Editorial
Abstract
สังคมศาสตร์ วารสารวิชาการคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปีที่ 36 ฉบับที่ 2 ฉบับนี้มีชื่อว่า “6 ทศวรรษ สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่” ในฉบับนี้จะอยู่ในบรรยากาศของการหวนทบทบทวนการเดินทางของภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่เริ่มดำเนินการเรียนการสอนและกิจกรรมทางวิชาการมาตั้งแต่พ.ศ.2507
วารสารฉบับนี้ “6 ทศวรรษ สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่” จะพาผู้อ่านไปพบกับบทความ 3 บทความ ที่เก็บเนื้อหาสาระสำคัญจากคณาจารย์ของภาควิชา ในงานสัมมนาวิชาการ 60 ปี ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ “On All (อ่องออ): สังคมวิทยา-มานุษยวิทยา ครบรส” โดย ณัฐินี สัสดี เป็นผู้ถอดความ จากนั้นวารสารฉบับนี้จะชวนผู้อ่านให้พินิจบทความอีก 3 บทความ ที่เกี่ยวโยงกับประเด็นเรื่อง “ความหวังและความเชื่อ”
วารสารฉบับนี้เริ่มต้นด้วยบทความที่เน้นทบทวนภารกิจทางวิชาการของภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จากปาฐกถา “สังคมวิทยา-มานุษยวิทยา เชียงใหม่: ถึงไหน หรือ ไม่ถึงไหน?” โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์ และศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ยศ สันตสมบัติ อาจารย์ทั้งสองผู้อยู่กับภาควิชามาตั้งแต่ราวปลายพุทธทศวรรษ 2510
จากนั้นจะเป็นบทความ ที่เก็บเนื้อหาสาระจากวงสนทนาเพื่อทบทวนบทบาทของสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาในหัวข้อ “สังคมวิทยา-มานุษยวิทยา เชียงใหม่: ภารกิจแรกแห่งการขับเคลื่อน” โดยเป็นบันทึกจากทัศนะของอาจารย์ผู้เป็นวิทยากรเสวนา ได้แก่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.จามะรี เชียงทอง, รองศาสตราจารย์ ดร.ขวัญชีวัน บัวแดง และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภิญญา เฟื่องฟูสกุล และบทความ “สังคมวิทยา-มานุษยวิทยา เชียงใหม่ ในบททบทวน: สู่ภารกิจใหม่ในวันพรุ่ง” โดย ศาสตราจารย์ ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี, รองศาสตราจารย์ ดร.วสันต์ ปัญญาแก้ว, รองศาสตราจารย์ ดร.ไพโรจน์ คงทวีศักดิ์ และอาจารย์รังสรรค์ ประทุมวรรณ์
จากนั้นวารสารฉบับนี้จะพาผู้อ่านไปพินิจบทความในประเด็น “ความหวังและความเชื่อ” บทความในประเด็นนี้ทั้ง 3 บทความ จะไปสำรวจงานที่ศึกษาแง่มุมของความหวังของผู้คนในโลกที่ผู้คนต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อโอกาสในชีวิตที่ดีกว่าเดิม ผู้อ่านจะได้พบพานกับการต่อสู้ดิ้นรนและเสาะแสวงหาโอกาส ในบริบทสังคมทุนนิยมไทย และสังคมใหม่ของผู้เคลื่อนย้ายถิ่นและผู้ลี้ภัย โดยพื้นที่แห่งการดิ้นรนและพื้นที่แห่งความหวังในวารสารฉบับนี้มีทั้งบริบทสังคมไทย บริบทในสังคมเพื่อนบ้านอย่างทั้งในลาว เวียดนาม และกัมพูชา รวมถึงสังคมแคนาดา
ในบทความ “ระบบทุนนิยมของลัทธิพิธีความเชื่อ: กรณีศึกษาเทวาลัยจักรพรรดิ” โดย นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ ศึกษาการกระทำร่วม ตลอดจนสายสัมพันธ์ทางใจและอารมณ์ที่ก่อร่างสร้างตัวตนของเจ้าลัทธิพิธีและบรรดาศิษย์ ในบริบทที่ทุนนิยมไทยแยกไม่ขาดจากมิติความเชื่อทางศาสนา ในบทนี้ จะพาให้ผู้อ่านเห็นว่า ความเชื่อในบริบททุนนิยมไทยได้นำไปสู่ความหวังและกำลังใจที่จะต่อสู้ให้มีชีวิตที่ดีขึ้นได้อย่างไร
บทความ “ผู้ลี้ภัยจากอินโดจีนในประเทศแคนาดา: บทสำรวจเบื้องต้น” โดย จักรพันธุ์ ขัดชุ่มแสง ได้พาผู้อ่านไปสำรวจความรู้เกี่ยวกับผู้ลี้ภัยจากเวียดนาม ลาว และกัมพูชา ไปยังประเทศแคนาดา ในคริสต์ทศวรรษ 1970 ถึงทศวรรษ 1980 อันช่วงเวลาที่เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสงคราม ในบทนี้ผู้เขียนจะพาผู้อ่านไปสำรวจในแง่มุมต่างๆ โดยเฉพาะภูมิหลังการลี้ภัย การตั้งถิ่นฐาน การปรับตัว การบูรณาการ และการธำรงอัตลักษณ์เดิมในสังคมใหม่ และในบทความสุดท้ายของฉบับ “ปรากฏการณ์ความสิ้นหวังของนักเรียนยากจน อำเภอบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น: การศึกษาเชิงปรากฏการณ์วิทยา” จุฑามาศ มาณะศิลป์ และศานิตย์ ศรีคุณ ศึกษาภาวะความสิ้นหวังจากการเรียนรู้ของนักเรียนยากจน ตลอดจนนำเสนอหนทางที่จะเปลี่ยนความสิ้นหวังไปสู่ความหวัง
Additional Files
Published
How to Cite
Issue
Section
License
Copyright (c) 2024 Social Sciences Academic Journal, Faculty of Social Sciences, Chiang Mai University
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.
All written articles published on Journal of Social Sciences is its author’s opinion which is not belonged to Social Sciences Faculty, Chiang Mai University or is not in a responsibility of the journal’s editorial committee’s members.