หลักกฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง ตามพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำความผิด ในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. 2565
คำสำคัญ:
การกระทำความผิดซ้ำ, การลงโทษย้อนหลัง, มาตรการภายหลังพ้นโทษบทคัดย่อ
ปัจจุบันรูปแบบกระทำความผิดที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับเพศ หรือคดีที่มีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ทั้งก่อให้เกิดผลเสียหายต่อสังคม และครอบครัวของผู้ถูกกระทำ ผู้ก่อเหตุบางส่วนแม้จะถูกลงโทษที่เหมาะสม และรุนแรงตามกฎหมายแล้ว แต่เมื่อถูกจำคุก พ้นโทษ และได้รับการปล่อยตัวสู่สังคม ก็อาจมีการกลับมากระทำความผิดซ้ำได้อีก แม้จะมีกระบวนการในการติดตามจากเจ้าหน้าที่ แต่การติดตามดังกล่าวยังไม่มีสภาพบังคับเป็นกฎหมาย และไม่มีประสิทธิผลในการป้องกันการกระทำ ผู้กระทำความผิดซ้ำส่งผลให้ผู้กระทำความผิดส่วนหนึ่งมีแนวโน้มที่จะกระทำความผิดในรูปแบบเดียวกัน หรือรูปแบบใกล้เคียงกันซ้ำอีกเพิ่มขึ้น จึงมีการกำหนดหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. 2565 เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพเพื่อป้องกัน และเฝ้าระวังการก่ออาชญากรรม และสร้างความปลอดภัยให้สังคม ลดปัญหาในการกระทำความผิดซ้ำ แต่บทบังคับตามบทเฉพาะกาล มาตรา 43 ที่ใช้บังคับแก่คดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาล และมีการปล่อยตัวนักโทษเด็ดขาดตามความผิดที่ระบุไว้ในมาตรา 3 อยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ทำให้พระราชบัญญัติฉบับนี้มีโทษย้อนหลังแก่ผู้กระทำความผิด เพราะในวันที่ตนได้กระทำความผิดยังไม่มีมาตรการต่าง ๆ ตามพระราชบัญญัตินี้ ตามหลักของกฎหมายอาญา การนำพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. 2565 บทเฉพาะกาล มาตรา 43 มาบังคับใช้กับคดีที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาอาจส่งผลกระทบต่อผู้กระทำความผิด ก่อให้เกิดปัญหาทางกฎหมายและส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของผู้นั้นได้ ผู้เขียนเห็นว่า ให้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. 2565 ในบทเฉพาะกาลมาตรา 43 เพื่อไม่ให้ขัดกับหลักกฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง และเพื่อให้กฎหมายเป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดให้นำมาบังคับใช้กับผู้ที่กระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ หรือกรณีที่ใช้ความรุนแรงตามที่ระบุไว้ในมาตรา 3 ภายหลังที่กฎหมายมีการบังคับใช้ เพื่อลดปัญหาในการตีความ และการบังคับใช้กฎหมายให้มีความชัดเจน