Khruba Srivichai, Lan Na Buddhism, and Charles Keyes

Authors

  • Anan Ganjanapan Thailand Science Research and Innovation (TSRI)

Abstract

การบรรยายวันนี้[1]  เกี่ยวกับเรื่องครูบาศรีวิชัย (พุทธศักราช 2421- 2481) และงานด้านมานุษยวิทยาล้านนาคดีของ Charles F. Keyes (พุทธศักราช 2480 - 2564) ผมจะเริ่มที่ครูบาศรีวิชัยก่อน แล้วจะพยายามชี้ถึงความเกี่ยวโยงกับงานเขียนของศาสตราจารย์ คายส์ (ต่อจากนี้จะเรียกว่า อาจารย์คายส์) ผมเริ่มเข้ามาทำงานที่ภาคสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา  คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปีพุทธศักราช 2519 ตอนนั้นยังไม่รู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับภาคเหนือมากมายนัก ถึงแม้ว่าจะทำวิจัยเรื่องประวัติศาสตร์ในภาคเหนือ ตอนทำงานวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทสาขาประวัติศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยคอร์แนล (Cornell University) ประเทศสหรัฐอเมริกา[2] แต่ก็ได้ยินเรื่องครูบาศรีวิชัย แต่ว่าไม่ทราบรายละเอียด  ราวปลายทศวรรษ 2520 นักศึกษาปริญญาโทสาขาประวัติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (คือ โสภา ชานะมูล) มาขอให้ผมช่วยเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาร่วมในการทำวิทยานิพนธ์เรื่องครูบาศรีวิชัยในฐานะที่เป็น “ต๋นบุญ” (ตามความหมายและภาษาคำเมืองของคนล้านนา) ตอนนั้นภาควิชาสังคมวิทยามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยังไม่มีหลักสูตรการเรียนการสอนระดับปริญญาโท ช่วงนั้นผมก็เลยรับเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทให้กับนักศึกษานอกภาควิชา ซึ่งในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกันนั้นจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2 คน (คือโสภา ชานะมูล สาขาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ และอีกรายหนึ่งจาก คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา) และอีก 1 คนจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยคือ ปลายอ้อ ชนะนนท์ (เขียนวิทยานิพนธ์เรื่อง พ่อค้าวัวต่าง) นอกจากนี้มีสาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อีกคนคือ แสวง มาละแซม (เขียนวิทยานิพนธ์ที่ต่อมาตีพิมพ์เป้นหนังสือเรื่อง คนยองย้ายแผ่นดิน ได้รับรางวัลจากมูลนิธิโตโยต้า) ก็มี 4 คนที่ผมช่วยดูแลให้คำปรึกษาการทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท ก่อนหน้าที่จะเปิดหลักสูตรปริญญาโทสาขาวิชา การพัฒนาสังคม ของภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทั้งหมดผมก็ได้เอาความรู้ทางมานุษยวิทยาและประวัติศาสตร์เข้ามาบูรณาการกัน เลยทำให้ผมเข้าใจครูบาศรีวิชัยมากขึ้น จากการได้อ่านและให้คำปรึกษาการเขียนวิทยานิพนธ์เรื่อง “ต๋นบุญ” ของโสภา ชานะมูล นี้เองซึ่งตอนนี้พิมพ์เป็นหนังสือแล้ว[3]

