สังคมวิทยา-มานุษยวิทยา เชียงใหม่: ถึงไหน หรือ ไม่ถึงไหน? (ปาฐกถา)
Abstract
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์ การพูดคุยวันนี้เหมือนเป็นการประเมินความเป็นมาเป็นไปของภาควิชาอย่างสั้นๆ ผมอยู่ที่นี่มาเกือบกึ่งศตวรรษ ถือได้ว่าเป็นคนรุ่นที่ 2 เพราะว่าภาควิชาเปิดเมื่อปีพ.ศ.2507 ผมเป็นอาจารย์เมื่อปี พ.ศ.2519 ตอนผมมาเริ่มทำงานที่ภาควิชาฯ อาจารย์ยศ สันตสมบัติ ยังเป็นนักศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 3 ผมเลยได้มีโอกาสสอนอาจารย์ ไม่แน่ใจว่าวิชาเดียวหรือสองวิชา ผมมาสอนตอนปีพ.ศ.2519 ผมไม่ทราบว่าสิบปีแรกของภาควิชาเราเป็นมาอย่างไร แต่ที่ได้ฟังจากอาจารย์หลายๆ ท่านที่เรียนมาตั้งแต่รุ่นแรกไม่ว่าจะเป็นอาจารย์อุไรวรรณ (ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุไรวรรณ ตันกิมยง) อาจารย์นฤจร (ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นฤจร อิทธิจีระจรัส) และอาจารย์ขวัญใจ (อาจารย์ขวัญใจ ไทยทอง) ตอนนั้นบังเอิญผมมานั่งโต๊ะของอาจารย์ท่านหนึ่งไม่ทราบว่าเป็นใคร แล้วเห็นเปเปอร์ของอาจารย์วัฒนา (รองศาสตราจาร์ ดร. วัฒนา สุกัณศีล) ที่ทำส่งอาจารย์ตอนปริญญาตรี ผมก็รู้สึกทึ่งอยู่เหมือนกัน เพราะว่า อาจารย์วัฒนาเขียนเรื่องเกี่ยวกับทฤษฏีของแม็กซ์ เวเบอร์ (Max Weber) ดูร์ไคม์ (Emile Durkheim) อะไรทำนองนั้น ผมเห็นแล้วก็รู้สึกว่าที่เมืองไทยเราก็ไปไกลพอสมควร หมายความว่าเข้าใจเรื่องพวกนี้แล้ว ผมก็ได้เก็บเปเปอร์นั้นไว้และได้คืนอาจารย์วัฒนาไปแล้ว ตอนนี้ไม่ทราบว่าอาจารย์ยังเก็บของตัวเองไว้หรือเปล่า ตอนแรกนั้นที่ผมเรียนจบมา ผมเรียนปริญญาตรีรัฐศาสตร์ ปริญญาโทประวัติศาสตร์ แต่ตอนผมเปลี่ยนไปเรียนประวัติศาสตร์ที่ต่างประเทศ ผมไปถามอาจารย์ของผมว่า ผมอยากจะเอาดีทางประวัติศาสตร์ ผมควรจะไปฟังอะไรดี อาจารย์ก็บอกให้ไปฟังมานุษยวิทยาดูสิ ตอนนั้นผมก็ไม่รู้จักว่ามานุษยวิทยาคืออะไร ผมก็ไปลองนั่งฟังๆ ดู แล้วรู้สึกว่าเออ มันดีนี่นา ผมก็เลยเตลิดเปิดเปิงไปกับวิชามานุษยวิทยา ตอนนั้นมานุษยวิทยาในอเมริกากำลังบ้าเลวี-สเตารส์ (Claude Levi-Strauss) ผมทั้งอ่านและฝันถึง จนอาจารย์นิธิ (ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์) ตอนนั้นไปเขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกที่คอร์แนล (Cornell University) แกก็บอกว่าอานันท์นี่บ้าเลวี-สเตราส์ มากเลย แกเห็นผมเรียนประวัติศาสตร์ แกเลยมากินข้าวกับผมที่บ้านเป็นประจำ เลยได้คุยกัน ตอนผมกลับมาผมก็จะไปเป็นอาจารย์ประวัติศาสตร์ แต่เขาบอกว่ายังไม่รับอาจารย์ประวัติศาสตร์สายที่ผมเรียน ก็คือประวัติศาสตร์ล้านนาโดยตรง เขาบอกว่าเขาต้องการประวัติศาสตร์อื่น อาจารย์สุเทพ (ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุเทพ สุนทรเภสัช) เห็นว่าผมเรียนประวัติศาสตร์ แต่ประวัติศาสตร์นี่ผมเรียนแค่ 4 วิชา แต่เรียนมานุษยวิทยา 12 วิชา อาจารย์สุเทพเลยบอกว่า อานันท์มาสอบเข้าเป็นอาจารย์ที่นี่ดีกว่า เพราะคุณเรียนมานุษยวิทยาเยอะเหลือเกิน ก็เลยได้มาเป็นอาจารย์ที่ภาควิชานี้ ตอนผมมาถึงก็จะมีอาจารย์เกษม (ผู้ช่วยศาสตราจารย์เกษม บุรกสิกร) อาจารย์สุเทพ และอาจารย์ประเสริฐ (อาจารย์ประเสริฐ พันธชาติ) อาจารย์ต่างๆ ที่เป็นอาจารย์รุ่นแรกๆ แต่รุ่นแรกจริงๆ นี่เป็นชาวต่างชาติ รวมทั้งอาจารย์คายส์ (Charles F. Keyes) ด้วย ก็มาสอนในปี 70 (ค.