“สังคมวิทยา-มานุษยวิทยา เชียงใหม่: ภารกิจแรกแห่งการขับเคลื่อน” (วงสนทนา)

Authors

  • Jamaree Chiangthong Faculty of Social Sciences, Chiang Mai University
  • Apinya Fuengfusakul Faculty of Social Sciences, Chiang Mai University
  • Kwanchewan Buadaeng Faculty of Social Sciences, Chiang Mai University

Abstract

ประเด็นการพูดเพื่อให้ตามกันทัน กรอบเวลา พ.ศ. 2523 – 2533 ถ้าคิดเป็นฝรั่งก็คือคริสต์ทศวรรษ 1980 นั่นเอง นอกจากกรอบเวลา ก็จะพูดในประเด็นของกรอบคิดทฤษฎีหลักที่เขาใช้กันในช่วงนั้นและอีกอันคือวิธีวิทยา ทฤษฎีก็มีกระแสหลักกระแสต้านอย่างที่ทราบกัน วิธีวิทยาที่ดิฉันเรียนในช่วงนั้นแล้วคนอื่นๆ หลายคนก็ใช้กันอยู่ในช่วงนั้น (ดิฉันมาทางสังคมวิทยาปริญญาตรี ต่างกับสองท่านที่พูดก่อนดิฉัน ที่ไม่ได้มาทางสายสังคมวิทยา) ใช้สถิติเยอะมากเลย ตอนสมัยที่ดิฉันเรียนปริญญาตรีเขาก็ให้ไปทำวิจัยแล้วก็ต้องไปเก็บข้อมูลเชิงสถิติอะไรต่างๆ ประมาณนั้น แต่ว่าก็ใช้ participant observation (การสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วม) สมัยเรียนเขาเคยให้ไปทำทดสอบ (experimental) เรื่องเกี่ยวกับ sexism (การแบ่งแยกและกีดกันทางเพศ) คือดิฉันเป็นผู้หญิงแล้วก็ไม่ใช่ผิวขาว (พอดีดิฉันเรียนที่มีฝรั่งอยู่เยอะ)  เพราะฉะนั้นพอดิฉันไปยืนอยู่ตรงประตูศูนย์การค้าเนี่ยแล้วอีกอันหนึ่งเป็นฝรั่งผู้ชาย แล้วคนมันจะเดินไปทางไหน เราพบว่าฝรั่งผู้ชายก็เดินไปทางฝรั่งผู้ชาย ส่วนผู้หญิงผิวสีก็เดินมาทางดิฉันเป็นส่วนใหญ่ เราก็ tally สถิติ นับจำนวนอะไรอย่างนี้ การสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วมก็ใช้นะคะที่เราไปยืน เราก็สังเกตการณ์ไปด้วย ทีนี้พอกลับมาเมืองไทยมาสอนที่ภาควิชาฯ อาจารย์เกษม บุรกสิกร เป็นหัวหน้าภาคตอนนั้นท่านก็โยนหนังสือมาให้เล่มหนึ่ง บอกคุณไปสอนวิชา 101 หนังสือที่โยนมาให้ก็คือ Horton and Hunt (1972)  อันนั้นเป็น third edition แล้วก็มี Broom and Selznick (1978)  อีกเล่มหนึ่ง มันเป็นช่วงเวลาที่ภาควิชานี้อเมริกันมาสอนเยอะก่อนหน้านี้ อย่างที่อาจารย์อานันท์ก็พูดไปแล้ว แล้ว legacy (มรดกตกทอด) อันนี้มันก็ยังอยู่ เพราะฉะนั้นในหนังสือ Horton and Hunt เนี่ยดิฉันก็ไม่แปลกใจ อาจารย์เกษม คงได้มาจากฝรั่งที่หอบมาด้วยจาก NIU (Northern Illinois University) แต่ว่ามันก็ไม่เลวร้ายนะคะ น่าสนุก ดิฉันก็จะสอนเกี่ยวกับอย่างเช่น status กับ class สอนบทบาท สถานภาพ (role and status) เช่น เรามีบทบาทอะไร เป็นพ่อแม่ สมมติถ้าเราเป็นตำรวจแล้วลูกเราเป็นผู้ร้ายอะไรอย่างนี้ แล้วเราจะสวมบทบาทพ่อ หรือว่าเราจะสวมบทบาทตำรวจอะไรอย่างนี้ มันเป็นตัวอย่างฝรั่ง แต่ว่าเราก็เอามาใส่เป็นตัวอย่างของไทย นอกจากนั้นเราก็จะเรียนเรื่องเกี่ยวกับอย่างเช่น collective behavior (พฤติกรรมร่วม) หรือ population (ประชากร) ประมาณนั้น  สำหรับวิชา social and cultural change (ความเปลี่ยนทางสังคมและวัฒนธรรม) ดิฉันโดนโยนให้โดยอาจารย์ฐิติพร วินิจฉัยกุล แต่ก่อนแกชื่ออาจารย์นภา โยนหนังสือเล่มนี้มาให้คือ Appelbaum (1970) Theories of Social Change  ซึ่งเป็นโชคดีมากเพราะว่าดิฉันจะดูสังคมวิทยาจากมุมมองของ Change แล้วดิฉันก็จะเรียนทฤษฎีที่เกี่ยวกับ Change ต่างๆ แล้วก็ทำให้เราค้นพบว่า เราไม่ใช่ Change Agent (ผู้กระทำที่ส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลง) คนเดียว จักรวาลไม่ได้มีศูนย์กลางอยู่ที่เรา แต่การเปลี่ยนแปลงมันมาจากหลายๆ แห่ง เพราะฉะนั้นโชคดีของดิฉัน ดิฉันไม่ค่อยมีพันธกิจนะคะ เพราะว่าดิฉันไม่จำเป็นต้องเป็น Change Agent  ทำไมดิฉันถึงตั้งชื่อยุค พ.ศ. 2523-2533 นี้ว่าเป็นช่วงเวลาของการขยายตัวของแนวคิดเสรีนิยม Expansion of “liberal” ideas อันที่จริงคำว่า liberal สามารถทำความเข้าใจได้หลายอย่าง สามารถที่จะถกกันได้ แต่เราคงไม่มีเวลา เขาให้ดิฉันแค่ 15 นาที ดิฉันใช้ในความหมายระบบเศรษฐกิจแบบเปิด (opened economy) การเมืองแบบเสรีนิยม (political liberalization) ยุคนั้นนะคะ ในทางการเมือง มีพลเอกเปรมเป็นนายกฯ คนมักจะบอกว่าเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ แต่จริงๆ แล้วมีการเลือกตั้ง แล้วคนก็วิจารณ์ และ หนังสือพิมพ์ก็วิจารณ์พลเอกเปรมทุกวัน การวิจารณ์ทุกวันมันนำมาสู่ความคิดที่ว่ามันต้องเป็นนายกเต็มใบ เหมือนที่อาจารย์อานันท์พูดก่อนหน้านี้เรื่องป่าชุมชน ว่าแม้กฎหมายไม่ออกสักที แต่ในที่สุดคนเข้าใจคำว่าป่าชุมชน ดิฉันมองในแง่นั้น (อันนี้ coincident นะคะ ไม่ได้เตี๊ยมกันมาก่อน) (คือมองว่าคนในยุคนั้นก็มี “เสรี” ในการวิจารณ์และเรียกร้องให้นายกฯ มาจากการเลือกตั้ง) สำหรับที่ดิฉันมองว่ามันเป็นยุคของ expansion of liberal ideas ทางเศรษฐกิจก็คือ เศรษฐกิจเปิดกว้าง จนกระทั่งมาถึงยุคคุณชาติชาย เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า เพราะฉะนั้น idea มันเป็นฝรั่ง มันเป็น internationalization (กระบวนการสู่ความเป็นนานาชาติ) modernization (กระบวนการสู่ความทันสมัย) ต้องการทำให้เป็นตะวันตก ถ้าดูหนังสืออย่างพวกนี้นะคะ ดิฉันไม่ลงรายละเอียดก็แล้วกัน Wilbert E. Moore (1963) Social Change ; David McLelland (1961) The Achieving Society  ก็คือ Americanization (หรือการเปลี่ยนโลกที่สามให้เป็นอเมริกัน) เราถึงมีอเมริกันมาสอนในช่วงแรก สำหรับวิธีวิทยา อันนี้ผ่านไปเร็วเลย เราใช้ Empiricism (ประจักษ์นิยม) ให้ความสำคัญกับการเก็บข้อมูลเชิงประจักษ์และเชิงสถิติ ดิฉัน interdisciplinary (สหวิทยาการ) โดยไม่ได้ตั้งใจ ดิฉันมีเพื่อนเป็นนักเศรษฐศาสตร์เยอะ เพื่อนรุ่นพี่ เขาก็ชวนไปทำวิจัย ดิฉันก็ไปกับเขา ไม่รู้เรื่องหรอก ไปที่บ้านสองแคว จอมทอง ไม่รู้เรื่องอะไรเลยถ้าถาม แต่ว่าจำได้ว่านั่นคืองานวิจัยชิ้นแรก อายุประมาณสัก 22-23 ปี ไม่เกินนั้น แต่ก็นำมาสู่ความสนใจชนบทศึกษา งานที่มีอิทธิพลกับดิฉันมากงานหนึ่งก็คือ ฉัตรทิพย์ นาถสุภา กับ สุธี ประศาสน์เศรษฐ์ (2524) “ระบบเศรษฐกิจไทย ค.