Archives

  • 60 ปี สังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
    Vol. 36 No. 1 (2024)

    สังคมศาสตร์ วารสารวิชาการ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก่อตั้งขึ้นในปี 2520 เริ่มดำเนินการตีพิมพ์วารสารเพื่อเผยแพร่บทความวิชาการ รายงานการวิจัย บทความปริทัศน์วิจารณ์หนังสือ แนะนำหนังสือ และบทความตามวาระพิเศษ อื่นๆ ตาม “ธรรมเนียม” ของการจัดทำวารสารวิชาการที่ทำกันในแวดวงวิชาการระดับนานาชาติ

    สังคมศาสตร์ วารสารวิชาการ ดังกล่าวค่อยๆ ก่อตัวกลายเป็น “ชุมชนวิชาการ” ของแวดวงนักสังคมศาสตร์ในประเทศไทยอยู่นานเกือบ 2 ทศวรรษ (ก่อนที่จะ “หยุด” การดำเนินงานไปชั่วคราว) ในช่วงระยะนั้น กล่าวได้ว่า สังคมศาสตร์ กลายเป็นพื้นที่วิชาการสาธารณะ ที่ทั้ง ชี้นำ ถ่ายทอดความรู้ด้านสังคมศาสตร์ และส่องสะท้อน “ปรากฏการณ์” ให้สังคมเห็นความเคลื่อนไหว การเปลี่ยนแปลง และประเด็นปัญหาสำคัญต่างๆ อันเกี่ยวโยงหรือเป็นผลพวงมาจากการพัฒนายุค “สงครามเย็น” ที่เกิดขึ้น (รัฐบาลไทยเริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 ปี 2504-2509) โดยเฉพาะในสังคมภาคเหนือของประเทศ ซึ่งมีพรมแดนติดประเทศเพื่อนบ้าน รายล้อมไปด้วยประเทศสังคมนิยม ทั้ง สาธารณรัฐประชาชนจีน สหภาพพม่า และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

    สังคมศาสตร์ หวนคืนสู่บรรณพิภพอีกครั้งหนึ่ง ปลายทศวรรษ 2530 ภายใต้บรรยากาศวิชาการ ที่เรียกกันว่า “หลังสงครามเย็น” ทิศทางของการพัฒนามหาวิทยาลัยที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ การพัฒนาประเทศ การเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคม เศรษฐกิจ การเมืองไทย ซึ่งเชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจ สังคม การเมืองโลก ที่เรียกกันว่า “โลกานุวัตร” (Globalization) อย่างสลับซับซ้อน

    สังคมศาสตร์ ถือกำเนิดขึ้นในบริบทที่สังคมไทยเชื่อมโยงกับสังคมโลก การเมืองไทยกับการเมืองโลก มหาวิทยาลัยไทยกับมหาวิทยาลัยโลก จึงไม่อาจแยกขาดออกจากกันได้แต่ต้น

    การก่อตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ขึ้นในปี 2507 จะว่าไป คือกลไกสำคัญ ที่เวลานั้นกำลังขับเคลื่อน “การพัฒนา” เชื่อมโยง สังคมวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และผู้คนในภูมิภาคนี้ของประเทศ เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวที่เป็นไปในระดับนานาชาติ เฉกเช่นเดียวกันกับ สังคมศาสตร์ วารสารวิชาการ ของคณะสังคมศาสตร์ ซึ่งเป็น 1 ใน 3 คณะวิชา ที่ก่อตั้งขึ้นพร้อมกับมหาวิทยาลัย (แม้จะตีพิมพ์เป็นภาษาไทยและสื่อสารในแวดวงผู้อ่านผู้เขียนในสังคมไทยเสียเป็นส่วนมาก) จึงเป็นพื้นที่วิชาการที่ทั้งพยายาม ชี้นำ ความรู้ เชื่อมโยง ความรู้ ประเด็นปัญหาต่างๆ ในท้องถิ่นและในสังคมไทย ที่เคลื่อนไหว เคลื่อนไป กับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในระดับภูมิภาคและโลก
    60 ปี คณะสังคมศาสตร์ 60 ปี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (พุทธศักราช 2507-2567)

    สังคมศาสตร์ วารสารวิชาการ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แม้ต้องเผชิญกับความท้าทาย กับงานวารสารวิชาการในยุค Open Access Journal เมื่อการเข้าถึงวารสาร ส่วนมากกลายเป็นแบบ “เปิดฟรี” (Free Access) แต่สถานะของ “คนเขียน” พลิกแพลง ตะแคงกาย กลายเป็นประหนึ่ง “คนอ่าน” ที่ต้องจ่ายสตางค์ ทว่าไม่ใช่เพื่อ “ซื้ออ่าน” แต่เพื่อการันตี “พื้นที่” เพื่อลงตีพิมพ์บทความ ผลงานวิชาการ ในนามของ “ค่าธรรมเนียม”

    โลกเปลี่ยน แต่ชีวิตของชุมชนวิชาการ คงไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนตามไปเสียทั้งหมด ทุกเรื่อง

    สังคมศาสตร์ วารสารวิชาการ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยืนยันและยังคงพยายามยืนหยัด ตั้งมั่น ที่จะเป็น “พื้นที่วิชาการสาธารณะ” ที่ทั้ง ชี้นำ ถ่ายทอด ความรู้ วิชาการด้านสังคมศาสตร์ ส่องสะท้อนปรากฏการณ์ ประเด็นปัญหาต่างๆ ให้สังคมได้ “เข้าถึง” และติดตามความเคลื่อนไหว การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เป็นไปในสังคมท้องถิ่น สังคมไทย และสังคมโลก ให้สมดั่งปณิธานของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่เมื่อได้ก่อตั้งขึ้นมาแล้ว สมควรจะเป็น “ศูนย์กลางทางวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง เพื่ออำนวยประโยชน์แก่ท้องถิ่น และประเทศชาติโดยส่วนรวม”

  • Politics of Life in Cultural Spaces: A Festschrift to Shalardchai Ramidhanond
    Vol. 35 No. 2 (2023)

    แม้ว่าจะไม่ได้เป็นนักมานุษยวิทยาไทยรุ่นบุกเบิก หากเป็นเพียงรุ่นสองที่ตามมาจากรุ่นแรก แต่อาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ ก็สามารถเปิดพรมแดนความรู้ใหม่ ๆ ให้กับวงการมานุษยวิทยาไทยหลาย ๆ ด้านด้วยกัน ซึ่งสะท้อนประสบการณ์มากมายในชีวิต ที่ล้วนบ่มเพาะความเช้าใจปฏิบัติการในชีวิตจริง มากกว่าการติดอยู่ในกับดักของอุดมการณ์หรือทฤษฎีหนึ่งทฤษฎีใดเป็นหลัก เมื่อศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยคอร์แนลล์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ในช่วงรอยต่อระหว่างปลายทศวรรษ 1960 และต้นทศวรรษที่ 1970 อาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ ได้ซึมซับประสบการณ์ชีวิตและความเคลื่อนไหวของนักศึกษาที่นั่น ในการต่อต้านสงครามเวียดนาม และเมื่อกลับมาสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2516 ก็มีความรู้สึกร่วมกับการเคลื่อนไหวของนักศึกษาไทย ในการโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการทหารในเดือนตุลาคม 2516 อีกครั้ง

