Charles F. Keyes ด้วยความเคารพและจดจำ
Abstract
ศาสตราจารย์ ชาร์ล เอฟ คายส์ หรืออาจารย์คายส์ นักมานุษยวิทยาอเมริกันผู้เชี่ยวชาญด้านไทยศึกษาและอุษาคเนย์ ได้จากพวกเราไปอย่างสงบ เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2565 ที่ผ่านมาที่เมืองพอร์ทแลนด์ รัฐโอเรกอน รวมท่านอายุได้ 84 ปี ใช้ชีวิตได้ครบ 7 รอบนักษัตร
ท่านแต่งงานใช้ชีวิตร่วมกับภรรยาอันเป็นที่รักของท่านคือ Jane Keyes หรือ คุณเจน นานกว่า 60 ปี มีลูกด้วยกัน 2 คน คุณเจน ภรรยาของท่านนับว่าเป็นผู้ร่วมทำงานวิจัยภาคสนามคนสำคัญแต่แรกเริ่มชีวิตนักมานุษยวิทยาของคายส์
อาจารย์คายส์ เดินทางจากประเทศสหรัฐอเมริกาเข้ามาทำงานวิจัยภาคสนามนานเกือบ 2 ปี (ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2505-เมษายน 2507) ที่มหาสารคาม เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการเขียนวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกของท่าน แทบทุกหนแห่งที่อาจารย์คายส์เดินทางไปศึกษา รวบรวมข้อมูลภาคสนาม พบปะผู้คนมากมาย. คุณเจนคือช่างภาพคนสำคัญที่ทำงานร่วมกับท่าน จนเราน่าจะกล่าวได้ว่า เจน คายส์ คือ Photographer ที่ทำงานวิจัยร่วมกับ Anthropologist คืออาจารย์คายส์ จนกลายเป็นผลงานด้านมานุษยวิทยาทัศนนา อันทรงคุณค่ายิ่ง ที่เราได้เห็นและใช้ประโยน์จากภาพถ่ายเชิงชาติพันธุ์นิพนธ์ จนไปถึงได้เห็นภาพการทำงานภาคสนามของอาจารย์คายส์ (ปัจจุบันรวบรวมไว้ในรูปแบบของ Digital Archive ที่มหาวิทยาลัยวอร์ชิงตัน)
หลังสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยคอร์แนล (Cornell University) ในปีพุทธศักราช 2508 อาจารย์คายส์ เริ่มงานสอนที่ ภาควิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยวอชิงตัน, ซีแอตเทิล (University of Washington, Seattle) ระหว่างที่เริ่มงานสอนหนังสือได้ไม่นาน ท่านได้รับทุนวิจัยกลับมาทำงานหลังปริญญาเอกในประเทศไทย ทำงานวิจัยเชิงมานุษยวิทยาชาติพันธุ์ร่วมกับ Peter Kunstadter ที่แม่สะเรียง
ท่านและภรรยาใช้เวลาทำงานวิจัยภาคสนามอยู่ที่แม่สะเรียงนานกว่าปี คือระหว่างปีพุทธศักราช 2511 – 2512
งานภาคสนามที่แม่สะเรียงนี่เองคือ “จุดเปลี่ยน” สำคัญที่ทำให้ท่านหันมาสนใจศึกษาชาวกะเหรี่ยงและสังคมวัฒนธรรมในล้านนา ดังปรากฏผ่านผลงานสำคัญมากมายของท่านที่อาจกล่าวได้ว่าคือ มานุษยวิทยาศาสนา-ล้านนาคดี อาทิ “Buddhist Pilgrimage Centers and the Twelve-Year Cycle” (ในวารสาร History of Religions. 1975) ซึ่งเป็นเรื่องของการจาริกแสวงบุญของชาวล้านนาไปตามพระธาตุต่างๆ ตามปีเกิดของชาสวล้านนา และ “Millennialism, Theravada Buddhism, and Thai Society” (ในวารสาร The Journal of Asian Studies. 1977) ซึ่งเป็นงานมานุษยวิทยาศาสนาว่าด้วยขบวนการพระศรีอารย์
ระหว่างปีพุทธศักราช 2515-2517 (และปีต่อๆ มากระทั่งบั้นปลายชีวิตวิชาการของท่าน) อาจารย์คายส์ยังได้เดินทางกลับมาทำงานวิชาการในประเทศไทยอีกครั้งสำคัญ ในฐานะนักวิชาการอาจารย์แลกเปลี่ยนโครงการ Fulbright ท่านมาช่วยสอนหนังสือที่ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อยู่ราวสองปี จนกล่าวได้ว่าในฐานะนักวิชาการของโครงการ Fulbright มีส่วนช่วยวางรากฐานการศึกษา หลักสูตรการเรียนการสอนให้กับคณะสังคมศาสตร์ยุคก่อตั้งแรกเริ่มอย่างสำคัญ