ศ. 1851-1910”  เป็นแนวประวัติศาสตร์เศรษฐกิจหรือ economic history ก็คือดูการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจไทยตั้งแต่สมัยสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง (Bowring Treaty) จนกระทั่งมาถึงสมัยรัชกาลที่ 6 อาจารย์ก็น่าจะได้อิทธิพลมาจาก James C. Ingram (1971) Economic Change in Thailand 1850-1970  ซึ่งศึกษาเรื่องการเปิดประเทศไทยว่าเรากลายเป็นประเทศเกษตรที่ขายข้าวตั้งแต่เมื่อไหร่ คือข้าว (รวมทั้งไม้สักและยางพารา) เป็นสิ่งที่ทำให้เรามีรายได้เข้าประเทศเป็นกอบเป็นกำ งานศึกษาชนบทที่สำคัญอีกชิ้นหนึ่งในช่วงนี้คือ วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของ David Bruce Johnston (1975) Rural Society and the Rice Economy in Thailand (1880-1930)  ซึ่งศึกษาหมู่บ้านปลูกข้าวในภาคกลาง จะพูดถึงโจร ผู้ร้าย ที่อยู่ในชนบทที่ปล้นชาวนาที่ขายข้าวได้ ก็คือว่าชนบทไม่ได้ผาสุข ชนบทไม่ใช่สุขสงบ คุณต้องคอยหลบผู้ร้ายถ้าคุณเกี่ยวข้าวได้และมีเงิน บางทีก็มีบางคนมาขนข้าวคุณไป คือไม่ใช่หมายความว่าคุณเกี่ยวข้าวแล้วคุณไม่ต้องเฝ้านะ คุณต้องมีห้างนาไว้เฝ้าพืชผลของคุณ อ่านเรื่องนี้แล้วดิฉันก็ไม่โรแมนติกในแง่ชนบท  ในช่วงเวลานี้ ดิฉันได้รับในหลายๆ ไอเดีย ดิฉันมาสอนก่อนแล้วถึงไปเรียนปริญญาโท (ไม่มีใครอ่านน่ะค่ะ) ดิฉันมาทำเป็นย่อภาษาไทย (จามะรี พิทักษ์วงศ์ (2527) “ระบบทุนนิยมกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมชาวนาไทย” วารสารเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีที่ 3 เล่มที่ 4 เม.ย.-มิ.ย. 2527)  ใช้ทฤษฎีมาร์กซิสม์ เพราะว่าตอนนั้นอาจารย์ที่เป็นที่ปรึกษาเป็นมาร์กซิสม์แต่ว่าเป็นมาร์กซิสม์ที่ไม่ orthodox (ดั้งเดิม) (Hamza Alavi เป็นที่ปรึกษา / Teodore Shanin สอนมาร์กซิสม์) คือเป็นมาร์กซิสม์ที่ critical (วิพากษ์) กับมาร์กซิสม์มากๆ เลย อาจารย์ชานินสอนมาร์กซิสม์ไปก็ด่ารัสเซียว่าเป็นระบบเผด็จการ Shanin นี่มาจากรัสเซีย แต่แกเป็นยิว เข้าใจว่าเคยอยู่โปแลนด์ และไปอยู่ที่อิสราเอลอยู่พักหนึ่งก่อนที่จะเข้ามาอยู่ที่อังกฤษ ส่วน Hamza Alavi เป็นปากีสถาน ใช้ทฤษฎี เรื่องทุนนิยมรอบนอกหรือชายขอบ (peripheral capitalism) ดิฉันขอยืมมาใช้ในวิทยานิพนธ์ว่าไทยเป็นทุนนิยมรอบนอกหรือชายขอบตั้งแต่รัชกาลที่ 5 เพราะเราเห็นว่าคุณขายข้าว ข้าวเป็นสินค้าส่งออก คุณปลูกเพื่อขาย คุณได้ข้าวมาแล้วคุณก็ขาย  ดิฉันจบปริญญาโทปีค.ศ.1983 ไล่เลี่ยกับที่อาจารย์อานันท์กำลังจะกลับมา รู้สึกว่าจะกลับมาจากปริญญาเอกประมาณปี พ.ศ.2527 หรือ ค.ศ.1984 วิทยานิพนธ์อาจารย์อานันท์ชื่อ The partial commercialization of rice production  ทำที่สันป่าตอง (ส่วนใหญ่ช่วงทศวรรษ 2520 วิทยานิพนธ์สังคมศาสตร์จะเป็นแนวชนบทศึกษา เพราะชนบทยังถูกมองว่าเป็นพื้นที่ยากจน) อาจารย์ที่ภาคอีกท่านเช่น อุไรวรรณ ตันกิมยง (ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุไรวรรณ ตันกิมยง) ทำเรื่องเหมืองฝาย อาจารย์วันเพ็ญ สุรฤกษ์ (ศาสตราจารย์ ดร.วันเพ็ญ สุรฤกษ์) ภาคภูมิศาสตร์ ก็ทำเหมืองฝาย (อาจจะก่อนอาจารย์อุไรวรรณนิดหน่อย) อาจารย์ไชยวัฒน์ รุ่งเรืองศรี (ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไชยวัฒน์ รุ่งเรืองศรี) ทำ class mobility (การเลื่อนสถานะทางชนชั้น) ใช้สถิติ ดู mobility ว่าคนออกจากหมู่บ้านไปประกอบอาชีพนอกเกษตรมากขนาดไหน อาจารย์อัญชลี สิงหเนตร (ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อัญชลี สิงหเนตร) พูดถึง migration อยู่ภูมิศาสตร์ Jennifer Gray นักศึกษาปริญญาเอกจากออสเตรเลียทำเรื่อง dormitory village (หมู่บ้านหอพัก ที่ผู้คนพักอาศัยและเดินทางไปทำงานในเมืองใหญ่) ดิฉันก็อ่านพวกนี้นะคะ อาจารย์นฤจร อิทธิจีระจรัส (ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นฤจร อิทธิจีระจรัส) ทำที่ฝาง อาจารย์เคยเป็นผู้ช่วยวิจัย Jack Potter (1976) Thai Peasant Social Structure  ทำที่สารภี ถ้าอ่าน Potter ก็จะเข้าใจว่าทำไมอาจารย์นฤจรไปทำที่ฝาง เพราะเป็นอำเภอที่คนจนจากสารภีอพยพไปบุกเบิกที่ทำมาหากิน ดิฉันก็เริ่มอ่าน Anthropology มากขึ้นๆ คือดิฉัน self-taught (เรียนรู้ด้วยตนเอง) เรื่อง anthropology นะคะ  สำหรับ Development Marxism (ทฤษฎีการพัฒนาของมาร์กซิสม์) ถือว่าเป็นกระแสต้านของการพัฒนาจากแนว social change  ตอนไปเรียนปริญญาโทก็ได้อ่านพวกทฤษฎี เช่น Andre G. Frank (1971) Sociology of development and underdevelopment of Sociology  เขาวิพากษ์วิชาสังคมวิทยาว่า มันไม่ให้ทฤษฎีที่จะเข้าใจการเปลี่ยนแปลงในโลกที่สามได้ จะเข้าใจโลกได้ ต้องเข้าใจว่ามันเกี่ยวพันกับโลกที่สามที่เคยเป็นอาณานิคมที่ถูกตักตวงทรัพยากรไป ซึ่งก็พัฒนาเป็นสาระของ dependency theories (ทฤษฎีพึ่งพิง) นอกจากนั้นก็มีทฤษฎีเกี่ยวกับ modes of production (วิถีการผลิต) ซึ่งมีการถกเถียงกันเยอะในกลุ่มนักวิชาการที่ศึกษาอินเดีย (และอาฟริกา) หนังสือที่พวกนักเรียนวิชาการพัฒนาอ่านกันมากอีกเล่มก็คือ Wallerstein (1976) The Modern World System  ถือได้ว่า มันก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ในยุคต่อมาเราจะพูดถึง globalization (โลกาภิวัตน์) และความเกี่ยวพันกันภายในระบบโลก (Wallerstein เน้นการเกษตรกรรมเชิงพาณิชย์ไปทั่วโลก) หลังจากยุคเฟื่องฟูของมาร์กซิสม์ในวิชาการพัฒนา ในปี พ.