ศ.1970) ประมาณนี้ ปี 70 เป็นปีแรกที่ผมไปเรียนต่างประเทศ เพราะฉะนั้นสิบปีแรกผมไม่รู้ แต่สิบปีที่สองที่ผมมาเห็นคือตอนนั้นอาจารย์สุเทพ เป็นหัวหน้าภาคฯ ถ้าผมประเมินดูตอนนั้นของเรายังห่างจากที่ผมเรียนมานุษยวิทยาที่อเมริกาอยู่มาก ผมกลับมาเป็นอาจารย์ตอนปี 19 (พ.ศ.2519) นั่นน่ะ รู้สึกของเรายังอยู่ในแนว ค่อนข้างจะประมาณ 60 (ค.ศ.1960) หรือ 50 (ค.ศ.1950) ที่อเมริกา มันห่างกันประมาณ 20 ปี เลยนะสิ่งที่เราเรียนกันที่นี่ หมายความว่า ตอนนั้นเราสนใจเรื่องเฉพาะสถาบันต่างๆ สถาบันครอบครัว แล้วก็ปัญหาสังคม ปัญหาสังคมก็ไม่ใช่เป็นปัญหาของสังคมจริงๆ เป็นปัญหาที่คนชั้นสูงมองว่าเป็นปัญหาสังคมที่จะต้องควรไปสงเคราะห์ ปัญหาโสเภณี ปัญหาเด็กวัยรุ่น ปัญหาที่เกิดจากรัฐสร้าง ปัญหาจากสังคมสร้างทั้งนั้น ไม่ใช่ปัญหาของเขา เขาไม่ได้มีปัญหาอะไร มีแต่เราไปสร้างให้เขามีปัญหา แล้วเราก็พยายามจะแก้ปัญหา แล้วตอนนั้นก็กำลังบ้าประชากรศาสตร์ ก็วิจัยประชากรกัน มีอาจารย์หลายท่านก็สนใจเรื่องพวกนี้ แต่สิ่งที่ดีที่สุดก็คือว่ามีการ “วิจัย” อันนี้ผมรู้สึกพอใจมากที่ว่าเขาเริ่มมีการวิจัยแล้ว แต่เป็นวิจัยพื้นฐานนะ ส่วนใหญ่เป็นแบบนี้ คือไปเก็บข้อมูลพื้นฐาน แต่จะมีอาจารย์สมหมาย (รองศาสตรจารย์ สมหมาย เปรมจิตต์) ที่อ่านเอกสารล้านนาโบราณ อันนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ผมรู้สึกประทับใจ หมายความว่าผมเก็บเอาไว้ในใจว่าเรื่องพวกนี้มันสำคัญ เพราะถ้าเราจะก้าวหน้าต่อไปเราต้องมีการวิจัย แล้วภาควิชาเราเป็นภาควิชาแรกในคณะสังคมศาสตร์ที่เป็นผู้สร้างหน่วยวิจัย ต่อมาก็ยกระดับขึ้นมาเป็นสถาบันวิจัยสังคม แต่ตอนนั้นเราเรียกว่า ฝ่ายวิจัยหรืออะไรสักอย่าง ตั้งอยู่ชั้น 3 ที่เป็นภาควิชาปัจจุบันนี้ ก็ถือเป็นการวิจัยเบื้องต้น แล้วพอผมมาเป็นอาจารย์ได้ 1-2 ปี ผมก็ได้มีโอกาสไปทำวิจัยครั้งแรก ตอนนั้นมูลนิธิฟอร์ด (Ford Foundation) ให้ไปวิจัยเรื่องเศรษฐกิจชาวเขา ผมเรียนมานุษยวิทยามาทั้งหมดนี่ไม่เคยมีเรื่องเศรษฐกิจ เรียนมาเป็นมานุษยวิทยาวัฒนธรรมว่างั้นเถอะ ที่เรียนจากเมืองนอกนะ พอกลับมาเมืองไทย อ้าว เขาวิจัยเรื่องเศรษฐกิจชาวเขา ผมก็งง แต่ก็ได้ไปร่วมทีมวิจัย ตอนนั้นก็ไม่มีใคร ไม่มีนักคิดอะไรที่เด่น ก็เลยไปได้ไชยานอฟ (Alexander Chayanov) จากรัสเซียมาเป็นแนว ตอนนั้นหนังสือเพิ่งออกใหม่ๆ หนังสือเรื่องอะไรจำไม่ได้ เกี่ยวกับเศรษฐกิจของชาวนา ผมก็เอาไปใช้ในการวิจัย พอมีโอกาสวิจัยเรื่องนี้ เลยทำให้ผมคิดว่าจะต้องไปเรียนมานุษยวิทยาเศรษฐกิจเพิ่มเติม เพราะตอนนั้นไม่มีใครรู้จักว่ามานุษยวิทยาสนใจเศรษฐกิจด้วยหรือ เศรษฐกิจเกี่ยวอะไรกับวัฒนธรรม ทุกคนคิดว่าเศรษฐกิจก็คือเรื่องเศรษฐกิจ demand (อุปสงค์) supply (อุปทาน) อะไรแบบนี้ แต่ผมก็คิดว่าเดี๋ยวนี้วิชาการต่างๆ ก็ยึดโยงหรือแฝงฝังอยู่กับสถาบันและสังคมไปหมด แล้วเราก็มีวิชาปัญหาสังคม ประวัติความคิดทางทฤษฏี ผมเลยคิดว่าไม่ได้การแล้ว แม้จะมีเรียนประวัติความคิด แต่ความคิดอะไรใหม่ๆ ไม่เรียน ตรงนี้เลยทำให้ผมกับอาจารย์สุเทพขอเปิดวิชาใหม่ แต่ยังเปิดไม่ได้ เราเลยเปิดเป็นวิชาสัมมนา แล้วตั้งชื่อใหม่ว่าเป็นทฤษฎีสมัยใหม่ ซึ่งวิชานี้เป็นวิชาที่อาจารย์ยศเรียนกับผม ผมไม่ได้สอนคนเดียว อาจารย์สุเทพก็สอนด้วย ผมก็เอาสิ่งที่ผมเรียนใหม่ๆ มาสอน คือผมคิดว่าสาขาของเรามันคือสังคมศาสตร์ ถ้ามันไม่มี concept (แนวคิด/มโนทัศน์) ไม่มีแนวคิดเนี่ยมันไปไม่ได้ไกล คือมันก็จะบรรยายพรรณนาเก็บข้อมูลแล้วก็เป็นปรากฏการณ์ต่างๆ แต่ผมคิดอยู่อย่างเดียวในใจเท่าที่ทำงานมาก็คือ อยากจะยกระดับวิชาขึ้นมา คือเหมือนกับเราขึ้นเครื่องบินน่ะ ให้มันยกขึ้นมาหน่อย เพื่อที่จะเห็นอะไรที่มันกว้างกว่าที่เป็นปรากฏการณ์ แต่ผมก็ไม่สามารถที่จะทำได้เต็มที่ขนาดนั้น ผมคิดว่าถ้าจะทำได้มันต้องเปิดหลักสูตรที่นอกเหนือจากปริญญาตรี เพราะตอนนั้นมันมีแต่ปริญญาตรี ผมก็คิดว่าอยากเปิดที่เป็นบัณฑิตศึกษา พอดีตอนนั้นผมต้องกลับไปเรียนปริญญาเอกก็เลยไม่มีโอกาส หายไป 5 ปี กลับมาประมาณปีพ.