การพัฒนาชุมชนคุณธรรมต้นแบบบ้านใหม่พัฒนา อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน

Main Article Content

นิยานันท์ วุฒิพนมศักดิ์
ธีรทัศน์ โรจน์กิจจากุล
ธิติวุฒิ หมั่นมี

บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์การวิจัย คือ 1) เพื่อศึกษาระดับความคิดเห็นที่มีต่อการพัฒนาชุมชนคุณธรรมต้นแบบบ้านใหม่พัฒนา อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน 2) เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการพัฒนาชุมชนคุณธรรมต้นแบบบ้านใหม่พัฒนา อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน  3) เพื่อนำเสนอการประยุกต์ใช้หลักพุทธธรรม ในการพัฒนาชุมชนคุณธรรมต้นแบบ บ้านใหม่พัฒนา อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน เป็นการวิจัยแบบผสานวิธี โดยการวิจัยเชิงปริมาณ ใช้วิธีการวิจัยเชิงสำรวจ ได้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 222 คน วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการหาค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยภายในชุมชน ปัจจัยภายนอกชุมชน และการประยุกต์ใช้หลักธรรม กับการพัฒนาชุมชนคุณธรรมต้นแบบบ้านใหม่พัฒนา  อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน โดยใช้วิธีการหาค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน และการวิจัยเชิงคุณภาพ ใช้การสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้ให้ข้อมูลสำคัญ จำนวน 12 รูปหรือคน ใช้เทคนิคการวิเคราะห์เนื้อหาประกอบบริบท นำเสนอเป็นความเรียงประกอบตารางแจกแจงความถี่ของผู้ให้ข้อมูลสำคัญเพื่อสนับสนุนข้อมูลเชิงปริมาณ ผลการวิจัยพบว่า 1. ระดับความคิดเห็นที่มีต่อการพัฒนาชุมชนคุณธรรมต้นแบบบ้านใหม่พัฒนา อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก (x̅  = 3.97 S.D. = 0.35) เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า อยู่ในระดับมากทุกด้าน  2. ปัจจัยภายในชุมชน และปัจจัยภายนอกชุมชน มีความสัมพันธ์กับการพัฒนาชุมชนคุณธรรมต้นแบบบ้านใหม่พัฒนา อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 โดยมีระดับความสัมพันธ์ค่อนข้างสูง กล่าวคือ เมื่อผู้นำชุมชนมีความรู้ ความสามารถ คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการวางแผนและการตัดสินใจในกิจกรรมของชุมชน ร่วมกันอนุรักษ์ และฟื้นฟู  ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมในชุมชน ทกคนในชุมชนเห็นคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และมีการบริหารจัดการอย่างคุ้มค่า ชุมชนได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและภาคเอกชน        อย่างต่อเนื่อง ทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน และการประยุกต์ใช้หลักธรรม (หลักอปริหานิยธรรม 7 ประการ) มีความสัมพันธ์กับการพัฒนาชุมชนคุณธรรมต้นแบบ บ้านใหม่พัฒนา อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน อย่างมีนัยสำคัญ ทางสถิติที่ระดับ 0.01 โดยมีระดับความสัมพันธ์ปานกลาง ทำให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง และเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน 3. การประยุกต์ใช้หลักพุทธธรรม ในการพัฒนาชุมชนคุณธรรมต้นแบบ บ้านใหม่พัฒนา  อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน พบว่า เมื่อมีการประยุกต์ใช้หลักอปริหานิยธรรม 7 ประการ               ในการพัฒนาชุมชนคุณธรรมฯ จะเกิดการพัฒนาชุมชนคุณธรรมที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นยิ่งขึ้น โดยที่บ้านใหม่พัฒนา มีการประชุมอย่างต่อเนื่อง คนในชุมชนรู้สิทธิรู้หน้าที่ตรงต่อเวลามีความพร้อมเพรียงในการทำกิจกรรมต่างๆ มีการกำหนดมาตรการทางสังคมเพื่อให้ประชาชนอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขและปลอดภัย เคารพนับถือต่อผู้บังคับบัญชา ผู้นำและผู้อาวุโสในชุมชน มีการ  ให้เกียรติซึ่งกันและกันเคารพในบทบาทหน้าที่ซึ่งกันและกัน รักษาจารีตประเพณีอันดีงามของชุมชนในด้านต่างๆ ได้เป็นอย่างดี และการทำนุ บำรุง ศาสนา เป็นหัวใจหลักของชุมชนบ้านใหม่พัฒนา