    ประสบการณ์ชีวิตทั้งสองครั้งหนุนเสริมให้ อาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ หันมาสนใจ “การเมืองของชีวิตในพื้นที่วัฒนธรรม” มากขึ้น แม้จะศึกษามาทางด้านมานุษยวิทยา ซึ่งให้ความสำคัญกับการศึกษาวัฒนธรรมเป็นหลัก แต่เมื่อผสมผสานประสบการณ์ชีวิตกับมุมมองทางมานุษยวิทยาเข้าด้วยกัน ได้ช่วยเปลี่ยนให้ อาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ หันมามองการเมืองของชีวิตวัฒนธรรมที่เคลื่อนไหวของคนระดับล่างในสังคม แทนการยึดติดอยู่กับวัฒนธรรมหลวงอย่างตายตัวของคนชั้นสูง เพราะแฝงไว้ด้วยวัฒนธรรมอำนาจนิยม ด้วยการเปลี่ยนมาให้ความสำคัญกับการสร้างอำนาจจากเบื้องล่างมากกว่า

    อาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ อาจจะถูกจัดให้เป็นนักมานุษยวิทยาชายขอบ ไม่ใช่เพราะอยู่ในฐานะที่สอนหนังสืออยู่ในมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค แต่เพราะ อาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ ไม่ได้เดินตามเส้นทางของนักวิชาการกระแสหลัก ด้วยการไม่ได้สนใจใยดีกับการแสวงหาตำแหน่งทางวิชาการ หากแต่มุ่งมั่นสอนหนังสือและศึกษาวิจัยอย่างจริงจัง ด้วยมุมมองในเชิงการเมืองของชีวิตวัฒนธรรม ที่มีลักษณะของการเมืองไม่เป็นทางการหรือนอกระบบรัฐ ซึ่งนักวิชาการในปัจจุบันเรียกว่า “การเมืองในชีวิตประจำวัน” (ดู Kerkvliet 2009) อาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ จึงสามารถมองลอดความรู้กระแสหลัก เพื่อเสริมสร้างให้มานุษยวิทยามีส่วนผลักดันการเปลี่ยนแปลงสังคม ไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยจากเบื้องล่าง จนอาจกล่าวได้ว่า อาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ ถือเป็นครูของมานุษยวิทยาปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมคนสำคัญด้วยคนหนึ่ง

    จากความสนใจการเมืองของชีวิตวัฒนธรรมและการสร้างอำนาจจากเบื้องล่างนี้เอง อาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ จึงเลือกสอนวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาการเมืองตั้งแต่เริ่มแรกเข้ามาเป็นอาจารย์ เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้การเมืองในแง่มุมอื่น ๆ นอกเหนือจากการเมืองของรัฐเท่านั้น พร้อมทั้งแปลหนังสือเพื่อใช้เป็นตำราประกอบการสอนด้วย เรื่อง “พัฒนาการศาสตร์มาร์กซิสม์ว่าด้วยสังคมวิทยา” (ฉลาดชาย รมิตานนท์ 2529) ซึ่งแปลมาจากบทที่ Tom Bottomore เขียนเกี่ยวกับสังคมวิทยา ในหนังสือรวมบทความเรื่อง “Marx : The first hundred years" (David McLellan ed. 1983) ก่อนหน้านั้น อาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ ก็ได้ร่วมโครงการวิจัยการเมืองของชาวนายากจนในหมู่บ้านแห่งหนึ่งของเชียงใหม่เรื่อง “การมีส่วนร่วมของประชาชนในชนบทภาคเหนือของประเทศไทย” (ฉลาดชาย รมิตานนท์ วิระดา สมสวัสดิ์ และอานันท์ กาญจนพันธุ์ 2525) และพบว่า ชาวนายากจนในช่วงต้นทศวรรษที่ 2520 ต้องเผชิญกับความเสี่ยงในชีวิตมากขึ้น จากการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่การผลิตแบบทุนนิยมอย่างเข้มข้น จนต้องลุกขึ้นเคลื่อนไหวต่อรองค่าแรงและความมั่นคงในชีวิต จากการต้องพึ่งพาการเช่านาของชาวบ้านและเจ้าของที่ดินที่มีฐานะดี

    ยิ่งไปกว่านั้น อาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ ยังมองลึกลงไปอีกว่า การเมืองของชีวิตวัฒนธรรมนั้นไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในพื้นที่ทางเศรษฐกิจเท่านั้น หากยังซ้อนทับอยู่ในพื้นที่ของอุดมการณ์ด้วย ท่านจึงเริ่มหันมาสนใจศึกษาวิจัยอุดมการณ์ปฏิบัติการของชาวนา ที่แฝงอยู่ในพิธีกรรมและความเชื่อ โดยเฉพาะการนับถือผีและการเข้าทรง ดังปรากฏอยู่อย่างชัดเจนในหนังสือเล่มบุกเบิกเรื่อง “ผีเจ้านาย” (ฉลาดชาย รมิตานนท์ 2527) ซึ่งสวนทางกับกระแสนิยมทางวิชาการในขณะนั้น ที่ให้ความสนใจกับการนับถือพุทธศาสนาแบบชาวบ้านเป็นหลัก เพราะมองว่าคนในสังคมสมัยใหม่จะค่อย ๆ ลดความหลงไหลในความเชื่อต่าง ๆ ลงไป ดังจะเห็นได้ว่า ในบทความของทานาเบ้ (Tanabe Shigeharu ในวารสารฉบับนี้) สนับสนุนความเข้าใจของอาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ ที่ว่า ชาวบ้านยังหลงไหลอยู่ในความเชื่อเกี่ยวกับการเข้าทรงผีเจ้านาย เพราะช่วยให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกร่วมสัมผัสใกล้ชิดกับการเผชิญหน้าปัญหาต่าง ๆ ที่ท้าทายพวกเขา จากการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมสมัยใหม่ เมื่อผู้คนเริ่มมีสำนึกแบบปัจเจกชน จนทำให้ไร้ที่พึ่งมากขึ้น