ศ.2528 David Booth (1985) ก็เขียนบทความ “Marxism and Development Sociology: Interpreting the Impasse”  อันนี้ก็วิพากษ์ Marxism ในสังคมวิทยาการพัฒนานะคะ บอกว่ามันถึงทางตัน ใช้ไม่ได้แล้ว เดี๋ยวนี้ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศเค้าเป็น NICs (Newly Industrialized Countries หรือประเทศอุตสาหกรรมใหม่) กันไปแล้ว คือเป็นอุตสาหกรรมใหม่กันไปแล้ว ทฤษฎีการพัฒนาก็เริ่มเปลี่ยนแนวมาในแนว Environmentalism (สิ่งแวดล้อมนิยม) / indigenous knowledge (ภูมิปัญญาพื้นเมือง) / ชนกลุ่มน้อย / ผู้หญิงในกระบวนการการพัฒนา อะไรต่างๆ  สำหรับที่ภาควิชาฯ ในปีพ.ศ.2533 พอที่เริ่มมีหลักสูตรปริญญาโท ก็จะมาในแนวสิ่งแวดล้อมนิยมที่นักเรียนชอบเรียกกันว่า ดิน น้ำ ป่า ชื่อเป็นทางการเรียกว่า “พัฒนาสังคม” ถึงแม้อาจารย์อานันท์จะบอกว่าแกไม่ใช่ตัวตั้งตัวตี แต่ดิฉันก็คิดว่าแกเป็นนะคะ แต่แน่นอนก็มีคนอื่นๆ อีกหลายคนที่ทำกันอยู่ตรงนี้ (แน่นอนว่ากรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียวและด้วยคนคนเดียว) การสร้างหลักสูตรบัณฑิตศึกษาในตอนนั้นเป็นกระแสระดับประเทศ ตอนนั้นประเทศไทยอยากจะสร้างปริญญาโทปริญญาเอกเอง ทางสังคมศาสตร์ก็บอกว่าไม่ต้องใช้ทฤษฏีฝรั่ง เรามีข้อมูลอยู่แล้วทำไมต้องให้ฝรั่งมาบอกเราว่าประเทศไทยเป็นยังไง บรรยากาศแบบนั้นมันมาอยู่ในช่วงนั้นด้วย (แต่เราก็ยังต้องอ่านทฤษฎีฝรั่งอยู่ดี) (และตอนหลัง เราจะอ่านประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น) กล่าวโดยสรุป ในวาระ 60 ปี ภาควิชาฯ ในครั้งนี้ ดิฉันคิดว่าการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ภาควิชาเป็นอะไรที่สำคัญ เป็นฐานของการที่จะทำความเข้าใจสิ่งที่เราทำในวันนี้ ในอีกสิบปีข้างหน้า อีกครบ 70 ปี 80 ปี ภาควิชาฯ ที่พวกคุณจะมาพูดกันในโอกาสครบรอบ 70 หรือ 80 ปี ก็สามารถมองย้อนกลับไปดูสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ งานศึกษาสังคมที่เราทำวันนี้ ก็จะกลายเป็นประวัติศาสตร์สังคม งานศึกษาทางสังคม จะต้องคำนึงถึงบริบททางสังคมเสมอ ทั้งในระดับ Global (โลก) และ national (ชาติ) แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องมี micro-study (การศึกษาระดับจุลภาค) ซึ่งเป็นอะไรที่ทำให้เราติดดิน เพราะมันเป็น specificity of time and place (ความจำเพาะของเวลาและสถานที่) ของเวลาที่เราอยู่และของที่ที่เราอยู่ คือคุณมี general theory (ทฤษฏีโดยทั่วไป) แต่คุณมีอะไรที่มัน specific  มีอีกอันหนึ่งคือประเด็นเรื่อง structure–agency หรือกรอบคิดเรื่องโครงสร้างและผู้กระทำการ จะเห็นว่าที่ดิฉันพูดวันนี้ถึงแม้จะเป็นเรื่องของดิฉันแต่ก็ไม่ใช่เรื่องของดิฉันซะทีเดียวนะคะ มันเป็นการตีกรอบโครงสร้างช่วงเวลา ที่ทฤษฎีมันเป็นอย่างนั้น แล้วเราก็ไปรับมันเข้ามา เราเชื่อมันบ้างไม่เชื่อมันบ้าง เพราะฉะนั้นดิฉันก็ไม่เชื่อทั้งหมด เช่นดิฉันไม่เชื่อว่าช่วงเวลานั้นสังคมไทยเป็นฟิวดัล แต่มองว่ามันเป็น peripheral capitalism (ทุนนิยมบริวาร หรือทุนนิยมรอบนอก) ตั้งแต่สมัยที่เราส่งออกข้าว แต่มันเป็นทุนนิยมเฉพาะในอีกรูปแบบหนึ่ง นอกจาก interaction (ปฏิสัมพันธ์) กับ agency กับโครงสร้างแล้ว agency ยังต้องมี interaction กับ “others”  ที่ไม่ใช่คนอื่นที่แปลกแยก แต่เป็นคนอื่นที่บางคนอยู่ใกล้เรา บางคนก็อยู่ไกล บางคนก็มาจาก disciplinary อื่น เพราะฉะนั้นก็ต้องเปิดใจในการที่จะมีความแตกต่าง เพราะฉะนั้นในกรอบคิด structure-agency เราไม่ใช่แค่ผู้ศึกษาที่ยืนออกมาจากข้างนอกแล้วมองเข้าไป แล้วพยายามที่จะไปทำทุกอย่าง “ข้างใน” ทั้งหมด เราก็เป็นหมากตัวหนึ่งที่อยู่ในกระดานที่เราไม่ได้เป็นคนกำหนดเองส่วนหนึ่งด้วย อันนี้ก็เป็นการ reflexive (การสะท้อนย้อนคิด) กับตนเองและโครงสร้างในช่วงเวลาดังกล่าว สุดท้ายก็ขอขอบคุณที่ภาควิชาฯ เชิญดิฉันมา ดิฉันจะไม่ถึงกับบอกว่าภาควิชาฯ เต็มไปด้วย conflict (มีสองท่านพูดถึงในตอนเช้า) แต่ดิฉันมองในแง่ดีว่าภาควิชาฯ เป็นภาควิชาที่อย่างน้อยก็ยอมรับความแตกต่าง ดิฉันก็อยากจะคิดว่าเราไม่เหมือนใคร และดิฉันก็ liberal ในแง่ที่ว่าดิฉันไม่ต้องบอกว่าใครจะต้องมาทำตามดิฉัน ดิฉัน liberal ในแง่ที่ไม่ใช่แค่ economic กับ political แต่ดิฉันเลือกที่จะเชื่อและสามารถที่จะเลือกได้ว่าดิฉันจะเชื่ออะไร โดยไม่ต้องไปกับคนหมู่มาก คนหมู่มากก็ใจดีมากก็ยอมให้ดิฉันอยู่ด้วย ก็ขอบคุณค่ะ    ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภิญญา เฟื่องฟูสกุล ขอบคุณภาควิชาฯ ที่ให้โอกาสมาร่วมงานวันนี้ รู้สึกเหมือนมางานคืนสู่เหย้านะคะ อาจารย์ปิ่นแก้วให้โจทย์มาว่า พูดให้แตกต่าง ให้มีลักษณะความเป็นผู้หญิงหน่อย งั้นจะลองจัดให้นะคะ   ปีนี้ครบ 30 ปีที่ดิฉันมาอยู่เชียงใหม่พอดี ดิฉันเริ่มทำงานที่ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อกุมภาพันธ์ พ.ศ.2537 ปีนี้พ.ศ.2567 ถ้านับว่าภาควิชาฯ ก่อตั้งมา 60 ปีแล้ว ก็ถือว่าดิฉันได้เข้ามาตอนครึ่งทางของชีวิตภาควิชาฯพอดี  ขอบคุณอาจารย์จามะรีที่ได้พูดถึงในช่วงแรกๆ ไปแล้วนะคะ ส่วนวงสนทนาช่วงแรกก่อนนี้ก็ได้เน้นเรื่อง ปริญญาโท ปริญญาเอก ดังนั้นดิฉันจึงขอพูดถึงปริญญาตรีสักนิด ภาคเรามีการบริการวิชาการที่สำคัญหลายอย่าง ตอนดิฉันเข้ามาก็ถูกมอบหมายให้สอนปริญญาตรี วิชาพื้นฐานคือ 159101 ซึ่งเป็น Introduction to Sociology ที่เราบริการให้คณะอื่นๆหลายคณะด้วย  วันก่อนเพิ่งเจออาจารย์รุ่นใหม่ท่านหนึ่งซึ่งตอนเรียนปริญญาตรี เขาเรียนปรัชญาศาสนา คณะมนุษย์ แล้วต้องมาเรียนวิชาบังคับ 101 ของเรา  เขาเล่าว่าหนูมาเรียน 101 กับ “อาจารย์วสันต์ แก้วปัญญา” (รองศาสตราจารย์ ดร.