จากเชียงใหม่ ท่านกลับทำงานวิจัยและสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยวอชิงตันจนได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์ และคือผู้ก่อตั้ง “ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้” (Southeast Asian Centre) อุทิศเวลาอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ ทำงานขับเคลื่อนและส่งเสริมการศึกษาวิจัย หาทุนสนับสนุนให้นักศึกษาบัณฑิตศึกษาทำงานวิจัยด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาภายใต้การกำกับดูแลของท่านเป็นเวลายาวนานกว่าทศวรรษ (ระหว่างปี 2529-2540)
เป็นที่ยอมรับกันว่า ท่านคือนักมานุษยวิทยาอเมริกันคนสำคัญ ผู้มีความรู้อย่างลึกซึ้ง รอบด้าน เกี่ยวกับไทยศึกษาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา
อาจารย์คายส์กับภรรยา คือคุณเจน ยังช่วยบริจาคสนับสนุนการศึกษาของนักศึกษา ผ่านกองทุน Endowed Fund in Southeast Asia Studies ซึ่งจะให้ทุนสนับสนุนการเดินทางของนักศึกษาเพื่อทำวิจัยในเอเชียตะวันออกฉียงใต้ ที่ภาควิชามานุษยวิทยา อาจารย์คายส์ ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าภาควิชานานกว่า 5 ปี (ระหว่างปีพุทธศักราช 2528 - 2532) ทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงานสำคัญ คือ Dan Lev, Charlie Hirschman, และ Karl Hutterer สร้างและวางรากฐานให้ภาควิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยวอชิงตัน เป็นศูนย์กลางการศึกษาด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาสำคัญ ในแวดวงเครือข่ายมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านสังคมศาสตร์ของประเทศสหรัฐอเมริกา
ความสำเร็จของอาจารย์คายส์ ในการผลักดันให้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา เติบโตอย่างมั่นคง นั้นกล่าวกันว่าไม่ได้เพียงแค่มาจาก ความลุ่มลึกแข็งแกร่งทางวิชาการของท่าน แต่ยังมาจาก การอุทิศตนของท่านอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย ในฐานะอาจารย์สอนหนังสือและนักมานุษยวิทยาด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา
บารมีทางวิชาการอันยิ่งใหญ่ของท่าน ยังทำให้อาจารย์คายส์กลายเป็นผู้ที่มีบทบาทอย่างสำคัญ ที่จะกำหนดทิศทาง การวางแผนการศึกษาเกี่ยวกับเอเชีย ในมูลนิธิฟอร์ดและสภาวิจัยด้านสังคมศาสตร์ (Social Science Research Council - SSRC) ณ สภาวิจัยด้านสังคมศาสตร์ (แห่งชาติ) อาจารย์คายส์ได้ช่วยผลักดันให้เวียดนามศึกษากลายมาเป็นที่สนใจในแวดวงมานุษยวิทยาอเมริกัน อันเป็นช่วงเวลาที่ท่านรับตำแหน่งเป็นหัวหน้าผ่ายวิชาการของสภาวิจัยด้านสังคมศาสตร์โครงการอินโดจีน และท่านเองก็หันมาสนใจทำงานศึกษาชาติพันธุ์วัฒนธรรมในประเทศเวียดนามอย่างจริงจัง นอกจากนี้ท่านยังมีบทบาทอยางสำคัญในการส่งเสริมผลักดันให้มีการฝึกอบรมการวิจัยด้านสังคมศาสตร์ในประเทศเวียดนามและประเทศลาว โดยผ่านงานเหล่านี้นี่เองที่ ท่านจึงสามารถหาทุนสนับสนุนให้นักวิชาการ นักศึกษา จากประเทศเวียดนาม เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปเรียนมานุษยวิทยาหรือสังคมศาสตร์อื่นๆ ณ มหาวิทยาลัยวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ภายใต้การให้คำปรึกษาดูแลของท่าน