ศ. 2526 ก่อนหน้านั้นอาจารย์สุเทพก็พยายามผลักดันให้เปิดอยู่หลายปี แต่ก็ยังไม่สำเร็จ พอผมกลับมาปีพ.ศ.2526 ผมเลยมาช่วยอาจารย์สุเทพ แล้วก็ผลักดันจนเสร็จประมาณก่อนพ.ศ.2530 ก็เปิดเป็นปริญญาโท สาขาพัฒนาสังคม เพราะผมคิดว่าวิชาการจะพัฒนาได้ก็ต่อเมื่อมีบัณฑิตศึกษา เพราะเวลามีบัณฑิตจะไม่ใช่แค่อาจารย์วิจัย แต่ทุกคนต้องวิจัย ถ้าไม่มีวิจัยมันก็เป็นวิชาที่เป็นสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาไม่ได้ เพราะไม่อย่างนั้นเราก็ต้องไปอ่านตำราฝรั่ง คือไปเอาของคนอื่นแล้วมาเล่าให้นักศึกษาฟัง แน่นอนว่าวิชาของเราเป็นวิชาจากต่างประเทศก็จริง แต่เราไม่ควรปล่อยให้มันเป็นเรื่องของความคิดตะวันตกอย่างเดียว ใจผมคิดว่าทำอย่างไรเราถึงจะทำให้วิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาเป็นอะไรที่สัมผัสกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นสังคมไทยหรือสังคมที่เราศึกษา เพราะเราไม่ได้ศึกษาเฉพาะในขอบเขตของประเทศไทย ดังนั้นตอนหลังมา เมื่อเรามีศูนย์ RCSD (The Regional Center for Social Science and Sustainable Development) เราก็ได้ขยายขอบเขตการศึกษาไปทั่ว ผมเรียนใน The Southeast Asia Program (SEAP) ของ Cornell University ซึ่งก็ถือได้ว่าเป็นอันดับหนึ่ง ใครๆ ที่อยากรู้จัก Southeast Asia อาณาบริเวณศึกษา ก็ต้องไปเรียนที่ Cornell University แต่ผมรู้สึกอึดอัดมากเลยพอกลับมา เพราะผมรู้สึกว่าวิชาการบ้านเราชาตินิยมจ๋าเลย อะไรๆ ก็ศึกษาแต่เมืองไทย ผมก็คิดว่าถ้ามัวแต่ศึกษาอยู่แบบนี้เราก็ไปไหนไม่รอดหรอก พอดีมูลนิธิฟอร์ด (Ford Foundation) บอกว่าให้ตั้ง RCSD ขึ้นมา แล้วให้เราไปร่วมมือกับนานาชาติที่อยู่รอบๆ ประเทศเรา ผมดีใจมากเลย ตอนช่วงตั้งแต่เกือบๆ 20 ปีก่อนหน้านี้ ผมได้เดินทางไปในประเทศที่อยู่ใน Mainland Southeast Asia บ่อยมาก อย่างไปลาวนี่ไปสอนเกือบทุกอาทิตย์ สอนที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว มหาวิทยาลัยแห่งชาติกัมพูชา ไปบรรยายที่มหาวิทยาลัยยูนนาน มหาวิทยาลัยในเวียดนาม ไปพม่า ไปอินโดนีเซียบ้าง ไปมาเลเซีย คือได้เดินทาง ก็ทำให้เป็นแรงผลักดันที่ทำให้ผมมองว่าวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา แม้จะเป็นวิชาจากสังคมตะวันตก แต่น่าจะมีเรื่องราวหรือว่ามีความคิดอะไรที่มันจะเกิดขึ้นจากที่เราเรียกว่า grounded theory (ทฤษฎีรากฐาน/ทฤษฎีที่สร้างจากข้อมูล) เพราะผมไม่คิดว่าทฤษฎีตะวันตกอย่างเดียวจะทำให้ผมช่วยคนรุ่นต่อไปให้มองอะไรที่สัมผัสได้ เกี่ยวข้องกับชีวิตของเราจริงๆ นอกเหนือจากการที่เราจะต้องพยายามพัฒนา มันจึงเกิดทฤษฎีที่ทุกคนก็รู้จัก ที่เรียกว่า “ทฤษฎีไข่มดแดง” ขึ้นมา ซึ่งจริงๆ แล้วทฤษฎีมันก็อยู่ที่บ้านของเรานี่แหละ เพียงแต่เราไม่เรียกมันว่า ทฤษฎี บางคนก็เรียกว่า ความรู้พื้นบ้าน บางคนก็เรียกว่า คติท้องถิ่น เมื่อสองสามวันมานี่ผมได้ไปบรรยายให้นักศึกษาคติชนวิทยาระดับปริญญาเอกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยฟัง ก็ปราฏว่าพวกคติชนวิทยาที่เค้าเรียนปริญญาเอกนี่ เขาเรียนเหมือนเราเป๊ะเลย คือเรื่องคติชนเนี่ย เขาก็พยายามไปหาว่าความคิดของชาวบ้านต่างๆ เหล่านี้มันมีอะไรที่จะเป็นแนวทางแนวคิดที่จะทำให้เราเข้าใจทั้งคนที่จะศึกษา ตัวเราเอง และเอาไปเข้าใจเรื่องราวที่เกิดขึ้น เพราะว่าโลกเดี๋ยวนี้มันเชื่อมโยงกันหมด ไม่สามารถที่จะบอกว่าอันนี้เป็นเรื่องของไทย อันนี้เป็นเรื่องตะวันตก แต่ว่ามันมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน เมื่อเปิดหลักสูตรปริญญาเอกผมเลยพยายามผลักดันให้นักศึกษาได้ขยายออกไป พูดไปแล้วก็คือว่า ของเรานี่พัฒนาขึ้นค่อนข้างมากไม่ใช่เพราะผม แต่ทุกคนได้ช่วยๆ กัน หลักสูตรปริญญาโทปริญญาเอกถือเป็นกลไกสำคัญที่ขับเคลื่อนให้วิชาการไม่ใช่จำกัดอยู่เฉพาะตะวันตก 100% แน่นอนว่าเรายืมเขามา แต่เรามาทำให้มันมีลักษณะที่เรียกว่าเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับชีวิตของคนในละแวกที่เรามีชีวิตอยู่สัมพันธ์กันมากขึ้น ซึ่งอันนี้ก็เป็นคุณูปการอย่างสำคัญเลย ในฐานะที่เรามาพูดในวาระที่ครบรอบ 60 ปี ก็อยากชี้ให้เห็นศักยภาพคุณูปการของเราว่าเราได้ทำอะไรมา ทำให้เกิดอะไรขึ้น ผมคิดว่าเวลานี้ที่สำคัญที่สุดคือก็สิ่งที่เราได้วิจัย ได้พูดได้เขียนกันในคณะ ภาควิชาเล็กๆ ของเรา ซึ่งมันไม่ใช่เล็กๆ อีกต่อไปแล้ว เพราะเวลานี้ศัพท์ทุกศัพท์ concept เกือบจะทุก concept ผมดูทีวี ทุกคนก็พูดคำเดียวกับเรา เมื่อสองสามปีก่อนมีศูนย์วิจัยวนเกษตรชุมชนระดับภูมิภาคจัดสัมมนา เขาถามผมว่า อาจารย์เสียใจไหมที่ผลักดันเรื่องป่าชุมชนมา 30 ปีแล้วกฎหมายไม่ผ่านสักที ถึงผ่านออกมาก็รูปร่างหน้าตาพิกลพิการ ที่จริงเขาถามอาจารย์สมศักดิ์ก่อน (ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมศักดิ์ สุขวงศ์) ซึ่งท่านเป็นเจ้าพ่อด้านป่าชุมชน เป็นหัวหน้าศูนย์นี้ด้วย อาจารย์สมศักดิ์ตอบว่าผมแทบร้องไห้เลย ผลักดันมา 30 ปีแล้วมันทำกับผมอย่างนี้ พอเขาหันมาถามผมว่าแล้วอาจารย์ว่ายังไง ผมหัวเราะเลย เขาก็ถามทำไมหัวเราะ ผมบอกว่าจะไม่ให้ผมหัวเราะได้ยังไง เพราะว่ากฎหมายเมืองไทยมันบ่มิไก๊ (ไม่ได้เรื่อง) มันออกกฎหมายมากำกับควบคุมคนทั้งนั้น เราจะไปออกกฎหมายมากำกับควบคุมเพิ่มเติม มันไม่มีประโยชน์อะไร เพราะเวลานี้คำว่า “ป่าชุมชน” ทุกคนพูดถึง ทุกคนทำหมดแล้ว แล้วเรื่องอะไรเราต้องไปออกกฎหมายมากำกับควบคุมเขาอีก ในเมื่อมันเป็นปฎิบัติการจริงไปแล้ว มันกลายเป็นความเป็นจริงไปแล้ว เพราะฉะนั้นคำต่างๆ คำศัพท์ต่างๆ ทั้งหมดที่เราเรียนกันในเวลานี้ เราอย่านึกว่าเราเป็นคนผูกขาดนะ มันได้กลายเป็นคำทั่วไปในสังคมแล้ว ตรงนี้แหละที่ผมคิดว่าเป็นคุณูปการยิ่งใหญ่ของสังคมศาสตร์วิชาการทั่วไป ถ้าเมื่อไหร่เราเปลี่ยนความคิดของคนในสังคมให้ใช้คำพูดจากแนวคิดทางวิชาการได้ ก็ใครจะนึกว่าเวลานี้ คำพูดว่า “การมีส่วนร่วม” ที่ชาวบ้านลุกขึ้นมาบอกว่า ผมก็อยากมีส่วนร่วม คำว่า มีส่วนร่วมเนี่ย อาจารย์สมัยก่อนเขาคิดว่ามันเป็นคำพูดในวงวิชาการ เพราะอันนี้มันเป็นศัพท์ที่อาจารย์อับฮอฟฟ์ Norman Uphoff ที่ Cornell University เขาเป็นที่ปรึกษาของ UN (United Nations) เขาได้ใช้คำว่า Participation (การมีส่วนร่วม) เป็นคนแรกๆ เลย ประมาณปีค.