    ในความคิดของ อาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ อุดมการณ์ปฏิบัติการของชาวนา จึงไม่ใช่เป็นเพียงการต่อต้านความคิดกระแสหลักเท่านั้น หากยังเกี่ยวข้องกับอำนาจศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งไม่เพียงช่วยเชื่อมอารมณ์ความรู้สึกกับสังคมสมัยใหม่ แต่ยังเชื่อมโยงชีวิตของชาวบ้านกับป่าในฐานะทรัพยากรพื้นฐานของชีวิตด้วย เมื่อ อาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ ได้หันมาเขียนหนังสือเรื่อง “ป่าไม้สังคมกับการพัฒนาชนบท” (ฉลาดชาย รมิตานนท์ 2528) เพื่อโต้แย้งความเข้าใจกระแสหลัก ที่มักปรักปรำชาวบ้านในเขตป่าว่าเป็นผู้ทำลายป่า ทั้ง ๆ ที่ป่าเป็นพื้นที่ชีวิตและวัฒนธรรมของชาวบ้าน แต่การทำลายป่านั้นยังเกี่ยวข้องกับสังคมภายนอกที่บุกรุกเข้ามาแสวงหาประโยชน์ต่าง ๆ ในนามของการพัฒนา ซึ่งต่อมา อาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ ได้ขยายความผ่านการวิจัยในภาคเหนือตอนล่าง ในโครงการวิจัยขนาดใหญ่ ที่รวมพิมพ์อยู่ในหนังสือเรื่อง “วิวัฒนาการของการบุกเบิกที่ดินทำกินในเขตป่า” (เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง บก. 2534) โดยพบว่า การบุกเบิกที่ดินทำกินในเขตป่านั้นยึดโยงอยู่กับนโยบายของภาครัฐอย่างชัดเจน มากกว่าที่จะกล่าวโทษชาวบ้านฝ่ายเดียว

    หลังจากนั้น อาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ ก็ได้เข้าร่วมกับโครงการวิจัยขนาดใหญ่อีกโครงการหนึ่ง เพื่อศึกษาการจัดการป่าชุมชนของชาวบ้าน ซึ่งรวมพิมพ์อยู่ในหนังสือเรื่อง “ป่าชุมชนในประเทศไทย: แนวทางการพัฒนา เล่ม 2 ป่าชุมชนภาคเหนือ” (เสน่ห์ จามริกและยศ สันตสมบัติ บก. 2536. กรุงเทพฯ : สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา) และพบว่า ป่าชุมชนก็ถือว่าเป็นป่าไม้สังคมด้วย ในมิติที่ว่าชาวบ้านมีส่วนร่วมในการจัดการป่าในฐานะที่เป็นพื้นที่สาธารณะ จนช่วยให้เกิดความเข้าใจแนวคิดเรื่อง สิทธิชุมชน ซึ่งหมายถึงสิทธิของชุมชนในการเข้าถึงทรัพยากรร่วมกัน จากข้อค้นพบในงานวิจัยต่าง ๆ  ซึ่งหลายชุมชนได้แสดงบทบาทดังกล่าวอยู่แล้ว จนนำไปสู่การเคลื่อนไหวทางสังคม ในการรณรงค์ให้ออกกฎหมายป่าชุมชน เพื่อรับรองสิทธิของชุมชนในการมีส่วนร่วมจัดการป่าให้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการจัดการป่า ซึ่งจะยิ่งเสริมความเข้มแข็งให้กับการจัดการป่าอนุรักษ์มากขึ้น บทความของอานันท์ กาญจนพันธุ์ (ในวารสารฉบับนี้) ได้ช่วยขยายความและฉายภาพเบื้องหลังการวิจัยและการเคลื่อนไหวดังกล่าวให้เด่นชัดยิ่งขึ้น

    บทความในวารสารเล่มนี้อีกชิ้นหนึ่งได้สานต่อความคิดของอาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ ในประเด็นของสิทธิชุมชน ซึ่งภาคชุมชนและประชาสังคมพยายามนำมาปรับใช้เพื่อผลักดันการออกโฉนดชุมชน แทนการออกเฉพาะโฉนดแบบเดิมที่ตั้งอยู่บนแนวคิดสิทธิของปัจเจกบุคคลเท่านั้น ดังจะเห็นได้จากบทความของ เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว การเปิดใจยอมรับสิทธิชุมชนและสิทธิทางวัฒนธรรมจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการมีส่วนร่วมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในสังคม ที่จะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้ความรู้ทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกันสามารถเสริมซึ่งกันและกันในการดูแลทรัพยากรที่แตกต่างกัน

    บทความของ นฤมล อรุโณทัย ได้สานต่อและขยายความคิดดังกล่าวจากกรณีในภาคเหนือ ด้วยการหันไปถกเถียงกรณีของชุมชนชาวเลในภาคใต้ ที่มีวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่เอื้อต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งทะเล ขณะที่บทความของ ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ ได้หยิบยกประเด็นการเมืองของความรู้ขึ้นมายืนยันเพิ่มเติม ในกรณีของชุมชนตามลุ่มน้ำต่าง ๆ ในภาคอีสาน ที่ต้องพึ่งพาทรัพยากรจากน้ำ ผ่านงานวิจัยไทบ้านเพื่อพิสูจน์ว่า พวกเขามีความรู้อีกชุดหนึ่งที่แตกต่างจากความรู้กระแสหลัก แต่มีความสำคัญต่อการดำรงอยู่ร่วมกันของคนและระบบนิเวศ ซึ่งคล้ายคลึงกันระหว่างคนทั้งในลุ่มน้ำและชายฝั่งทะเล

    ในช่วงหลัง อาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ ได้หันมาสนใจประเด็นสตรีศึกษาและเพศภาวะเพิ่มเติม เริ่มต้นจากการร่วมวิจัยผู้หญิงชาวไท ซึ่งรวมพิมพ์อยู่ในหนังสือเรื่อง “ไท” (ฉลาดชาย รมิตานนท์ วิระดา สมสวัสดิ์ และเรณู วิชาศิลป์ บก. 2541) ต่อมาก็เขียนเอกสารประกอบการสอนสตรีศึกษาอีกหลายชิ้น บทความอีกชิ้นหนึ่งในวารสารเล่มนี้ของ ไพบูลย์ เฮงสุวรรณ ได้พยายามเชื่อมโยงการศึกษาของ อาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ เกี่ยวกับป่าชุมชนและสตรีศึกษา ด้วยการชี้ให้เห็นว่า การศึกษาการเคลื่อนไหวเพื่อการมีส่วนร่วมจัดการป่าชุมชนนั้นมักจะเน้นการต่อต้านวาทกรรมป่าของรัฐเป็นส่วนหลัก แต่ยังไม่ได้สนใจบทบาทของผู้หญิงในพื้นที่สาธารณะเท่าที่ควร เพราะการยึดติดอยู่กับมายาคติที่ว่าผู้หญิงไม่สนใจการเมือง ทั้ง ๆ ที่ผู้หญิงก็มีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวอย่างแข็งขันในพื้นที่สาธารณะต่าง ๆ ด้วยเช่นเดียวกัน