*****

สิ่งที่ผมอยากจะพูดถึงก็คือว่า สิ่งที่ผมมองแล้วว่า เป็นเรื่องที่ครูบาศรีวิชัยอาจจะเชื่อมโยงกับอาจารย์คายส์ได้ ก็อยู่ตรงที่ทั้งสองท่านมีความพยายามที่จะตีความพุทธศาสนา เพราะพุทธศาสนา (ในล้านนา) ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเข้าใจเหมือนกันหมด ต่างคนต่างก็ตีความ สำหรับคายส์แล้ว ตอนที่ท่านทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกมานุษยวิทยา วิทยานิพนธ์ของท่าน (เรื่อง Peasant and Nation, Unpublished Ph.D. Thesis, Cornell University. 1966) เขียนเกี่ยวกับเรื่องชาวนาอิสาน (ที่มหาสารคาม) กับรัฐไทย ซึ่งดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนามากนัก แต่ตอนที่ท่านทำงานภาคสนาม (ที่บ้านหนองตื่น จังหวัดมหาสารคาม) อาจารย์คายส์เป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับอาจารย์ที่ปรึกษาของผม คือ Anthony Thomas Kirsch (พุทธศักราช 2473 – 2542) ซึ่งก็ทำวิจัยที่ภาคอิสานเหมือนกัน (ที่บ้านหนองสูง นครพนม ปัจจุบันอยู่ในเขตจังหวัดมุกดาหาร)[4] Thomas Kirsch (ต่อไปนี้จะเรียกว่า อาจารย์เคิร์ช) ท่านสนใจเรื่องพระพุทธศาสนา สนใจงานเขียนสังคมวิทยาศาสนาของ Max Weber ซึ่งเป็นเรื่องการตีความทำความเข้าใจศาสนา (ในฐานะที่เป็นทั้งความคิดและปฏิบัติการ) อาจารย์คายส์เขียนจดหมายติดต่อกับอาจารย์เคิร์ช ตลอดเวลาระหว่างที่ทำงานวิจัยภาคสนาม และช่วงที่อาจารย์เคิรช์เสียชีวิต อาจารย์คายส์ก็เอาจดหมายนั้นมาเปิดอ่าน สนทนา[5] จะเห็นว่าทั้งสองคุยแลกเปลี่ยนกันมาก จนกระทั่งอาจารย์คายส์ได้รับอิทธิพล (เรื่องมานุษยวิทยาศาสนา) จากอาจารย์เคิร์ช ถ้าจะอ่าน หรือว่าถ้าจะเรียนรู้เกี่ยวกับศาสนา การรู้จักงานเขียนและความคิดของ Max Weber จะช่วยได้มาก โดยเฉพาะเรื่องของการตีความ ประสบการณ์ หรือ “ความหมาย”  ซึ่ง Weber ใช้คำว่า subjectivity เรื่องของความรู้สึกนึกคิด คนมีความรู้สึกนึกคิด ต่อพระพุทธศาสนาแตกต่างกันไป ครูบาศรีวิชัย ท่านก็ตีความพุทธศาสนาในช่วงบริบทประวัติศาสตร์ของท่าน คือในช่วงของการเปลี่ยนแปลง (จากรัฐจารีตไทสู่การก่อร่างสร้างตัวของรัฐสมัยใหม่) แต่ว่าจะเข้าใจบริบทใหญ่ๆ ของการเปลี่ยนแปลงที่ว่า รัฐจารีตล้านนาไท ถูกดึงเข้าให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของรัฐชาติไทย ครูบาศรีวิชัยอยู่ในช่วงเวลานั้น ซึ่งทำให้ท่านมองพุทธศาสนาอย่างหนึ่ง แต่มันไม่ใช่การมองอย่างเดียว ผมได้ช่วยแนะนำโสภา ว่าถ้าจะเข้าใจประวัติศาสตร์ล้านนาต้องเข้าใจประวัติศาสตร์ล้านนาจากคติ หรือความคิดของคนล้านนาเอง ซึ่งตอนนั้นเองก็มีคำไม่กี่คำซึ่งน่าสนใจ คำแรกคือ “ขึด” ต่อมาคำที่เกี่ยวข้องกับครูบาศรีวิชัยคือคำว่า “ข่าม” แล้วก็ “ครูบา” และ “ต๋นบุญ” สามสี่คำนี้คือคติความคิดของคนภาคเหนือ ซึ่งจะนำมาช่วยอธิบายบทบาทของครูบาศรีวิชัย (ในบริบทประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงนั้น) ได้งานศึกษาของโสภาก็เลยเอาแนวความคิดอันนี้มาใช้ เป็นวิธีวิทยาแบบมานุษยวิทยา คือวิชามานุษยวิทยา ไม่ใช่ว่าจะตีความจากความคิดของนักมานุษยวิทยา นักมานุษยวิทยาจะพยายามตีความพฤติกรรมจากความคิดของผู้คนที่เราศึกษา พยายามทำความเข้าใจว่า เขาคิดอย่างไร ทำไมเขาถึงทำอย่างนั้น กรณีของครูบาศรีวิชัย ก็เริ่มต้นจากการเป็นคนข่าม “ข่าม” ในทางภาคเหนือ ความหมายแปลผ่านภาษาไทยกลางจะไม่ชัดเจน หากพยายามแปลเป็นภาษาไทยก็คือการมี “ร่าง” ที่อยู่คงกระพัน หนังเหนียว แต่ผมเข้าใจว่าในทางสังคมภาคเหนือ ความหมายของคำว่า “ข่าม” มันลึกซึ้งกว่านั้น มันหมายถึง ความเป็นคน ที่มีความสามารถพิเศษ[6] แต่ความสามารถอะไร ต่างยุคต่างสมัย มันไม่เหมือนกัน ที่จะเรียกว่าพิเศษ หรือ “คนข่าม” ครูบาศรีวิชัยเริ่มต้นจากการเป็น “คนข่าม” คือมีความสามารถพิเศษ ซึ่งก็ทำให้ ได้รับความเคารพนับถือ ชาวบ้านผู้ติดตามให้ความศรัทธานับถือและเรียกว่า “ครูบา”

หลังจากสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยคอร์แนล ระดับปริญญาเอกในปี 2509 ต่อมาในปี 2510 อาจารย์คายส์ได้รับทุนพร้อมกับ Peter Kunstadter (ต่อไปนี้เรียกว่า อาจารย์คุนสตัดเตอร์) มาศึกษาวิจัยกลุ่มชาติพันธุ์ส่วนน้อยที่แม่สะเรียง อาจารย์คุนสตัดเตอร์ศึกษาเกี่ยวกับพวกลัวะ และท่านก็ไปหมู่บ้านเดียวกับที่ผมเคยไปคือบ้านดง แม่สะเรียง เป็นชาวลัวะ ต่อมาได้ตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับเรื่องชาวลัวะใน National Geographic (1967) ผมอุตส่าห์ไปหาซื้อในร้านหนังสือเก่า มีรูปลั้วะในยุคนั้น (สำคัญและน่าสนใจมาก) อาจารย์คุนสตัดเตอร์ศึกษาการปรับตัวของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวลัวะ[7] อาจารย์คายส์ซึ่งสนใจเรื่องพุทธศาสนาอยู่แล้ว ท่านเลยไปรู้จักสนิทกับพระ เจ้าอาวาสตอนนั้นเป็นเจ้าคณะตำบล (ต่อมาคือเจ้าคณะอำเภอ) ที่แม่สะเรียง คือเจ้าคุณธรรม ก็อาจจะเรียกได้ว่าเป็น “ครูบา” อีกรูปหนึ่งได้

คำว่า “ครูบา” คือคนที่มีความสามารถพิเศษ  (เป็นที่เคารพนับถือ) ครูบาศรีวิชัยคือคนที่มีความสามารถพิเศษหลายอย่างมาก แต่เจ้าคุณธรรมท่านสนใจเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ คัมภีร์ ศาสนา ใบลาน แล้วก็พาอาจารย์คายส์ขี่ช้างไปตามถ้ำต่างๆ หลายถ้ำที่เก็บคัมภีร์โบราณเหล่านี้ไว้ (ที่แม่สะเรียง ลำน้ำสาละวิน) จนกระทั่งผมมาอ่านหนังสือที่ท่านอาจารย์คายส์เป็นคนเขียนเอง ก็ชัดเจนมากขึ้น คือหนังสือชื่อ    Impermanence[8] แปลว่าอนิจจัง ภาษาธรรมมะ อาจารย์คายส์ผมรู้จักท่านในฐานะที่เป็นรุ่นพี่ที่มหาวิทยาลัยคอร์แนล เจอกันครั้งแรกเมื่อผมไปเรียนปริญญาโท แล้วท่านมาบรรยายที่คอร์แนล หลังจากที่ท่านกลับจากงานสอนหนังสือในฐานะอาจารย์แลกเปลี่ยน โครงการ Fulbright ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่แล้ว (ท่านสอนอยู่ที่ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระหว่างปีพุทธศักราช 2515-2517)  ตอนนั้นที่มหาวิทยาลัยคอร์แนลจะมีวันนึงเป็นวันพฤหัส มีเสวนาวิขาการ นักศึกษา อาจารย์จะห่อข้าวมากินแล้วมาฟังการบรรยายของวิทยากรที่ผ่านไปผ่านมาที่คอร์แนล แล้วต่อมาผมก็เจอท่านในเวทีประชุมวิชาการนานาชาติ ทั้ง  International Conference on Thai Studies และ Asian Studies เจอกันหลายครั้ง แต่ที่เจอครั้งที่สำคัญคือในเวทีประชุมวิชาการนานาชาติด้านไทยศึกษา (ICTS) หรือ Thai Studies ได้คุยกันมากหน่อย Thai Studies ครั้งแรกจัดที่ประเทศอินเดีย ครั้งที่สองมาจัดที่ (กรุงเทพฯ) ประเทศไทย ครั้งที่สามไปจัดที่ประเทศออสเตรเลีย กรุงแคนเบอร่าร์ ผมไปร่วมประชุมไทยศึกษานี้ทุกครั้ง ขาดแค่ครั้งเดียวคือที่นครคุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน (ซึ่งเป็นการจัดประชุมครั้งที่สี่)