ศ.1970 แล้วต่อมาประมาณปีคริสต์ทศวรรษ 1980 กว่าๆ ปีกฝ่ายซ้ายของ UN ชื่อองค์กร UNRISD (United Nation Research Institute for Social Development) เขาพยายามมอง Participation ในแง่ที่มันเชิงรุกมากกว่า participation เชิงรับ Participation ในตอนแรกๆ มันกลายเป็นการ co-opt (ดึงให้มาเป็นส่วนหนึ่งของผู้มีหลักปักฐานที่ทรงอำนาจ) ชาวบ้าน ให้ชาวบ้านมา participate (มีส่วนร่วม) ในโครงการของรัฐ เช่น โครงการรั้วกินได้อะไรต่างๆ คือถ้าใครมาร่วมมือกับรัฐ รัฐก็จะให้ทุนให้งบประมาณทำนองนี้ แต่ว่า UNRISD ได้พยายามผลักดัน และผมก็ได้มีส่วนร่วมมี อาจารย์เทอร์ตัน (Andrew Turton) เป็นหัวหน้าโครงการ ได้เงินทุนวิจัยมา ก็มาร่วมมือกันในการทำวิจัยการมีส่วนร่วมของชาวบ้านในลักษณะที่ชาวบ้าน active (ที่กระตือรือร้น) ไม่ใช่ชาวบ้านถูก co-opted หมายถึงการลุกขึ้นเคลื่อนไหวของชาวบ้านในการผลักดันการแก้ไขปัญหาจากการพัฒนาต่าง ๆ ของรัฐ คำศัพท์หรือ concept ในทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาหรือในทางสังคมศาสตร์จะมีสองด้านเสมอ ด้านหนึ่งคือ ด้านที่ถูก co-opted ด้านที่ถูกครอบงำ หรือด้านที่เป็นวาทกรรม กับอีกด้านหนึ่งเป็นด้านที่ต่อต้านวาทกรรม เพราะฉะนั้นสองด้านนี้เราต้องเผชิญกับการช่วงชิงความหมายอยู่ตลอดเวลา เราอย่าไปยอมรับ concept โดยไม่ได้วิพากษ์ เราต้องมองอะไรอย่างวิพากษ์ตลอดเวลา ซึ่งอันนี้ถือเป็นมรดกที่เราได้รับตกทอดมาจาก Enlightenment (ยุครู้แจ้ง) แต่ฟูโก (Michel Foucault) เก็บเฉพาะ critical thinking (ความคิดเชิงวิพากษ์) ไว้ตัวเดียว ความคิดอื่น ๆ โยนทิ้งหมดไม่เอา แต่ผมชอบที่ฟูโก บอกแบบนี้ ผมก็ติดอันนี้มา เพราะฉะนั้นพูดง่ายๆ ว่า เมื่อความคิด concept ต่างๆ ในวงวิชาการของเรา แค่ความคิดเล็กๆ เนี่ยมันได้กลายเป็นศัพท์แสงที่ผู้คนทั้งสังคมได้นำไปใช้แล้ว ผมคิดว่าถึงตรงนี้โลกได้เปลี่ยนแล้ว มุมมองคนเปลี่ยนไปแล้ว ดังนั้นผมคิดว่าเป็นคุณูปการสำคัญจากการที่เรามีงานวิจัย มีหลักสูตรบัณฑิตศึกษา เพราะว่าอาจารย์ทำไม่ไหวถ้านักศึกษาไม่ได้ผลิตวิทยานิพนธ์ต่างๆ ออกมา พอมีวิทยานิพนธ์มันก็คล้ายๆ กับเป็นการกระจายความคิดออกไป ออกไปสอน และออกไปพูดในสื่อต่าง ๆ ผมเองทำงานอยู่ก็พยายามบอกตัวเองว่าจะไม่อยู่ในหอคอยงาช้าง ตั้งแต่เริ่มต้นผมก็ไปเป็นผู้อำนวยการ NGO (Non-Governmental Organization หรือองค์กรนอกภาครัฐ) เลย คือ NGO ก็ต้องการหัว ต้องการความชอบธรรม เขาไม่รู้จะเอาใคร เขาก็มาดึงผมไปเป็น ผอ.NGO นอกจาก ผอ.NGO แล้วผมยังไปเป็นประธานของ สสส. สาขาภาคเหนือ (สมาคมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน) ไปช่วยผลักดันเกี่ยวกับสิทธิของคน คำว่า สิทธิ นี่เมื่อก่อนเป็นคำใหม่ แต่เดี๋ยวนี้คงไม่ต้องพูดแล้ว บางคนเขาก็พูดถึงว่า คนจนมีสิทธิไหมครับ เพราะฉะนั้นผมไม่ต้องพูดแล้ว คนจนเขาพูดไปเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นตรงนี้ผมคิดว่าเป็นคุณูปการสำคัญของวิชาของเรา ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ยศ สันตสมบัติ ผมอยากจะพูดแค่ 2 ประเด็น ประเด็นแรกต้องไหว้ครู เป็นมวยไทยเริ่มต้นต้องไหว้ครู ในฐานะที่เป็นทั้งศิษย์เก่าเรียนกับอาจารย์ในภาคฯ มาตั้งแต่ต้น สิ่งที่ผมอยากจะบอกก็คือว่า สังคมวิทยามานุษวิทยา ในช่วงอายุผมก็แล้วกัน สี่สิบกว่าปีที่ผ่านมาที่ผมสอนวิชานี้มาเห็นการเปลี่ยนแปลงเยอะ ไม่นับตอนเรียน ผมสอนมา 42 ปี รู้สึกว่าตัวเองแก่มาก แต่ว่ามองไปข้างๆ ก็รู้สึกเรายังหนุ่มอยู่ เพราะมีคนที่แก่กว่า มีครูเราอยู่ ก็เลยอุ่นใจขึ้นมานิดหนึ่ง ประเด็นที่อยากจะบอกก็คือว่าสี่สิบกว่าปีที่ผ่านมาเห็นการเปลี่ยนแปลงเยอะ ในสิ่งที่เราเรียกว่าสังคมวิทยาและมานุษยวิทยารวมทั้งสังคมศาสตร์ทั่วไปด้วย เดี๋ยวนี้เรามองประวัติศาสตร์ก็เป็นพันธมิตร