ปัญหาเกี่ยวกับสถานะของนักเรียนเดินเรือพาณิชย์ที่อยู่ในระหว่างการฝึกภาคทะเลในเรือสินค้า
คำสำคัญ:
สถานะ, นักเรียนฝึก, คนประจำเรือ, ค่าจ้าง, กฎหมายแรงงานทางทะเลบทคัดย่อ
การผลิตบุคลากรด้านพาณิชยนาวีเพื่อไปปฏิบัติงานเป็นนายประจำเรือบนเรือเดินทะเลในสถาบันการศึกษาของไทยมีกระบวนการในการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรระยะยาว ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติทางทะเล ซึ่งจะต้องได้รับการรับรองจากกรมเจ้าท่าและสอดคล้องกับข้อกำหนดของอนุสัญญา STCW อันเป็นอนุสัญญาระหว่างประเทศที่ออกโดยองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) ผู้สำเร็จการศึกษาจึงจะมีคุณสมบัติเข้ารับการสอบประกาศนียบัตรนายประจำเรือของเรือเดินทะเลระหว่างประเทศ ขนาด 500 ตันกรอสหรือมากกว่า โดยในส่วนของภาคปฏิบัตินั้นนักเรียนเดินเรือพาณิชย์จะต้องลงฝึกปฏิบัติภาคทะเลบนเรือสินค้าเป็นระยะเวลา 1 ปี ในฐานะผู้ฝึกหัดหรือนักเรียนฝึก (Cadet) ซึ่งมีหน้าที่ศึกษาเรียนรู้จากการปฏิบัติงานจริงบนเรือ (On the job Training) เสมือนหนึ่งเป็นคนประจำเรือที่ปฏิบัติงานอยู่บนเรือเป็นประจำอย่างต่อเนื่องตามที่ได้ระบุไว้ในข้อตกลงการจ้างงานของคนประจำเรือ แต่เนื่องจากการฝึกภาคทะเลในเรือสินค้าของนักเรียนเดินเรือพาณิชย์เป็นการฝึกปฏิบัติงานที่มีความยากลำบาก ต้องเผชิญกับคลื่นลมมรสุมและมีสภาพแวดล้อมในการปฏิบัติงานที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายในระดับที่สูงซึ่งนับได้ว่ามีความแตกต่างไปจากการฝึกงานบนบกอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น จึงมีปัญหาเกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองนักเรียนเดินเรือพาณิชย์ที่อยู่ในระหว่างการฝึกภาคทะเลในเรือสินค้าว่าจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานทางทะเลฉบับปัจจุบันหรือไม่ อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุหรือมีอาการเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากการฝึกปฏิบัติงานบนเรือ ในการนี้ผู้เขียนจึงมีข้อเสนอแนะให้มีการกำหนดประกาศกระทรวงแรงงานที่กำหนดเกี่ยวกับการได้รับค่าตอบแทนหรือค่าจ้างของนักเรียนฝึกเพื่อให้สถานะของนักเรียนเดินเรือพาณิชย์ที่อยู่ในระหว่างการฝึกภาคทะเลในเรือสินค้ามีความชัดเจนว่าเป็น “คนประจำเรือ” หรือ “ลูกจ้าง” ที่จะมีสิทธิได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานทางทะเลฉบับปัจจุบัน หรือให้มีการปรับปรุงแก้ไขบทบัญญัติตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558 ในส่วนของนิยามคำว่า “คนประจําเรือ” ให้รวมถึงนักเรียนฝึกบนเรือด้วย ไม่ว่าจะได้รับค่าจ้างหรือไม่ก็ตาม ทั้งนี้เพื่อให้นักเรียนฝึกบนเรือได้รับความคุ้มครองอย่างเป็นธรรม อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนและส่งเสริมให้การศึกษาด้านพาณิชยนาวีของไทยมีความเจริญก้าวหน้าและยั่งยืนต่อไปอีกด้วย
Downloads
เผยแพร่แล้ว
ฉบับ
บท
License
ผลงานที่ตีพิมพ์ในวารสารกฎหมายขนส่งและพาณิชยนาวีเป็นลิขสิทธิ์ของวารสารกฎหมายขนส่งและพาณิชยนาวี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และวารสารกฎหมายขนส่งและพาณิชยนาวี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สงวนสิทธิในการเผยแพร่ผลงานที่ตีพิมพ์ในแบบรูปเล่มและทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์อื่นใด
บทความหรือข้อความคิดเห็นใด ๆ ที่ปรากฏในวารสารกฎหมายขนส่งและพาณิชยนาวีเป็นความรับผิดชอบของผู้เขียนโดยเฉพาะ โครงการสถาบันกฎหมายขนส่งและพาณิชยนาวี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และบรรณาธิการไม่จําเป็นต้องเห็นด้วยหรือร่วมรับผิดชอบ