    บทความต่าง ๆ ที่กล่าวถึงมาแล้วข้างต้น เริ่มมาจากการนำเสนอในการสัมมนาเพื่อชี้ให้เห็นถึงคุณูปการของอาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ ที่มีต่อวงวิชาการและการเคลื่อนไหวทางสังคมในด้านต่าง ๆ ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2561 แต่ในวารสารฉบับนี้ยังมีอีกหนึ่งบทความ ที่นำมาเพิ่มเติมในภายหลัง ซึ่งน่าจะช่วยเชื่อมโยงความคิดของอาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ ไปในอนาคตข้างหน้าได้เป็นอย่างดีอีกประเด็นหนึ่ง บทความแรกของนฤพนธ์ ด้วงวิเศษ ได้ถกเถียงประเด็นเกี่ยวกับ “เควียร์ศึกษาในสังคมไทย มองผ่านข้อถกเถียงจากตะวันตก” ซึ่งน่าจะเป็นที่อยู่ในใจของอาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ เช่นเดียวกัน

    บทความต่าง ๆ ในวารสารฉบับนี้จึงช่วยยืนยันได้อย่างดี ถึงคุณูปการของ อาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ ทั้งในเชิงวิชาการและการร่วมเคลื่อนไหวทางสังคม ซึ่งถือเป็นต้นแบบของมานุษยวิทยาปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม เพราะ อาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ สามารถเชื่อมโยงความคิดและข้อค้นพบต่าง ๆ จากการวิจัยได้อย่างมีพลัง ต่อพลวัตของการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงสังคม ด้วยมุมมอง “การเมืองของชีวิตในพื้นที่วัฒนธรรม” เริ่มจากการหันเหความสนใจจากมานุษยวิทยากระแสหลักมามองอำนาจจากเบื้องล่าง ที่แฝงอยู่ในพิธีกรรมและความเชื่อของชาวบ้าน จนมีส่วนช่วยเสริมศักยภาพให้กับการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิชุมชน ในการเข้าถึงและจัดการทรัพยากร ซึ่งนักวิชาการรุ่นต่อ ๆ มาได้พยายามสานต่อความคิดดังกล่าว และพบว่าสามารถนำมาปรับใช้ได้กับชุมชนอย่างหลากหลาย แม้จะอยู่ในระบบนิเวศที่แตกต่างกัน ทั้งป่าในพื้นที่สูง พื้นที่ลุ่มน้ำ และพื้นที่ชายฝั่งทะเล ก็ตาม

    ในท้ายที่สุด อาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ มักจะยืนยันถึงความสำคัญของมิติต่าง ๆ จากสตรีศึกษาและพยายามจะเตือนสติอยู่เสมอว่า การเคลื่อนไหวทั้งหลายข้างต้นนั้นไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะพื้นที่ของผู้ชายเท่านั้น หากจะต้องมีผู้หญิงร่วมอยู่ในทุกพื้นที่ด้วย ทั้งนี้เพราะในปัจจุบันสังคมและชุมชนวิชาการต่าง ๆ มักติดอยู่ในกับดักของมุมมองที่ไร้มิติของผู้หญิงและเพศสภาวะอย่างเหนียวแน่น จนกลายเป็นช่องว่างของการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมประชาธิปไตย ที่ยังคงลุ่ม ๆ ดอน ๆ อยู่เช่นในขณะนี้

  • Navigating Through Uncertainties: Dwelling in the Transition of Thai Society
    Vol. 35 No. 1 (2023)

    ความไม่แน่นอน (Uncertainty) ถือเป็นปมปัญหาสำคัญทางปรัชญาที่สะท้อนเงื่อนไขของภาวะความเป็นมนุษย์ อันได้แก่ การผิดพลาดได้ ขีดจำกัดในการรู้อดีตและอนาคต และการตัดสินใจและการกระทำการด้วยความบังเอิญของมนุษย์ที่ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ที่มิได้ตั้งใจ  ในทางภววิทยา มนุษย์จึงมิได้ดำรงอยู่อย่างสมบูรณ์หรือปราศจากข้อจำกัด ในเชิงญาณทัศน์ ความไม่แน่นอนของความรู้ หรือข้อจำกัดของความสามารถในการรับรู้ ถูกถือให้เป็นหลักการพื้นฐานในการสร้างโจทย์คำถาม เพื่อนำไปสู่แสวงหาความรู้ที่แน่นอน หรือหนทางในการกล่าวอ้างถึงความถูกต้องของความรู้  ตลอดประวัติศาสตร์ของปรัชญาตะวันตก การพยายามสร้างเครื่องมือทางปัญญาในการเข้าถึงความแน่นอนทางความรู้ ดำเนินมาในแนวทางต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นแนวทางนอกเหตุผล (non-raltional) เช่น ศรัทธาและความเชื่อ ในการเอาชนะข้อจำกัดของความผิดพลาดในการไปสู่ความรู้ที่ถูกต้องของปรัชญาศาสนา หรือเหตุผลในระหว่างกลาง (in-betwen rationales) เช่น ความเชื่อใจ (trust) และสหัชญาณ (intution) อันเป็นประสบการณ์เชิงอัตวิสัยที่ให้ความสำคัญต่อการให้ความหมายต่อเหตุผลหลายประเภท ผ่านการวิเคราะห์ภาษาของปรัชญาสายปรากกฎการณ์นิยม (Schulz and Zinn 2023)  

    ความไม่แน่นอนนั้น อาจพิจารณาผ่านความแตกต่างระหว่างความไม่แน่นอนเชิงอัตวิสัย และความไม่แน่นอนเชิงภววิสัย (Wakeham 2015)  ในเชิงอัตวิสัยนั้น ปัจเจกบุคคลมีประสบการณ์ต่อความไม่แน่นอนบนฐานความรู้ที่บุคคลมีต่อเรื่องหนึ่ง ๆ ประสบการณ์ต่อเรื่องราวบางอย่างอาจท้าทายความเชื่อที่บุคคลนั้น ๆ มี และนำมาซึ่งการตั้งข้อสงสัยต่อความเชื่อที่มีอยู่ ประสบการณ์เชิงปรากฏการณ์นิยมเกี่ยวกับความไม่แน่นอนนี้เป็นไปได้ทั้งในลักษณะของการรับรู้ (cognitive) และในแง่อารมณ์ความรู้สึก (emotional)  ประสบการณ์เกี่ยวกับความไม่แน่นอนของบุคคลจึงมีอิทธิพลต่อการกระทำการทางสังคมของผู้คน ในขณะเดียวกัน บริบททางสังคมก็มีอิทธิพลต่อการหล่อหลอมประสบการณ์เชิงการรับรู้และเชิงอารมณ์ของความไม่แน่นอนด้วยเช่นกัน (อ้างแล้ว, 716) ในมิติของภววิสัยนั้น ความไม่แน่นอนไม่ได้มาจากประสบการณ์ของผู้คน หากแต่มาจากโลกที่มนุษย์ดำรงอยู่ ที่มนุษย์มิได้มีความรู้เกี่ยวกับโลกดังกล่าวอย่างสมบูรณ์​ ความไม่แน่นอนในมิติภววิสัย ยังมีนัยที่ต่างกันระหว่างญาณทัศน์และ  ภววิทยา ความไม่แน่นอนในเชิงญาณทัศน์ หมายถึง สิ่งที่ยังมิใช่ความรู้ แต่สามารถลดความไม่แน่นอนที่ไม่อาจรู้ได้ลงด้วยการแสวงหาข้อมูลและความรู้เพิ่มเติม ในขณะที่ความไม่แน่นอนในเชิงภววิทยา หมายถึงสิ่งที่ไม่อาจรู้ได้อันเนื่องมาจากความไม่สามารถที่จะรู้ได้เลย ซึ่งอาจเนื่องมาจากความซับซ้อนของปัญหาหรือสถานการณ์ หรืออุปสรรคโดยธรรมชาติของเวลาที่ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงความรู้ในทางประวัติศาสตร์ได้

