แนวทางการบริหารจัดการวิสาหกิจชุมชน กลุ่มทอผ้าพื้นเมือง จังหวัดนครพนม

ผู้แต่ง

  • อัญชลี กำริสุ สาขาวิชาการจัดการภาครัฐและภาคเอกชน คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนม
  • เขมิกา ทองเรือง สาขาวิชาการจัดการภาครัฐและภาคเอกชน คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนม
  • สำราญ วิเศษ สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนม

คำสำคัญ:

แนวทางการบริหารจัดการ, วิสาหกิจชุมชน, ผ้าพื้นเมือง

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ศึกษาสภาพปัจจุบันของการบริหารจัดการวิสาหกิจชุมชน กลุ่มทอผ้าพื้นเมือง จังหวัดนครพนม (2) ศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จของการบริหารจัดการวิสาหกิจชุมชน (3) เปรียบเทียบการบริหารจัดการวิสาหกิจชุมชน และ (4) เสนอแนวทางการบริหารจัดการวิสาหกิจชุมชน เป็นการวิจัยแบบผสมผสาน กลุ่มตัวอย่างเชิงปริมาณ ได้แก่ สมาชิกวิสาหกิจชุมชน กลุ่มทอผ้าพื้นเมือง จังหวัดนครพนม ที่จดทะเบียนกับสำนักงานเกษตร จังหวัดนครพนม จำนวน 345 คน ได้มาโดยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบง่ายและกลุ่มตัวอย่างเชิงคุณภาพ โดยการสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลสำคัญ จำนวน 20 คน ได้มาโดยใช้วิธีการเลือกแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถาม สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ การแจกแจงความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน หาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรด้วย สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน และการวิเคราะห์ถดถอยเชิงเส้นพหุคูณ ทดสอบสมมติฐาน โดยใช้สถิติ t-test และ F-test และการสัมภาษณ์ ผลการวิจัยพบว่า (1) สภาพปัจจุบันของของการบริหารจัดการ วิสาหกิจชุมชน กลุ่มผ้าทอพื้นเมือง จังหวัดนครพนม โดยรวมมีการบริหารจัดการอยู่ในระดับมากที่สุด (2) ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จของการบริหารจัดการวิสาหกิจชุมชน กลุ่มทอผ้าพื้นเมือง จังหวัดนครพนมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 เรียงลำดับจากตัวแปรที่มีผลต่อการผันแปรในตัวแปรตามในแบบคะแนนมาตรฐานมากที่สุดไปหาน้อย ดังนี้ ปัจจัยด้านการสนับสนุนและส่งเสริมจากภาครัฐ (X1 Beta = .038) ปัจจัยด้านแรงงาน (X2 Beta = .033) ปัจจัยด้านความเข้มแข็ง (X4 Beta = -.010) (3) การบริหารจัดการวิสาหกิจชุมชน กลุ่มทอผ้าพื้นเมือง จังหวัดนครพนม จำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล โดยรวมและรายด้าน แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (4) แนวทางในการบริหารจัดการวิสาหกิจชุมชน กลุ่มผ้าทอพื้นเมือง จังหวัดนครพนม ได้แก่ กลุ่มควรมีการกำหนดวัตถุประสงค์ ระเบียบข้อบังคับ กฎเกณฑ์ หรือกติกาในการทำงานของกลุ่มเป็นลายลักษณ์อักษรการร่วมกลุ่มต้องสามารถสร้างรายได้ให้แก่สมาชิกกลุ่มได้จริง แบ่งปันผลกำไรให้กับสมาชิกด้วยความยุติธรรม จัดทำเอกสารบันทึกรายรับ-รายจ่าย ไว้อย่างชัดเจนและถูกต้องเหมาะสม ตรวจสอบได้ ผู้นำกลุ่มต้องมีคุณสมบัติความเป็นผู้นำ จัดประชุมสมาชิกอย่างสม่ำเสมอ ตามความเหมาะสมและความจำเป็น เปิดรับสมาชิกใหม่เข้ามาช่วยในเรื่องของการตลาดและลูกค้า สมาชิกมีความสามัคคีและมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมของกลุ่ม ประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มให้เป็นที่รู้จักเพื่อหาตลาดใหม่ ๆ หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องควรเข้ามาส่งเสริมให้ความรู้การบริหารจัดการกลุ่ม อย่างต่อเนื่องและจริงจัง

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2023-05-21

ฉบับ

บท

บทความวิจัย (Research article)