การแปลและการตรวจสอบมาตรวัดการซื้อด้วยความตื่นตระหนกฉบับภาษาไทย
คำสำคัญ:
การซื้อด้วยความตื่นตระหนก, การวิเคราะห์ปัจจัยเชิงสำรวจ, มาตรวัดการซื้อ, โควิด 19, ไวรัสโคโรนาบทคัดย่อ
บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อแปลมาตรวัดการซื้อด้วยความตื่นตระหนกจากฉบับภาษาอังกฤษเป็นฉบับภาษาไทย และ 2) เพื่อตรวจสอบข้อกระทง ความเชื่อมั่น และความเที่ยงตรงของมาตรวัดการซื้อด้วยความตื่นตระหนกฉบับภาษาไทย กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในขั้นการแปลมาตรวัดมีจำนวน 10 คน อายุเฉลี่ย 26.90 ปี (SD = 4.99) กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในขั้นการตรวจสอบมาตรวัดมีจำนวน 351 คน อายุเฉลี่ย 36.21 ปี (SD = 9.28) ผู้วิจัยเก็บข้อมูลผ่านระบบออนไลน์ในรูปแบบของ Google Form เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ มาตรวัดการซื้อด้วยความตื่นตระหนก สถิติที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าสหสัมพันธ์ของคะแนนรายข้อกับคะแนนรวมทั้งฉบับ ค่าแอลฟาของครอนบาคเมื่อลบข้อกระทงนั้นออก ค่าแอลฟาของครอนบาค ค่าโอเมก้าของแมคโดนัล ค่าแรมด้าของกัตท์แมน และการวิเคราะห์ปัจจัยเชิงสำรวจ วิเคราะห์ข้อมูลโดยโปรแกรม SPSS และโปรแกรม JASP
ผลการวิจัยจากวัตถุประสงค์ข้อที่ 1 พบว่ามาตรวัดการซื้อด้วยความตื่นตระหนกที่ได้รับการแปลเป็นฉบับภาษาไทย จำนวน 7 ข้อกระทง มีความสอดคล้องกับบริบทของวัฒนธรรมไทย ภาษาที่ใช้เข้าใจง่าย มีความเหมาะสม และมีความถูกต้อง ผลการวิจัยจากวัตถุประสงค์ข้อที่ 2 พบว่า 1) ข้อกระทงของมาตรวัดการซื้อด้วยความตื่นตระหนกมีค่าเฉลี่ยตั้งแต่ 4.57 ถึง 5.60 และมีค่าสหสัมพันธ์ของคะแนนรายข้อกับคะแนนรวมทั้งฉบับตั้งแต่ 0.78 ถึง 0.88 2) ด้านความเชื่อมั่น มาตรวัดการซื้อด้วยความตื่นตระหนกทั้งฉบับมีค่าแอลฟาของครอนบาค (α) เท่ากับ 0.95 ค่าโอเมก้าของแมคโดนัล (ω) เท่ากับ 0.96 และค่าแรมด้าของกัตท์แมน (λ) เท่ากับ 0.95 3) ด้านความเที่ยงตรง มาตรวัดการซื้อด้วยความตื่นตระหนกมี 1 องค์ประกอบ ซึ่งมีค่าเฉพาะ (eigenvalue) เท่ากับ 5.50 โดยมีค่าร้อยละของความแปรปรวนที่สามารถอธิบายได้ 78.56 นอกจากนี้ยังพบว่า ค่าถ่วงปัจจัย (factor loading) ของแต่ละข้อกระทงของมาตรวัดการซื้อด้วยความตื่นตระหนกมีค่าตั้งแต่ 0.79 ถึง 0.91 กล่าวโดยสรุปได้ว่า ค่าสถิติจากผลการวิเคราะห์ข้อมูลแสดงให้เห็นถึงคุณภาพของมาตรวัดการซื้อด้วยความตื่นตระหนกฉบับภาษาไทยในระดับมีมาตรฐาน