เป็นเครือข่ายทางวิชาการ ภูมิศาสตร์ก็เป็นเครือข่ายพันธมิตรของเรา พูดง่ายๆ คือทำเรื่องเดียวกัน ก็หยิบยืมกันไปยืมกันมา เดี๋ยวนี้ประเด็นที่ครอบคลุมมีเยอะมาก สมัยก่อนเราเรียนมานุษยวิทยา คำแรกที่อาจารย์สอนก็คือ study of man (การศึกษามนุษย์) เดี๋ยวนี้มันมา non-human (อมนุษย์), more than human (มากไปกว่ามนุษย์), Anthropocene (ยุคที่กิจกรรมของมนุษย์ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของโลก) ซึ่งในความหมายจริงๆ แล้วลงไปลึกๆ คืออันเดียวกัน เพียงแต่ว่าเปลี่ยนชื่อแล้วก็ทำให้เนื้อหาครอบคลุมมากขึ้น หลายๆ อย่างที่เราเห็น ถ้าอ่านงานคลาสสิคเยอะๆ จะพบว่าสิ่งที่เขียนสมัยนี้ เขาเขียนกันมาเมื่อ 50 ปี 60 ปีที่แล้ว แต่มาเปลี่ยนคำเท่านั้นเอง ไม่ได้หมายความว่ามันไม่มีพัฒนาการ ประเด็นที่ผมอยากจะบอกก็คือว่ามันมีความหลากหลายของประเด็นมากขึ้น มีความหลากหลายของมุมมองมากขึ้น แต่ท่ามกลางความหลากหลายนี้สิ่งที่เป็นแก่นแกนของสังคมวิทยาและมานุษยวิทยามีอยู่เรื่องเดียว นั่นคือเราศึกษา ความสัมพันธ์ทางสังคม อันนี้ผมเรียนมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2519 จากอาจารย์อานันท์ ทุกอย่างที่เป็นสังคมศาสตร์เนี่ย boiled down to (เป็นส่วนสำคัญของ) ความสัมพันธ์ทางสังคม ความสัมพันธ์ทางสังคมทุกอย่างคือ ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ เพราะฉะนั้นอำนาจคือหัวใจของการศึกษาทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา จะเข้าใจสังคมได้ต้องเข้าใจความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ด้วยเหตุนี้เองพันธกิจของสิ่งที่เราเรียกว่าสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาคือ การไขแสดง เปิดโปงมิติที่ซ่อนเร้นของความสัมพันธ์เชิงอำนาจ จะทำเรื่องอะไรก็แล้วแต่ แก่นแกนของงานคือสิ่งนี้ การเปิดโปงมิติที่ซ่อนเร้นของความสัมพันธ์เชิงอำนาจเพื่ออะไร? เพื่อรื้อสร้างความเหลื่อมล้ำทางสังคม ทางเศรษฐกิจ และการครอบงำทางวัฒนธรรม ประโยคเดียวนี้ผมคิดว่ามันครอบคลุมเนื้อหาสาระของสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาทั้งหมด ในมุมของตัวเองนะ จะเถียงก็ได้ จะถกก็ได้ แต่ผมคิดว่า มองจากภาพรวมมันคือสิ่งนี้ ทีนี้เมื่อพูดอย่างนี้แล้ว ในแง่หนึ่งเราทำอะไรไปบ้าง หัวข้อที่เขาตั้งไว้คือ ถึงไหน? ไม่ถึงไหน? เหมือนรถเมล์ รถไฟน่ะ ถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่าง แต่พอผมเห็นหัวข้อนี้ การเป็นนักวิจัยต้องสร้าง indicator (ตัวชี้วัด) จะถึงไหนหรือไม่ถึงไหนมันมี indicator บอกไหมว่าเราไปยังไง เราไปถึงไหนแล้ว ผมก็เลยจะเสนอว่ามันมี indicator 5 ตัวในงานที่เราทำ ในมุมมองของตัวเองอีกเหมือนกัน คิดต่างได้ แต่ว่าเรียนสังคมวิทยาเนี่ยพื้นฐานที่สุด ระดับแรกที่สุดจากการทำวิจัย มันคือสิ่งที่เรียกว่า reflexivity หรือการสะท้อนย้อนคิด อย่างน้อยๆ เรียนสังคมวิทยาต้องได้สิ่งนี้ ต้องคิดแบบสะท้อนย้อนคิดเป็น หมายถึงการคิดอย่างมีบริบท การเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างตัวเราเองกับสังคมภายนอก คิดเป็น เชื่อมโยงเป็น ไม่ใช้สามัญสำนึก คิดโดยผ่าน concept (แนวคิด/มโนทัศน์) เป็นวิสามัญสำนึกให้ได้ เพราะฉะนั้นระดับแรกสุดเลยของสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาก็คือต้องได้ reflexivity เวลาผมสอนนักศึกษา ผมเน้นมากที่สุดเลยปริญญาตรีขอให้มี reflexivity ก็พอใจแล้ว ขอให้คิดเป็น ให้เชื่อมโยงเป็น