  • สิทธิชาติพันธุ์ วัฒนธรรม และความท้าทาย
    Vol. 34 No. 2 (2022)

    วารสารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปีที่ 34 ฉบับที่ 2 (2565) ก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง ด้วยการรวบรวมบทความจากหลากหลายพื้นที่และผู้เขียนหลายกลุ่ม ฉบับนี้มีเนื้อหาที่เป็นประเด็นทางวิชาการที่น่าสนใจ ทั้งในประเด็นความท้าทายวัฒนธรรมบริโภคเพื่อสุขภาพ ในกรณีนักวิ่งในเมืองจังหวัดขอนแก่น ประเด็นการวิพากษ์การศึกษาขั้นพื้นฐานของรัฐไทย โดยเฉพาะในเรื่องของการเรียนวัฒนธรรม ประเด็นสิทธิชนพื้นเมืองแคนนาดา และชาติพันธุ์ในแม่อายจังหวัดเชียงใหม่ นอกจากนี้ ยังมีการอ่านทบทวนงานเขียนว่าด้วยมานุษยวิทยาในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในแง่ของจารีตของชาติและปฏิบัติการข้ามชาติ ซึ่งชี้ชวนให้เห็นถึงการเมืองของการผลิตสร้างความรู้ในสาขา “มานุษยวิทยา” ที่เปิดโลกทัศน์และขยายพรมแดนความรู้ 

  • ชาร์ล คายส์ ด้วยความเคารพและจดจำ
    Vol. 34 No. 1 (2022)

    Charles F. Keyes

    October 3, 1937 – January 3, 2022

    ด้วยความเคารพและจดจำ

     

    เป็นที่ยอมรับกันว่า ท่านคือนักมานุษยวิทยาอเมริกันคนสำคัญ ผู้มีความรู้อย่างลึกซึ้ง รอบด้าน เกี่ยวกับไทยศึกษาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา

     

    ความสำเร็จของอาจารย์คายส์ ในการผลักดันให้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา เติบโตอย่างมั่นคง นั้นกล่าวกันว่าไม่ได้เพียงแค่มาจาก ความลุ่มลึกแข็งแกร่งทางวิชาการของท่าน แต่ยังมาจาก การอุทิศตนของท่านอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย ในฐานะอาจารย์สอนหนังสือและนักมานุษยวิทยาด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา

     

    ผลงานวิชาการด้านไทยศึกษา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา และมานุษยวิทยา-ล้านนาคดี ของอาจารย์คายส์นั้นมากมาย มีหนังสือทั้งที่เขียนเอง อาทิ The Golden Peninsula 1977.  Thailand: Buddhist Kingdom as Modern Nation-State 1987. และบรรณาธิการ กว่า 15 เล่ม บทความวิชาการนับร้อยชิ้น และงานเขียนเชิงอัตชีวประวัติ ซึ่งเป็นงานเขียนเล่มสุดท้ายของท่าน Impermanence: An Anthropologist of Thailand and Asia 2020.

     

    แม้อาจารย์คายส์จะได้จากไปแล้ว ทว่าคุณูปการจากการทำงาน ชีวิตที่ท่านอุทิศให้กับครอบครัว ลูกศิษย์ จนไปถึงมิตรสหาย และที่สำคัญ ผลงานการเขียนอันทรงคุณค่า ที่ช่วยสร้างความเข้าใจที่เรามี เกี่ยวกับสังคมไทยและเพื่อนบ้านอุษาคเนย์ยังอยู่กับพวกเราตลอดไป เหนือสิ่งอื่นใดอาจารย์คายส์ได้ฝากไว้บนโลกนี้ คือความดีงาม ความรัก และความเมตตา ที่ท่านมีให้เสมอต่อผู้คนรอบข้าง ลูกศิษย์ และกัลยาณมิตรของท่าน

     

    ชาร์ล คายส์

    ด้วยความเคารพและจดจำ

  • ความหวัง อาหาร รัฐการเงิน
    Vol. 33 No. 2 (2021)

    1 มกราคม 2494

    จรัล มโนเพ็ชร เกิดและเติบใหญ่ ที่บ้าน หลังวัดฟ่อนสร้อย ในเวียงเชียงใหม่ เรียนหนังสือตั้งแต่ชั้นประถมจนถึงระดับวิทยาลัย ที่เชียงใหม่ จากนั้นเริ่มทำงานรับราชการ กระทั่งไม่กี่ปีต่อมา จึงลาออก

     

    หลังลาออกจากงานธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ ในปี 2520 จรัล และพี่น้องตระกูลมโนเพ็ชร เริ่มผลิตผลงานที่ต่อมาจะกลายเป็น “ตำนาน” ของเพลงโฟล์คซองคำเมือง เป็นที่รู้จักไปทั่วผืนปฐพีไทย

     

    3 กันยายน 2544

    จรัล มโนเพ็ชร เสียชีวิต ที่บ้านดวงดอกไม้ ลำพูน การจากไปอย่างปัจจุบันทันด่วน ไร้คำร่ำลา กลายเป็นความอาลัยถวิลหาอย่างสุดซึ้งจากผู้คนมากมาย ทั้งใกล้.. ไกล ผลงานที่เขาสร้างสรรค์ไว้ กลายเป็น “ตำนาน” อย่างถาวร

     

    กว่า 20 ปี ที่เขาจากไป ความทรงจำที่ผู้คนมี ทั้งต่อตัวเขา ต่องานดนตรี งานบันเทิงที่เขาสรรสร้างเพื่อจรรโลงใจ หาได้จางหายไปกับกาลเวลา ในวาระสำคัญที่ภาคประชาชนนำโดยกลุ่มคนที่เรียกตนเองว่า คณะกรรมการจรัลรำลึกจะร่วมกันเปิด “ข่วงอ้ายจรัล” อันเป็นที่ตั้งของประติมากรรมขนาดเท่าตัวจริงของจรัล มโนเพ็ชร ในวันเริ่มต้นของศักราชใหม่ 2565 วารสารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงขอร่วมจารึกบันทึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญนี้ไว้ด้วย

     