Article Details

How to Cite
วุฒิพนมศักดิ์ น., โรจน์กิจจากุล ธ., & หมั่นมี ธ. (2022). การพัฒนาชุมชนคุณธรรมต้นแบบบ้านใหม่พัฒนา อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน. วารสาร มจร.หริภุญชัยปริทรรศน์, 6(2), 96–110. สืบค้น จาก https://so04.tci-thaijo.org/index.php/JMHR/article/view/260817
บท
บทความวิจัย

References

กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม.(2560). แนวทางการดำเนินงานชุมชนคุณธรรมขับเคลื่อนด้วยพลัง “บวร”. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

ทักษิณ ประชามอญ.(2560). “รูปแบบการบริหารงานแบบมีส่วนร่วมตามหลักพุทธธรรมขององค์การบริหารส่วนจังหวัดในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน”. พุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์. บัณฑิตวิทยาลัย : มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

พระคำรณ อติภทฺโท (ทองน้อย).(2562). “การบริหารจัดการเชิงเครือข่ายเศรษฐกิจชุมชนของกลุ่มเกษตรกร ผู้ปลูกข่าตามหลักอปริหานิยธรรมในเขตเทศบาลตำบลทุ่งน้อย อำเภอ โพทะเล จังหวัดพิจิตร”. วิทยานิพนธ์พุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์. บัณฑิตวิทยาลัย : มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

พระครูประโชติธรรมวงศ์ (เอกพงษ์ หิริธมฺโม).(2561). “รูปแบบพุทธพัฒนาชุมชนเข้มแข็งของศูนย์พัฒนาคุณธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์”. พุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต. บัณฑิตวิทยาลัย :มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

พระธิติวัส ชยวุฑฺโฒ (วัฒกวณิชย์).(2561). “รูปแบบการพัฒนาชุมชนวัดท่าขนุนตามแนววิถีพุทธของพระสงฆ์วัดท่าขนุน จังหวัดกาญจนบุรี”. วิทยานิพนธ์พุทธศาสตรมหาบัณฑิต. บัณฑิตวิทยาลัย : มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

พระมหาวิษณุ วิสารโท (พานนนท์).(2558). “การมีส่วนร่วมของประชาชนต่อการบริหารงาน ตามหลักอปริหานิยธรรมของเทศบาลตำบลโนนสะอาด อำเภอศรีบุญเรือง จังหวัดหนองบัวลำภู”. วิทยานิพนธ์พุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์. บัณฑิตวิทยาลัย : มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

พระมหาอากาย ฐิตธมฺโม (ผดุงชาติ). (2563). “การมีส่วนร่วมของประชาชน ในการบริหารเพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็งขององค์การบริหารส่วนตำบลกุดลาด อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี”.วิทยานิพนธ์รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต. บัณฑิตวิทยาลัย : มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

เวธิกา แดงเรือง.(2560). “การบริหารงานตามหลักอปริหานิยธรรมของเทศบาลตำบลหนองผึ้ง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่”. พุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์. บัณฑิตวิทยาลัย : มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ.(2554). แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่สิบเอ็ด พ.ศ. 2555 – 2559. กรุงเทพมหานคร.

สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม.(2561). 701 ชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ เล่มที่ 5. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด.

สำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ. (2560). “ยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561 – 2580” (ฉบับย่อ). สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ.

สำนักทะเบียน, สถิติประชากรบ้านใหม่พัฒนา ตำบลน้ำเกี๋ยน, ที่ว่าการอำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน, (ณ เดือน มีนาคม 2564), (อัดสำเนา).

อารีรักษ์ ยังคำ.(2562) “ประสิทธิผลการดำเนินงานของชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงขับเคลื่อนด้วยพลังบวร (บ้าน วัด โรงเรียน) ต้นแบบ วัดบางสระเก้า อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี”. วิทยานิพนธ์บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต. บัณฑิตวิทยาลัย : มหาวิทยาลัยรามคำแหง.