 

*****

ที่ว่ามา ก็เป็นการได้พบปะกับท่านอาจารย์คายส์ ก็ได้พบ (และเข้าใจ) ว่าพอท่านอยู่ที่แม่สะเรียง ท่านก็สนใจเรื่องของเจ้าคุณธรรม สนใจคัมภีร์ใบลาน ซึ่งเป็นแหล่งความรู้เกี่ยวกับพุทธศาสนาในล้านนา ท่านก็เลยเดินทางออกค้นหาคัมภีร์ศาสนาเหล่านี้ที่ชาวบ้านหรือบรรดาพระสงฆ์เอาไปเก็บรักษาไว้ตามถ้ำต่างๆ (ส่วนหนึ่งอาจมีสาเหตุจากช่วงที่เกิดสงครามระหว่างล้านนากับพม่า) อายุประมาณ 300 กว่าปี คัมภีร์เหล่านี้มันบอกอะไรกับเรา มันบอกว่าพระสงฆ์ที่เชียงใหม่มีความรู้ความสามารถมาก ผมเองตอนศึกษาระดับปริญญาโท อ่านคัมภีร์โบราณฉบับที่พระสงฆ์เชียงใหม่เขียนเป็นภาษาบาลี เขียนประวัติศาสตร์เชียงใหม่เป็นภาษาบาลี ชื่อ ชินกาลมาลีปกรณ์ ขนาดสมาคมบาลีนานาชาติถึงกับต้องเอาไปแปลเป็นภาษาอังกฤษ คือแปลบาลี “ตัวเมือง” เป็นบาลีตัวอักษรโรมัน เพราะว่าต้องการชี้ให้เห็นว่าความสามารถทางบาลีของพระสงฆ์ทางเชียงใหม่ไม่แพ้ใครเลย แสดงว่าความเจริญทางพระพุทธศาสนาและความสามารถทางบาลีมันมีสูงมาก ดังนั้นคนที่มีความสามารถแบบนี้เรียกว่าเป็น “ครูบา” เหมือนกัน พระรัตนปัญญาเถระ ผู้เขียน ชินกาลมาลีปกรณ์ อยู่ที่วัดเจ็ดยอด ผมก็อ่านและทำเป็นวิทยานิพนธ์ปริญญาโท อยากจะทราบว่าประวัติศาสตร์ความคิดของคนในล้านนาเป็นอย่างไร ประวัติศาสตร์ในความคิดของคนล้านนาเมื่อ 500 ปีที่แล้ว เขามองประวัติศาสตร์อย่างไร คงไม่เหมือนกับเรา เมื่ออ่านผ่าน ชินกาลมาลีปกรณ์ และตำนานต่างๆ อาจารย์คายส์ในเมื่อท่านสนใจและไปพบคัมภีร์ศาสนาเหล่านี้ก็ตื่นเต้นมากเลย เพราะว่าพบว่า ความรู้ทางด้านการเขียนวรรณกรรมทางพุทธศาสนาในล้านนามันเจริญรุ่งเรืองมาก ก็แสดงให้เห็นว่าพระพุทธศาสนาในล้านนามีอิสระ จึงเกิดการงอกงามทางปัญญาในการเขียนคัมภีร์ใบลานกันอย่างมากมาย และถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ตอนที่รบกับพม่า แล้วพม่าจะกวาดต้อนผู้คนไป สมัยเดียวกับที่กรุงเทพขึ้นมาตีเชียงใหม่ (ก่อนตั้งกรุงรัตนโกสินทร์) พม่าก็พยายามจะเอาคัมภีร์เหล่านี้ไปด้วย แต่ว่า กลุ่มพระสงห์ พากันเอาไปซ่อนไว้ในถ้ำ เพื่อรักษาความเป็นอิสระทางความคิด รักษาพระพุทธศาสนาในล้านนาไว้ ซึ่งผมคิดว่า ความคิดที่เป็นอิสระของพระพุทธศาสนาในล้านนามีมานาน แต่สมัยนั้น