วสันต์ ปัญญาแก้ว) ยังดีค่ะ ยังจำได้ครบคำ แล้วก็เรียน free elective (วิชาเลือกเสรี) 3 ตัว มีตัวหนึ่งเรียนกับ “อาจารย์จามะรี เชียงของ” (ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.จามะรี เชียงทอง) สรุปว่า เขาเรียน free elective 3 ตัว วิชา 101 หนึ่งตัว ต่อมาเขาได้ไปเรียนปริญญาเอกที่ Lancaster University, UK แล้วทำวิทยานิพนธ์เรื่อง เพศสภาวะกับศาสนา เขาบอกว่า มันช่วยได้เยอะมากที่เรียนพิ้นฐานกับภาคเรา ทำให้เขารู้ว่า แม็กซ์ เวเบอร์ (Max Weber) เดอร์ไคม์ (Emile Durkheim) เป็นใคร สอนอะไรบ้าง คือช่วยให้เขาปรับตัวได้เร็ว ดิฉันได้อ่านวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของเขาด้วย เรื่องผู้หญิงที่เป็นนักบวชในศาสนาฮินดู มีความละเอียดอ่อนของมุมมองแบบมานุษยวิทยาสูง เชื่อว่าเขาจะไปได้ไกลกว่านี้อีกมากในทางวิชาการ รู้สึกภูมิใจที่ภาควิชาเราได้มีส่วนปลูกฝังให้เขาหันมาชอบ anthropology เพราะฉะนั้นเวลาดิฉันสอนวิชาตัวเลือกของปริญญาตรี จะดีใจมากเวลาเห็นนักศึกษาที่มาจากภาควิชาอื่นสนุกกับวิชาของเรา  อีกตัวอย่างหนึ่ง ตอนที่สอนวิชา พิธีกรรมและนิทานปรัมปรา เป็นวิชาเลือกปริญญาตรี ปีสาม  ก็มักจะมีพวกนักศึกษาจากภาควิชาปรัชญาและศาสนา แทรกมา มีอยู่ปีหนึ่ง มีอาจารย์หนุ่มน้อยมาจากคณะวิจิตรศิลป์ ตั้งใจมาเรียนด้วยเพื่อเอาแนวคิดทางทฤษฎีไปทำวิทยานิพนธ์ปริญญาโท ซึ่งพอทำวิทยานิพนธ์เรื่องนั้น ดิฉันได้เป็นกรรมการสอบด้วย เขาใช้แนวคิดเกี่ยวกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจและสัญลักษณ์ ไปวิเคราะห์พฤติกรรมการบูชาพระธาตุปีเกิดของล้านนา แล้วในที่สุดวิทยานิพนธ์เรื่องนั้นของเขาได้รางวัลวิทยานิพนธ์ดีเด่นประจำปีของมหาวิทยาลัย  เพราะฉะนั้นเราจะรู้สึกว่าเราไม่ได้รับใช้เฉพาะนักศึกษาในภาควิชาของเราเท่านั้น คนที่มาจากต่างภาคหลากหลาย เวลาเขาเข้ามา เขามาเรียนด้วยความสนุก สนุกจริงๆ อาจารย์ปิ่นแก้ว (ศาสตราจารย์ ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี) ตอนนี้รับมรดกจากดิฉันไปตัวหนึ่ง  เป็นวิชาสัญวิทยากับภาพยนตร์ นักศึกษาชอบกันมาก และมีพวกต่างถิ่นข้ามฟากมาแจมเรียนกัน อันนี้ก็ทำให้เห็นถึงความหลากหลายนะคะ  ภาควิชาของเราก็ยังมีความหลากหลายในมุมอื่นอีก อย่างเช่นเรามี อาจารย์สุภาพร นาคบัลลังก์ (ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุภาพร นาคบัลลังก์) ท่านเสียไปแล้วนะคะ ทำ physical anthropology (มานุษยวิทยากายภาพ) ท่านทำงานวิจัยหลายชิ้นที่ถ้ำในแม่ฮ่องสอนที่พบโครงกระดูกมนุษย์โบราณ ทางด้านสังคมสงเคราะห์ เรามีอาจารย์จิราลักษณ์ จงสถิตย์มั่น ดิฉันคิดว่า อาจารย์บางท่านในภาควิชาอาจจะไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่า อาจารย์จิราลักษณ์ เคยเขียนเปเปอร์เกี่ยวกับสังคมสงเคราะห์กับ postmodern (สภาวะหลังสมัยใหม่) ถ้านึกย้อนดู งานชิ้นนั้นผลิตออกมาเกือบ 20 ปีที่แล้ว ยุคนั้นสังคมสงเคราะห์กับ postmodern นี่แทบไม่มีใครพูดถึงหรอกค่ะ ต้องถือว่าอาจารย์ก็เป็นผู้บุกเบิกที่ศึกษาประเด็นนี้ นอกจากนั้น วิชาฝึกงานสนามปริญญาตรีนี่ พวกเราทำงานเป็นทีม มีอาจารย์หลายท่านผลัดเปลี่ยนร่วมสอน ตะลุมบอนกับเด็กสนุกสนานมาก  มีเปเปอร์ดีๆ ออกมาหลายชิ้น มีพักหนึ่งที่มีความพยายามจะส่งเสริมให้ภาควิชาฯ เก็บเปเปอร์เหล่านั้นไว้ แม้ว่าแทบจะไม่มีใครอ่าน แต่ก็คิดว่าสักวันหนึ่ง เปเปอร์ดีๆ บางอันมันจะเป็นแรงบันดาลใจกับเด็กปริญญาตรีที่ต้องฝึกงานภาคสนามในยุคหลังนี้  จากประสบการณ์เล็กๆ ที่ผ่านมา เรามีความสุขที่สอนระดับปริญญาตรี เวลามองไปในตาเด็กแล้วมีประกายตอบรับออกมา  สำหรับระดับปริญญาโท-เอก ตอนดิฉันเข้ามาในภาค แน่นอนตอนนั้น สายดิน น้ำ ป่า ครองพื้นที่อยู่ เราก็พยายามทำให้มันเป็น culture studies มากขึ้น อาจารย์หลายๆท่านร่วมกันทำให้วิทยานิพนธ์ดิน น้ำ ป่า เน้นมิติที่เป็นการต่อสู้ต่อรองทางวัฒนธรรม เมื่อสักครู่อาจารย์ยศ (ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ยศ สันตสมบัติ) ก็ได้พูดแล้ว อำนาจเป็นหัวใจของ cultural studies การเรียนการสอนของพวกเรามันเข้มข้นมากๆ เวลานั้น ใครๆ วิพากษ์พวกเราว่าหลักสูตรปริญญาโท ปริญญาเอก ของเรา เรียนอะไรกันนักหนานะ เรียนตั้ง 5 ปี 6 ปี ขยายเวลาแล้วขยายอีก ภาคเราโชคดี นักศึกษาที่รับมาตอนนั้น ใจถึงกันสุดๆ คือมาถึงตอนแรก เขาอ่านภาษาอังกฤษได้น้อยมาก ก็บอกเขาว่า มา มาอ่าน ฉันจะช่วยเธอ ก็ช่วยเขาอ่าน คุณเชื่อไหม พอกลับบ้าน เขานอนตี 1 ตื่นตี 5 ตอนปี 1 เขาอ่านแทบต้องเปิดพจนานุกรม เกือบทุกบรรทัด จบปี 5 หรือปี 6 อ่าน Bangkok Post แทบไม่ต้องเปิด dictionary คุณภาพวิทยานิพนธ์ของภาคเรา จัดได้ว่ามีมาตรฐานค่อนข้างสูง นี่แหละ เราได้เด็กแบบนี้มา เรามีความสุขมากนะคะ แน่นอนเราผลิตเด็กออกไปเป็นผู้นำหลายคน บางคนเป็นNGO (Non-Governmental Organization  อยู่ก่อนแล้วค่อยมาเรียน หรือบางคนเรียนเสร็จแล้วก็ไปเป็น NGO  ก่อนหน้านี้ อาจารย์อานันท์ (ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์) กับอาจารย์ยศ พูดไปแล้วถึงความสำคัญของ concept (แนวคิด/มโนทัศน์)ในการทำวิจัย  ดิฉันจะขอเสริมต่อว่า ก่อนที่จะฝึกให้มี reflexivity (การสะท้อนย้อนคิด) ได้นั้น มานุษยวิทยาได้ให้สิ่งหนึ่งก่อน มันฝึกสวมแว่นอันหนึ่งแก่เรา นั่นก็คือ  sensitivity (ความเฉียบไวละเอียดอ่อนในการรู้สึก) อันนี้ขอพูดจากมุมสาวอักษรนะคะ เพราะอักษรก็ลับเหลาสิ่งนี้แก่เรามาเช่นกัน เพียงแต่ผ่านตัวกลางคนละแบบ เวลาเราไปลงพื้นที่ เราบอกว่า “ใช้หูดู ใช้ตาฟัง” ในพื้นที่สนาม ชาวบ้านประชุมกัน มักบอกลูกศิษย์ว่า คนที่พูดปาวๆตรงกลางวง