รายงานจากการสำรวจภาคสนาม กลุ่มชาติพันธุ์จากยูนนานในพื้นที่ชายแดนไทย-พม่า: อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่
Abstract
อาณาบริเวณปัจจุบันที่ครอบคลุมอำเภอแม่อายและพื้นที่ชายแดนไทย-พม่า ระหว่างเขตจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และรัฐฉาน แถบเมืองสาด เมืองปั่น เมืองโต๋น จนถึงเมืองนาย ในอดีตราว 750 ปีก่อน เคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนา หรือกล่าวได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์การสร้างรัฐไทสมัยราชวงศ์มังรายมาแต่แรกเริ่ม หลังตั้งเมืองเชียงรายบนฝั่งแม่น้ำกกในปี พ.ศ.1805 พญามังรายได้ขยายอำนาจรัฐไทของพระองค์ขึ้นไปหนเหนือถึงเชียงตุง (ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสาละวิน) ไปทางหนตะวันออกจรดแม่น้ำของถึงเชียงของ ส่วนทางตะวันตกได้ขยายอำนาจขึ้นมาตามล้ำน้ำกก และตั้ง “เวียงฝาง” ขึ้นในปี พ.ศ.1817 พญามังรายสถาปนาอำนาจรัฐไทปกครองไพร่พลผู้คนอยู่ในแถบเมืองฝางนานหลายปี จากนั้นจึงเคลื่อนทัพลงมาตีเมืองหริภุญไชย จนยึดเมืองทางเหนือของพวกมอญแห่งนี้ได้สำเร็จ ในปี พ.ศ.1824 และต่อมาจึงได้สร้างเวียงเชียงใหม่ขึ้นบนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิงในปี พ.ศ. 1835
กล่าวได้ว่าหัวเมืองไทซึ่งตั้งอยู่ในอาณาบริเวณชายแดนซึ่งปัจจุบันเป็นพื้นที่รอยต่อระหว่างภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย (เขตอำเภอแม่จัน แม่อาย ฝาง ลงมาทาง อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน) และรัฐฉานของประเทศพม่า (แถบเมืองสาด เมืองโต๋น เมืองปั่น และ เมืองนาย) นั้น แม้ว่าไพร่ฟ้า สามัญชน ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนไท ที่(เดิม)ถูกเรียกว่า “เงี้ยว” [1] เป็นกลุ่มเมืองที่ตั้งขึ้นจากการขยายอำนาจและปกครองโดยเจ้าฟ้าผู้นำรัฐไทซึ่งสืบสายสันติวงศ์มาจากพญามังราย และสืบมาจนถึงปลายราชวงศ์มังราย (ราวพุทธทศวรรษ 2110) ก่อนที่พม่าอังวะจะแผ่ขยายอำนาจเข้ายึดหัวเมืองไทในล้านนา คือเชียงตุง เชียงแสน เชียงของ เชียงราย ลามไปถึง เชียงรุ่ง (สิบสองปันนา) และยึดเชียงใหม่ได้สำเร็จ
ความสำคัญของหัวเมืองเงี้ยวที่ปัจจุบันล้วนตั้งอยู่ในเขตรัฐฉาน (หลังการปักปันเขตแดนระหว่างสยามกับบริติชเบอร์ม่า) ไม่ว่าจะเป็น เมืองสาด เมืองปั่น เมืองโต๋น และเมืองนาย นอกจากจะเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์การสร้างรัฐล้านนาสมัยต้นราชวงศ์มังราย ดังปรากฏตามตำนานว่าหลังจากตั้งเชียงใหม่ได้ไม่นาน พญามังรายได้ส่งขุนเครือ บุตรคนที่สาม ให้ไปปกครองขึ้นเป็นเจ้าเมืองนาย ต่อมาหลังมังรายสิ้นพระชนม์ เมื่อขุนครามได้ขึ้นสืบต่อราชบัลลังก์เชียงใหม่แทนพระบิดา (และก่อกู่พญามังรายขึ้นกลางเวียงเชียงใหม่) เป็นพญาไชยสงคราม ได้แต่งตั้งให้ลูกชายคือเจ้าแสนภูขึ้นเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ ส่วนขุนครามเองได้กลับไปกินเมืองเชียงรายตามเดิม ต่อมาขุนเครือได้นำไพร่พลจากเมืองนาย ลงมาแย่งชิงบัลลังก์เชียงใหม่ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ระบุว่า ขุนเครือได้นำทัพชาวเงี้ยว เข้ายึดเชียงใหม่ไว้ได้ จนสถาปนาตนขึ้นเป็นเจ้าเมืองล้านนา (ตำนานบางฉบับจึงมักระบุชื่อขุนเครือเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ด้วย) อย่างไรก็ตามขุนครามได้นำทัพจากเชียงรายลงมาสู้จนบุกเข้ายึดเวียงเชียงใหม่คืนมาได้ และปราบดาพญาแสนภูขึ้นเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่อีกครั้งหนึ่ง