จากที่อาจารย์คายส์ได้ไปพบคัมภีร์ใบลานตามถ้ำแถบลุ่มน้ำสาละวิน มันปรากฎชัดเจนในปฏิบัติการต่างๆของครูบาศรีวิชัย เพราะครูบาศรีวิชัย ผมคิดว่าท่านเป็น ครูบา นอกจากว่าท่านจะมีความสามารถในการระดมคนมาปฏิสังขรณ์วัดวาต่างๆ ถึง 200 กว่าวัด ผมเคยเดินทางไปอำเภอสะเมิง ไปไกลมาก ชื่อตำบลย้างเมิน คือเมื่อคุณเดินทาง (จากตัวเมืองเชียงใหม่) ไปถึงที่นั่นก็อยู่(แวะ)นานเลย เพราะมันไกลมาก ผมได้ไปทำวิจัยที่นั่น ก็แปลกใจชาวบ้านเขาบอกว่าวัดนั้น (คือวัดที่ตำบลย้างเมิน) ครูบาศรีวิชัยก็เดินทางมาปฏิสังขรณ์วัดนั้น นั่นก็คือว่าท่านไม่ได้ไป แค่วัดใกล้ๆ แต่วัดที่ย้างเมิน (อำเภอสะเมิง) ท่านก็ไป ก็หมายความว่าความสามารถในการที่จะระดมผู้คนมาปฏิสังขรณ์ พัฒนาวัด บูรณะวัด อันนี้ไม่มีปัญหา แต่สิ่งที่ผมคิดว่าครูบาศรีวิชัยแสดงถึงความเป็น “คนข่าม” และคนนับถือศรัทธาท่านเป็น “ครูบา” ตรงที่ท่านต้องการรักษาความเป็นอิสระของพุทศาสนาในล้านนาเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นประเพณีการห่มผ้าจีวร (ของพระสงฆ์ตามจารีตล้านนา) ก็ดี แต่ที่สำคัญที่สุดคือท่านต้องการให้พุทธศาสนาในล้านนาไม่อยู่ในการควบคุมของคณะสงฆ์ (คือมหาเถรสมาคม ที่เวลานั้นกำลังก่อตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติองค์กรสงฆ์) แบบกรุงเทพ เพราะพุทธศาสนาเป็นเรื่องของ spirituality หรือจิตวิญญาณ เมื่อไหร่ที่ถูกควบคุม มันก็ไร้จิตวิญญาณ แม้จะควบคุมให้ตาย มันก็ไม่ทำให้พุทธศาสนาดีขึ้น สังเกตได้ว่าวงการพุทธศาสนาไทยก็เละเทะ ทุกวันนี้ได้ยินแต่ข่าวพระกับสีกา ซึ่งอันนี้ก็อยู่ภายใต้การควบคุมของคณะสงฆ์ แต่คณะสงฆ์ไร้ความสามารถที่จะดูแลขนาดนั้น แต่ในสังคมล้านนาจารีต ถึงแม้จะมีสังฆราชา มีตำแหน่งนี้อยู่ แต่โดยทั่วไปแล้ว พุทธศาสนาในล้านนาระดับหมู่บ้าน ต่างเมือง มีอิสระมาก มีลักษณะที่กระจายกันไปตามหัวหมวดวัด จะมีรวมกลุ่มกันเป็นหัวหมวดวัด[9] เพราะแต่ละวัดมักจะมีพระสงฆ์น้อย ดังนั้นถ้าจะทำกิจทางศาสนา พระสงฆ์ [10] มักจะไม่ครบ จึงต้องนิมนต์เอาหลายวัดมารวมตัวกัน มาทำกิจทางสงฆ์ เช่น จะบวชพระก็ต้องไปหลายวัดมารวมตัวกัน มันถึงจะครบองค์ประชุมของคณะสงฆ์ ดังนั้นก็เลยมีอิสระในแง่ที่ว่ามีระบบหัวหมวดวัด หรือว่าเป็นไปตามครูบา (พระอุปัชชาย์) ก็จะมีสายหรือ “สำนัก” ครูบาหลายสำนัก ดังนั้นความเป็นอิสระส่วนหนึ่งมันจากความสามารถพิเศษของครูบา

แต่ครูบาศรีวิชัยท่านไม่ได้เป็นแค่ “คนข่าม” และชาวบ้านยกระดับให้ขึ้นมาเป็น “ครูบา” เท่านั้น ท่านได้กลายมาเป็น “ต๋นบุญ” คือการยกระดับจาก “คนข่าม” เป็น “ครูบา” และจนมาถึงในระดับ “ต๋นบุญ” มันเป็นขั้นของการยกระดับสถานภาพ (ความสามารถ) ถ้าเป็น “คนข่าม” หรือ “ครูบา” ก็อาจจะเป็นคนที่มีความสามารถพิเศษ แต่ว่าก็เป็นความสามารถพิเศษในสถานการณ์ปกติ แต่ครูบาศรีวิชัยท่านอยู่ในช่วงบริบทประวัติศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ คือเหตุการณ์แวดล้อมท่านเกิดขึ้นในช่วงที่มัน “ไม่ปกติ” ดังนั้นท่านจึงใช้ความเป็นคนข่ามและครูบามาขับเคลื่อนในเรื่องที่ว่าท่านอยากจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร ไปทางไหน ซึ่งก็ไม่ใช่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่พุทธศาสนาล้านนาไร้อิสระ และไปตกอยู่ในความควบคุมของคณะสงฆ์กรุงเทพฯ แต่ท่านต้องการที่จะยังคงความเป็นอิสระของสงฆ์ล้านนา (ทั้งภาษาบนคัมภีร์ใบลาน ความคิดจารีตทางศาสนา และระบบหัวหมวดวัด?) เอาไว้ ดังนั้นท่านเป็นต๋นบุญ ไม่ใช่เป็นเพราะว่าท่านมีความพิเศษอะไรต่างๆ เท่านั้น แต่การเป็นต๋นบุญ คือคนที่มีบทบาทการนำในการเปลี่ยนแปลง อาจารย์คายส์เองเมื่อมาศึกษาสังคมภาคเหนือ มาอยู่ที่แม่สะเรียง และพบคัมภีร์ใบลานต่างๆ เหล่านี้ มีหลายเรื่องที่ท่านศึกษาและนำมาเขียน เรื่องที่น่าสนใจมากคือ “Buddhist Pilgrimage Centers and the Twelve-Year Cycle” (ในวารสาร History of Religions. 1975) ซึ่งเป็นเรื่องการจาริกแสวงบุญของชาวล้านนาไปตามพระธาตุต่างๆ ตามปีเกิด บทความที่ท่านเขียนอีกชิ้นหนึ่ง(เกี่ยวกับครูบาศรีวิชัย)คือ “Millennialism, Theravada Buddhism, and Thai Society” (ในวารสาร The Journal of Asian Studies. 1977) คือเรื่องของขบวนการฟื้นฟูศาสนาในสังคมชาวนาไทย ซึ่งการฟื้นฟูศาสนา โดยปกติแล้วนักมานุษยวิทยาจะศึกษาเฉพาะสังคมขนาดเล็ก แต่ครูบาศรีวิชัยเป็น “ต๋นบุญ” หรือเป็น (ผู้นำเชิงสัญลักษณ์ของขบวนการ) Millenarian Movement อันเป็นขบวนการฟื้นฟูศาสนาซึ่งเกิดขึ้นในสังคมที่มีความซับซ้อนกว่า ดังนั้นปฏิบัติการของครูบาศรีวิชัยในแง่ที่เป็น “ต๋นบุญ” มันคือการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเพื่อรักษาความเป็นอิสระของพุทธศาสนาล้านนาให้ยังดำรงความเป็นมีจิตวิญญาณ ไม่ใช่พุทธศาสนาที่อยู่ภายใต้การควบคุมของคณะสงฆ์ ที่ออกกฎเกณฑ์ทางวินัยปฏิบัติ โดยไม่สนใจเรื่องของจิตวิญญาณศาสนา คือความเชื่อ ความรู้สึกทางจิตใจ ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ดังนั้นการที่ท่านครูบาศรีวิชัยไปบูรณะปฏิสังขรณ์วัดต่างๆ มันไม่ใช่เป็นแค่กิจกรรมทางรูปธรรมเท่านั้น แต่ศาสนาสถาน สิ่งสร้างทางรูปธรรมเหล่านั้นมันสะท้อนให้เห็นว่าท่านให้ความสำคัญกับจิตวิญญาณ และจิตวิญญาณ(ของพุทธศาสนาล้านนา)เหล่านี้มันรวมตัวอยู่ในวัด ศาสนาสถานต่างๆ และถ้าไม่มีวัดเหล่านี้ ก็ไม่สามารถที่จะมีพื้นที่ของจิตวิญญาณ   *****