ไม่ต้องสนใจให้มากนัก ให้ไปใส่ใจดูคนที่เขาไม่พูดหรือแทบไม่พูดเลย  เคยมีลูกศิษย์ไปทำวิทยานิพนธ์กับแม่ชี กลับมาบอกว่า อาจารย์ หนูสัมภาษณ์ แม่ชีเขาให้หนูหุบปาก ทำยังไงดีคะ เราก็ว่า ก็หุบปากสิ ดี ไปเข้ากรรมฐานเลย จะได้เข้าใจว่า ความเงียบแปลว่าอะไรสำหรับคนเหล่านั้น  ปรากฏว่าในความเงียบ เราจะได้ยินเสียงอื้ออึง  เป็นเสียงที่เราไม่ได้ใส่ใจมาก่อน เพราะฉะนั้น ดิฉันคิดว่า sensitivity ไม่ได้จำเป็นเฉพาะกับนักมานุษยวิทยา แต่จำเป็นสำหรับความเป็นมนุษย์ ซึ่งสิ่งนี้แทบหายไปแล้วในโลกที่ความเป็นมนุษย์มันมีน้อยลงทุกที แต่ทางสังคมศาสตร์ ทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา และมนุษยศาสตร์นั้น sensitivity เป็นอันดับหนึ่งเลยที่จะช่วยให้คุณมี reflexivity ถ้าคุณไม่มี sensitivity ที่ละเอียด คุณจะ reflexive ได้ไม่ลึกพอ และคุณสมบัตินี้ ศาสตร์เหล่านี้หยิบยื่นให้แก่เรา  ตอนที่สอนทฤษฎีสังคมวิทยา เพิ่งเข้ามาในภาคนี้ ปริญญาโท โดนให้สอนคนเดียวทั้งคอร์สที่เป็นวิชาทฤษฎี ดิฉันบอกนักศึกษาว่า คุณไม่ต้องจำชื่อคนเลย ส่วนรายละเอียดของเนื้อหาความคิดเขา จะยังไม่มาแจกแจงนะ แต่สิ่งที่จะเน้น คือจะชี้ให้เห็นว่าว่า นักคิดแต่ละคนประกอบสร้างวิธีคิดของเขามาได้อย่างไร มีอะไรเป็นตรรกะและปรัชญาอยู่เบื้องหลัง อีกอย่างหนึ่ง อย่าสับสนนะ ว่านักคิด ก. กับ ข. เขาคิดและมีข้อสรุปที่ต่างกันเป็นคนละขั้วเลย แล้วใครถูกใครผิดล่ะ ช่างมันก่อนในตอนนี้ สิ่งสำคัญคือ การที่นักคิดแต่ละคนเขาสร้างวิธีคิดขึ้นมาได้ เขามี sensitivity บางอย่าง และมีนิยามพื้นฐานทางปรัชญาเกี่ยวกับธรรมชาติคนและสังคมบางอย่าง พวกเขาจึงมักมองเห็นสิ่งที่คนอื่นมองไม่เห็น เวลาจะมองสิ่งต่างๆให้ลึกกว่าภาพปรากฏได้นั้น คุณต้องมี sensitivity ที่แหลมคมก่อน อันนี้คือ attitude หรือท่าทีต่อสรรพสิ่งที่เป็นมรดกที่ภาควิชาเราให้กับเด็ก และเราดีใจมากที่มีนักศึกษาจำนวนมากได้สิ่งนี้ไป  มีลูกศิษย์อยู่คนหนึ่ง ไม่ได้เจอกันพักใหญ่ ลูกศิษย์คนนี้ไปเป็นผู้นำ NGO ไปเจอลูกชายเขา อายุ 10 ขวบ ทั้งพ่อทั้งแม่เป็น NGO ลูกอาจจะมีพรสวรรค์แต่เกิดนะคะ เขาวาดรูปได้โดยที่ไม่ต้องเรียนเป็นเรื่องเป็นราว  พอเห็นรูปที่เขาวาด รู้สึกช็อก เขาชอบวาดด้วยดินสอดำ ชอบวาด portrait (ภาพเหมือน) รูปหมา รูปคน คุณรู้ไหม ภาพหมาหรือภาพคนที่เขาวาดนั้น มันมีมิติทางอารมณ์ความรู้สึกที่ลึกลงไปกว่าภาพที่ปรากฏ เขาสามารถดึงเอาบุคลิกลักษณะลึกๆ ของคนที่เขาจะวาดออกมาในลายเส้นไม่กี่เส้น เห็นแล้วน้ำตาจะไหล แน่นอนเด็กอาจจะมีพรสวรรค์ แต่เราคิดว่าการเลี้ยงดู การถ่ายทอดก็มีส่วน เพราะฉะนั้นเห็น sensitivity ที่มันถ่ายทอดข้ามรุ่นได้แบบนี้คือตายตาหลับละ  แล้วในที่สุดเขาก็อุตส่าห์วาดภาพเหมือนให้เรา เป็นครั้งแรกที่มีรูปวาดจากหลาน พอเห็นภาพที่เขาวาด ก็ออกจะตกใจ เพราะเจอเขาแค่ไม่กี่ครั้ง เขาสามารถดึงอะไรลึกๆที่ซ่อนอยู่ในตัวเราที่ไม่ได้แสดงออกมา เขามีเรดาร์ที่จับได้และดึงออกมาอยู่ในภาพวาดได้ โคตรเก่งเลย นั่นคือ sensitivity แล้วดิฉันดีใจมากที่เห็นความสามารถอันนี้ในลูกศิษย์หลายๆ คน สิ่งนี้มันเป็นมรดกที่สำคัญมากไม่แพ้ concept ต่างๆ ที่ได้พูดกันไป  สิ่งสุดท้ายที่จะเล่า ตอนนี้ขอเปลี่ยนจากโหมดโรแมนติคเป็นโหมดสัจนิยมบ้าง อยากพูดถึงบทบาทการสู้รบตบมือของภาควิชา ภาคเราริเริ่มทำอะไรอย่างหนึ่งในแง่เป็นการเคลื่อนไหวทางสังคม ที่พวกเราทำแล้วภูมิใจ แม้ว่าเราจะแพ้ก็ตาม ในช่วงต้นพุทธทศวรรษ 2550 ตอนนั้นคือกระแสเร่งรัดให้มี privatization (กระบวนการแปรรูปองค์กรรัฐให้กลายเป็นเอกชน) ภาควิชาสังคมวิทยาเป็นหัวหอกในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ลุกขึ้นไปปลุกกระแส เกลี้ยกล่อม แล้วพยายามจะดึงเอาพันธมิตรจากภาคต่างๆทางมนุษยศาสตร์ จากทางสถาปัตยกรรมศาสตร์ มีอาจารย์ปิ่นแก้ว มีดิฉัน มีอาจารย์อรัญญา (รองศาสตราจารย์ ดร.อรัญญา ศิริผล) หลายๆ ท่าน เราไปสู้ เราไปคุย มีอาจารย์อานันท์ อาจารย์ยศ ทุกคนช่วยกันหมด ไปช่วยคุยกับผู้นำของมหาวิทยาลัย ไปเชิญ ไปคุยกับ เบอร์ 1 เบอร์ 2 สกอ. (สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา) มานั่งคุยกัน โต้เถียงกัน ถกกัน พวกเราบอกว่าตัวชี้วัดแบบนี้มันไม่เป็นธรรมกับทางสายอย่างพวกเรา เขาก็บอกว่าคุณก็ไปทำตัวชี้วัดของคุณมาสิ เราก็ไปนั่งคิดกันแทบตาย ใช้เวลาเป็นเดือน ไปทำออกมา เสนอขึ้นไป ก็เงียบหายในสายลม...ในที่สุดเราก็รู้ มันคือการเมือง เราส่งไปให้เขา เขาก็ไม่เอา ที่เขาเปิดพื้นที่ให้เราเคลื่อนไหว ก็เพื่อสยบเราในท้ายสุด  เพราะฉะนั้นมาถึงตอนนี้ ก็เกือบสองทศวรรษ ทุกคนรู้ดีแก่ใจ privatization มันเอาความแย่ที่สุดของระบบทุนนิยม มาบวกกับความแย่ที่สุดของระบบศักดินา มันน่ากลัวกว่าระบบราชการเก่าๆ ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์เสียอีก น่ากลัวกว่ามากนัก ดิฉันจึงอยากฝากโจทย์ทิ้งไว้ว่า ขบวนการเคลื่อนไหวที่เราพยายามทำแล้วไม่สำเร็จนั้น อยากจะส่งไม้ต่อไปให้ถกกันในตอนบ่าย แล้วก็ส่งสปิริตไปให้อาจารย์รุ่นน้อง และรุ่นลูกศิษย์ที่จะตามมาว่า เราจะทำอย่างไร ถึงจะสู้กับพวกเสรีนิยมใหม่ในระบบการศึกษาของโลก ที่มันลดทอนทุกอย่างลงมาให้ฉาบฉวย หยาบกระด้าง ทำอย่างไร เราถึงจะใช้พลังที่เรามีอยู่ไปจุดประกายความเคลื่อนไหว ไม่ใช่แค่วิพากษ์เป็นตัวหนังสือย่างเดียวนะ แต่ต้องผลักให้เป็น social movement ให้ได้ ไม่จำเป็นต้องสู้ตรงๆ ใช้ซิกแซกเอาก็ได้ third space (พื้นที่ที่สาม) เราก็เรียนรู้มาเยอะแยะแล้ว จะหาทางอย่างไรไปพลิกใช้  สู้ตรงๆกับทั้งระบบอาจเป็นไปไม่ได้ แต่สามารถหาช่องทางเล็กๆภายในระบบพลิกสู้ หรือเอาอำนาจของตัวระบบนั่นแหละ หยิบฉวยมาใช้เพื่อช่วยเหลือคนด้อยโอกาส หากมีโอกาส เราก็เอาทรัพยากรอำนาจนั้นไปใช้ ทำยังไงก็ได้ที่จะปกป้องไม่ให้ลัทธิเสรีนิยมใหม่มากลืนกินจิตวิญญาณเรา   รองศาสตราจารย์ ดร.