แนวทางการสร้างความร่วมมือในการต่อต้านภัยคุกคามไม่ตามแบบระหว่างราชอาณาจักรไทย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา: กรณีศึกษา เส้นทางเชื่อมต่อระหว่างเชียงราย – หลวงน้ำทา – สิบสองปันนา - เชียงตุง
Main Article Content
Abstract
บทคัดย่อ
การวิจัยเรื่อง “แนวทางการสร้างความร่วมมือในการต่อต้านภัยคุกคามไม่ตามแบบระหว่างราชอาณาจักรไทย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา: กรณีศึกษา เส้นทางเชื่อมต่อระหว่างเชียงราย - หลวงน้ำทา - สิบสองปันนา - เชียงตุง” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากลไก และกรอบความร่วมมือในการต่อต้านภัยคุกคามไม่ตามแบบระหว่าง ราชอาณาจักรไทย และประเทศเพื่อนบ้าน ตลอดจนปัจจัยที่ส่งผลต่อความร่วมมือในการต่อต้านภัยคุกคามไม่ตามแบบระหว่างประเทศ เพื่อเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย และแนวทางปฏิบัติเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการต่อต้านภัยคุกคามไม่ตามแบบระหว่างราชอาณาจักรไทย และประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่บนเส้นทางเศรษฐกิจสาย North - South Economic Corridor
ผลการวิจัย พบว่า รูปแบบของภัยคุกคามความมั่นคงไม่ตามแบบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เป็นภัยที่มีลักษณะข้ามชาติไม่ได้เกิดในประเทศไทยเพียงประเทศเดียว แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นมีต่อประเทศไทยสูงในบางเรื่อง ซึ่งเป็นผลจากลักษณะของแต่ละพื้นที่ และประเทศเพื่อนบ้านที่เผชิญปัญหาที่แตกต่างกันไป ดังนั้นปัญหาเหล่านี้จึงไม่สามารถที่จะแก้ไขโดยประเทศใดประเทศเดียว และด้วยกลไกของประเทศที่เป็นภาครัฐอย่างเดียวเท่านั้น จึงเกิดช่องว่างที่การศึกษาฉบับนี้ เสนอให้มีการใช้ความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในการเข้ามามีส่วนร่วมในความร่วมมือเพื่อต่อต้านกับปัญหาดังกล่าว
ปัญหาที่พบในพื้นที่ในปัจจุบัน ได้แก่ ยาเสพติด แรงงานผิดกฎหมาย การลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย การทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ธุรกิจผิดกฎหมาย สินค้าหนีภาษี และการฟอกเงิน ซึ่งงานวิจัยฉบับนี้ให้ความสำคัญกับสามปัญหาหลักที่เกิดขึ้นมากในพื้นที่ คือ ปัญหายาเสพติด แรงงานผิดกฎหมาย/ การลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย และการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ เมื่อลงพื้นที่ศึกษาตามเส้นทางที่ผ่าน สปป.ลาว และเมียนมานั้น ทั้งสองประเทศมองปัญหาที่แตกต่างจากไทย โดย สปป.ลาว มองปัญหาอิทธิพลจากชาติมหาอำนาจในพื้นที่ ส่วน เมียนมา ก็ให้ความสำคัญกับการปราบปรามชนกลุ่มน้อยภายในประเทศมากกว่าของไทย แสดงให้เห็นถึงการเคลื่อนของปัญหาด้านความมั่นคงที่ส่งผลต่อความมั่นคงระดับประเทศ (National Security) สู่การให้ความสำคัญของปัญหาที่ส่งผลในระดับความมั่นคงของมนุษย์ (Human Security) มากขึ้น และที่สำคัญอิทธิพลของชาติมหาอำนาจที่ผ่านนโยบายเศรษฐกิจ ที่จะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของประชาชนและประเทศในระยะยาว
ข้อเสนอแนะจากการวิจัย แนวทางการสร้างความร่วมมือในการต่อต้านภัยคุกคามไม่ตามแบบระหว่างประเทศนั้น ต้องมีการปรับขีดความสามารถในการแก้ปัญหาภัยคุกคามไม่ตามแบบของแต่ละประเทศให้อยู่ในระนาบเดียวกัน มีมุมมองในปัญหาภัยคุกคามไม่ตามแบบไปในทิศทางที่สอดคล้องกัน เพื่อเป็นจุดร่วมในการสร้างความร่วมมือบนเส้นทาง North - South Economic Corridor