ตรงจุดนี้ผมคิดว่ามันตรงกับความคิดสองสามประการในทางมานุษยวิทยา นักมานุษยวิทยา Victor Turner จะเรียกปฏิบัติการแบบนี้ว่า liminality หรือ “พื้นที่ที่สาม” พื้นที่ที่อยู่ตรงกลาง พื้นที่ที่ถอดหัวโขน พื้นที่แบบลูกผีลูกคน เป็น “พื้นที่” ที่อยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลงในทางพิธีกรรม เช่นการจะบวชพระ จากฆราวาสไม่ใช่จะได้เป็นบรรพชิตเลย แต่คนที่จะบวชจะต้องเป็น “นาค” ก่อน พูดอีกอย่างหนึ่ง liminality ก็คือการเป็นนาค การกลายเป็นนาค คุณมีอิสระ คุณยังไม่เป็นอะไรชัดเจน ดังนั้นการมีจิตวิญญาณ มันจะคล้ายๆกับมีอิสระ และมีความสร้างสรรค์ แต่พอเป็นบรรพชิตแล้ว อยู่ภายใต้วินัยที่เคร่งครัดมาก อาจจะขาดความสร้างสรรค์และอิสระไป ผมคิดว่าปฏิบัติการของครูบาศรีวิชัย เป็นปฏิบัติการอันดำรงอยู่ในสภาวะที่ Victor Turner เรียกว่า liminality อันนี้ก็เป็นด้านหนึ่ง