ขวัญชีวัน บัวแดง  สวัสดีทุกท่านนะคะ และขอบคุณภาควิชาที่ให้มาพูดในเรื่องของภารกิจแรก แต่จริง ๆ แล้วไม่ได้มาทำงานที่ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาตอนช่วงแรกของการก่อตั้งนะคะ มาภายหลังช่วงที่อาจารย์อภิญญา (ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภิญญา เฟื่องฟูสกุล) เริ่มทำงานกับภาควิชาฯ ในปีพ.ศ.2537 นั้น ดิฉันเริ่มทำงานกับสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แล้วก็ย้ายมาที่ภาควิชาฯ เมื่อปีพ.ศ.2550 ซึ่งทำงานได้ 10 ปี ก็ครบกำหนดปลดเกษียณ แต่ทางมหาวิทยาลัยและภาควิชาฯ ก็ให้ช่วยสอนต่อ เลยยังมีเวลายาวมาต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ถ้าจะให้ดิฉันแนะนำตัวเอง ก็คือ เริ่มทำงานพ.ศ. 2537 ที่สถาบันวิจัยสังคม มช. ซึ่งน่าเสียดายว่าเดี๋ยวนี้ยุบไปแล้ว ไปรวมกับสถาบันพหุศาสตร์ สถาบันวิจัยสังคมในช่วงที่ดิฉันไปทำงาน นอกจากเน้นการวิจัยเรื่องล้านนาแล้วก็เน้นเรื่องชาติพันธุ์ ซึ่งตรงกับความเชี่ยวชาญของเราที่ทำวิทยานิพนธ์ทั้งปริญญาโทและเอก ในประเด็นศาสนากับชาติพันธุ์ในกลุ่มกะเหรี่ยง   เพราะฉะนั้น ทำงานกับสถาบันวิจัยสังคม ก็ทำวิจัยเรื่องชาติพันธุ์มาตลอด เมื่อมาอยู่กับภาควิชาฯ  ภาควิชาที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของชาติพันธุ์ เพราะว่าเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของภาคเหนือและของ มช. เพราะฉะนั้น วิชาชาติพันธุ์สัมพันธ์และพหุวัฒนธรรม จึงเป็นวิชาบังคับในระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 3-4 มาตลอด แต่ตอนนี้เราปรับเพื่อให้เข้ากับยุคสมัย ก็คือเน้นพหุวัฒนธรรม แต่ก็มีเรื่องของชาติพันธุ์เข้าไปอยู่ด้วย ดิฉันรับผิดชอบวิชานี้เป็นวิชาบังคับมาตลอด ในเกือบ 10 ปีที่สอนมาไม่รู้ว่านักศึกษาเรียนจบแล้ว ยังจำเรื่องที่สอนได้อยู่รึเปล่า  ในส่วนของงานวิจัยที่เกี่ยวกับชาติพันธุ์สัมพันธ์หรือ ethnicity  ถ้าย้อนไปนิดหนึ่ง งานวิจัยเรื่องชาติพันธุ์ทางภาคเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนบนพื้นที่สูง ช่วงแรก มช. ก็ไม่มีใครทำเรื่องนี้ จึงมีการตั้งสถาบันวิจัยชาวเขาใน มช. โดยกระทรวงมหาดไทย เนื่องจากเห็นความสำคัญของชาวเขา กระทรวงมหาดไทยก็ถาม มช. ว่า มช. จะรับทำวิจัยเรื่องนี้ไหม มช. บอกว่าเรายังไม่มีคน เราเพิ่งก่อตั้งมหาวิทยาลัยเมื่อ พ.ศ.2507 - 2508 เพราะฉะนั้นจึงให้กระทรวงมหาดไทยตั้งไป ก็เลยมีศูนย์วิจัยชาวเขา ตอนหลังเปลี่ยนชื่อเป็นสถาบันวิจัยชาวเขา อยู่ในบริเวณพื้นที่ของ มช. ช่วงแรกๆ มช. ไม่มีงานวิจัยในเรื่องนี้ ศูนย์วิจัยชาวเขาก็ทำไปจนกระทั่งถูกยุบไปเมื่อปีพ.ศ. 2545 ช่วงที่เขาทำจะเป็นลักษณะของการทำวิจัยเรื่องชาติพันธุ์ในแบบที่เรียกว่า สารัตถนิยม (essentialism) คือมีผู้วิจัย ผู้เชี่ยวชาญแต่ละเผ่าแยกกัน มีผู้เชี่ยวชาญกะเหรี่ยง มีผู้เชี่ยวชาญม้ง เป็นต้น และมุ่งเน้นการทำวิจัยเพื่อพัฒนาและสนองนโยบายของรัฐบาล ซึ่งมีข้อจำกัดในการทำวิจัยแบบพื้นฐานที่เน้นความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์และระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์กับรัฐ และโลกาภิวัฒน์ เพราะฉะนั้น พอดิฉันมาทำงานที่สถาบันวิจัยสังคมแล้วเริ่มย้ายมาอยู่ที่ภาควิชาฯ ลักษณะของแนวคิดทฤษฎีก็เริ่มปรับเปลี่ยนไป เป็นการเน้นความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มต่างๆ ในหลายระดับ ความจริงการศึกษาชาติพันธุ์ในแนวทางนี้ เริ่มก่อนที่ดิฉันจะเข้ามาทำงานในภาค ตั้งแต่ท่านอาจารย์สุเทพ (ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุเทพ สุนทรเภสัช) ก็มีงานหนังสือออกมาหลายเล่มที่เกี่ยวกับเรื่องชาติพันธุ์โดยใช้คำว่า ชาติพันธุ์สัมพันธ์  ที่ชี้ให้เห็นว่าอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ถูกสร้างขึ้นท่ามกลางความสัมพันธ์ ไม่ได้มองแบบสารัตถนิยมที่เน้นดูว่ามีวัฒนธรรมอะไร แล้วก็เหมารวมว่าวัฒนธรรมที่เด่นๆ นั่นคืออัตลักษณ์  เพราะฉะนั้น เรื่องของชาติพันธุ์สัมพันธ์ ที่จริงแล้วเป็นเรื่องของการเมือง เป็นเรื่องความสัมพันธ์เชิงอำนาจ เป็นเรื่องความไม่เท่าเทียมกัน เป็นเรื่องของการเกิดรัฐชาติสมัยใหม่ที่ทำให้ความขัดแย้งระหว่างรัฐชาติกับชาติพันธุ์มันแหลมคมขึ้น รวมไปถึงพัฒนาการต่อมาที่เราดูจากปัญหาชาติพันธุ์ในพม่าก็คือเรื่องของ ชาติพันธุ์ชาตินิยม ที่มีการต่อสู้โดยกลุ่มชาติพันธุ์แต่ละกลุ่ม ซึ่งสร้างชาตินิยมของชาติพันธุ์ ซึ่งก็เป็นปัญหาที่เห็นได้ชัดในประเทศพม่าต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน มีการสู้รบกันอย่างยืดเยื้อเพื่อที่จะให้ได้มาซึ่งรัฐชาติที่ปกครองตนเองของแต่ละชาติพันธุ์ เพราะฉะนั้น ก็หมายความว่าตั้งแต่มาสอน ก็เน้นประเด็นชาติพันธุ์สัมพันธ์ในแนวทางนี้ ที่ทำให้เข้าใจปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐชาติกับชาติพันธุ์  และความเหลื่อมล้ำต่าง ๆ  ตอนหลังก็ขยายงานวิจัยจากเรื่องกลุ่มชาติพันธุ์ภายในประเทศ เป็นการทำวิจัยบริเวณชายแดน   ทำให้ขยายขอบเขตการวิจัยนอกจากเรื่องชาติพันธุ์กับการพัฒนาแล้ว ก็ไปดูเรื่องการอพยพโยกย้าย ผู้ลี้ภัย ซึ่งส่งผลพอสมควรว่าเราไปรู้จักหลายองค์กรที่แม่สอด ซึ่งก็เป็นผลดีต่อการสอนวิชาอื่น ๆ เช่น วิชาที่รับผิดชอบในช่วงก่อนปลดเกษียณก็เป็นวิชาฝึกงาน เขาเรียกวิชาภาคสนาม (159481) อันนี้ที่ประทับใจคือว่า ยุคก่อนที่จะปลดเกษียณก็ส่งเด็กไปรุ่นสองรุ่น ซึ่งพอดีเด็กมาเรียนเยอะ ยี่สิบกว่าคน ก็ไปฝึกงานตามองค์กรต่าง ๆ ที่ชายแดน สิบองค์กรประมาณนั้น ซึ่งก็ได้ประสบการณ์ที่น่าสนใจ เพราะว่า ก่อนปีพ.