พอมาอีกระดับหนึ่ง งานของนักศึกษาระดับปริญญาโททำกันเยอะมาก การทำลายมายาคติ นี่เป็นระดับที่สอง ทำลายมายาคติคืออะไร คือการไป counter discourse (ต่อต้านวาทกรรม) รัฐสร้างวาทกรรมมาเยอะ ชาวบ้านชาวเขาทำลายป่า ชาวบ้านโง่ จน เจ็บ การสร้างความรู้การทำวิจัยทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คือการไปทำลายมายาคติเหล่านี้ เพื่อให้คนเห็นว่าไม่ใช่ความจริงนะ ชาวบ้านเขามีวิธีคิดของเขา เขาฉลาด เขามีภูมิปัญญาท้องถิ่น งานวิทยานิพนธ์พัฒนาสังคม 100 กว่าเล่ม เกินครึ่งที่เป็นงานที่จัดอยู่ในประเภททำลายมายาคติ มีบางเล่มที่ขึ้นไปถึงอีกระดับหนึ่งซึ่งผมเรียกว่า การเปิดพื้นที่ทางสังคม คือนอกจากจะทำลายมายาคติแล้ว ก็จะเปิดพื้นที่ให้คนตัวเล็กตัวน้อย คนที่ไม่มีที่ยืนในสังคม คนชายขอบ คนด้อยสิทธิ์ ได้มีที่ยืนในสังคม เป็นการ empowerment (การเสริมสร้างอำนาจ) ผู้คน วิทยาพิพนธ์ทั้งหมดผมคิดว่ามันอยู่ในสามระดับนี้ แต่งานสังคมวิทยามันก็ยังมีระดับที่ 4 ซึ่งผมเรียกว่า การสร้างนโยบายทางเลือก เมื่อเราเข้าใจความสัมพันธ์เชิงอำนาจ เรามีการสะท้อนย้อนคิด เรามีการทำลายมายาคติ เรามีการเปิดพื้นที่แล้ว อีกขั้นหนึ่งคือการนำเสนอนโยบายทางเลือกใหม่ๆ ซึ่งภาคฯ เราก็ทำ ตอนที่ลำพูนทะเลาะกันเรื่องที่ดิน อาจารย์อานันท์พูดเรื่อง inclusion (การให้สิทธิ ผนวกรวม), exclusion (การกีดกันสิทธิ ออกไป) กรรมสิทธิ์ร่วม เอา concept พวกนี้มาใช้หมด แล้วก็ฟันธงเลย คุณต้องใช้โฉนดร่วม ก็เจอ concept โฉนดชุมชนขึ้นมา อันนี้ผมคิดว่าเป็นตัวอย่างคลาสสิคเลยของนโยบายทางเลือกที่ผมพูดถึง คือการนำเสนอคอนเซ็ปใหม่ๆ ให้สังคมเอามาใช้เป็นนโยบายนั่นเอง ระดับที่ 5 อันนี้เป็นระดับสูงสุดเลย อีกหน่อยอาจจะมีระดับที่ 6 ก็ได้ แต่ว่าตอนนี้ผมคิดได้แค่ 5 ระดับ ถ้าสอนไปอีก 4-5 ปีอาจจะมีระดับที่ 6 ก็ได้ ระดับที่ 5 คือ การนำเสนอหลักการใหม่ให้กับสังคม ซึ่งสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มช. ก็ทำอีกเหมือนกัน เพราะฉะนั้นถ้าถามว่าไปถึงไหนแล้ว คำตอบของผมคือไปมาหมดแล้ว ถึงหมดแล้ว การนำเสนอหลักการใหม่ของสังคมมันไม่ใช่ตะวันตกด้วย มันคือสิ่งที่ผมเรียกว่า“มานุษยวิทยาไทย” ด้วยซ้ำ โลกมี American anthropology (มานุษยวิทยาอเมริกัน) มี French anthropology (มานุษยวิทยาฝรั่งเศส), British anthropology (มานุษยวิทยาบริติช) เราเรียนประวัติทฤษฎี ถึงเวลาที่เราต้องสร้าง Thai sociology (สังคมวิทยาไทย) และ Thai anthropology ด้วย แล้วขั้นที่ 5 มันแสดงให้เห็นถึง Maturity (วุฒิภาวะ) สิทธิชุมชน เป็นตัวอย่างของการนำเสนอหลักการใหม่ให้กับสังคม มันเป็นสิ่งที่ชาวบ้านเขาปฏิบัติอยู่ ซึ่งเราก็ได้มาจากป่าชุมชนนั่นแหละ ชาวบ้านเขาก็มีกฎเกณฑ์ มีระเบียบ มีวิธีคิด มีมรดกทางวัฒนธรรมที่มากำกับจารีตประเพณีในการที่เขาทำ เรามายกระดับนามธรรมขึ้นมา แล้วนำเสนอเป็นหลักการใหม่ให้กับสังคม และสิ่งที่น่าสนใจ คนที่เรียนสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาพึงสังวรณ์ว่า สิ่งที่เราทำไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร แต่เมื่อเกิดสิ่งที่เรียกว่า “historical moment” (จังหวะเวลาทางประวัติศาสตร์) คำนี้ผมคิดว่าสำคัญมากสำหรับคนที่เรียนสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา สิ่งที่เราทำ ข้อค้นพบที่เราทำ การนำเสนอต้องมีจังหวะเวลา เมื่อหน้าต่างทางประวัติศาสตร์เปิดออก จะเป็นช่วงเวลาที่เราเอาความรู้ทางวิชาการมาสร้างให้เป็นพลัง สิทธิชุมชน ป่าชุมชน เราพูดตั้งแต่ต้นพุทธทศวรรษที่ 2530 ประชุมที่สภาไม่รู้กี่ยก ทะเลาะกับทหารทุกเดือน เขาจะเอาคนอีสานออกจากโครงการ คจก. (โครงการจัดสรรที่ดินทำกินแก่ราษฎรผู้ยากไร้ในพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม) ผมอยู่กรุงเทพฯ ผมเป็นหัวหมู่ทะลวงฟัน ไปประชุมกับทหาร กอ.