ความต้องการสมรรถนะด้านแรงงานและการผลิตกำลังคนสู่ตลาดแรงงานในจังหวัดเชียงใหม่

Main Article Content

ดารณีย์ พยัคฆ์กุล
ชวลิต ขอดศิริ

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา 1) ความต้องการของตลาดแรงงานในจังหวัดเชียงใหม่
2) การผลิตกำลังคนสู่ตลาดแรงงานในจังหวัดเชียงใหม่ และ 3) สมรรถนะของแรงงานที่ผู้ประกอบการต้องการ เป็นการวิจัยแบบผสมผสาน (Mixed methodology) ซึ่งใช้ระเบียบวิธีวิจัยแบบผสมผสานระหว่างวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) และวิธีการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative) กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการศึกษา ประกอบด้วย หน่วยงานราชการที่มีข้อมูลความต้องการแรงงานในจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 2 แห่ง และสถานศึกษาที่เปิดหลักสูตรการเรียนการสอนระดับอาชีวศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่จำนวน 19 แห่ง และสถานประกอบการในจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 4 แห่ง ใช้เครื่องมือแบบสอบถามข้อมูลเชิงปริมาณ วิเคราะห์ผลข้อมูลเป็นค่าร้อยละ และจัดเรียงอันดับ แล้วนำเสนอในรูปตารางประกอบคำอธิบายสำหรับแบบสัมภาษณ์ใช้ในการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพวิเคราะห์ข้อมูลเป็นการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) ผลการวิจัยพบว่า


  1. ความต้องการของตลาดแรงงานในจังหวัดเชียงใหม่ มีจำนวนทั้งสิ้น 9,314 คน ในประเด็นข้อมูลความต้องการของตลาดแรงงานจำแนกตามระดับการศึกษา พบว่า ลำดับที่ 1 คือ ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือต่ำกว่า จำนวน 4,120 คน คิดเป็นร้อยละ 44.23 ลำดับที่ 2 คือ ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) จำนวน 2,219 คน คิดเป็นร้อยละ 23.82 ลำดับที่ 3 ระดับปริญญาตรี จำนวน 1,678 คน คิดเป็นร้อยละ 18.02 และลำดับที่ 4 คือ ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) จำนวน 1,252 คน คิดเป็นร้อยละ 13.44 ลำดับที่ 5 คือ อื่น ๆ ไม่ระบุระดับการศึกษา จำนวน 45 คน คิดเป็นร้อยละ 0.48

  2. การผลิตกำลังคนสู่ตลาดแรงงานจำแนกตามประเภทวิชา พบว่า ลำดับที่ 1 คือ ประเภทวิชาอุตสาหกรรม จำนวน 11,509 คน คิดเป็นร้อยละ 50.96 ลำดับที่ 2 คือ ประเภทวิชาพาณิชยกรรม/บริหารธุรกิจ จำนวน 5,584 คน คิดเป็นร้อยละ 24.73 ลำดับที่ 3 คือ ประเภทวิชาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จำนวน 1,756 คน คิดเป็นร้อยละ 7.78 ลำดับที่ 4 คือ ประเภทวิชาเกษตรกรรม จำนวน 1,271 คน คิดเป็นร้อยละ 6.63 ลำดับที่ 5 คือ ประเภทวิชาคหกรรม จำนวน 1,016 คน คิดเป็นร้อยละ 4.50 ลำดับที่ 6 คือ ประเภท วิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จำนวน 804 คน คิดเป็นร้อยละ 3.56 ลำดับที่ 7 คือ ประเภทวิชาศิลปกรรม จำนวน 627 คน คิดเป็นร้อยละ 2.78 และลำดับที่ 8 คือ ประเภทวิชาประมง จำนวน 17 คน คิดเป็นร้อยละ 0.78 และประเภทวิชาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ไม่มีข้อมูลการผลิตกำลังคน

  3. การวิเคราะห์สมรรถนะของแรงงานที่ผู้ประกอบการต้องการ พบว่า ผู้ประกอบการให้ความสำคัญในด้านสมรรถนะทั้ง 8 ด้าน โดยจัดเรียงอันดับความสำคัญที่ 1 คือ ทักษะการอ่าน การเขียน การพูด ภาษาต่างประเทศ อันดับความสำคัญที่ 2 คือ ทักษะการเรียนรู้เพื่อพัฒนาอาชีพ อันดับความสำคัญที่ 3 คือ ทักษะด้านความเข้าใจ ความต่างวัฒนธรรมและความต่าง ด้านความคิด ทัศนคติ อันดับความสำคัญที่ 4 คือ ทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณและ การแก้ปัญหา อันดับความสำคัญที่ 5 คือ ทักษะด้านความร่วมมือ การทำงานเป็นทีม และภาวะผู้นำ อันดับความสำคัญที่ 6 คือ ทักษะด้านการสื่อสารและรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศ อันดับความสำคัญที่ 7 คือ ทักษะด้านคอมพิวเตอร์ การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และอันดับความสำคัญที่ 8 คือ ทักษะด้านการสร้างสรรค์นวัตกรรม เป็นต้น

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. (2559). คนเก่งสร้างได้ : อารยโมเดลสมรรถนะ KSL31220. กรุงเทพฯ: ซัคเซสมีเดีย.
ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ. (2559). มอบนโยบายผู้บริหารสถานศึกษาอาชีวศึกษาภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ.วันที่สืบค้น 30 พฤษภาคม 2564 จาก https://bit.ly/3uzfflZ
บุญเดิม พันรอบ. (2553). แนวคิดความต้องการแรงงาน.เอกสารประกอบการสอนรายวิชาการวางแผนการสรรหาและการคัดเลือก. พระนครศรีอยุธยา: คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา.
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. (2560). แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560-2579. กรุงเทพฯ: พริกหวานกราฟฟิค.
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. (2561). รายงานการวิจัย อนาคตภาพของการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาตามความต้องการของตลาดแรงงานและทิศทางการพัฒนาประเทศ. นนทบุรี: 21เซ็นจูรี่.