ศ.2560 ที่เอาเด็กไปฝึกงานบริเวณชายแดนไทย-พม่านั้น พ่อแม่ของเด็กที่ไปฝึกงานเขากลัวมากเลยที่จะเอาลูกไปอยู่ชายแดน หมายถึงว่า เมื่อสิบปีก่อนคนไม่ค่อยรู้เรื่องชายแดน ปัจจุบันอาจจะรู้มากขึ้น เพราะฉะนั้นวันที่ไปส่งนักศึกษา เอารถไปส่ง พ่อแม่ขอตามไปด้วย เพื่อจะไปดูว่าลูกจะไปอยู่อย่างไร ตอนนั้นฝึกงานแค่เดือนเดียว เขาก็จะยังกลัวว่าลูกจะไม่ปลอดภัย พ่อแม่ตามไปส่งลูกที่ชายแดนอำเภอแม่สอดด้วย ก็บอกกับเราว่า น่ากลัวจังเลย มีแต่คนพม่า ทำไมไม่มีคนไทย ความประทับใจอีกอย่างก็คือ ใน 1 เดือนที่ไปฝึกงานนั่นน่ะ เด็กนักศึกษาปี 4 ทำได้ดีมาก องค์กรก็ชมเชยมาว่ามีบางคนเขาอดทนมาก ไปอยู่ในองค์กรที่ค่อนข้างจะยากลำบาก สรุปว่า การส่งเด็กไปฝึกงาน อย่างน้อยเราคิดว่าแม้เขาจะฝึกแค่เดือนเดียว แต่เขาก็ได้รับรู้เรื่องราวความทุกข์ยากลำบากของคนชายขอบ ผู้ลี้ภัย ผู้อพยพ นอกจากนี้ ก็ทำให้เขามีความสัมพันธ์กับองค์กรต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เราทราบว่าเขาก็จะประทับใจกับเจ้าหน้าที่ในองค์กร แล้วก็มีการเขียนจดหมาย หรือว่ามีการติดต่อสนับสนุนกันอย่างต่อเนื่อง อันนี้เป็นเรื่องของการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี ทีนี้มาต่อที่ ปริญญาโท ปริญญาเอก เนื่องจากเราเชี่ยวชาญทางเรื่องชาติพันธุ์เพราะฉะนั้นก็ได้ช่วยสอนและเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ ป.โท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหลักสูตรสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาของเราเอง เพราะดิฉันมาท้าย ๆ ของหลักสูตรพัฒนาสังคม แต่ก็ได้ช่วยดูแลบ้าง ยุคนั้นทำเรื่องชาติพันธุ์เยอะถ้าเทียบกับยุคนี้ที่เป็นประเด็นใหม่ๆ ยุคนั้นก็เป็นชาติพันธุ์กับทรัพยากรบ้าง ชาติพันธุ์กับศาสนาบ้าง แล้วก็ได้ไปช่วยดูแลนักศึกษาของ RCSD (The Regional Center for Social Science and Sustainable Development) กับ ปริญญาเอก สังคมศาสตร์ (หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิตสาขาสังคมศาสตร์ (หลักสูตรนานาชาติ) คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) ซึ่งเป็นเด็กนานาชาติ ซึ่งเลือกเราเป็นที่ปรึกษาเพราะสนใจในประเด็นที่ตรงกับความเชี่ยวชาญของเรา มีทั้งที่เป็นชาติพันธุ์กะเหรี่ยงทั้งจากไทยและพม่า  ชาติพันธุ์อื่นจากพม่า เช่น คะฉิ่น อาข่าจากจีน และที่มาจากอีกหลายประเทศเช่น เนปาล ญี่ปุ่น ฯลฯ   ดิฉันทำวิจัยทุกปีก็จะเป็นวิจัยเรื่องชาติพันธุ์ ศาสนา ชายแดน ซึ่งในช่วงนั้นผู้ให้การสนับสนุนหลักได้แก่ สกว. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย)  ส่วนใหญ่ก็จะเข้าร่วมในชุดโครงการใหญ่ เช่น เรื่อง ทายาทรุ่นที่สองของผู้อพยพจากพม่า ที่มีอาจารย์โกสุมภ์ สายจันทร์เป็นหัวหน้าชุดโครงการ เรื่องอัตลักษณ์ชาติพันธุ์บริเวณชายแดน ที่อาจารย์ยศ (ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ยศ สันตสมบัติ) เป็นหัวหน้าชุดโครงการ และสุดท้ายได้ทำโครงการวิจัยเรื่องศาสนาในอาเซียน เป็นต้น  งานวิจัยกับงานสอนก็ไปด้วยกันได้ดี เพราะว่า พอเราทำวิจัยเรื่องนี้ เด็กที่จะมาเรียนในระดับบัณฑิตศึกษาก็จะศึกษาดูก่อนว่าเราทำอะไรบ้าง แล้วก็ขอให้เราเป็นที่ปรึกษา   นักศึกษาปริญญาเอกหลายคน ที่ดิฉันเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาใช้เวลาเรียนถึง 8 ปี เพราะตอนเรียนปริญญาตรี ปริญญา โท จบมาจากสาขาทางสาขาวิชาอื่น เช่น  ด้านการเกษตร, พุทธศาสตร์ ฯลฯ กว่าจะเข้าใจทฤษฎีและแนวคิดทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา และการนำไปใช้วิเคราะห์ข้อมูลที่มีอยู่ ก็ใช้เวลานาน แต่ท่ามกลางเวลาที่ยาวนานนั้น เขาก็ได้เพิ่มพูนความรู้และ  เราก็ได้เรียนรู้จากเขา ทั้งในเรื่องสถานการณ์และข้อมูลในประเด็นต่างๆ การทบทวนแนวคิดทฤษฎีว่ามีการถกเถียงกันอย่างไร อันไหนที่มีประโยชน์ในการนำมาใช้อธิบาย รวมทั้งการตามไปดูพื้นที่ที่เราไม่รู้จักและคุ้นเคย เช่น มีนักศึกษาหญิงที่เป็นกะเหรี่ยงในพม่า ทำเรื่องความทุกข์ทนของแม่หม้ายในเขตสัมปทานเหมืองแร่ ที่สามีตายในวัยเยาว์เนื่องจากสารพิษและการสู้รบ ซึ่งเราก็ได้เดินทางไปดูพื้นที่รัฐคะยาห์ทางเหนือของพม่าซึ่งอยู่ในเขตการสู้รบ ที่ลำบาก อันตรายและอยู่ห่างไกล งานนี้  อาจารย์อานันท์ อาจารย์ปิ่นแก้ว (ศาสตราจารย์ ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี) ก็ช่วยเป็นที่ปรึกษาร่วม ทำให้เราก็ได้เรียนรู้จากที่ปรึกษาร่วมด้วยในช่วงของการพิจารณาข้อเสนอโครงร่าง และการสอบในแต่ละขั้นตอน    เอาเข้าจริงๆ แล้ว ตอนหลังดิฉันรู้สึกประทับใจว่า เด็กปริญญาตรีนี่มุ่งมั่นมากขึ้น หมายถึงว่ามีความรู้ความเข้าใจมากขึ้นก่อนจะมาเรียนว่าเรียนสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา นี่จะเจออะไร มีความตั้งใจในการเรียน แม้ไม่ใช่ทุกคน แต่เราพบว่าน่าประทับใจหลายส่วน รวมทั้งเวลาเราสอบ จะเป็นการเขียนบรรยาย เด็กสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาหลายคนเขียนเก่ง บางทีก็ลายมือสวย น่าประทับใจมาก เนื่องจากผ่านการฝึกฝนมาตลอด คือ สอบทีไร ก็ต้องเขียนบรรยาย     สุดท้ายแล้วเพราะด้วยความชำนาญ ทั้งเรื่องของการสอนและการทำวิจัยในประเด็นชาติพันธุ์ ดิฉันก็จะถูกเชิญให้เข้าไปร่วมเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวชาติพันธุ์พอสมควร ทั้งในเรื่องของการร่วมประชุมระดมสมอง และเป็นกรรมการชุดต่างๆ เช่น  เป็นอนุกรรมการ ตามมติ ครม. (คณะรัฐมนตรี) เรื่องการฟื้นฟูวิถีชีวิตกะเหรี่ยง ชาวเล ในปีพ.