[1] คำว่า “เงี้ยว” นอกจากจะปรากฏใน “ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่” ยังเป็นคำที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยมานาน ก่อนที่ไม่นานมานี้เองที่คำๆ นี้ จะกลายเป็นคำที่มีความหมายเชิงดูถูกเหยียดหยาม จนกระทั่งในประเทศไทยได้ถูกเลิกใช้และพยายามเปลี่ยนไปใช้คำว่า “ไทใหญ่” แทน ส่วนในพม่าและบางส่วนของสิบสองปันนา ยังคงใช้คำว่า “ไต” เรียกชาวไทกลุ่มนี้อยู่ ซึ่งเป็นคำดั้งเดิมที่ใช้กันมาหลายร้อยปี แต่สมัยพญามังราย กล่าวได้ว่าในระบบของการจัดจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ไท คำว่า “เงี้ยว” เป็นชื่อเรียกทางชาติพันธุ์ในระบบความสัมพันธ์เดียวกับคำว่า “ลื้อ ขึน โยน” ซึ่งหมายถึงกลุ่มชนที่พูดภาษาตระกูลไท มีขนบธรรมเนียม ประเพณี พิธีกรรม ความเชื่อ รวมจนถึงภาษาพูดและภาษาเขียนเดียวกัน คือนับถือศาสนาพุทธเถรวาท ส่วนในทางการเมืองอยู่ภายใต้ระบบเจ้าฟ้า ซึ่งจะปกครองเมืองต่างๆ ที่มีผู้นำเป็นทั้งเครือญาติหรือเครือข่ายพันธมิตรในระบบเมือง (Principality) ชาว เงี้ยว ขึน ลื้อ และโยน จึงอาจมีสำนึกทางการเมืองซึ่งยึดโยงกับเจ้าฟ้าผู้ปกครองของตนเท่านั้น ลักษณะของระบบอำนาจการปกครองแบบ “เมือง” ที่แยกเป็นอิสระจากกันมากกว่าที่จะเน้นการรวมศูนย์ น่าจะเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้กลุ่มไท “หัวเมืองเงี้ยว” ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในรัฐฉาน ต่อมาได้พัฒนาการแตกแยกแตกต่างออกไปภายใต้อิทธิพลอำนาจประวัติศาสตร์อาณานิคมอังกฤษ (นับจากปลายศตวรรษที่ 19) แม้จะเป็น “พวกไท” กลุ่มเดียวกัน ชาวเงี้ยว ดูเหมือนจะมีอัตลักษณ์วัฒนธรรมแตกต่างไปจากพวก “โยน ลื้อ ขึน” ที่ดูเหมือนว่าจะมีความใกล้ชิดกันมากกว่า ทั้งในทางภาษา ศาสนา และการเมือง ในบทความนี้ผู้เขียนใช้คำว่า “เงี้ยว” ซึ่งหมายถึงกลุ่มคนไทในเขตรัฐฉานตอนใต้ ในนัยดังกล่าว ไม่ได้มีเจตนาที่จะผลิตซ้ำความไม่เข้าใจ ที่มักนำไปสู่การเปลี่ยนความหมายของคำว่า “เงี้ยว” ที่ปัจจุบันผู้คนทั่วไปเข้าใจว่าเป็นคำที่มีนัยเชิงลบ กระทั่งปรากฏว่าชาวเงี้ยวเองมักจะเลิกเรียกตัวเองว่า “เงี้ยว” และจำนวนไม่น้อยเปลี่ยนมาเป็น “คนเมือง” ขณะที่อีกจำนวนไม่น้อย (เช่นในแม่ฮ่องสอน) เรียกตนเองว่า ไต หรือ “ไทใหญ่” แทน ซึ่งอันที่จริงคำว่า “ไทใหญ่” ก็เป็นคำใหม่ที่เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อปลดแอกตนเองในรัฐฉาน ประเทศพม่า ที่ดำเนินมาตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1960
ปัจจุบัน “ชาวเงี้ยว” ในพม่า ส่วนใหญ่คือคนไทที่เรียกตนเองว่า “ไต” อาศัยอยู่ในเขตรัฐฉานตอนใต้ ขณะที่ชาวโยน ลื้อ ขึน (ในพม่า) นั้นคือคนไทอีกส่วนหนึ่งที่ตั้งบ้านเมืองอยู่ในเขตรัฐฉานตะวันออก (โดยเฉพาะเชียงตุง เมืองยอง) ส่วนในภาคเหนือของประเทศไทยนั้นทั้ง “เงี้ยว ขึน ลื้อ โยน” ได้อาศัยใช้ชีวิตปะปนกับคนพื้นราบกลุ่มอื่นๆ มายาวนานอย่างน้อยตั้งแต่ช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ต่อมาประมาณหลังทศวรรษ 2490 ได้เริ่มหันมาเรียกตนเองว่า “คนเมือง” จนกลายเป็นชื่อเรียกอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของผู้คนในล้านนา (แถบภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย) ยุคปัจจุบัน
Downloads
Published
How to Cite
Issue
Section
License
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.
All written articles published on Journal of Social Sciences is its author’s opinion which is not belonged to Social Sciences Faculty, Chiang Mai University or is not in a responsibility of the journal’s editorial committee’s members.