    1 มกราคม 2565

    จรัล มโนเพ็ชร ได้เกิดใหม่ ที่ “ข่วงอ้ายจรัล” ในสวนสาธารณะบวกหาด ของเมืองเชียงใหม่ ไม่ไกลจากย่านประตูเชียงใหม่ บ้านเกิดของศิลปินผู้ยิ่งใหญ่แห่งแดนดินล้านนา

     

    นอกจาก บทความเกียรติยศ “จรัล มโนเพ็ชรกับแผ่นดินล้านนา” ของศาสตราจารย์ เกียรติคุณ ธเนศวร์ เจริญเมือง วารสารสังคมศาสตร์ฉบับนี้ ยังมีบทความวิชาการที่น่าสนใจ ให้ผู้อ่านได้ติดตามความรู้ความเคลื่อนไหวในโลกวิชาการ เช่นเคย ว่าด้วยเรื่อง “ความหวัง อาหาร และรัฐการเงิน”

     

     

    ของกิ๋นบ้านเฮา      เลือกเอาเตอะนาย

    เป็นของพื้นเมือง    เป็นเรื่องสบาย

    ล้วน สะปะ มากมี

     

    อาหาร ไม่ว่าจะขายข้างทาง หรือบนห้างหรู ล้วนเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้คนต้องกิน ต้องหา ไม่ว่าจะได้มาฟรีๆ หรือเป็น ของกิ๋นคนเมือง (2520) ที่เสาะหาได้ง่าย ตามไร่นา ป่าดอย ห้วยหนอง จนไปถึงหาไม่ได้ แต่ต้องตามซื้อ ตามหา ในระบบของความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะขายข้างทาง หรือบนห้างหรู จนเมื่อการแลกเปลี่ยนไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของเศรษฐศาสตร์ มูลค่าของอาหาร ที่จะมาก จะน้อย จึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับระบบตลาดเสมอไป

     

    แต่ก่อนอยู่เมือง    

    เหนือ เวียง เจียงใหม่ดู
    ปางมาอยู่ ในเมืองหลวง      

    อู้จะได ว่าจะดี
    จะเอาสไตล์         

    ต้องมี สตางค์เป็นกอง
    ก่อนว่าเฮา ใส่เงินใส่ทอง      

    รับรองว่าเฮา มีศักด์ มีศรี

    แบกดินแบกทราย  

    ดิ้นไป ดิ้นมา หาตังค์
    ปอได้เงิน บ่มีคนจัง เงินมันดัง ในปฐพี

     

    เงิน เจ้า ป่อ เงิน    คนทำมา หาเงิน    กัน ม่วนขนาด...

     

    เงินตรา คือระบบของการแลกเปลี่ยนที่รัฐต้องผูกขาดควบคุม การขยายอำนาจ การสถาปนาการปกครองของรัฐ สกุลเงินหรือระบบเงินตรา จึงไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของความมั่งคั่ง หรือชีวิตที่ต้องดิ้นรนจน “ม่วนขนาด” ในเพลงสะท้อนสังคมเงินตราของจรัลและคณะ (2533) ทว่าคือความมั่นคงที่รัฐจำเป็นต้องมี เพื่อควบคุม จัดระเบียบความสัมพันธ์ทั้งระหว่าง คนกับคน คนกับรัฐ รัฐกับองค์การ จนไปถึงรัฐกับโลก การจัดการระบบสกุลเงิน จนมาถึงสินทรัพย์ดิจิทัล ที่กำลังเป็นกระแสสารใหม่อยู่ในปัจจุบัน จึงล้วนสะท้อนให้เห็นว่ารัฐกับเงินนั้นไม่อาจแยกขาดออกจากกันได้

     

    ความฝันของวันนี้ อย่าคิดว่าไม่มีความหมาย หากไม่เลื่อนลอย งมงาน ไร้จุดยืน

    กับความหวังที่หลุดไป อย่าคิดว่าไม่มีวันกลับคืน หากมัวเสียใจขมขื่น อาจจะสายเกิน

    เธอฝัน เพราะเธอหวัง ก็หวังให้จริงจังอีกต่อไป ตรายใดที่ยังหายใจ ไม่ควรท้อเลย

     

    ในโลกที่เต็มไปด้วยภัยพิบัติ ความวุ่นวาย หายนะ กลายเป็นภาวะเสี่ยงของชีวิตรายวัน ความขัดแย้ง กลายเป็น วงจรปกติ การแสวงหาสิ่งที่เรียกว่า “ความหวัง” ซึ่งเดิมดูเหมือนจะเป็นเรื่องระหว่างความจริงกับความฝัน ทว่าได้กลายเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันไปเสียแล้ว แม้แต่ในโลกของวิชาการ

     

    ความหวัง ไม่ได้เป็นเรื่องเพ้อพกของศิลปิน หรือบทกวีพาฝัน ที่เราอาจเคยฟัง จรัล มโนเพ็ชร ขับขานใน ความหวัง ความฝัน ของวันนี้ (2541) อีกต่อไป

  • หลากชีวิต โควิด-19 วัฒนธรรม
    Vol. 33 No. 1 (2021)

    วารสารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เดินทางเข้าสู่ปีที่ 33 แล้วครับ ฉบับนี้รวมบทความ หลากรส หลากหลาย จากคนเขียนหลากกลุ่ม แม้ไม่ถึงกับข้ามสายพันธุ์ เนื้อหาเป็นเช่นใด บรรณาธิการ ขอพาสำรวจแบบรวบรัดตัดตอนโดยพลัน

     

    พิพิธภัณฑ์ – จีนเปอรานากัน

    พิพิธภัณฑ์ ซึ่งเป็นผลผลิตแห่งยุคสมัยอาณานิคม อันเต็มไปด้วยการปฏิวัติความรู้ เทคโนโลยีและอุตสาหกรรม อาจเป็นเรื่องของรัฐ หรือสถาบันความรู้กับจัดการศิลปวัถตุ รวมจนไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่น รวมจนไปถึงมนุษย์สายพันธุ์เดียวกันทว่าต่างกลุ่ม ต่างอารยะธรรมชาติพันธุ์ การเกิดขึ้นของพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์ในปัจจุบัน (ในบทความของ นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ) กลับเผยให้เราเห็นว่า พิพิธภัณฑ์ นั้นมิได้เป็นเพียงพื้นที่ของการจัดแสดงจารีตนิยมและภูมิปัญญาของคนท้องถิ่น หรือการที่รัฐทำให้กลุ่มชาติพันธุ์เปลียนจากสภาพด้อยพัฒนาสู่ความทันสมัยก้าวหน้า หากแต่เป็น พื้นที่แห่งความทรงจำ อันเป็นความทรงจำร่วม ที่มุ่งต่อสู้ โต้ตอบ และเคลื่อนไหว ในนามของการสร้างชาติและความเป็นชาติพันธุ์

     