               แต่ถ้ามองแบบ Max Weber และอันนี้ก็ไปตรงกับบทความหนึ่งของอาจารย์คายส์ ซึ่งผมชอบมาก ที่ท่านเขียนเกี่ยวกับภาคอีสาน ตอนหลังคนหันมาอ่าน  Max Weber กันใหม่เยอะ มองหา concept ใหม่ ในหนังสือ sociology of religion ทั้งเล่มยาวประมาณ 280 กว่าหน้า ทีนี้ถ้าอ่านแค่ 270 หน้าจะพบเพียงว่า Max Weber พูดถึงความมีเหตุมีผล (หมายถึงการกระทำอย่างมีเป้าหมาย) แต่พอผ่านไปถึงหน้า 271 เราจะเห็นมากขึ้นว่า Max Weber พูดถึงประเด็นสำคัญของขบวนการทางศาสนาว่า แม้โลกจะกำลังจะเดินเข้าสู่โลกแห่งการมีเหตุมีผล มนุษย์มีการกระทำอย่างมีเป้าหมาย โลกจะเปลี่ยนไปให้ความสำคัญกับ “เรื่องทางโลก” (Secularity) มากกว่าเรื่องทางธรรม (Spirituality) มากขึ้นเรื่อยๆ แต่ Max Weber เตือนไว้ว่า แม้ว่าโลกจะให้ความสำคัญกับเรื่องทางโลกมากกว่าเรื่องทางธรรม มากขึ้นสักปานใดก็ตาม ความมีจิตวิญญาณของผู้คนไม่ได้หายไปไหน มันยังคงดำรงอยู่เสมอ จากความคิดของ Max Weber เรือง “ความหลงใหลในจิตวิญญาณ” ตอนหลังนักวิชาการก็ได้มาตีความว่า Max Weber ต้องการจะพูดถึงเรื่อง secular strategy of spirituality คือเรื่องของจิตวิญญาณมันไม่ใช่เรื่องทางธรรมเท่านั้น อาจจะเป็นเรื่องทางโลกก็ได้ ดังนั้นในกรณีของครูบาศรีวิชัย ท่านใช้ spirituality เป็นกลยุทธ์ทางโลก เพื่อต่อสู้กับการแผ่ขยายอำนาจเข้ามาของรัฐสยาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเข้ามาเกณฑ์แรงงาน เพราะว่าทางภาคเหนือ(แต่เดิม) ไม่ใช่มีแค่การบวชพระสงฆ์เท่านั้น แต่คนให้ความสำคัญกับบวชลูกแก้ว (หรือบวชเณร) คือถ้าเกิดเกณฑ์คนไปเป็นทหาร แรงงานเรื่อยๆ แบบนี้ มันจะหาคนบวชพระสงฆ์ หรือ “เป๊กตุ๊” ไม่ได้ ดังนั้นท่านต้องการที่จะรักษาเรื่องของ spirituality ทางพิธีกรรมเหล่านี้เอาไว้ อันนี้ถึงแม้จะใช้ spirituality แต่มันกลายเป็นกลยุทธ์ทางโลก คือกลยุทธ์ที่เอามาคัดค้านการเกณฑ์แรงงาน (และเกณฑ์คนไปเป็นทหาร) ของสยาม               ดังนั้นเรื่องของ secular strategy of spirituality ซึ่งเป็น concept ที่ถอดออกมาจากความคิดของ Max Weber ผมคิดว่า(น่าจะ)ตรงใจอาจารย์คายส์อย่างมาก และตรงมากที่สุด ผมอ่านพบในบทความของท่าน ในวารสาร The Journal of Asian Studies (1983) ชื่อ “Economic Action and Buddhist Morality in a Thai Village” ซึ่งเป็นสิ่งที่ Max Weber เขียนมาตลอด กล่าวคือศาสนาเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ เพราะหลายคนมักจะคิดง่ายๆ ว่าเรื่องเศรษฐกิจเป็นเรื่องทางโลก ศาสนาเป็นเรื่องทางธรรม สองเรื่องมันมาบรรจบกันไม่ได้ แต่ Max Weber บอกว่าไม่ใช่ จึงเขียนหนังสือเรื่อง The Protestant Ethic and the Spirit of Capitalism (1934) เพื่อต้องการจะชี้ให้เห็นว่า “ศาสนากับเศรษฐกิจ” เป็นเรื่องเดียวกัน มันเกี่ยวข้องกัน Max Weber เน้นมากเลย อาจารย์คายส์คงดื่มด่ำกับแนวคิดของ Max Weber ตรงนี้ ซึ่งก็น่าจะเรียนรู้มาจากอาจารย์ที่ปรึกษาของผม  (คืออาจารย์เคิร์ช) ท่านเขียนบทความเรื่องนี้ ส่วนหนึ่งมาจาก ตอนที่ท่านกลับไปเยี่ยมหมู่บ้าน (บ้านหนองตื่น ที่มหาสารคาม) ราวปี 2519 ซึ่งตอนนั้นก็ไปพบเหตุการณ์กรณีที่ รัฐบาลมาเวนคืนที่ดินหมู่บ้านบางส่วนเพื่อจะเอาไปสร้างโรงเรียนอาชีวะ ชาวบ้านที่ถูกเวนคืนที่ดินก็โกรธมาก ก็ลุกขึ้นต่อต้านการเวนคืนที่ดินครั้งนั้น แม้ว่าจะเอาไปสร้างสาธารณะประโยชน์ แต่ก็เดือดร้อนเพราะไม่มีที่ทำนา อาจารย์คายส์พบว่า หากชาวบ้านที่สูญเสียที่ดินจากการเวนคืนแล้วลุกขึ้นต่อต้านรัฐบาล อันนี้ก็ตรงกับแนวคิดเรื่อง rationality ที่ Weber เสนอ คือเป็น “การกระทำอย่างมีเป้าหมาย” คือเมื่อสูญเสียที่ดินก็ต้องออกไปต่อต้าน ทว่าการต่อต้านของชาวบ้าน (ซึ่งเป็น rationality แบบหนึ่ง) อาจารย์คายส์ไม่สนใจเท่าไหร่ เพราะว่ามันตรงไปตรงมา แต่ในบทความที่น่าสนใจคือ ท่านพบว่าคนที่ไม่สูญเสียที่ดินแต่ก็ออกไปต่อต้าน (ไม่ได้สูญเสียที่ดิน) ทำไมถึงไปต่อต้าน? มีหนังสือของ James C. Scott เรื่อง The Moral Economy of the Peasant: Rebellion and Subsistence in Southeast Asia (1976) ถกเถียงถึงเรื่อง “ชาวนามีเหตุผล” (เช่นเรื่องชาวนาอิสานเพราะเสียที่ดินจึงรวมตัวกันออกไปต่อต้านรัฐ ข้างต้น)  แต่ James Scott เสนอไปคนละทางเลย เขาเสนอว่า ชาวนากบฎ เพราะผิดหวังที่ผู้ปกครองไม่คุ้มครองดูแลพวกเขา อันนี้ Scott พูดในกรณีของชาวนาในเวียดนาม ช่วงหลังจากเปลี่ยนระบอบจักรพรรดิจากการเข้ายึดครองของอาณานิคมฝรั่งเศส ตอนยังมีจักรพรรดิอยู่ ปีไหนข้าวยากหมากแพง จักรพรรดิจะเก็บภาษีจากชาวนาน้อยลง ยืดหยุ่นได้ แต่พออาณานิคมฝรั่งเศสเข้ามาปกครองแทน ใช้ระบบเก็บภาษีอัตราตายตัว ข้าวยากหมากแพง ปีไหนฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล ปีไหนข้าวยากหมากแพงก็ยังเก็บภาษีเท่ากัน ชาวนาเวียดนามก็โกรธและผิดหวังกับการอุปถัมภ์ของรัฐอาณานิคม เลยลุกขึ้นกบฏ ดังนั้นคำอธิบายเรื่องการลุกขึ้นกบฏของชาวนา ก็อธิบายได้ทั้งสองแบบ คือ “ชาวนามีเหตุผล (ต่อต้านรัฐเพราะสูญเสียที่ดิน)” หรือ “ชาวนาต่อต้านการถูกกดขี่ขูดรีดเพราะผิดหวังจากอำนาจอุปถัมภ์ของรัฐ” แต่อาจารย์คายส์บอกว่า แกไม่เห็นด้วยกับกับคำอธิบายทั้งสองแบบ (ดังกล่าวข้างต้น) อาจารย์คายส์ตั้งคำถามว่า “ชาวนาที่อีสานกบฏเพราะอะไรกันแน่ สำหรับกลุ่มคนที่ไม่สูญเสียที่ดิน?”                สำหรับอาจารย์คายส์ ชาวนาที่ภาคอีสาน คนที่ไม่สูญเสียที่ดินจากการเวนคืนก็ลุกขึ้นมาต่อต้านรัฐบาลไทยด้วยเหมือนกัน ท่านถามว่า “ลุกขึ้นมาทำไม?”  