หลากชีวิต โควิด-19 วัฒนธรรม
Abstract
วารสารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เดินทางเข้าสู่ปีที่ 33 แล้วครับ ฉบับนี้รวมบทความ หลากรส หลากหลาย จากคนเขียนหลากกลุ่ม แม้ไม่ถึงกับข้ามสายพันธุ์ เนื้อหาเป็นเช่นใด บรรณาธิการ ขอพาสำรวจแบบรวบรัดตัดตอนโดยพลัน
พิพิธภัณฑ์ – จีนเปอรานากัน
พิพิธภัณฑ์ ซึ่งเป็นผลผลิตแห่งยุคสมัยอาณานิคม อันเต็มไปด้วยการปฏิวัติความรู้ เทคโนโลยีและอุตสาหกรรม อาจเป็นเรื่องของรัฐ หรือสถาบันความรู้กับจัดการศิลปวัถตุ รวมจนไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่น รวมจนไปถึงมนุษย์สายพันธุ์เดียวกันทว่าต่างกลุ่ม ต่างอารยะธรรมชาติพันธุ์ การเกิดขึ้นของพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์ในปัจจุบัน (ในบทความของ นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ) กลับเผยให้เราเห็นว่า พิพิธภัณฑ์ นั้นมิได้เป็นเพียงพื้นที่ของการจัดแสดงจารีตนิยมและภูมิปัญญาของคนท้องถิ่น หรือการที่รัฐทำให้กลุ่มชาติพันธุ์เปลียนจากสภาพด้อยพัฒนาสู่ความทันสมัยก้าวหน้า หากแต่เป็น พื้นที่แห่งความทรงจำ อันเป็นความทรงจำร่วม ที่มุ่งต่อสู้ โต้ตอบ และเคลื่อนไหว ในนามของการสร้างชาติและความเป็นชาติพันธุ์
พิพิธภัณฑ์ หรือพื้นที่จัดแสดงวัฒนธรรมของชาวจีนเปอรานากันในรัฐกลันตัน (ในบทความของ พุทธิดา กิจดำเนิน) นับเป็นปรากฏการณ์ตัวอย่างสำคัญ เมื่อพวกเขากลายเป็นกลุ่มคนที่ต้องเผชิญปัญหา “วิกฤติอัตลักษณ์” หรือสภาวะตัวตนที่คลุมเครือ เมื่อชีวิตที่เป็นชีวิตขึ้นมาได้นั้น เกิดจากการผสมผสานทางวัฒนธรรมกับชาวมลายูและชาวสยามกลันตัน (ในประเทศมาเลเชีย) เกิดอะไรขึ้น เมื่อความเป็นจีนของของพวกเขาถูก “คนอื่น” มองว่า “ไม่เป็นจีน” การปรับเปลี่ยนวิธีการนำเสนอตัวตนใหม่ การสร้างเรื่องเล่า การเน้นความเป็นจีนดั้งเดิม การผลิตซ้ำความเป็นจีนแบบฮกเกี้ยน จึงกลายเป็นสิ่งจำเป็น และมี พิพิธภัณฑ์ เป็นกลไกสำคัญในการเปิดพื้นที่ให้ชีวิตอยู่ร่วมกับชีวิตได้
โควิด 19
หากเปรียบให้ “โควิด 19” เป็นดั่งสิ่งที่กำลังทำให้นาฬิกาโลกหยุดเดิน การแพร่ระบาดของไวรัสที่กลายพันธุ์จากสัตว์สู่มนุษย์ จนกลายเป็นโรคระบาดที่แพร่กระจายติดกันไปเกือบทั้งโลก โลกมนุษย์ภายใต้สถานการณ์ที่เต็มไปด้วยโรคระบาด ที่ยังไม่ทีท่าว่าจะหยุดยั้งได้จึงกลายเป็นโลกที่เผยให้เราเห็นความแตกต่างหลากหลาย ไม่เท่าเทียม เอารัดเอาเปรียบ มากกว่าจะเป็นโลกที่มนุษย์ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน กระนั้นสำหรับคนอีกหลายกลุ่ม การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งนำไปสู่กลไกการกำกับควบคุมตนเองและที่รัฐสั่งการ ในนามของการสกัดกั้นและคัดกรอง อาจกลับกลายเป็นทั้ง วิกฤตและโอกาส ไปในคราเดียวกัน สำหรับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า (ในบทความของปรมินทร์ ตั้งโอภาสวิไลสกุล) ซึ่งทุกวันนี้มีทั้งคนหนุ่มสาวและคนทุกเพศวัย การระบาดของโควิด-19 อาจเปลี่ยนชีวิตให้กลายเป็นชีวิตที่เต็มไปด้วยสภาวะทุกข์ทน ทว่าอีกหลายคน ความทุกข์ทนอันเป็นผลมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 กลับเปลี่ยนเป็นเวลาแห่งการทบทวน เสมือนการแสวงหาตัวตนและความหมายของการมีชีวิต จนอาจไม่ต่างไปจากการที่บรรดานักบวช ฝึกฝน ปฏิบัติตนเพื่อมุ่งสู่การบรรลุมรรคผลในทางธรรม จนนำไปสู่การรื้อฟื้นชีวิต รื้อสร้างความสัมพันธ์ขึ้นมาใหม่ได้
เกมและการสะสม
เมื่อเกมกลายเป็นกีฬา (ดังปรากฏในบทความของ รวิโรจน์ ไทรงาม) ทว่ากีฬาที่ใช้เกม ก็ยังเป็นเรื่องของ “การเล่น” มากกว่าการออกกำลังกาย การเล่นเกมคอมพิวเตอร์ซี่งปัจจุบันต้องอาศัยทั้งทักษะ อุปกรณ์ และเครื่อข่ายการสื่อสาร นอกจากจะส่งผลต่อรูปแบบการใช้เวลาว่างของผู้คน การเล่นเกม ยังกลายเป็นพื้นที่ของการหลีกหนีจากความวุ่นวายของชีวิตทางกายภาพ สู่โลกแห่งความสุข สนุกสนาน ที่แม้จะเป็นความสุขแบบพลาสติค หรือความสุขที่จะเข้าถึงได้ก็ต่อเมื่อมนุษย์มี “อุปกรณ์” จนอาจกล่าวได้ว่าล้วนเป็นการบริโภคความสุขที่ไม่มีวันสิ้นสุด ประหนึ่งเพศรสที่ไม่ว่าจะ “เข้าถึง” ด้วยความสัมพันธ์แบบใด มนุษย์กับมนุษย์ หรือมนุษย์กับ “ตัวช่วย”? ด้วยเหตุนี้ อุตสาหกรรมเกม ซึ่งถือว่าเป็นเพียงส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมบันเทิงทั้งปวง จึงเป็นธุรกิจการค้าที่มุ่งเสนอขาย “ความสุขแบบไม่รู้จบ” อันเป็นความสุข ความปรารถนาเทียม ที่ผลิตออกมากระจาย หล่อเลี้ยงให้ทุนนิยมมีชีวิตและก้าวเดินต่อไปได้ชั่วกัปชั่วกัลป์ ในโลกแบบนี้ ชีวิตมนุษย์ที่ดูเหมือนว่าจะเลือกบริโภคได้ตามใจปรารถนา (จากดิจิตที่ไหลผ่าน แตกกระจายอยู่ในวงจรอุตสาหกรรมเกมและความบันเทิง) เอาเข้าจริงจึงถูกปิดบัง อำพราง ปัญหาการกดขี่ขูดรีดของทุนนิยมดิจิทัล ซึ่งก่อร่างสร้างขึ้นมา ด้วยความปรารถนาและความสุขแบบลวงหลอกที่ “ล่อลวง” มนุษย์อยู่นั่นเอง
กระนั้นความสุขของมนุษย์ก็ไม่ได้มีแต่เพียงเรื่องของการได้ “เล่น” และเพศรส ทว่ายังอาจมาจากการสะสม ครอบครอง การเป็นเจ้าของ (ดังที่ นิติ ภวัครพันธุ์ ปริทัศน์ไว้อย่างลุ่มลึกและน่าติดตาม) ในแง่นี้การสะสมนอกจากจะเป็น “วัฒนธรรม” ที่ต้องการทักษะความรู้ หลายกรณียังต้องอาศัยอำนาจ การเข้าถึงอำนาจ จนไปถึงการสร้างสถาปนาอำนาจ และบารมีจากการสะสม ในแง่นี้สำหรับมนุษย์บางสายพันธุ์ การเก็บสะสม จึงยังกลายเป็นเรื่องของการพักผ่อนหย่อนใจและการเข้าถึง “ความสุข” ไปในเวลาเดียวกัน
Downloads
Published
How to Cite
Issue
Section
License
All written articles published on Journal of Social Sciences is its author’s opinion which is not belonged to Social Sciences Faculty, Chiang Mai University or is not in a responsibility of the journal’s editorial committee’s members.