    พิพิธภัณฑ์ หรือพื้นที่จัดแสดงวัฒนธรรมของชาวจีนเปอรานากันในรัฐกลันตัน (ในบทความของ พุทธิดา กิจดำเนิน) นับเป็นปรากฏการณ์ตัวอย่างสำคัญ เมื่อพวกเขากลายเป็นกลุ่มคนที่ต้องเผชิญปัญหา “วิกฤติอัตลักษณ์” หรือสภาวะตัวตนที่คลุมเครือ เมื่อชีวิตที่เป็นชีวิตขึ้นมาได้นั้น เกิดจากการผสมผสานทางวัฒนธรรมกับชาวมลายูและชาวสยามกลันตัน (ในประเทศมาเลเชีย) เกิดอะไรขึ้น เมื่อความเป็นจีนของของพวกเขาถูก “คนอื่น” มองว่า “ไม่เป็นจีน” การปรับเปลี่ยนวิธีการนำเสนอตัวตนใหม่ การสร้างเรื่องเล่า การเน้นความเป็นจีนดั้งเดิม การผลิตซ้ำความเป็นจีนแบบฮกเกี้ยน จึงกลายเป็นสิ่งจำเป็น และมี พิพิธภัณฑ์ เป็นกลไกสำคัญในการเปิดพื้นที่ให้ชีวิตอยู่ร่วมกับชีวิตได้

     

    โควิด-19

    หากเปรียบให้ “โควิด-19” เป็นดั่งสิ่งที่กำลังทำให้นาฬิกาโลกหยุดเดิน การแพร่ระบาดของไวรัสที่กลายพันธุ์จากสัตว์สู่มนุษย์ จนกลายเป็นโรคระบาดที่แพร่กระจายติดกันไปเกือบทั้งโลก โลกมนุษย์ภายใต้สถานการณ์ที่เต็มไปด้วยโรคระบาด ที่ยังไม่ทีท่าว่าจะหยุดยั้งได้จึงกลายเป็นโลกที่เผยให้เราเห็นความแตกต่างหลากหลาย ไม่เท่าเทียม เอารัดเอาเปรียบ  มากกว่าจะเป็นโลกที่มนุษย์ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน กระนั้นสำหรับคนอีกหลายกลุ่ม การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งนำไปสู่กลไกการกำกับควบคุมตนเองและที่รัฐสั่งการ ในนามของการสกัดกั้นและคัดกรอง อาจกลับกลายเป็นทั้ง วิกฤตและโอกาส ไปในคราเดียวกัน สำหรับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า (ในบทความของปรมินทร์ ตั้งโอภาสวิไลสกุล) ซึ่งทุกวันนี้มีทั้งคนหนุ่มสาวและคนทุกเพศวัย การระบาดของโควิด-19 อาจเปลี่ยนชีวิตให้กลายเป็นชีวิตที่เต็มไปด้วยสภาวะทุกข์ทน ทว่าอีกหลายคน ความทุกข์ทนอันเป็นผลมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 กลับเปลี่ยนเป็นเวลาแห่งการทบทวน เสมือนการแสวงหาตัวตนและความหมายของการมีชีวิต จนอาจไม่ต่างไปจากการที่บรรดานักบวช ฝึกฝน ปฏิบัติตนเพื่อมุ่งสู่การบรรลุมรรคผลในทางธรรม จนนำไปสู่การรื้อฟื้นชีวิต รื้อสร้างความสัมพันธ์ขึ้นมาใหม่ได้

     

    เกมและการสะสม

    เมื่อเกมกลายเป็นกีฬา (ดังปรากฏในบทความของ รวิโรจน์ ไทรงาม) ทว่ากีฬาที่ใช้เกม ก็ยังเป็นเรื่องของ “การเล่น” มากกว่าการออกกำลังกาย การเล่นเกมคอมพิวเตอร์ซี่งปัจจุบันต้องอาศัยทั้งทักษะ อุปกรณ์ และเครื่อข่ายการสื่อสาร นอกจากจะส่งผลต่อรูปแบบการใช้เวลาว่างของผู้คน การเล่นเกม ยังกลายเป็นพื้นที่ของการหลีกหนีจากความวุ่นวายของชีวิตทางกายภาพ สู่โลกแห่งความสุข สนุกสนาน ที่แม้จะเป็นความสุขแบบพลาสติค หรือความสุขที่จะเข้าถึงได้ก็ต่อเมื่อมนุษย์มี “อุปกรณ์” จนอาจกล่าวได้ว่าล้วนเป็นการบริโภคความสุขที่ไม่มีวันสิ้นสุด ประหนึ่งเพศรสที่ไม่ว่าจะ “เข้าถึง” ด้วยความสัมพันธ์แบบใด มนุษย์กับมนุษย์ หรือมนุษย์กับ “ตัวช่วย”? ด้วยเหตุนี้ อุตสาหกรรมเกม ซึ่งถือว่าเป็นเพียงส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมบันเทิงทั้งปวง จึงเป็นธุรกิจการค้าที่มุ่งเสนอขาย “ความสุขแบบไม่รู้จบ” อันเป็นความสุข ความปรารถนาเทียม ที่ผลิตออกมากระจาย หล่อเลี้ยงให้ทุนนิยมมีชีวิตและก้าวเดินต่อไปได้ชั่วกัปชั่วกัลป์ ในโลกแบบนี้ ชีวิตมนุษย์ที่ดูเหมือนว่าจะเลือกบริโภคได้ตามใจปรารถนา (จากดิจิตที่ไหลผ่าน แตกกระจายอยู่ในวงจรอุตสาหกรรมเกมและความบันเทิง) เอาเข้าจริงจึงถูกปิดบัง อำพราง ปัญหาการกดขี่ขูดรีดของทุนนิยมดิจิทัล ซึ่งก่อร่างสร้างขึ้นมา ด้วยความปรารถนาและความสุขแบบลวงหลอกที่ “ล่อลวง” มนุษย์อยู่นั่นเอง

     

    กระนั้นความสุขของมนุษย์ก็ไม่ได้มีแต่เพียงเรื่องของการได้ “เล่น” และเพศรส ทว่ายังอาจมาจากการสะสม ครอบครอง การเป็นเจ้าของ (ดังที่ นิติ ภวัครพันธุ์ ปริทัศน์ไว้อย่างลุ่มลึกและน่าติดตาม) ในแง่นี้การสะสมนอกจากจะเป็น “วัฒนธรรม” ที่ต้องการทักษะความรู้ หลายกรณียังต้องอาศัยอำนาจ การเข้าถึงอำนาจ จนไปถึงการสร้างสถาปนาอำนาจ และบารมีจากการสะสม ในแง่นี้สำหรับมนุษย์บางสายพันธุ์ การเก็บสะสม จึงยังกลายเป็นเรื่องของการพักผ่อนหย่อนใจและการเข้าถึง “ความสุข” ไปในเวลาเดียวกัน

  • สู่โลก POSTHUMAN
    Vol. 32 No. 2 (2020)

