บทบรรณาธิการ

Authors

  • Wasan Panyagaew DEPARTMENT OF SOCIOLOGY AND ANTHROPOLOGY, Faculty of Social Sciences , Chiang Mai University

Abstract

1 มกราคม 2494

จรัล มโนเพ็ชร เกิดและเติบใหญ่ ที่บ้าน หลังวัดฟ่อนสร้อย ในเวียงเชียงใหม่ เรียนหนังสือตั้งแต่ชั้นประถมจนถึงระดับวิทยาลัย ที่เชียงใหม่ จากนั้นเริ่มทำงานรับราชการ กระทั่งไม่กี่ปีต่อมา จึงลาออก

 

หลังลาออกจากงานธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ ในปี 2520 จรัล และพี่น้องตระกูลมโนเพ็ชร เริ่มผลิตผลงานที่ต่อมาจะกลายเป็น “ตำนาน” ของเพลงโฟล์คซองคำเมือง เป็นที่รู้จักไปทั่วผืนปฐพีไทย

 

3 กันยายน 2544

จรัล มโนเพ็ชร เสียชีวิต ที่บ้านดวงดอกไม้ ลำพูน การจากไปอย่างปัจจุบันทันด่วน ไร้คำร่ำลา กลายเป็นความอาลัยถวิลหาอย่างสุดซึ้งจากผู้คนมากมาย ทั้งใกล้.. ไกล ผลงานที่เขาสร้างสรรค์ไว้ กลายเป็น “ตำนาน” อย่างถาวร

 

กว่า 20 ปี ที่เขาจากไป ความทรงจำที่ผู้คนมี ทั้งต่อตัวเขา ต่องานดนตรี งานบันเทิงที่เขาสรรสร้างเพื่อจรรโลงใจ หาได้จางหายไปกับกาลเวลา ในวาระสำคัญที่ภาคประชาชนนำโดยกลุ่มคนที่เรียกตนเองว่า คณะกรรมการจรัลรำลึกจะร่วมกันเปิด “ข่วงอ้ายจรัล” อันเป็นที่ตั้งของประติมากรรมขนาดเท่าตัวจริงของจรัล มโนเพ็ชร ในวันเริ่มต้นของศักราชใหม่ 2565 วารสารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงขอร่วมจารึกบันทึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญนี้ไว้ด้วย

 

1 มกราคม 2565

จรัล มโนเพ็ชร ได้เกิดใหม่ ที่ “ข่วงอ้ายจรัล” ในสวนสาธารณะบวกหาด ของเมืองเชียงใหม่ ไม่ไกลจากย่านประตูเชียงใหม่ บ้านเกิดของศิลปินผู้ยิ่งใหญ่แห่งแดนดินล้านนา

 

นอกจาก บทความเกียรติยศ “จรัล มโนเพ็ชรกับแผ่นดินล้านนา” ของศาสตราจารย์ เกียรติคุณ ธเนศวร์ เจริญเมือง วารสารสังคมศาสตร์ฉบับนี้ ยังมีบทความวิชาการที่น่าสนใจ ให้ผู้อ่านได้ติดตามความรู้ความเคลื่อนไหวในโลกวิชาการ เช่นเคย ว่าด้วยเรื่อง “ความหวัง อาหาร และรัฐการเงิน”

 

 

ของกิ๋นบ้านเฮา      เลือกเอาเตอะนาย

เป็นของพื้นเมือง    เป็นเรื่องสบาย

ล้วน สะปะ มากมี

 

อาหาร ไม่ว่าจะขายข้างทาง หรือบนห้างหรู ล้วนเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้คนต้องกิน ต้องหา ไม่ว่าจะได้มาฟรีๆ หรือเป็น ของกิ๋นคนเมือง (2520) ที่เสาะหาได้ง่าย ตามไร่นา ป่าดอย ห้วยหนอง จนไปถึงหาไม่ได้ แต่ต้องตามซื้อ ตามหา ในระบบของความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะขายข้างทาง หรือบนห้างหรู จนเมื่อการแลกเปลี่ยนไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของเศรษฐศาสตร์ มูลค่าของอาหาร ที่จะมาก จะน้อย จึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับระบบตลาดเสมอไป

 

แต่ก่อนอยู่เมือง    

เหนือ เวียง เจียงใหม่ดู
ปางมาอยู่ ในเมืองหลวง      

อู้จะได ว่าจะดี
จะเอาสไตล์         

ต้องมี สตางค์เป็นกอง
ก่อนว่าเฮา ใส่เงินใส่ทอง      

รับรองว่าเฮา มีศักด์ มีศรี

แบกดินแบกทราย  

ดิ้นไป ดิ้นมา หาตังค์
ปอได้เงิน บ่มีคนจัง เงินมันดัง ในปฐพี

 

เงิน เจ้า ป่อ เงิน    คนทำมา หาเงิน    กัน ม่วนขนาด...

 

เงินตรา คือระบบของการแลกเปลี่ยนที่รัฐต้องผูกขาดควบคุม การขยายอำนาจ การสถาปนาการปกครองของรัฐ สกุลเงินหรือระบบเงินตรา จึงไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของความมั่งคั่ง หรือชีวิตที่ต้องดิ้นรนจน “ม่วนขนาด” ในเพลงสะท้อนสังคมเงินตราของจรัลและคณะ (2533) ทว่าคือความมั่นคงที่รัฐจำเป็นต้องมี เพื่อควบคุม จัดระเบียบความสัมพันธ์ทั้งระหว่าง คนกับคน คนกับรัฐ รัฐกับองค์การ จนไปถึงรัฐกับโลก การจัดการระบบสกุลเงิน จนมาถึงสินทรัพย์ดิจิทัล ที่กำลังเป็นกระแสสารใหม่อยู่ในปัจจุบัน จึงล้วนสะท้อนให้เห็นว่ารัฐกับเงินนั้นไม่อาจแยกขาดออกจากกันได้

 

ความฝันของวันนี้ อย่าคิดว่าไม่มีความหมาย หากไม่เลื่อนลอย งมงาน ไร้จุดยืน

กับความหวังที่หลุดไป อย่าคิดว่าไม่มีวันกลับคืน หากมัวเสียใจขมขื่น อาจจะสายเกิน

เธอฝัน เพราะเธอหวัง ก็หวังให้จริงจังอีกต่อไป ตรายใดที่ยังหายใจ ไม่ควรท้อเลย

 

ในโลกที่เต็มไปด้วยภัยพิบัติ ความวุ่นวาย หายนะ กลายเป็นภาวะเสี่ยงของชีวิตรายวัน ความขัดแย้ง กลายเป็น วงจรปกติ การแสวงหาสิ่งที่เรียกว่า “ความหวัง” ซึ่งเดิมดูเหมือนจะเป็นเรื่องระหว่างความจริงกับความฝัน ทว่าได้กลายเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันไปเสียแล้ว แม้แต่ในโลกของวิชาการ

 

ความหวัง ไม่ได้เป็นเรื่องเพ้อพกของศิลปิน หรือบทกวีพาฝัน ที่เราอาจเคยฟัง จรัล มโนเพ็ชร ขับขานใน ความหวัง ความฝัน ของวันนี้ (2541) อีกต่อไป

Downloads

Published

2022-01-01

How to Cite

Panyagaew, Wasan. 2022. “บทบรรณาธิการ”. Social Sciences Academic Journal, Faculty of Social Sciences, Chiang Mai University 33 (2):6-9. https://so04.tci-thaijo.org/index.php/jss/article/view/256629.