ปัจจัยเชิงสาเหตุที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลการปฏิบัติงานของข้าราชการครู สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำปาง เขต 1 เขต 2 และ เขต 3

ผู้แต่ง

  • สุดคนึง ปกปิด

คำสำคัญ:

ข้าราชการครู, ประสิทธิภาพ, ประสิทธิผล, การปฏิบัติงาน

บทคัดย่อ

           การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบความสอดคล้องของโมเดลที่พัฒนาขึ้นกับข้อมูลเชิงประจักษ์ และเพื่อศึกษาอิทธิพลทางตรง อิทธิพลทางอ้อมและอิทธิพลรวมของปัจจัยเชิงสาเหตุที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลการปฏิบัติงานของข้าราชการครู สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำปาง เขต 1 เขต 2 และ เขต 3 ตัวแปรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้คือตัวแปรภายนอก ประกอบด้วย การบริหารงานของผู้บริหารสถานศึกษา ความรู้ความสามารถในการจัดการเรียนรู้ และเจตคติต่อวิชาชีพครู ตัวแปรภายใน ประกอบด้วย ภาระงานของครู แรงจูงใจในการปฏิบัติงาน และประสิทธิภาพและประสิทธิผลการปฏิบัติงานของข้าราชการครู กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยครั้งนี้คือข้าราชการครู สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำปาง เขต 1 เขต 2 และ เขต 3 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2556 จำนวน 420 คน

           เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ เป็นแบบสอบถาม สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ สถิติบรรยาย การวิเคราะห์สหสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรสังเกตได้ การวิเคราะห์โมเดลปัจจัยเชิงสาเหตุที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลการปฏิบัติงานของข้าราชการครู สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำปาง เขต 1 เขต 2 และ เขต 3 และตรวจสอบความสอดคล้องของโมเดลที่พัฒนาขึ้นกับข้อมูลเชิงประจักษ์ โดยใช้โปรแกรมลิสเรล

           สรุปผลการวิจัยได้ดังนี้

  1. ผลการวิเคราะห์โมเดลปัจจัยเชิงสาเหตุที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลการปฏิบัติงานของข้าราชการครู สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำปาง เขต 1 เขต 2 และ เขต 3  โมเดลสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ โดยพิจารณาจากค่าไค-สแควร์ ( = 23.50, df = 50)    ซึ่งมีค่าความน่าจะเป็นเท่ากับ 0.47 ค่าไค-สแควร์แตกต่างจากศูนย์อย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติและค่าดัชนีวัดระดับความกลมกลืน (Goodness of Fit Index : GFI = 0.99) ค่าดัชนีวัดระดับความกลมกลืนปรับแก้ (Adjusted Goodness of Fit Index : AGFI = 0.98) รวมทั้งดัชนีรากฐานของค่าเฉลี่ยกำลังสองของส่วนที่เหลือ (Root Mean Squared Residual : RMR = 0.020) กราฟ Q-Plot ชันกว่าเส้นทแยงมุม แสดงว่าโมเดลมีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ และเมื่อพิจารณาค่าอิทธิพลของตัวแปรในโมเดล ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ค่าสัมประสิทธิ์การพยากรณ์หรือ  R SQUARE  ตัวแปรประสิทธิภาพและประสิทธิผลการปฏิบัติงานของข้าราชการครู มีค่าเท่ากับ 0.14 แสดงว่าตัวแปรในโมเดลอธิบายความแปรปรวนในตัวแปรประสิทธิภาพและประสิทธิผลการปฏิบัติงานของข้าราชการครู ได้ร้อยละ 14
  2. ตัวแปรที่มีอิทธิพลรวมสูงสุดต่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลการปฏิบัติงานของข้าราชการครู อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 คือ แรงจูงใจในการปฏิบัติงาน (MOTIVATION) และตัวแปรที่มีอิทธิพลรวมต่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลการปฏิบัติงานของข้าราชการครู อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 คือ เจตคติต่อวิชาชีพครู (ATTITUDE) ตามลำดับ

                ตัวแปรที่มีอิทธิพลทางตรงสูงสุดต่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลการปฏิบัติงานของข้าราชการครู อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 คือ แรงจูงใจในการปฏิบัติงาน (MOTIVATION) และตัวแปรที่มีอิทธิพลทางตรงต่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลการปฏิบัติงานของข้าราชการครู อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 คือ เจตคติต่อวิชาชีพครู (ATTITUDE) ตามลำดับ

                    ตัวแปรที่มีอิทธิพลทางอ้อมเชิงบวกต่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลการปฏิบัติงานของข้าราชการครู คือ การบริหารงานของผู้บริหารสถานศึกษา (ADMINISTER) และตัวแปรที่มีอิทธิพลทางอ้อมเชิงลบต่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลการปฏิบัติงานของข้าราชการครู คือ เจตคติต่อวิชาชีพครู (ATTITUDE) ตามลำดับ

References

1. คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา. (2547). พระราชบัญญัติระเบียบ ข้าราชการครูและบุคลากร ทางการศึกษา พ.ศ. 2547. กรุงเทพฯ: สํานักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา.

2. ดิเรก พรสีมา. (2541). รายงานการวิจัยประกอบร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2541. มปพ.

3. ธัญลักษณ์ รุจิภักดิ์. (2555). จริยธรรมในวิชาชีพครู (Ethics of the Teacher’ Profession). กรุงเทพฯ: สํานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว).

4. นงลักษณ์ วิรัชชัย. (2542). โมเดลลิสเรล สถิติวิเคราะห์สำหรับการวิจัย. (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

5. ภารดี อนันต์นาวี. (2546). ปัจจัยที่ส่งผลต่อประสิทธิผลของโรงเรียนประถมศึกษา สังกัดสำนักงาน คณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ. ชลบุรี: มหาวิทยาลัยบูรพา.

6. ล้วน สายยศ และ อังคณา สายยศ. (2538). เทคนิคการวิจัยทางการศึกษา. กรุงเทพฯ: สุวีริยาสาส์น.

7. ศิริชัย กาญจนวาสี. (2537). ทฤษฎีการประเมิน. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

8. สำนักทดสอบทางการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ. (2554). แนวทางการประเมินคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อการประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษา. กรุงเทพฯ: สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ.

9. อรอุษา จันทคร. (2551). การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยบางประการกับการพัฒนาตนเองตามเกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพครู ของครูในเขตพื้นที่การศึกษานครปฐม เขต 2. วิทยานิพนธ์ กศ.ม. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร.

10. Alderfer, C.P. (1972). Existence: Relatedness and growth, human needs in organizational setting. New York: Free Press.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

03-01-2019