การแก้ปัญหาการเขียนเชิงวิชาการโดยใช้กระบวนการสืบสอบร่วมกับ เทคนิคการให้ข้อมูลย้อนกลับของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1/7 โรงเรียนโยธินบูรณะ
คำสำคัญ:
การเขียนเชิงวิชาการ, กระบวนการสืบสอบ, การให้ข้อมูลย้อนกลับบทคัดย่อ
รายงานการวิจัยเชิงปฏิบัติการในชั้นเรียนครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) วิเคราะห์สภาพปัญหาในชั้นเรียนของนักเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1/7 ปีการศึกษา 2561 โรงเรียนโยธินบูรณะ 2) พัฒนานวัตกรรมในการนำมาแก้ปัญหาการเขียนเชิงวิชาการ 3) ศึกษาผลการนำกระบวนการสอบสืบร่วมกับเทคนิคการให้ข้อมูลย้อนกลับไปใช้ในการแก้ปัญหาการเขียนเชิงวิชาการ กลุ่มเป้าหมายในการวิจัยในการสำรวจสภาพปัญหาในชั้นเรียน ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1/7 โรงเรียนโยธินบูรณะ ปีการศึกษา 2561 กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการแก้ปัญหาจำนวน 4 คน ซึ่งไม่ผ่านเกณฑ์การประเมินทักษะการเขียนเชิงวิชาการ วิธีดำเนินการวิจัย ผู้วิจัยกำหนดการดำเนินการวิจัย 3 ระยะ ระยะที่ 1 การวิเคราะห์สภาพปัญหาในชั้นเรียน ระยะที่ 2 การพัฒนานวัตกรรมไปใช้แก้ปัญหาการเขียนเชิงวิชาการ และระยะที่ 3 การศึกษาผลการนำกระบวนการสืบสอบร่วมกับเทคนิคการให้ข้อมูลย้อนกลับไปใช้แก้ปัญหาการเขียนเชิงวิชาการ ผลการวิจัยพบว่า ระยะที่ 1 การวิเคราะห์สภาพปัญหาในชั้นเรียน ปัญหาที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1/7 คือ ปัญหาการเขียนเชิงวิชาการ นักเรียนไม่ผ่านเกณฑ์การประเมินร้อยละ 70 ที่ผู้วิจัยกำหนด จำนวน 4 คน จากจำนวนนักเรียนทั้งหมด 38 คน ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อตัวนักเรียน ได้แก่ ทักษะการเรียนรู้ด้านการเขียน นักเรียนไม่สามารถเขียนนำเสนองานในลักษณะการเขียนเชิงวิชาการได้ สำหรับผลกระทบต่อผู้วิจัยซึ่งเป็นผู้สอนในรายวิชาภาษาไทยทำให้การจัดการเรียนรู้ไม่เป็นไปตามแผนการจัดการเรียนรู้ที่ผู้วิจัยกำหนด สาเหตุของปัญหาเกิดจากปัญหาทั้งด้านนักเรียน นักเรียนขาดการไตร่ตรองคัดเลือกข้อมูลที่น่าเชื่อถือ การเรียบเรียงความคิดเพื่อนำเสนองานเขียน และด้านครูผู้สอนในระดับที่ผ่านมาไม่ได้สอนหลักการเตรียมการเขียน การฝึกพัฒนาความคิดของนักเรียนให้นักเรียนได้แสวงหาความรู้ด้วยตนเอง ระยะที่ 2 การพัฒนานวัตกรรมไปใช้แก้ปัญหาการเขียนเชิงวิชาการ นวัตกรรมที่เหมาะสมในการแก้ปัญหาการเขียนเชิงวิชาการ ได้แก่ กระบวนการสืบสอบร่วมกับเทคนิคการให้ข้อมูลย้อนกลับ โดยผ่านการตรวจสอบความสอดคล้องของนวัตกรรมจากผู้เชี่ยวชาญทั้ง 3 ท่าน มีค่าความสอดคล้องที่ 0.86 ระยะที่ 3 ผลการศึกษาการนำกระบวนการสืบสอบร่วมกับเทคนิคการให้ข้อมูลย้อนกลับไปใช้แก้ปัญหาการเขียนเชิงวิชาการ พบว่า นักเรียนที่มีปัญหาความสามารถการเขียนเชิงวิชาการ จำนวน 4 คน ผ่านเกณฑ์การประเมินร้อยละ 70 ที่ผู้วิจัยกำหนดไว้ทุกคน
References
กระทรวงศึกษาธิการ, สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (2551). ตัวชี้วัดและหลักสูตรการเรียนรู้แกนกลางกลุ่ม สาระการเรียนรู้ภาษาไทยตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.
ทิศนา แขมมณี. (2560). ศาสตร์การสอนองค์ความรู้เพื่อการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ (พิมพ์ครั้งที่ 21). กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
สนม ครุฑเมือง. (2550). การเขียนเชิงวิชาการ (พิมพ์ครั้งที่ 2). นครสวรรค์: นิวเสรีนคร.
Ryan et al. (2014). Good Feedback Practices Prompts and guidelines for reviewing and enhancing feedback for students. The University of Melbourne.
Valerie, J. (2007). Focous on Formative Feedback. Educational Testing Service.
Whitaker, A. (2009). Academic Writing Guide. Slovakia: Seattle.