เกียรติภูมิและคุณูปการทางวิชาการ ทำให้ท่านเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในสังคมศาสตร์อเมริกัน และในปี 2543 ท่านได้รับเลือกจากการลงคะแนนเสียงของสมาชิกสมาคมเอเชียศึกษาทั่วประเทศ ให้ขึ้นดำรงตำแหน่ง ประธานสมาคม the Association for Asian Studies ซึ่งถือเป็นตำแหน่งสูงสุดและสมเกียรติยิ่งในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาและไทยศึกษา (Thai Studies) ในสหรัฐอเมริกา
อาจารย์คายส์และภรรยาทำงานอุทิศเวลาให้กับกิจกรรมต่างๆ ของศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนท่านเกษียณอายุในปีพุทธศักราช 2549 รวมเป็นเวลายาวนานกว่า 40 ปี และในปี 2546 มหาวิทยาลัยวอชิงตัน ได้มอบรางวัลอันสมเกียรติ Graduate Mentoring Award ให้ท่านในฐานะ “ครูมานุษยวิทยา” อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ ซึ่งผลิตมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิต รวมมากกว่า 60 ชีวิต ลูกศิษย์ ลูกหาของท่านนอกจากนักศึกษาชาวอเมริกัน ราว 3ใน 4 คือนักศึกษาจากประเทศไทยและประเทศเวียดนาม
หลังเกษียณอายุ ท่านยังคงรับงานสอนพิเศษ ต่อมาอีกราว 5 ปี กระทั่งในปี 2556 ท่านกับคุณเจน จึงย้ายจากวอชิงตันไปใช้ชีวิตอยู่ที่โอเรกอน กระนั้นท่านยังคงดำรงตำแหน่ง Emeritus Professor ของมหาวิทยาลัยวอชิงตัน กระทั่งจากพวกเราไป
ผลงานวิชาการด้านไทยศึกษา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา และมานุษยวิทยา-ล้านนาคดี ของอาจารย์คายส์นั้นมากมาย มีหนังสือทั้งที่เขียนเอง อาทิ The Golden Peninsula 1977. Thailand: Buddhist Kingdom as Modern Nation-State 1987. และบรรณาธิการ กว่า 15 เล่ม บทความวิชาการนับร้อยชิ้น และงานเขียนเชิงอัตชีวประวัติ ซึ่งเป็นงานเขียนเล่มสุดท้ายของท่าน Impermanence: An Anthropologist of Thailand and Asia 2020.
แม้อาจารย์คายส์จะได้ "สิ้นบุญ" ไปแล้ว ทว่าคุณูปการจากการทำงาน ชีวิตที่ท่านอุทิศให้กับครอบครัว ลูกศิษย์ จนไปถึงมิตรสหาย และที่สำคัญ ผลงานการเขียนอันทรงคุณค่า ที่ช่วยสร้างความเข้าใจที่เรามี เกี่ยวกับสังคมไทยและเพื่อนบ้านอุษาคเนย์ยังอยู่กับพวกเราตลอดไป เหนือสิ่งอื่นใดอาจารย์คายส์ได้ฝากไว้บนโลกนี้ คือความดีงาม ความรัก และความเมตตา ที่ท่านมีให้เสมอต่อผู้คนรอบข้าง ลูกศิษย์ และกัลยาณมิตรของท่าน
ชาร์ล คายส์
ด้วยความเคารพและจดจำ
วสันต์ ปัญญาแก้ว
Downloads
Published
How to Cite
Issue
Section
License
Copyright (c) 2022 Journal of Social Sciences, Faculty of Social Sciences, Chiang Mai University
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.
All written articles published on Journal of Social Sciences is its author’s opinion which is not belonged to Social Sciences Faculty, Chiang Mai University or is not in a responsibility of the journal’s editorial committee’s members.