รูปแบบการจัดภารกิจการบินแบบใหม่ของเครื่องบินลำเลียงกองทัพอากาศ New Flight Mission Management Model of The Royal Thai Air Force Transport Aircraft
Main Article Content
บทคัดย่อ
การวิจัยเชิงพรรณนานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อออกแบบรูปแบบการจัดภารกิจการบินแบบใหม่ให้กับเครื่องบินลำเลียงของกองทัพอากาศ และศึกษาผลลัพธ์การใช้รูปแบบการจัดภารกิจการบินแบบใหม่ให้กับเครื่องบินลำเลียงของกองทัพอากาศ ได้แก่ ค่าใช้จ่ายรวมในการบิน และเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายรวมในการบินก่อน และหลังใช้รูปแบบการจัดภารกิจการบินแบบใหม่ กลุ่มตัวอย่างเลือกแบบเฉพาะเจาะจงที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ โดยเป็นภารกิจที่สามารถเปลี่ยนแบบเครื่องบินได้ ใช้เครื่องบินแบบที่ 1, 2, 3, 4, 5 และ6 และเริ่มต้นจากฐานทัพอากาศดอนเมือง กองบิน 6 เท่านั้น มีจำนวนทั้งสิ้น 1,025 ภารกิจ โดยเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยแบบบันทึกการจัดบิน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2558 นำข้อมูลที่ได้มาจัดบินด้วยรูปแบบการจัดภารกิจการบินแบบใหม่ และวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา เปรียบเทียบค่าใช้จ่ายรวมก่อนและหลังการใช้รูปแบบการจัดภารกิจการบินแบบใหม่ด้วยสถิติ Paired Sample t-test และ Wilcoxon Sign Rank test
ผลการวิจัยพบว่าลักษณะของรูปแบบการจัดภารกิจการบินแบบใหม่ ซึ่งคำนึงถึง การประหยัดค่าใช้จ่ายเป็นเกณฑ์หลัก มีการเรียงลำดับภารกิจที่มีระยะทางบินจากมากที่สุดไปหาน้อยที่สุด และเลือกใช้เครื่องบินที่มีค่าความสิ้นเปลืองโดยประมาณต่อ 1 ชั่วโมง ต่ำที่สุดเป็นลำดับแรก สามารถลดค่าใช้จ่ายรวมได้ถึงร้อยละ 20.4 และเมื่อเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยค่าใช้จ่ายรวมของรูปแบบการจัดภารกิจการบินแบบใหม่กับรูปแบบการจัดภารกิจการบินแบบเดิมพบว่าลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ p <.05
คำสำคัญ: การจัดภารกิจการบิน, เครื่องบินลำเลียงกองทัพอากาศ, ต้นทุนการขนส่ง