได้ว่า คะแนนของนักศึกษาที่เรียนรู้ร่วมกับการใช้สื่อแบบออนไลน์มีคะแนนเฉลี่ยมากกว่าคะแนนเฉลี่ยของนักศึกษากลุ่มที่ทำการเรียนรู้โดยวิธีแบบปกติในทุกบทเรียนเนื่องจากค่าเฉลี่ยของคะแนนทั้งกลุ่มเรียนของกลุ่มที่เรียนโดยสื่อการสอนออนไลน์มีค่าเฉลี่ยมากกว่าสื่อการสอนแบบปกติ