ศ.2553 แต่การเข้าร่วมตอนหลังรู้สึกว่ามันมีการเปลี่ยนแปลงไป สมาชิกของกลุ่มชาติพันธุ์มีการศึกษาสูง มีประสบการณ์การเคลื่อนไหวมานาน มีความสามารถในการนำเสนอตัวตน การต่อรองต่อสู้ในประเด็นต่างๆ ทำให้ดิฉันจึงเริ่มถอยห่างออกมาทบทวนบทบาทหน้าที่ตัวเองว่า สมควรที่จะไป empower (เสริมสร้างอำนาจ) เขาอยู่หรือไม่  ตาม ที่อาจารย์ยศเสนอว่ามันน่าจะเป็นหน้าที่หนึ่งที่สำคัญของนักวิชาการสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ทั้งนี้  ปัจจุบัน มันมีองค์กรที่หลากหลายมาก และในตัวขององค์กรเหล่านั้นเอง เขาก็มีปัญญาชนของเขาที่มีความรู้ความชำนาญ และอาจรู้ดีกว่าเราด้วย  ปัจจุบัน ดิฉันรู้สึกว่างานทาง วิชาการกับยุทธศาสตร์และกระบวนการการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่าง ๆ ก็ดูจะไม่ได้ไปด้วยกันทั้งหมด เช่นเราบอกว่า การเน้นการสร้างและเชิดชูอัตลักษณ์กลุ่มชาติพันธุ์ของแต่ละกลุ่ม เน้นความแตกต่างระหว่างกลุ่มจะทำให้พรมแดนของแต่ละชาติพันธุ์แข็งตัว ไม่เชื่อมโยงกัน จะทำให้กระบวนการต่อสู้ในระดับโครงสร้างที่ต้องการการเชื่อมโยงและผู้คนเข้าร่วมจำนวนมากไม่เข้มแข็งเท่าที่ควร   คือกะเหรี่ยงก็เคลื่อนไหวของกะเหรี่ยง ลีซู ม้ง ก็เคลื่อนไหวของตัวเอง เพราะฉะนั้น การแยกกันไปแก้ปัญหา ก็จะทำให้พลังที่จะเชื่อมประสานไม่เข้มแข็งพอ หมายถึงว่า เมื่อกลุ่มกะเหรี่ยงพูดเรื่องไร่หมุนเวียน แล้วกลุ่มอื่นเขาพูดเรื่องไร่หมุนเวียนรึเปล่า แต่ไร่หมุนเวียนกลายเป็นธงของการเคลื่อนไหวเป็นเรื่องของอัตลักษณ์ เรื่องของวัฒนธรรมของกลุ่มกะเหรี่ยง ที่ไม่ได้เป็นจุดร่วมที่จะนำเอามาใช้ในการต่อสู้ ประเด็นเรื่อง cultural politics (การเมืองวัฒนธรรม), identity politics (การเมืองอัตลักษณ์) มันก็ดูจะมีข้อจำกัด มันก็จะกลายเป็นอยู่คนละภูเขา อยู่กันคนละยอดดอย ต่างคนต่างสู้ไป อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เราคิดอยู่ แต่ว่าจะสื่อสารเรื่องนี้อย่างไรให้ชัดเจนได้อย่างไร ไม่ให้เหมือนกับไปขัดขวางการเคลื่อนไหวที่เชิดชูอัตลักษณ์ สรุปว่าแนวทางแบบ  identity politics  ที่ทำให้ผู้คนในแต่ละกลุ่มภาคภูมิใจในตัวเองและผู้คนอื่นให้การยอมรับ จะนำไปสู่การเชื่อมโยงกับกลุ่มอื่น ๆ ให้มากขึ้น โดยไม่กลายเป็นการต่อสู้แยกกันแต่ละกลุ่ม และมีพลังในการต่อสู้ในเชิงโครงสร้างได้อย่างไร     จึงน่ากลับมาทบทวนว่างานวิชาการกับขบวนการเคลื่อนไหวนี่จะไปด้วยกันได้อย่างไร  หรืออาจจะต้องคิดใหม่ว่าวิชาการแบบใดที่จะหนุนช่วยขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมและปัญหาที่ประชาชนเผชิญ บทบาทของนักวิชาการที่จะไปสร้างอำนาจให้กับคนที่ยากไร้นั้นจะทำได้อย่างไร ในขณะที่สังคมมีความซับซ้อนมากขึ้น มีประเด็น intersectionality (อำนาจทับซ้อน) ทั้งเรื่องชาติพันธุ์ ชนชั้น เพศสภาพ ศาสนา วัฒนธรรม ที่เปลี่ยนไปเร็วมากในยุคสองสามทศวรรษหลังมานี้     ในเชิงวิชาการก็อาจจะทำวิจัยหรือเผยแพร่ไม่มากพอ ทำให้คนมอง ชาติพันธุ์ในลักษณะเดิมเป็นกลุ่มที่ปิด ไม่เปลี่ยนแปลง ทั้งๆ ที่มันซ้อนทับกันหลายเรื่อง ชาติพันธุ์กับชนชั้น ชาติพันธุ์กับเพศสภาพและเพศวิถี ซึ่งปัจจุบันมันก็มีปัญหาอยู่ เช่น เรื่องของการเคลื่อนไหวของผู้หญิงม้งเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศ อะไรต่ออะไร เพราะฉะนั้น ในเชิงวิชาการยังต้องการการทำวิจัยในเรื่องพวกนี้ เพื่อแสดงให้เห็นชัดว่ามันจะนำไปสู่การวางแนวทางการเคลื่อนไหวอย่างไร   ข้อที่สองคือเรื่องของการเมืองเชิงวัฒนธรรมหรืออัตลักษณ์กับข้อจำกัดในการต่อสู้เชิงโครงสร้าง เพราะอันนี้เองคนทำงาน NGOs (Non-Governmental Organizations หรือองค์กรนอกภาครัฐ) ก็พูดเอง โดยเฉพาะกะเหรี่ยง ว่าอธิบายให้เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ฟังไม่รู้กี่ครั้งแล้วในเรื่องของไร่หมุนเวียน ความดีของไร่หมุนเวียน เขาก็บอก เขาเข้าใจ เขาเข้าใจว่า มันมีความดี แต่ว่าเขาก็ต้องทำตามกฎหมาย เพราะฉะนั้น การต่อสู้เรื่องของอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม หรือว่า cultural politics นี่มันก็อาจจะมีข้อจำกัดของมัน ซึ่งก็คล้ายกับข้อที่หนึ่งที่พูดไปแล้ว   ข้อที่สามสุดท้ายคือว่า ดิฉันคิดว่า NGOs ชาติพันธุ์กำลังเข้าสู่การเมืองโลกว่าด้วยชนพื้นเมือง ซึ่งประกาศทศวรรษชนพื้นเมือง มาประมาณ 10-20 ปีแล้ว อันนี้การเมืองระดับโลกแล้ว ที่ UN (The United Nations หรือองค์การสหประชาชาติ), FAO (Food and Agriculture Organization หรือองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ) เคลื่อนไหวเยอะเรื่องชนพื้นเมือง ซึ่งมาพร้อมกับการสนับสนุนในเชิงนโยบายและทุน แต่การเคลื่อนไหวเรื่องชนพื้นเมืองในระดับโลกจะมาเชื่อมโยงกับการเคลื่อนไหวระดับประเทศอย่างไร จะปรับใช้ในเรื่องภาษาและความหมายอย่างไร เพราะว่า ปัจจุบันรัฐบาลไม่ยอมรับคำว่าชนพื้นเมือง ซึ่งก็เป็นประเด็นที่นักวิชาการ หรือ NGOs ต้องคุยกัน คือ NGOs คิดว่าถ้าไปอิงกับวาทกรรมชนพื้นเมืองมันจะได้สิทธิต่างๆ แต่อันนี้ก็อยู่ในขั้นการต่อสู้กันที่จะลบช่องว่าง ระหว่างระดับโลก ระดับประเทศและระดับท้องถิ่นอย่างไร ดังจะเห็นได้ว่าปฏิญานสากลเกี่ยวกับสิทธิของแต่ละกลุ่มคนจำนวนไม่น้อยที่รัฐไทยไปลงนาม ก็ไม่ได้เกิดผลอย่างอัตโนมัติในการผลักดันสิทธิและยกระดับกลุ่มคนเหล่านั้น

Downloads

Published

2024-12-27

How to Cite

Chiangthong, Jamaree, Apinya Fuengfusakul, and Kwanchewan Buadaeng. 2024. “‘สังคมวิทยา-มานุษยวิทยา เชียงใหม่: ภารกิจแรกแห่งการขับเคลื่อน’ (วงสนทนา)”. Social Sciences Academic Journal, Faculty of Social Sciences, Chiang Mai University 36 (2):12-31. https://so04.tci-thaijo.org/index.php/jss/article/view/277008.