รมน. (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร) ทุกอาทิตย์เลย เพื่อจะบอกว่าคุณย้ายชาวบ้านออกไม่ได้ เขามีสิทธิ เขาอยู่มาก่อนคุณ เขาก็ฟังบ้างไม่ฟังบ้าง แต่พอปีพ.ศ.2540 มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ historical moment เกิดขึ้น เราก็เอาสิทธิชุมชนไปใส่ในรัฐธรรมนูญ แปลง concept ให้กลายมาเป็นมาตราต่างๆ ในรัฐธรรมนูญ แล้วจนเดี๋ยวนี้ คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) อยากจะเอาออกใจจะขาด แต่เอาออกไม่ได้ เพราะชาวบ้านเขารับไปแล้ว คนเอาไปใช้ แน่นอนว่าในช่วงแรกคนเอาไปใช้ในแง่ของการจัดการทรัพยากร คนก็ใช้ในแง่ของทรัพยากรนั่นแหละ แต่สิทธิชุมชนมันมีมากกว่านั้น มันมีปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการรุกรานจากภายนอก มันมีมิติอื่นๆ ซึ่งเดี๋ยวนี้คนก็ไม่ค่อยได้ทำกัน ผมยังนึกครึ้มว่าก่อนเกษียณจะกลับไปทำสิทธิชุมชนใหม่อีกสักยกหนึ่ง เพื่อดูว่าเดี๋ยวนี้คนตีความไปถึงไหน แต่ประเด็นที่ผมอยากจะบอกก็คือว่า งานของเราไม่ใช่งานที่ทำอย่าง routine (กิจวัตรประจำวัน) เราจะต้องคิดอย่างมีความสัมพันธ์กับบริบทของการเปลี่ยนแปลงของโลกและของประเทศ เพราะว่าเราต้องรอว่า งานของเราจะมีผลก็ต่อเมื่อมันมีช่วงจังหวะการก้าวเดินทางประวัติศาสตร์ที่เปิดช่องว่างให้เกิดขบวนการทางสังคมเพื่อการเปลี่ยนแปลง เดี๋ยวนี้ไม่ใช่ยุคของการปฏิวัติอีกต่อไปแล้ว ที่คิดจะลุกขึ้นมาประท้วงอะไรแบบนั้น ไม่มีประโยชน์ คือก็มีประโยชน์ในระดับหนึ่ง แต่ในแง่ของการเปลี่ยนแปลงต้องอาศัยความรู้หรือพลังทางวิชาการ และพลังทางวิชาการจะแสดงอานุภาพมากที่สุดเมื่อ historical moment เปิดโอกาสให้มันทำหน้าที่นั้น สิ่งที่เราทำก็คือต้องรอช่วงจังหวะ อย่างตอนนี้โลกกำลังจะเปลี่ยนจาก bipolarity (สองขั้ว) ไปเป็น muti-polarity (หลายขั้ว) มันจะเกิดอะไรขึ้นกับสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา อันนี้ก็เป็นคำถามที่หลายคนต้องช่วยกันคิดว่าเราจะปรับตัวไปอย่างไร แต่ประเด็นที่อยากจะบอกก็คือว่าคนรุ่นอาจารย์อานันท์ไปถึงแล้ว นักมานุษยวิทยารุ่นเก่าไปถึงแล้ว รุ่นหลังไปถึงไหนแล้ว นี่คือถามกลับว่าทำอะไรกันอยู่นะครับDownloads
Published
2024-12-27
How to Cite
Ganjanapan, Prof. Dr. Anan, and Prof. Dr. Yos Santasombat. 2024. “สังคมวิทยา-มานุษยวิทยา เชียงใหม่: ถึงไหน หรือ ไม่ถึงไหน? (ปาฐกถา)”. Social Sciences Academic Journal, Faculty of Social Sciences, Chiang Mai University 36 (2):1-11. https://so04.tci-thaijo.org/index.php/jss/article/view/277005.
Issue
Section
Special Section
License
Copyright (c) 2024 Social Sciences Academic Journal, Faculty of Social Sciences, Chiang Mai University
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.
All written articles published on Journal of Social Sciences is its author’s opinion which is not belonged to Social Sciences Faculty, Chiang Mai University or is not in a responsibility of the journal’s editorial committee’s members.