การเปรียบเทียบคำลักษณนามในภาษาไทย 4 ถิ่น
คำสำคัญ:
ภาษาไทยถิ่น, คำลักษณนามบทคัดย่อ
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาคำลักษณนามในภาษาไทยถิ่น 4 ถิ่น ได้แก่ ภาษาไทยถิ่นเหนือ ภาษาไทยถิ่นอีสาน ภาษาไทยกลาง และภาษาไทยถิ่นใต้ โดยเปรียบเทียบความเหมือนและความแตกต่างของคำลักษณนามทั้ง 4 ถิ่น ตลอดจนศึกษาโลกทัศน์ของคนไทย 4 ภาคที่สะท้อนจากคำลักษณนามที่ใช้ในภาษาเพื่อให้เกิดความเข้าใจกระบวนการคิด การรับรู้ ตลอดจนวิถีการดำเนินชีวิตของคนไทยทั้ง 4 ถิ่นได้ดียิ่งขึ้น
การเปรียบเทียบความเหมือนและความแตกต่างของภาษาไทยถิ่น 4 ถิ่น ผู้วิจัยจำแนกคำลักษณนามออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ คำลักษณนามที่ใช้กับสิ่งมีชีวิตและคำลักษณนามที่ใช้กับสิ่งไม่มีชีวิต โดยที่คำลักษณนามที่ใช้กับสิ่งมีชีวิตแบ่งเป็น 3 กลุ่มย่อย ได้แก่ คำลักษณนามที่ใช้กับมนุษย์ คำลักษณนามที่ใช้กับอมนุษย์ และคำลักษณนามที่ใชักับสัตว์ และคำลักษณนามที่ใช้กับสิ่งไม่มีชีวิตแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ คำลักษณนามบอกสัณฐาน คำลักษณนามบอกสถานที่ และคำลักษณนามบอกคำนามที่มาข้างหน้า
ผลการวิจัยพบว่า จากการเปรียบเทียบคำลักษณนามในภาษาไทยถิ่น 4 ถิ่น สามารถจำแนกเป็นประเด็นหลักๆ 3 ประเด็น ได้แก่ภาษาไทยกลางมีการแบ่งคำลักษณนามที่ใช้กับคำนามกลุ่มต่างๆได้อย่างชัดเจน และมีความละเอียดมากกว่าคำลักษณนามในภาษาไทยถิ่นอื่นๆ คำลักษณนามในภาษาไทยถิ่นแต่ละถิ่นต่างก็มีคำลักษณนามเฉพาะภาษา และคำลักษณนามสะท้อนให้เห็นมุมมอง หรือโลกทัศน์ของเจ้าของภาษา
ปัจจัยที่ทำให้คำลักษณนามในภาษาไทยถิ่น 4 ถิ่นมีความเหมือนและความแตกต่างกัน ตลอดจนความหลากหลายในการเลือกใช้คำลักษณนามของภาษาไทยถิ่นแต่ละถิ่นนั้น เกิดจากการสัมผัสภาษา ทำเนียบภาษา และการรับรู้ภาษาของเจ้าของภาษา
Downloads
เผยแพร่แล้ว
How to Cite
ฉบับ
บท
License
บทความลิขสิทธิ์ของวารสารมหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง