สังคมวิทยา-มานุษยวิทยา เชียงใหม่ ในบททบทวน สู่ภารกิจใหม่ในวันพรุ่ง
Abstract
รศ.ดร.วสันต์ ปัญญาแก้ว ผมคิดว่าผมน่าจะเป็นอาจารย์รุ่นที่ 4 – รุ่นที่ 5 ประมาณนี้ ช่วงที่ผมเรียนน่าจะเป็นช่วงของ historical moment (จังหวะเวลาทางประวัติศาสตร์) ของภาควิชา คือเป็นช่วงที่อาจารย์กำลังตกผลึกอะไรหลายๆ อย่าง ซึ่งต่อมาที่ผมไปเรียนต่อที่กรุงเทพฯ ตอนนั้นผมไปเรียนปริญญาโทที่ธรรมศาสตร์ ผมรู้สึกว่าทำไมผมคิดไม่เหมือนคนอื่น ผมรู้สึกว่าแนวคิดมาร์กซ์มันเป็นเรื่องธรรมดา แต่พอเราไปพูดแนวคิดมาร์กซ์กับเพื่อนที่กรุงเทพฯ ผมกลายเป็นพวกประหลาด แต่ถ้าย้อนกลับไปผมคิดว่าผมรับแนวคิดมาร์กซ์ หรือมาร์กซิสม์มาจากอาจารย์หลายท่าน อาจารย์อานันท์ (ศาสตราจารย์ ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์) ทำให้ผมรู้จักมาลินอฟสกี้ (Bronislaw Malinowski) เป็นคนแรกเพราะอาจารย์สอนเรื่องคูล่า (Kula ring) ในวิชามานุษยวิทยาเศรษฐกิจ แต่ว่า อาจารย์ฉลาดชาย (อาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์) ก็สอนเรื่องลัทธิมาร์กซ์ อาจารย์แปลหนังสือลัทธิมาร์กซ์กับสังคมนิยมหรือสังคมวิทยามาร์กซิสต์และเขียนตำราอื่นๆ อีกเยอะมาก ช่วงนั้นตอนที่ผมเรียนปีสุดท้ายศูนย์สตรีศึกษาเพิ่งก่อตั้งมาได้สองปี ผมก็ต้องไปเรียนกับอาจารย์ที่ศูนย์สตรีศึกษา ซึ่งน่าจะเป็นรุ่นแรกๆ อาจารย์ฉลาดชายโด่งดังมากกับงานเขียนเรื่อง “ผีเจ้านาย” ซึ่งผีเจ้านายก็เป็นเนื้อหาที่สอนอยู่ในวิชามานุษยวิทยาการเมือง ถ้าใครได้อ่านจะเห็นว่าถึงแม้อาจารย์ฉลาดชายจะใช้มาลินอฟสกี้ ในการอธิบายเรื่องผีเจ้านาย แต่ในนั้นข้อโต้แย้งของอาจารย์ก็คือ แม้แต่ผีก็มีชนชั้น และเต็มไปด้วยประเพณี พิธีกรรมเรื่องการนับถือผี เรียกกว้างๆ อย่างนี้แล้วกัน เพราะฉะนั้นสมมติฐานแรกที่อาจารย์เสนอคือ ผี พุทธ พราหมณ์ ไม่เคยแยกออกจากกัน และพิสูจน์ให้เห็นผ่านเรื่องผีเจ้านาย ถ้าใครอ่านดูมันจะเป็นงาน ethnography (การศึกษาเชิงชาติพันธุ์วรรณา) ที่น่าสนใจมาก อาจารย์เขียนเล่าได้น่าสนใจมาก จากผีเจ้านายในช่วงเวลาเดียวกันก็มีเรื่องป่าไม้สังคม ซึ่งอาจารย์อานันท์ได้เขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยตรง หากใครสนใจไปอ่านดูได้ ประเด็นคือ ป่าไม้สังคมก็คือป่าชุมชน ตอนนั้นอาจารย์สนใจเรื่องชาวนา 14 ตุลา พ.ศ.2516-2519 ไล่เรียงมา อาจารย์ฉลาดชายก็เอามาสอนในห้องเรียนในวิชามานุษยวิทยาการเมืองซึ่งเป็นวิชาบังคับ ในยุคนั้นเป็นยุคที่กำลังเป็นประเด็น ผมเข้าใจว่าเป็นเรื่องที่สืบต่อมาจากขบวนการเคลื่อนไหวของสหพันธ์ชาวไร่ชาวนา เรื่องนักวิชาการ โดยเฉพาะในเชียงใหม่ เข้าไปร่วมเคลื่อนไหว เป็น historical moment อีกโมเม้นท์หนึ่ง พอผมเรียนจบแล้วกำลังจะไปเรียนต่อปริญญาเอก อาจารย์ฉลาดชายก็ออกหนังสือเรื่อง “น้ำพริกล้านนา” จาก “ผีเจ้านาย” “ป่าไม้สังคม” จนมาถึง “น้ำพริกล้านนา” มันกลายมาเป็นอย่างนี้ได้ยังไง จริงๆ แล้วคือตอนนั้นอาจารย์ฉลาดชายเริ่มสนใจเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม เรื่อง biodiversity (ความหลากหลายทางชีวภาพ) และเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่อาจารย์ฉลาดชายช่วยก่อตั้งศูนย์สตรีศึกษาขึ้นมา หนังสือเล่มนี้ขายดีมาก ในเล่มนี้อาจารย์พูดถึงเรื่องการทำอาหาร anthropology of food (มานุษยวิทยาอาหาร) ซึ่งอาจารย์เก่งมากเรื่องทำกับข้าว มากกว่านั้นอาจารย์คงพยายามทำให้เห็นความสำคัญของผู้หญิงและความหลากหลายอะไรทำนองนี้ และเล่มสุดท้าย “มานุษยวิทยาการเมือง” เป็นตำราที่อาจารย์สอนและเขียนให้พวกเราอ่านตอนที่ผมเป็นนักศึกษาปริญญาตรี ผมและอาจารย์ไพบูลย์ (ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไพบูลย์ เฮงสุวรรณ) อยากจะทำเล่มนี้ออกมาเผยแพร่ฟรีให้ดาวน์โหลดไปอ่านกัน และเพื่อรำลึกถึงอาจารย์ฉลาดชายที่ได้จากพวกเราไปเมื่อประมาณเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2561 ขณะที่ท่านอายุได้ 76 ปี เป็นตำราที่อาจารย์เขียนไว้และยังอยู่ในระหว่าง edit (แก้ไขเรียบเรียง) เป็นเล่มที่ผมคิดว่าผมยังทำภารกิจไม่เสร็จ หากจะพูดทิ้งท้ายนิดหนึ่ง ผมคิดว่าผมได้รับอิทธิพลมาจากอาจารย์อานันท์ อาจารย์ฉลาดชาย เยอะมากโดยไม่รู้ตัว คือผมอ่านมาร์กซ์เป็นเรื่องธรรมดาจนไม่ได้คิดว่ามันเป็นเรื่องแปลกอะไร แล้วพอผมไปเรียนผมก็สนใจพวกนี้มากจนกลายมาเป็น สจ๊วร์ต ฮอลล์ (Stuart Hall) ที่ผมตามอ่านอยู่ประมาณสิบปี ใครเห็นหน้าผมก็คิดถึงแต่ สจ๊วร์ต ฮอลล์ ซึ่งตอนนี้ สจ๊วร์ต ฮอลล์ ก็กลายมาเป็นวิชาบังคับของภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาไปแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าจะบอกว่าทบทวนแล้วมีอะไรที่สืบต่อมาจากอาจารย์ฉลาดชายได้บ้าง ผมคิดว่าการที่เอาวัฒนธรรมศึกษามาเป็นวิชาบังคับในภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาระดับปริญญาตรีก็ถือว่าได้รับอิทธิพลมาจาก อาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ ไม่มากก็น้อย อาจารย์รังสรรค์ ประทุมวรรณ์ ผมอาจจะเป็น niche market (ตลาดเฉพาะกลุ่ม) นิดหนึ่งเพราะว่าสิ่งที่ผมสนใจก็คือเรื่องของสังคมวิทยาศาสนา และ digital behavior (พฤติกรรมดิจิทัล) และ virtual society (สังคมเสมือน) ซึ่งการทำงานเรื่องนี้เป็นระยะเวลาหลายปีและเมื่อต้องมาคุยเรื่องนี้ผมเลยนึกย้อนไปว่าในช่วงเวลาที่ทำงานอยู่ที่นี่ อาจารย์วสันต์ (รองศาสตราจารย์ ดร.วสันต์ ปัญญาแก้ว) พูดถึง อาจารย์อานันท์ อาจารย์ฉลาดชาย นักศึกษาสมัยนั้นจะเรียก อาจารย์ฉลาดชายว่าไอน์สไตน์ เพราะอาจารย์หน้าเหมือนไอน์สไตน์มาก แต่ผมเองจะคุ้นชินกับท่านอาจารย์ไชยวัฒน์ รุ่งเรืองศรี (ผศ.ดร.ไชยวัฒน์ รุ่งเรืองศรี) ซึ่งท่านเป็นอาจารย์ที่มีความชำนาญเรื่องระเบียบวิธีวิจัยและสถิติซึ่งผมเองก็มีความสนใจในสิ่งเดียวกัน จากจุดนี้ผมคิดว่าสิ่งที่เป็นความท้าทายของสังคมวิทยา โดยเฉพาะหลังจากทบทวนสิ่งที่อาจารย์วสันต์พูดไป ถูกเลย สังคมวิทยา มช. มีธีมมาตลอดระยะเวลา 60 ปี ทำให้ผมสนใจว่าในอนาคตมีความท้าทายอะไรใหม่ๆ ที่เราจะต้องเผชิญและตอบคำถาม ซึ่ง ณ วินาทีนี้อาจจะเป็นสิ่งที่เราตอบได้ไม่เต็มปากว่าเราจะรับมือมันยังไงในสิ่งใหม่ๆที่กำลังจะมาถึง อย่างแรกคือเรื่องธรรมชาติของข้อมูล หรือ Data ที่มันเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ธรรมชาติของข้อมูลมันไม่เหมือนเมื่อก่อนอีกแล้ว ที่มันมาเป็นก้อน มี patterns (รูปแบบ) มี factors (ปัจจัย) ที่ชัดเจนแน่นอนจากกลุ่มประชากรที่มีลักษณะทางสังคมคล้ายคลึงกัน ธรรมชาติของข้อมูลในยุคปัจจุบันเป็นข้อมูลที่มีทั้งความเร็ว (Velocity) ความเร่ง (Acceleration) และความหลากหลาย (Variation) ที่เราทำความเข้าใจได้ยาก และ patterns of behavior ที่อยู่บนพื้นฐานของ diversity (ความแตกต่างหลากหลาย) ที่สูงมากของกลุ่มคนที่หลากหลาย ซึ่งธรรมชาติของข้อมูลแบบนี้เป็นสิ่งที่ท้าทายเราในอนาคตมากว่าเราจะอธิบายข้อมูลแบบนี้ได้อย่างไร สิ่งหนึ่งที่ตามมาก็คือระเบียบวิธีหรือเทคนิคที่เราใช้ในการสังเกตการณ์และเก็บข้อมูล ยกตัวอย่างงานที่ผมทำในเรื่องของ digital behavior การที่คนยอมหยอดเหรียญเพื่อให้หุ่นยนต์ AI อันหนึ่งไปบูชาเทพเจ้าฮินดูแทนเราผ่านเว็บไซต์ มีคำถามว่าสุดท้ายแล้วใครเป็นคนที่บูชาเทพเจ้ากันแน่ หุ่นยนต์ตัวนั้น? หรือว่าเรา? เพราะว่าหุ่นยนต์ทำหมดเลย คนไม่ได้มี interact อะไรกับเทพเจ้าฮินดูเลยแม้แต่นิดเดียว อย่างนี้เป็นต้น ธรรมชาติของข้อมูลใหม่ๆ แบบนี้เป็นสิ่งที่ผมคิดว่ามันน่าสนใจมาก ว่าเราจะสังเกตการณ์ เก็บข้อมูลและวิเคราะห์มันอย่างไร และอีกอย่างที่ผมคิดว่าทำให้ธรรมชาติของข้อมูลเปลี่ยนไปและเป็นสิ่งที่เราต้องมองก็คือ ธรรมชาติของพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป สิ่งหนึ่งที่เราพบก็คือ เมื่อก่อนเราเคยเชื่อว่า social network platform (ช่องทางเครือข่ายสังคมออนไลน์) เป็นเพียงแค่ channel (ช่องทาง) รูปแบบหนึ่งที่คนใช้ในการ express (แสดงออก) ตัวตนหรือการ interact (ปฏิสัมพันธ์) กับคนอื่น แต่ทุกวันนี้เรากลับพบว่า social network platform เหล่านี้มันกลายเป็นเบ้าหลอมชนิดใหม่ มันกลายเป็นสิ่งที่ส่งผลต่อตัวตน พฤติกรรม และกลุ่มทางสังคมอย่างแท้จริง กลายเป็นพฤติกรรมอีกแบบหนึ่งที่ผมคิดว่าเราอาจจะต้องมานั่งทบทวนว่าเราจะสามารถ approach (เข้าถึง) หรือ address (อธิบาย) มันด้วย conceptual หรือ theoretical framework (กรอบแนวคิดหรือทฤษฎี) แบบเดิม ๆได้อยู่แค่ไหน ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างเช่นคำว่า social group (กลุ่มทางสังคม) เมื่อก่อนบอกว่า primary group (กลุ่มปฐมภูมิ) ต้องมีคุณลักษณะของ face-to-face interaction (การปฏิสัมพันธ์แบบเจอหน้ากัน) แต่ปัจจุบันเมื่ออยู่บน social network platform มันไม่ใช่ direct face-to-face อีกต่อไป แต่ว่าในขณะเดียวกันมันกลับมีบทบาทอย่างสูงในการ shape (ก่อรูป) ในเรื่องของ identity (อัตลักษณ์) ในเรื่องของ pattern of behavior (รูปแบบพฤติกรรม) อย่างทรงพลังมาก ผมคิดว่าเราต้องมานั่งทบทวนว่าเราจะ approach สิ่งที่มันเปลี่ยนไปอย่างไร สิ่งที่ผมมักจะพูดคุยกับนักศึกษาเสมอก่อนสอนหนังสือก็คือ วันนี้มีอะไรที่น่าสนใจ ทุกคนก็จะควักโทรศัพท์ขึ้นมา ซึ่งผมจำได้เด็ก มช. สมัยก่อนก็จะบอกว่า อาจารย์วันนี้ผมไม่ได้อ่านข่าวครับ เพราะเมื่อก่อนใต้หอ มช. จะมีที่วางหนังสือพิมพ์ รับหนังสือพิมพ์หลายๆ ยี่ห้อ แล้วไปนั่งเปิด ไปนั่งต่อคิว นั่งแย่งกัน แต่ทุกวันนี้ลืมตามายังไม่ทันเปิดตา อย่างแรกก็คือคว้าหาโทรศัพท์ก่อน แล้วก็ตะกุยหาเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับเราว่ามันเกิดอะไรขึ้นในช่วงระยะเวลา 8 ชั่วโมงที่เราหลับไป ผมคิดว่าธรรมชาติของพฤติกรรมที่มันเปลี่ยนไปอย่างมหาศาลแบบนี้ แล้วเบ้าหลอมทางสังคมอันใหม่ที่เราเรียกกันว่า social network platform น่าจะเป็นสิ่งท้าทายใหม่ที่เราจะต้อง engage (ปฎิสัมพันธ์) กับมันในที่สุด Methodology (ระเบียบวิธีวิจัย) อย่างหนึ่งที่ผมสนใจและกำลังทำวิจัยอยู่ก็คือเรื่องของ Big data analytics (การวิเคราะห์ชุดข้อมูลขนาดใหญ่) ซึ่งเป็นสิ่งที่คนไม่ค่อยคุ้นหูสักเท่าไร เพราะข้อมูลมันมีจำนวนมหาศาล มีความเร่งที่นับเป็นมิลลิวินาทีของพฤติกรรมคนที่อยู่ในนั้นทั้งหมด เราจะสามารถประยุกต์เอาเทคโนโลยีการเก็บข้อมูลหรือการวิเคราะห์แบบใหม่ๆ เข้ามาในศาสตร์หรือสาขาของเราได้แค่ไหน เพราะว่าอีกหน่อยทุกอย่างมันจะผ่าน social network platform เกือบทั้งหมด ซึ่งผมคิดว่าเป็นความท้าทาย แต่ในขณะเดียวกันเราก็ต้องมาทบทวนว่า social network platform ไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิต มันเป็นสองส่วนที่มันต่อท่อหายใจถึงกันและผมคิดว่ามันเป็นความซับซ้อนอันหนึ่งที่ผมเองเวลาที่สอนวิจัยก็ต้องมานั่งนึกว่าเราจะสอนอะไรเด็กนักศึกษาแบบไหนดี หรือเราจะทำงานวิจัยแบบไหนดีกับธรรมชาติของข้อมูลรูปแบบใหม่นี้ ดังนั้น สิ่งหนึ่งที่นักสังคมวิทยาร่วมสมัยที่สนใจเรื่องระเบียบวิธีวิจัยพูดถึงกันมากที่สุดก็คือเรื่อง mixed method (ระเบียบวิธีวิจัยแบบผสม) ผมเคยถามพวกคนที่คร่ำหวอดในการใช้ mixed method ทั้งหลายว่าพวกคุณคิดอย่างไร เขาบอกว่า ปรากฎการณ์ทางสังคมยุคปัจจุบันมี layers (ชั้นของข้อมูล) เยอะมากซ้อนๆ กัน ดังนั้น คุณใช้ methodology อันหนึ่งในการศึกษาหรือ approach layer (เข้าถึงชั้นของข้อมูล) อันหนึ่ง แล้วคุณใช้ methodology อีกอันหนึ่งในการ approach layer อีกอันหนึ่ง แต่ทั้งหมดนี้ทำให้เราต้องมานั่งทบทวนเรื่องของ methodology และ digital behavior กันใหม่อีกทีหนึ่งว่าเราจะ analyze (วิเคราะห์) มันยังไง และเราจะสามารถใช้ finding (ข้อค้นพบ) อันนี้ในแง่มุมของ social sciences (สังคมศาสตร์) อย่างไร ผมคิดว่านี่เป็นความท้าทายที่อาจจะไม่มีคนพูดถึงมากเท่าไร แต่ผมว่าในยุคถัดไป 20-30 ปี เราจะเจอสิ่งเหล่านี้มากขึ้น ล่าสุดเทคโนโลยีที่เราเรียกว่า quantum computer (ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งทำงานด้วยศาสตร์ที่เกี่ยวกับทฤษฎีควอนตัมฟิสิกส์) ซึ่งมีราคาแพงและเป็นสิ่งที่ประหลาดอัศจรรย์มาก พูดง่ายๆ คือ ถ้าโลกทั้งใบเป็นโลกของ computer และคณิตศาสตร์ ทุกวันนี้คอมพิวเตอร์ที่เราใช้ อยู่ในระบบที่เรียกว่า bit computer (คอมพิวเตอร์หน่วยเล็ก) มันเข้าใจแค่ 30 เปอร์เซ็นต์ของสิ่งที่อยู่ในโลกนี้ แต่อีก 70 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือคือ quantum computer คือเราไม่รู้เลย แต่มีคนทดลองใช้ quantum computer เอาข้อมูลของประชากรที่เรียกว่า census (สำมะโนประชากร) ไปใส่ แล้วปรากฏว่ามัน predict (ทำนาย) หลายๆ อย่างแล้วมันตรง ผมคิดว่าอันนี้เป็นความท้าทายอีกแบบหนึ่งว่าเราจะ embrace (บูรณาการ) เทคโนโลยีที่มันเกี่ยวข้องกับ AI เข้ามาได้อย่างไร สุดท้ายสิ่งหนึ่งที่ผมคุยกับคนที่ทำ AI ที่เราเรียกกันว่า ChatGPT เขาบอกว่าผู้ที่ควบคุม network platform (ช่องทางเครือข่าย) ทั้งหมดไม่ใช่คนอีกต่อไป แต่มันคือ AI ดังนั้นหมายความว่า จริงๆ แล้วทุกวันนี้ AI เป็นผู้ตัดสินว่าจะให้เราเห็นอะไร ทุกอย่างที่ปรากฏออกมาใน Instagram ที่ออกมาใน YouTube ใน TikTok AI เป็นผู้กำหนดทั้งหมด ดังนั้น AI ต่างหากที่เป็นตัวที่เข้ามามีส่วนในการหล่อหลอมพฤติกรรมของคน วิธีคิด อุดมการณ์ ค่านิยม ซึ่งเห็นชัดมากในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในช่วงเวลาที่ผ่านมา หรือแม้กระทั่งเหตุการณ์ในเรื่องกาซ่า (Gaza) ก็ตาม AI ที่อยู่ใน social network platform มีส่วนในการหล่อหลอมวิธีที่คน perceive (รับรู้), interpret (ตีความ), หรือ react (ตอบสนอง) ต่อสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลก ผมคิดว่านี่เป็นข้อท้าทายใหม่ที่เราอาจจะต้องทบทวนกันว่าเครื่องมือ แนวคิดและทฤษฎีที่เรามีทุกวันนี้เพียงพอแค่ไหน หรือจริงๆ แล้วสิ่งที่เรามีอยู่ก็เพียงพออยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเนื่องจากธรรมชาติของพฤติกรรมมันเปลี่ยนไป ทำให้เราอาจจะต้องลองปรับซ้ายปรับขวาดู สิ่งทั้งหมดเหล่านี้คือความท้าทายต่อสังคมวิทยาที่อยู่ในความคิดของผม ศาสตราจารย์ ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี สิ่งที่แต่ละท่านพูดมาจากประสบการณ์ในการเรียนการสอนที่มีของแต่ละคนนำมาปะติดปะต่อกันมันอาจจะช่วยทำให้เห็นประวัติศาสตร์ของภาควิชาฯ จากตำแหน่งที่แต่ละคนยืนอยู่ คำถามใหญ่วันนี้อาจจะพูดแค่เรื่องเดียวก็คือ พลังอะไรที่เป็นตัว shape (ก่อรูปก่อร่าง) สังคมวิทยาและมานุษยวิทยาของ มช. คำถามนี้เป็นคำถามที่ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2555 ตอนนั้นดิฉันเป็นหัวหน้าภาควิชาฯ และจัดงานสะท้อนย้อนคิดงานประชุมขึ้น ก็มีโจทย์นี้อยู่ในใจและได้สัมภาษณ์อาจารย์หลายท่านซึ่งเป็นอาจารย์เก่าแก่ของภาควิชาฯ อาจารย์หลายท่านเสียชีวิตไปแล้ว มีอาจารย์สุเทพ สุนทรเภสัช อาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ อาจารย์ขวัญใจ ไทยทอง อาจารย์นฤจร อิทธิจีระจรัส ซึ่งแต่ละท่านก็ให้แง่มุมที่น่าสนใจมาก โดยส่วนตัวคิดว่าพลังสำคัญที่ shape ภาควิชาฯ ไม่ใช่แค่เรื่องทฤษฎีที่อาจารย์หลายท่านได้ไปเรียนมา แต่การที่สังคมวิทยาและมานุษยวิทยาเป็นสาขาวิชาที่ engage (เข้าไปพัวพัน) กับสังคมการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมมากที่สุดสาขาหนึ่ง พลังภายนอกมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการ shape ประวัติศาสตร์ในแต่ละช่วงของภาควิชาฯ ดิฉันมองพลังนี้ใน 4 ระลอก หรือ 4 กระแส ที่อาจจะไม่ได้ไปในทางเดียวกัน อาจจะต่อสู้ฟาดฟันซึ่งกันและกัน พลังอันแรกเป็นพลังของสิ่งที่เรียกว่า 1) การเมืองในยุคสงครามเย็น สาขาวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาตั้งขึ้นมาในฐานะที่เป็นผลผลิตของการเมืองในช่วงสงครามเย็น สาขาวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาที่แรกคือที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นที่ที่ก่อตั้งเป็นลำดับที่สอง คือมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เองอยู่ภายใต้บริบททางการเมืองประเภทนี้ คณะสังคมศาสตร์เป็น 1 ใน 4 คณะซึ่งถูกก่อตั้งมาในช่วงแรก อาจารย์ที่มีบทบาทและมีอิทธิพลอย่างยิ่งในการวางหลักสูตรของภาควิชาของเราคือ อาจารย์เกษม อุทยานิน (ศาสตราจารย์เกษม อุทยานิน) ซึ่งเป็นนักรัฐศาสตร์และนักสังคมวิทยาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีอาจารย์ไกรศรี นิมมานเหมินท์ เป็นคณบดีคนแรก ซึ่งเป็นเพียงปีเดียว มีอาจารย์ศักดิ์ ผาสุขนิรันต์ (ศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ ผาสุขนิรันต์) มีอาจารย์อานนท์ อาภาภิรมย์ (ศาสตราจารย์อานนท์ อาภาภิรมย์) ซึ่งเป็นนักรัฐศาสตร์และสังคมวิทยาจากจุฬาฯ เป็นหัวหน้าภาคฯ คนแรก อาจารย์สุเทพ (ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุเทพ สุนทรเภสัช) ก็จบมาจากสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา จุฬาฯ ภาควิชาของเราในตอนแรกก่อตั้งเป็นภาควิชาสังคมวิทยา มานุษยวิทยานี่มาทีหลังด้วยซ้ำไป เราอยู่ในกระแสหรือเรียกว่าเป็นผลผลิตของความต้องการของรัฐไทยที่ต้องการที่จะให้มีศาสตร์สาขาวิชาในแขนงต่างๆ สังคมวิทยาและมานุษยวิทยามีความสำคัญเพราะว่าเป็นศาสตร์สาขาวิชาซึ่งเข้าถึงกลุ่มชน เข้าถึงประชาชนในพื้นที่และในท้องถิ่นอันเป็นความรู้สำคัญซึ่งรัฐไทยต้องการจะเข้าถึง ภายใต้สงครามเย็นนั้น สหรัฐอเมริกามีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานของสิ่งซึ่งควรจะถูกเรียนถูกสอนในภาควิชานี้ ไม่เป็นเรื่องบังเอิญที่สหรัฐอเมริกาส่งอาจารย์มาสอนวิชาสำคัญๆ ในภาควิชาติดต่อกันถึง 14 ปี ผ่านโครงการ Fulbright ซึ่งไม่แน่ใจว่าอเมริกาทำสัญญาทำนองเดียวกันนี้ในมหาวิทยาลัยอื่นด้วยหรือไม่ อาจารย์คายส์ (Charles F. Keyes) เป็นหนึ่งในอาจารย์ที่เข้ามาสอนที่นี่ สหรัฐอเมริกาเองไม่เพียงแต่ให้คนมาสอน แต่ยังมีบทบาทในการให้ทุนในการทำวิจัยต่อเนื่องมาจนถึงยุคปลายของสงครามเย็น เราอาจจะได้ยินชื่อของ ARPA (Advanced Research Project Agency—หน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาที่พัฒนาเทคโนโลยีทางการทหารและความมั่นคงแห่งชาติ) ร็อกกี้เฟลเลอร์ (Rockefeller) และแน่นอน ฟอร์ด ฟาวเดชัน (Ford Foundation) เป็นแหล่งทุนสำคัญซึ่งสร้างการเติบโตให้กับคลัสเตอร์งานวิจัยด้านประชากรของภาควิชาฯ ซึ่งถือว่าเป็นคลัสเตอร์งานวิจัยที่สำคัญที่สุดและไม่ได้เป็นงานวิจัยที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่เป็นงานวิจัยซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากรัฐภายใต้สหรัฐอเมริกามี agenda (ประเด็นวาระ) ต้องการที่จะคุมกำเนิดประชากรในประเทศโลกที่สาม อันเป็นส่วนหนึ่งของการต่อต้าน “ภัยคอมมิวนิสต์” ความรู้ด้านประชากรจึงเป็นความรู้ที่สำคัญ จริงๆ ไม่ใช่แค่ มช. คลัสเตอร์นี้เป็นคลัสเตอร์ที่ใหญ่มากในจุฬาฯ และในมหาวิทยาลัยมหิดลด้วยเช่นกัน Ford Foundation มีความสำคัญในการสนับสนุนทุนวิจัยด้านเกษตรและทรัพยากรบนที่สูง ภายใต้ agenda ของการต้องการเปลี่ยนพื้นที่บนที่สูงให้หันมาปลูกพืชที่ไม่ใช่พืชเศรษฐกิจ เช่นเดียวกันกับมูลนิธิเอเชียซึ่งสนับสนุนการทำงานด้านการศึกษาและตีพิมพ์งานศึกษาเกี่ยวกับภาคเหนือของไทย เพราะฉะนั้นเหล่านี้จึงเป็นไม่ใช่แค่งานวิชาการแต่เป็นทุนด้วยที่ shape การเรียนการสอนในภาควิชาของเรา ในรูปขวาสุดคือ อ.คายส์ (Charles F. Keyes) ตรงกลางคือ อ.สุเทพ (ผศ.ดร.สุเทพ สุนทรเภสัช) ซ้ายสุดคือ หม่อมหลวงจันทร์ (หม่อมหลวงจันทร์จิรายุวัฒน์ รัชนี) ช่วงนั้นท่านไปทำงานวิจัยด้วยกัน สนิทสนมกัน จุดเปลี่ยนสำคัญของภาควิชาของเราในยุคปลายของสงครามเย็นเกิดขึ้นประมาณพุทธทศวรรษที่ 2510 คือประมาณ พ.ศ. 2516 เมื่อกลุ่มอาจารย์จาก Cornell University เข้ามาในภาควิชาฯ ดิฉันได้สัมภาษณ์อาจารย์หลายท่าน อ.ขวัญใจ (อาจารย์ขวัญใจ ไทยทอง) เคยให้สัมภาษณ์ว่า “จนถึงยุคตุลา 16 บรรยากาศกระตุ้นให้นักศึกษาเกิดการคิดและตื่นตัว คิดแตกต่างไปจากเดิม นักศึกษาสนใจอ่านมากขึ้น [...] มีผลต่อการปรับปรุงหลักสูตรและการเรียนการสอน” (ขวัญใจ ไทยทอง, การสื่อสารส่วนบุคคล, 11 กันยายน 2555) ดังนั้น ตั้งแต่ปี 2516 เป็นต้นมา ดิฉันคิดว่าพลังที่สองที่สำคัญมากก็คือ “พลังนักศึกษา” อีกท่าน อ.ฉลาดชาย (อาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์) เคยให้สัมภาษณ์ว่า “นักศึกษามีความสำคัญมากในการตั้งคำถามซึ่งเป็นคำถามที่สังคมวิทยาและมานุษยวิทยาใน มช. ในตอนนั้นไม่ตอบ หรือหลีกเลี่ยงที่จะตอบ หรือไม่สามารถที่จะตอบ เช่น ปัญหาเรื่องการปราบปรามผู้คนในชนบท มีการเอาระเบิดไปทิ้งในหมู่บ้านม้งที่เพชรบูรณ์ [...] ขณะเดียวกันวิชาที่สอนกันในช่วงนั้นก็ไม่มีวิชาที่เกี่ยวกับการเมืองเลย [...]” (ฉลาดชาย รมิตานนท์, การสื่อสารส่วนบุคคล, 21 สิงหาคม 2555) อ.ฉลาดชาย น่าจะเป็นคนแรกๆ ที่เอาวิชาทางด้านมาร์กซิสม์ (Marxism) มาสอนในภาควิชาฯ โดยสรุป ขบวนการเคลื่อนไหวของนักศึกษาและประชาชนในการเรียกร้องประชาธิปไตยและต่อต้านเผด็จการมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางความคิดของอาจารย์ในภาควิชาค่อนข้างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเริ่มมองสังคมไทยในมิติที่มีความขัดแย้งและในมิติที่มีการเปลี่ยนแปลง ดิฉันอยากจะพูดอย่างนี้ว่า อาจารย์ไม่ใช่เป็นผู้ที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาให้แก่นักศึกษาอย่างเดียว พลวัตของการเมืองในแต่ละยุคสมัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักศึกษา ซึ่งเป็นผู้ที่อยู่ในบริบทของสังคมและการเมืองในแต่ละช่วง มีบทบาทสำคัญในการทำให้หลักสูตรหรือการเรียนการสอนหรือกระทั่งความคิดของอาจารย์ในภาควิชานั้นเปลี่ยนแปลงไปด้วย ในยุคนั้นมีสัมมนาที่คลาสสิคอันหนึ่งคือ นักศึกษาจัดสัมมนาที่ค่ายลูกเสือ แล้วเชิญบรรดาอาจารย์ทางด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาในยุคนั้น คืออาจารย์บุญสนอง บุณโยทยาน (ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน) และอาจารย์ภาควิชาฯ เข้าร่วมด้วย เพื่อพูดถึงสิ่งที่เรียกว่าสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาในอนาคต ซึ่งถือได้ว่าเป็นกระแสทางด้านการเมืองอย่างยิ่งในยุคนั้น และทำให้สังคมวิทยาและมานุษยวิทยาของ มช. อยู่ใน position (ตำแหน่งแห่งที่) ที่จะให้คำตอบทางการเมืองอะไรหลายๆ อย่างเหล่านี้ก็เป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ซึ่งภาควิชาฯ น่าจะมีเก็บไว้ โดยส่วนตัวคิดว่า ถ้าเราเขียนประวัติภาควิชาฯ ควรจะเป็นการประมวลเอาบริบทหรือเหตุการณ์ทางการเมืองซึ่งมีผลกระทบอย่างยิ่งต่อ vibe (บรรยากาศของสถานการณ์) ของภาควิชาฯ และการเรียนการสอนของภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยามาพูดถึงด้วย พลังอันที่สาม เริ่มต้นในพุทธทศวรรษที่ 2530 เป็นต้นมา เป็นพลังที่มาจากชาวบ้าน คือถ้าอันแรกเป็นบริบททางด้านการเมืองของสงครามเย็นที่สหรัฐและรัฐไทยพยายามที่จะทำให้วิชาการที่ไม่ใช่แค่สังคมศาสตร์อย่างเดียว ทุกศาสตร์สาขา สังคมศาสตร์อาจจะมีบทบาทในตำแหน่งแห่งที่หนึ่งๆ เป็นตัว shape การเรียนการสอน พลังนักศึกษาเป็นตัวทำให้การเรียนการสอนนั้นมีมิติทางการเมือง คือเป็นการ politicize (ทำให้เป็นการเมือง) สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา พลังที่สามจึงมาจากชาวบ้าน ก็คือความขัดแย้ง คุณจะอยู่อย่างไรในเมื่อประชาชนในพื้นที่ที่คุณสอนหนังสืออยู่เต็มไปด้วยความขัดแย้งกับรัฐ มีการเดินขบวนเคลื่อนไหวเรื่องสัมปทานป่าไม้เต็มไปหมด มีการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้อง ตอนนั้นอาจจะไม่ได้เรียกว่า “สิทธิชุมชน” หรอก มันไม่มีคำที่ articulate (เรียบเรียง/ประกอบรวม/แสดงความคิดได้ชัดเจน) แบบนั้น แต่ความขัดแย้งที่แหลมคมระหว่างประชาชนกับรัฐประเด็นเรื่องสิทธิ ทำให้ทิศทางงานศึกษาของภาควิชาปรับเปลี่ยนไปเพื่อพยายามทำความเข้าใจพื้นที่และความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชนซึ่งมีพื้นที่สมรภูมิเป็นพื้นที่ป่าเป็นสำคัญ จึงทำให้ภาควิชาการต้องตอบสนองต่อโจทย์ของสังคม ในยุคนี้อาจจะเรียกว่าเป็นยุคของการต่อรองต่อต้าน แต่ดิฉันคิดว่าถ้ามองในแง่ของศาสตร์แล้วนี่อาจจะเป็นครั้งแรกที่สังคมวิทยาและมานุษยวิทยาของ มช. เข้าสู่สภาวการณ์ที่เรียกว่า socially engaged scholarship คือการที่สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา engage กับสังคมเพื่อที่จะแสวงหาคำตอบ ทางเลือก ทางออก ให้กับประชาชนในเขตชายขอบ อาจจะพูดได้ว่าเราเป็นยุคที่ฉีกออกจากกรอบคิดแบบ state centric (ยึดรัฐเป็นศูนย์กลาง) ถ้าเดิมคือ เรารับ agenda ของรัฐมาเพื่อที่จะมาหาว่าประชากรกลุ่มไหนมีบุตรเยอะ ประชากรกลุ่มไหนมีคนมากมาย ฯลฯ เพื่อที่จะเป็นข้อมูลให้รัฐในการจัดการ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการในนามของสวัสดิการสังคมหรืออะไรก็แล้วแต่ ยุคนี้เป็นยุคที่เราพูดถึงเรื่องสิทธิ สิทธิของชาวบ้านในป่า สิทธิของแรงงานอุตสาหกรรม ผู้หญิง สุขภาพ ศาสนา และจะเห็นงานซึ่งมันเคลื่อนย้ายออกจากลักษณะของ state centric มากขึ้นเรื่อยๆ ประเด็นสุดท้ายที่อยากจะพูดถึงก็คือ พลังอันที่สี่ ซึ่งตอนนี้มัน shape สังคมวิทยาและมานุษยวิทยาอยู่ รู้สึกหรือไม่ก็แล้วแต่คือสิ่งที่อาจารย์อภิญญา (ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภิญญา เฟื่องฟูสกุล) ได้พูดไปในตอนท้ายว่ากระบวนการ privatization (กระบวนการแปรรูปองค์กรรัฐให้กลายเป็นเอกชน) หรือกระบวนการ neo-liberalization (กระบวนการเสรีนิยมใหม่) ซึ่งผลักดันให้วัฒนธรรมการที่เราถูกลดทอนลงเป็นแค่กลจักรหนึ่งๆ หรือกลไกตัวเล็กๆ หนึ่งๆ ที่สอนหนังสือไปเพื่อที่จะเอาแต้มหรือเพื่อที่จะทำแต้มให้มันมากขึ้น เป็นพลังซึ่งมันมีอำนาจและมีอิทธิพลอย่างยิ่งในการ shape สิ่งที่เรียกว่าศาสตร์ ซึ่งพยายามที่จะ engage กับสังคม เราจะออกจากสภาวะหรือพลังอันนี้ได้อย่างไร ดิฉันคิดว่าสิ่งนี้มันไม่ได้กระทบแค่เฉพาะอาจารย์ แต่มันกระทบนักศึกษาด้วย มันกระทบหลายๆ อย่าง เรากำลังจะกลายเป็น entrepreneurial university (มหาวิทยาลัยแบบผู้ประกอบการ) หรือเป็นแล้วก็ไม่ทราบ มันแทรกเข้ามาในวิชาที่เราสอน พยายามที่จะเปลี่ยนวิธีคิดที่มันควรที่จะ accountable (ที่รับผิดชอบ) กับสังคมหรือกับประชาชนให้เป็นคนที่เป็น entrepreneurial ซึ่งมันเป็นแนวคิดที่ดิฉันมองว่ามันจะไปสู่ทางตันได้ในอนาคต รองศาสตราจารย์ ดร.ไพโรจน์ คงทวีศักดิ์ สำหรับผมจะพูดฉีกออกไปอีกแนวหนึ่ง เนื่องจากทุกท่านก็เชี่ยวชาญ ช่ำชองอยู่ในแวดวงสังคมวิทยาและมานุษยวิทยามากันมากมายแล้ว ออกไปกินอาหารรสชาติอื่นบ้าง เพราะฉะนั้นเมนูที่ผมจะเสิร์ฟก็คงไม่ใช่สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ผมมีความรู้สึกว่าภาควิชาเรามีจุดเด่นที่มากอยู่ แต่ในอนาคตหรือจากวันนี้ไปเราก็ต้องผลิตนักศึกษา ผลิตบัณฑิตขึ้นมาใหม่ พวกเขาจะต้องอยู่กับโลกกับสังคมที่เมื่อสักครู่อาจารย์รังสรรค์พูดว่าเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยการทำงานโดยใช้ AI เร่งรัด รวดเร็ว และหลากหลายอะไรทำนองนั้น