การศึกษาการอ้างเหตุผลผิดในชีวิตประจำวัน: ศึกษาเฉพาะกรณีความคิดเห็นบนกระดานสนทนาของกลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ต

Main Article Content

นภัสสรณ์ วสุวัฒน์คงสิน
วิทยา ศักยาภินันท์

Abstract

การวิจัยในครั้งนี้มีจุดประสงค์ 1) เพื่อศึกษาการอ้างเหตุผลผิดทางตรรกศาสตร์ 2) เพื่อศึกษาประเด็นการอ้างเหตุผลผิดในสังคมเครือข่ายออนไลน์ผ่านความคิดเห็นของกลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ตบนกระดานสนทนาของเว็บไซต์ดราม่าแอดดิคดอทคอมและ 3) เพื่อวิเคราะห์การอ้างเหตุผลผิดของกลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่แสดงความคิดเห็นบนกระดานสนทนาของเว็บไซต์ดราม่าแอดดิคดอทคอมด้วยหลักการทางตรรกศาสตร์ การวิจัยนี้เป็นการวิจัยจากเอกสารที่เกี่ยวเนื่องกับแนวคิดและเกณฑ์การตัดสินทางตรรกศาสตร์เรื่องการอ้างเหตุผลผิดและความคิดเห็นบนกระดานสนทนาของเว็บไซต์ดราม่าแอดดิคดอทคอมข้อมูลที่นำมาศึกษา คือ เอกสารและงานวิจัยทางตรรกศาสตร์และความคิดเห็นของผู้ใช้งานกระดานสนทนาต่อกระทู้จำนวน 3 กระทู้ที่ตั้งขึ้นใน พ.ศ.2556
ผลการศึกษาพบว่า การอ้างเหตุผลผิด (fallacy) ทางตรรกศาสตร์แบ่งเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ 1) การอ้างเหตุผลผิดทางรูปแบบ 2) การอ้างเหตุผลผิดทางเนื้อหา และ 3) การอ้างเหตุผลผิดทางจิตวิทยา เมื่อนำมาวิเคราะห์ความคิดเห็นบนกระดานสนทนาของเว็บไซต์ดราม่าแอดดิคดอทคอมทั้ง 3 กรณี พบว่า ความคิดเห็นที่นำมาศึกษามีทั้งหมด 379 ข้อความ เป็นความคิดเห็นที่จัดเป็นการอ้างเหตุผลผิดจานวน 150 ข้อความ คิดเป็นร้อยละ 39.58 ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นการอ้างเหตุผลผิดมากกว่า 1 ประเภทต่อ 1 ความคิดเห็น โดยการอ้างเหตุผลผิดที่ถูกนำมาใช้มากที่สุด 3 อันดับแรก คือการใช้คำย้อมสี 97 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 32.23 การเปรียบเทียบผิดแง่ 52 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 17.28 และการแย้งที่ตัวบุคคล 47 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 15.61 ของการใช้การอ้างเหตุผลผิดทั้งหมด 301 ครั้ง จะเห็นได้ว่า การอ้างเหตุผลผิดแบบจิตวิทยานำมาใช้มากที่สุด (การใช้คำย้อมสีและการแย้งที่ตัวบุคคล) รองลงมาคือการอ้างเหตุผลผิดแบบเนื้อหา ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ผู้ใช้งานกระดานสนทนาของเว็บไซต์ดราม่าแอดดิคดอทคอมส่วนใหญ่ใช้อารมณ์ในการแสดงความคิดเห็นมากกว่าเหตุผล และแสดงความคิดเห็นก่อนจะหาข้อมูลที่ถูกต้องของประเด็นที่กาลังถกเถียง

Article Details

Section
Research Articles