คงไม่ใช่เพราะความผิดหวัง หรือเพื่อปกป้องผลประโยชน์ (อย่างมี “เหตุผล”) แน่ อาจารย์คายส์เสนอว่า การที่ชาวนาอิสานที่ไม่ได้สูญเสียที่ดินลุกขึ้นมาต่อต้านรัฐก็เพราะว่า พวกเขาตีความว่า (การเวนคืนที่ดิน)มันไม่เป็นธรรม คือตามคติของพุทธศาสนา คนที่เป็นพุทธศาสนิกชนโดยเฉพาะชาวบ้าน สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือการทำบุญ ดังนั้นการที่คนสูญเสียที่ดิน (จากการเวนคืนของรัฐบาลที่แม้จะเอาไปสร้างโรงเรียนอาชีวะ) ก็จะไม่มีที่นาปลูกข้าว เพื่อหาปัจจัยมาทำบุญ การที่รัฐบาลทำแบบนี้มันทำให้เกิดการสกัดกั้นความสามารถในการทำบุญของเขา ดังนั้นชาวนากลุ่มที่ไม่ได้สูญเสียที่ดิน ก็เห็นว่า กลุ่มที่สูญเสียที่ดินจะไร้ความสามารถในการทำบุญ เขาก็เลยต้องเข้ามาร่วมการต่อต้านรัฐบาลไทย(ในสมัยนั้น)ด้วย                ที่กล่าวมา(ข้างต้น)ก็เพื่อชี้ให้เห็นว่า คือตัวอย่าง (ผ่านงานศึกษาของอาจารย์คายส์) เรื่องที่ผมใช้คำว่า secular strategy of spirituality หรือการเอาเรื่องจิตวิญญาณมาแปลเป็นกลยุทธ์ทางโลก เพราะการที่ชาวบ้านเขามีจิตวิญญาณแบบพุทธศาสนา คือการทำบุญ เขาจึงต้องมีกลยุทธทางโลกในการออกไปต่อต้านรัฐ  *****               ผมคิดว่าสิ่งที่ทั้งท่านครูบาศรีวิชัยและอาจารย์คายส์ แม้ว่าจะอยู่กันคนละยุค คนละสมัย แต่ทั้งสองท่านมองพุทธศาสนาคล้ายคลึงกัน ในแง่ที่ว่า พุทธศาสนามี spirituality หรือ “จิตวิญญาณ” อยู่ และ จิตวิญญาณเหล่านี้ไม่ใช่เพียงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในปริมณฑลทางศาสนา แต่จิตวิญญาณในทางศาสนาสามารถแปลเป็น “เรื่องทางโลก” ได้ ซึ่งอาจารย์คายส์ก็ได้ชี้ให้เห็นในบทความ (เรื่อง “Economic Action and Buddhist Morality in a Thai Village” ข้างต้น) กรณีของครูบาศรีวิชัย ท่านได้แสดง (จิตวิญญาณของพุทธศาสนาที่ท่านนับถือศรัทธา) ผ่านการต่อต้านการเข้ามาเกณฑ์แรงงาน หรือเกณฑ์ทหารของรัฐบาลสยาม คือปรับใช้ spirituality ผ่านการปฏิสังขรณ์วัดวาต่างๆ ท่านก็เลยสามารถยกระดับจากการเป็นแค่ “คนข่าม” และ “ครูบา” ไปเป็น “ต๋นบุญ” ครูบา(ซึ่งมีอยู่ทั่วไปมากมายในพุทธศาสนาล้านนา)ที่จะยกระดับไปเป็นต๋นบุญได้ มันต้องมีศักยภาพความสามารถอีกขั้นหนึ่ง คือต้องมีการเปลี่ยนแปลง และสามารถแปล “จิตวิญญาณศาสนา” ให้เป็นกลยุทธ์ทางโลกได้ เพราะเรื่องในทางโลก หมายถึงว่าเป็นการขับเคลื่อน เผชิญกับการเปลี่ยนแปลง หรือต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงที่ไม่พึงประสงค์ ดังนั้นคนที่ภาคอีสาน (ตามที่อาจารย์คายส์อธิบายตีความ) ที่ไม่ได้สูญเสียที่ดินก็ใช้ “จิตวิญญาณศาสนา” มาเป็นแรงผลักดันให้พวกเขาลุกขึ้นมา เป็นแรงต่อต้านรัฐ มันก็ตรงกับครูบาศรีวิชัยที่ท่านก็ใช้เรื่อง spirituality ในพุทธศาสนา มาคัดค้าน หรือดื้อแพ่ง แสดงอารยะขัดขืน ต่อการเข้ามาคุกคามของคณะสงฆ์สยามในสมัยนั้น ท่านถึงต้อง “ต้องอธิกรณ์” หลายครั้ง ผมคิดว่าตรงนี้ เมื่อได้มาอ่านงานศึกษา ช่วยเป็นที่ปรึกษางานวิทยานิพนธ์ (เรื่องต๋นบุญแห่งล้านนา) ให้ โสภา ชานะมูล ผมจึงชี้ให้เห็นความสำคัญของมานุษยวิทยาในวิชาประวัติศาสตร์ คือให้เห็นความสำคัญของคติท้องถิ่น พยายามจะทำให้เห็นว่ามานุษยวิทยาจะมีประโยชน์มากในการอ่านข้อมูลประวัติศาสตร์ท้องถิ่น                ส่วนกรณีของครูบาศรีวิชัยและอาจารย์คายส์ ถือเป็นตัวอย่างที่ดีที่เราจะเรียนรู้ว่าทั้งสองท่านได้เชื่อมโยงเศรษฐกิจกับศาสนา เรื่องทางโลกกับทางธรรมให้มันมาเชื่อมโยงกันได้ แม้ว่าถ้าดูอย่างผิวเผินจะดูขัดแย้งกัน แต่เมื่อลองนึกกลับไปจะเห็นว่าความย้อนแย้งกันเอง มันทำให้กลายเป็นพลังที่ทำให้ครูบาศรีวิชัย รวมผู้คนจำนวนมากกลายเป็นการเคลื่อนไหวทางสังคม ปฏิบัติการของครูบาศรีวิชัยเราอาจมองว่าเป็น ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมแบบใหม่ อาจารย์คายส์ก็เช่นกันเมื่อท่านเห็นความย้อนแย้ง (เรื่องชาวนาอิสานต่อต้านรัฐ) ท่านก็นำมาเขียนเป็นบทความ ท่านบอกว่าถ้าเราจะเข้าใจชาวนาในภาคอีสาน ต้องเอาจิตวิญญาณในพุทธศาสนาเข้ามาอธิบาย แล้วคนที่มีชีวิตอยู่ในจักรวาลแบบพุทธศาสนาเถรวาท เขาตีความพุทธศาสนากันอย่างไร อาจารย์คายส์บอกว่าศาสนาพุทธเป็นของชาวบ้าน  ไม่ใช่เป็นของพุทธทาส พุทธศาสนาของชาวบ้านอิสานต้องแสดงออกผ่านการทำบุญ ถ้าไม่ได้ทำบุญ งานบุญในภาคอีสาน บุญ 12 เดือน ถ้าไม่ได้ร่วม ไม่ได้ทำบุญ มันอยู่เป็นคนไม่ได้ ดังนั้นคนอื่น (ชาวนาที่ไม่สูญเสียที่ดิน) ที่เขาเห็นพวกพ้องทำบุญไม่ได้ มันนิ่งเฉยไม่ได้ เพราะมันเป็นจิตวิญญาณของคนที่นับถือพุทธศาสนา ดังนั้นการลุกขึ้นมาต่อสู้ของคนที่ไม่ได้สูญเสียที่ดินที่อาจารย์คายส์เขียนขึ้นมา ผมถือว่าเป็นการ “ค้นพบ” ในเชิงวิชาการอันสำคัญยิ่ง เป็นการอ่านข้อมูลจากงานภาคสนามที่ใช้ทฤษฎี ถึงแม้ว่าจะเป็นทฤษฎีมาจากอารยธรรมตะวันตกจาก Max Weber แต่เมื่อเอามาตีความผ่าน ความรู้สึกนึกคิด subjectivity ของคนในท้องถิ่น (สังคมชาวนาอิสาน) ท่านสามารถนำมาหลอมรวมกันได้อย่างสวยงามลงตัว [11]               ผมคิดว่าทั้งครูบาศรีวิชัยและอาจารย์คายส์ เป็นตัวอย่างสำคัญที่ได้แสดงให้เห็นถึงการหลอมรวม ตีความเรื่องทางโลกและทางธรรมเข้าหากันได้อย่างกลมกลืน จนสิ่งที่ขัดแย้ง เรียกว่าความย้อนแย้งต่างๆ ถึงแม้จะมีอยู่ ทว่าเมื่อถูกดึงให้มาบูรณาการเข้าหากันได้ มันกลับกลายเป็นพลัง และผมคิดว่าพลังที่ครูบาศรีวิชัยได้สร้างไว้[12] และพลังทางวิชาการของอาจารย์คายส์ได้สร้างไว้ ถือเป็นคุณูปการที่ผมได้รับมาใช้เป็นบทเรียนสำหรับการดำเนินชีวิต การสอน การทำงานวิชาการมาจนถึงทุกวันนี้                ที่ให้มาพูดเรื่องครูบาศรีวิชัยและอาจารย์คายส์ในวันนี้ ผมจึงถือเป็นการพูดตอบแทนบุญคุณทั้งสองท่าน ที่สอนให้ผมรู้ว่า พลังทางสังคม พลังทางวัฒนธรรม นั้นเกิดมาได้อย่างไร