    โลกหลังมนุษย์ (The Posthuman World)  คือสภาวะแห่งจุดตัดของการเชื่อมประสานระหว่าง กระแสความคิดที่มุ่งวิพากษ์วิจารณ์การมองมนุษย์เชิงมนุษย์นิยมตามอุดมคติแบบเก่า และ กระแสความเคลื่อนไหวซึ่งมุ่งวิพากษ์วิจารณ์แนวคิดที่แบ่งแยกมนุษย์ออกจากสิ่งมีชีวิตอื่นๆ และยกให้มนุษย์อยู่เหนือสิ่งอื่นใด วิธีคิดแบบหลังมนุษย์คือเครื่องมือที่จะสำรวจตรวจตราและนำพาเราสืบสวนตรวจสอบสรรพสิ่งต่างๆ ในสภาวการณ์ที่โลกและสิ่งมีชีวิตทั้งหลายกำลังจะสูญพันธุ์ ถูกทำลายล้างโดยการคุกคามของเทคโนโลยีก้าวหน้า สภาวะปั่นป่วนของบรรยากาศโลก ธรรมชาติผิดฤดูกาล และโรคอุบัติใหม่ จนไปถึงทุนนิยมครองโลก ซึ่งมนุษย์แทบไม่มีโอกาสใช้ชีวิตอย่างมีความสุขอีกต่อไป

    วารสารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ฉบับนี้ รวมเอาบทความวิชาการทั้งเป็นผลส่วนหนึ่งของกระแสความเคลื่อนไหวของสังคมศาสตร์แบบหลังมนุษย์ คือ “เส้นชีวิตระหว่างลิงกังกับคนเลี้ยงลิง: สู่พื้นที่แบบหลังมนุษย์นิยมแห่งการอยู่อาศัยและการกลาย” ของ พัชราภรณ์ จักรสุวรรณ์ และ ชยา วรรธนะภูติ การศึกษาระหว่างมนุษย์กับรัฐ ซึ่งจะเรียกว่า “อมนุษย์” ก็คงได้ ในบทความเรื่อง “การพยายามสร้างสภาวะยกเว้นจากการบังคับใช้อำนาจรัฐของม้งในประเทศไทย” ของ อุไร ยังชีพสุจริต จนไปถึงงานวิชาการที่เรียกว่า “อมนุษย์ศึกษา” ใน “ป้ายรถเมล์กายสิทธิ์: วัตถุจำแลงของการเมืองในชีวิตประจำวันต่อโครงสร้างระบบขนส่งมวลชนสาธารณะในกรุงเทพมหานคร” ของ วิสุทธิ์ เวชวราภรณ์ และชีวิตแรงงานภายใต้สถานการณ์โควิด 19 ของ กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์ ใน “บทบาทของมาตรฐานแรงงานสากลในการจัดการทรัพยากรมนุษย์และการทำงานทางไกลระหว่างโคโรนาไวรัสแพร่ระบาด” แน่นอนว่า สังคมศาสตร์วิชาการที่ตระหนักถึงความเคลื่อนไหวและการเปลี่ยนแปลงในสังคมยังคงจำเป็นอยู่เช่นกัน ดังสะท้อนผ่านบทความPolitical Communication via Social Media: Future Forward Party’s Message Appeals and Media Format Usage on Facebook and Twitter and Links to Political Participation of Generation Z Audiences” ของ อัจฉรียา ประสิทธิ์วงศา และ อัจฉรา ปัณฑรานุวงศ์

    สังคมศาสตร์ ฉบับนี้ถือเป็นงานส่งท้ายปี 2563 ปีที่มนุษย์เผชิญกับความปั่นป่วนจากการแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่ COVID 19 กันไปทั่วโลก จะว่าไป ปีที่กำลังจะผ่านไปนี้ คือปีแห่งการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ “โลกหลังมนุษย์” โดยแท้ หวังว่า ผู้อ่าน คงจะได้รับทั้งความรู้และอรรถรสเชิงวิชาการทั้งแบบเดิมและแบบใหม่ ซึ่งวารสารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยืนหยัดที่จะนำเสนอสู่บรรณพิภพอย่างมั่นคงเสมอมา

  • เมืองดิจิทัล แรงงาน มานุษยวิทยาดนตรี
    Vol. 32 No. 1 (2020)

    เมืองดิจิทัล คือมโนทัศน์ที่สร้างขึ้นเพื่อทำความเข้าใจ การที่ชีวิตทางสังคมของผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองถูกทำให้มีความเป็นดิจิทัล ต้องพึ่งพาระบบดิจิทัลมากขึ้น ชีวิตทางสังคมของผู้คนในเมือง กำลังได้รับการวางโครงสร้างใหม่ผ่านกิจกรรมและเครือข่ายการสื่อสารแบบดิจิทัล สื่อดิจิทัลได้กลายมาเป็นตัวกำหนดโครงสร้าง รูปแบบของกรดำเนินชีวิตของมนุษย์ โดยเฉพาะที่อาศัยใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ที่เราเรียกว่า เมือง

    การใช้ชีวิตในเมืองดิจิทัล จึงเป็นชีวิตทีกำลังถูกจัดระเบียบและวางโครงสร้างความสัมพันธ์แบบใหม่ ซึ่งอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัล ความสำคัญของเนื้อหาข่าวสาร ที่สื่อสารและบริโภคในชีวิตประจำวัน

  • ความหลากหลายกับนโยบายทางสังคม
    Vol. 31 No. 2 (2019)

    คงจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เราจะมองว่า สาเหตุของความเหลื่อมล้ําในสังคมไทย ท่ามกลางการเกิดขึ้นของสถานการณ์ความยากลำบากของคนกลุ่มน้อย (Minorities) คนด้อยโอกาส (Disadvantaged people) และหรือ คนที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงสิทธิ และโอกาสที่พวกเขาต้องเผชิญกันอย่างหนักหน่วง เมื่อเปรียบเทียบกับคนกลุ่มอื่น ๆ ในสังคม ว่าแท้จริงแล้ว โดยรากฐานของความเหลื่อมล้ำเหล่านั้น ล้วนแล้วแต่ เกิดขึ้นมาจากความสัมพันธ์เชิงอำนาจ (Power relations) ที่ถูกประกอบสร้างขึ้น ในสังคมไทย มาอย่างต่อเนื่องและโดยแยบยลทั้งสิ้น

    ในขณะที่ความหลากหลายทางสังคมวัฒนธรรม (Multiculturalism) ทั้งใน รูปแบบต่างๆ รวมถึง อายุ เพศภาวะ สถานภาพสมรส ชนชั้น และหรือ ชาติพันธุ์ ฯลฯ ถูกพิจารณาและตระหนักถึง ทั้งในการกำหนดประเด็นทางสังคมเพื่อถกเถียง อภิปรายร่วมกันเพื่อหาข้อสรุปรวมถึงความพยายามจะจัดการกับประเด็นเหล่านั้น ในลักษณะของการนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาในหลายระดับ รวมถึงในระดับ ของการริเริ่มนโยบายทางสังคม (Social policy)

1-10 of 34