 

[1] บรรยายพิเศษ (ออนไลน์) ในงานเสวนาเพื่อเป็นเกียรติและแสดงมุทิตาจิตแด่ ศาสตราจารย์ ชาร์ล เอฟ คายส์ วันที่ 3 พฤษภาคม 2565 ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. ถอดความโดย เสาวรีย์ ชัยวรรณ บรรณาธิการเพิ่มเติมโดย วสันต์ ปัญญาแก้ว

[2] Anan Ganjanapan. 1976. “Early Lan Na Thai Historiography: An Analysis of the Fifteenth and Sixteenth Century Chronicles”. M.A. Thesis. Cornell University.

[3] โสภา (ชานะมูล) โคล. ครูบาเจ้าศรีวิชัย ตนบุญล้านนา .เชียงใหม่. มูลนิธิสถาบันครูบาศรีวิชัย. 2565.

[4] ดู Anthony Thomas Kirsch. 1967. “Phu Thai Religious Syncretism”. Unpublished Ph.D. Thesis, Harvard University.

[5] ดู Charles F. Keyes “Fieldwork as History: Letters between Two Researchers in Northeastern Thailand in 1963” (https://www.academia.edu/14214543/Fieldwork_as_History_Letters_between_Two_Researchers_in_Northeastern_Thailand_in_1963).

 

[6] ดูเพิ่มเติมใน Andrew Turton. 1991. “Invulnerability and Local Knowledge” Thai Constructions of Knowledge. Edited by Manas Chitakasem and Andrew Turton. School of Oriental and African Studies. University of London. 155-182. 

[7] ดู Peter Kunstadter. 1969. “Hill and Valley Populations in Northwestern Thailand”. Tribesmen and Peasants in Northern Thailand. Proceeding of The First Symposium of the Tribal Research Centre, Chiang Mai, Thailand, 1967.  Tribal Research Centre.

[8] Charles F. Keyes. 2020. Impermanence: An Anthropologist of Thailand and Asia. Silkworm Books.

 

[9] ดู สมหมาย เปรมจิตต์. 2518. รายชื่อวัดและนิกายสงฆ์โบราณในเชียงใหม่. ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. เป็นต้น

[10] พระสงฆ์ชาวล้านนาเรียกว่า “ตุ๊” บวชเรียนมาจนอายุครบ 20 ปี และยังไม่สึกจากความเป็นพระ อุทิศตนศึกษาพระธรรมคำสอนและครองสมณะต่อจนมีพรรษามากขึ้น บางรูปอาจไม่สึกเลยตลอดชีวิต ส่วนเณรที่บวชเรียนและศึกษาเพียงไม่กี่ปี ส่วนมากมักสึกออกไปก่อนอายุ 20 ชาวล้านนาเรียกว่า “พระ” ปกติจะยังไม่สามารถประกอบกิจทางสงฆ์ได้ แต่มีเป็นจำนวนมากในแต่ละวัดของหมู่บ้าน

[11] อ่านเพิ่มเติม ความคิดและงานเขียนที่อาจารย์คายส์อภิปรายถึง Max Weber กับมานุษยวิทยาใน Charles F. Keyes. 2002. “Weber and Anthropology”. Annual Review of Anthropology. Vol.31. 233-255.

[12] อ่านเพิ่มเติมชีวประวัติครูบาศรีวิชัย และรวมงานเขียนที่อภิปรายตีความ เหตุการณ์ ปฏิบัติการ คุณูปการ ตลอดจนผลสะเทือนจากกรณีเหตุปัญหาครูบาศรีวิชัยได้ใน วสันต์ ปัญญาแก้วและชัยพงษ์ สำเนียง บรรณธิการ. 2561. รำลึก 140 ปี ชาตกาล ครูบาศรีวิชัย. ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมูลนิธิสถาบันครูบาเจ้าศรีวิชัย

 

Downloads

Published

2022-06-29

How to Cite

Ganjanapan, Anan. 2022. “Khruba Srivichai, Lan Na Buddhism, and Charles Keyes”. Social Sciences Academic Journal, Faculty of Social Sciences, Chiang Mai University 34 (1):1-12. https://so04.tci-thaijo.org/index.php/jss/article/view/259569.