จุดที่ผมมอง ผมมีความรู้สึกว่าถ้าเราจะต้องสร้างบุคลากรหรือสร้างคนที่อยู่กับสังคมในวันพรุ่งนี้ได้ ที่เต็มไปด้วยสิ่งที่ไม่ค่อยจะเป็นคนเท่าไหร่ จุดสำคัญที่สุดคือผมอยากจะเชิญชวนให้ทุกคนกลับมาสู่ความเป็นคน เรามีวิชามานุษยวิทยาเราเชื่อมั่นว่าพวกเราเข้าใจความเป็นคนเป็นอย่างดีกว่าคนอื่นๆ หมายถึงภาควิชาอื่นหรือคณะอื่น เราสังคมวิทยาเรารู้จักสังคมเป็นอย่างดี เป็นที่หนึ่ง แต่ผมค่อนข้างมั่นใจว่าจริงๆ ลึกๆ แล้วเราไม่ค่อยรู้จักตัวเราหรือคน เพราะฉะนั้นเราจะก้าวเข้าไปสู่ยุค nonhuman หรือ posthuman อะไรก็ตามแต่ ผมมองว่าพื้นฐานเราเป็นคน เราต้องเป็นคนให้จริงๆ เสียก่อน เราจึงจะเข้าไปสู่สิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ หรือ อมนุษย์ ได้ ดังนั้น ผมอยากจะเริ่มจากคำว่า “คน” เพราะผมรู้สึกว่าคำนี้เป็นคำสำคัญ เป็นคำที่อาจจะดูไม่มีอะไรแค่ ค. ควาย น. หนู แต่ว่ามันก็คนไปคนมาจนงง ในที่สุดแล้วตกลงเราเป็นใครกันแน่ เรากำลังสับสน มันจึงเกิด concept identity (แนวคิดอัตลักษณ์) แล้วทำให้ยิ่งคิดก็ยิ่งต่อยอด ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ดีทำให้เกิดความงอกงามทางวิชาการ แต่จุดสำคัญที่ผมรู้สึกว่าพวกเรามักจะมองข้ามก็คือ “ตัวเรา” เพราะฉะนั้นผมอยากจะเชิญชวนให้มองว่า ปัจจุบันนี้เราอยู่ท่ามกลางชีวิตที่เต็มไปด้วยความสับสน ความผันผวน เราอาจจะบอกว่าสังคมทุกวันนี้เป็นสังคมที่แปลก เป็นสังคมที่เข้าใจยาก เป็นสังคมที่สับสน เป็นสังคมที่อยู่แบบตัวใครตัวมัน แต่ผมมองว่าในความเป็นจริงแล้วสังคมมันก็เป็นสังคมของมันอย่างนั้นนั่นแหละ หรือเราจะเรียกมันว่า สังคมเสรีนิยมใหม่ บริโภคนิยมเข้มข้นอะไรต่างๆ จริงๆ มันก็เป็นแค่ความเป็นไปของสังคม มันไม่ได้สับสน สำหรับผมผมมองว่ามันเป็นปกติด้วยซ้ำไป เพราะสังคมต้องมีพลวัต มีความเป็นไปของมันตามยุคสมัย ตามเหตุปัจจัยของมันในแต่ละยุคแต่ละสมัยหรือเทคโนโลยีแต่ละยุคสมัย ถ้าบอกว่าสังคมไม่สับสน ไม่ได้ผันผวน ไม่ได้ผกผัน แล้วอะไรสับสน ผมคิดว่าตัวเรานั่นแหละสับสน แล้วอะไรในตัวเราที่สับสน ก็ความคิดคนไงที่สับสน ความรู้สึกคนไงที่สับสน ความรู้ของคนไงสับสน ตรงนี้ต่างหาก เราก็ไปขนานนามหรือเนมมิ่ง (naming) สังคมในรูปนั้นรูปนี้ที่แตกยอดออกไปเป็นทฤษฎีต่างๆ ซึ่งมันก็ไม่ได้ผิดเพราะมันเป็นความงอกงามทางวิชาการทางปัญญาแบบโลกๆ แต่ผมกลับรู้สึกว่าจุดหนึ่งที่เรามองข้ามและไม่ค่อยให้ความสำคัญกับมันเท่าที่ควรก็คือตัวเราเอง เพราะฉะนั้นจุดนี้เป็นจุดที่ผมมองว่ามีความสำคัญที่ผมอยากจะนำเสนอไว้ในที่นี้ ผมมีความรู้สึกว่าการที่ถ้าเราจะต้องเตรียมคนเพื่อก้าวไปสู่วันพรุ่งนี้ที่เต็มไปด้วยสภาวะที่ไม่แน่นอน ไม่มีใครรู้หรอกว่าจริงๆ มันเป็นยังไง แม้แต่ผมก็ไม่รู้ เพราะอนาคตยังไม่เกิดแต่จุดหนึ่งที่เราจะเตรียมได้คือเตรียมตัวเราเอง ต่อให้สังคมจะเปลี่ยนรูปจนเสียระเบียบ เสียโครงสร้างไปหมด หรือถ้ามันรุนแรงถึงขนาดนั้นแล้ว คนก็ไม่เป็นคนกันอีกต่อไปแล้ว แต่จุดหนึ่งที่ผมคิดว่าจะเป็นตัวต้านทานหรือตัวที่ถ่วงดุลอำนาจของความปรวนแปรนี้ได้ก็คือเราต้องกลับมาสู่ความเป็นคนของเรา คือเราควรสอนให้นักศึกษากลายเป็นคนที่มี “สำนึก” อันนี้เป็นจุดสำคัญ คำว่าสำนึกทุกคนก็รู้จัก มันเป็นคำทั่วๆ ไปที่มีในชีวิตประจำวัน แต่ว่ามันเป็นสิ่งที่มียาก สำนึกเป็นสิ่งที่ควรต้องปลูกฝังและเมื่อมีสำนึกแล้ว สำนึกคือคิดขึ้นมาได้เอง รู้ขึ้นมาได้เอง โดยไม่จำเป็นต้องไปพร่ำบ่นพร่ำสอน คิดขึ้นมาได้เองว่าอะไรควรไม่ควร เพราะฉะนั้นอันนี้เป็นจุดสำคัญที่ผมคิดว่ามันควรจะเป็นคุณลักษณะที่พึงมีของมนุษย์ในอนาคตหรือในปัจจุบันที่จะก้าวไปสู่อนาคต เราจะต้องเป็นคนที่มีสำนึก อย่างที่อาจารย์รังสรรค์พูดไปเมื่อสักครู่ว่า สังคมมันเต็มไปด้วย big data (ชุดข้อมูลขนาดใหญ่) เต็มไปด้วยระบบคอมพิวเตอร์ที่ให้ข้อมูลมากมาย ผมกำลังมองว่าสังคมทุกวันนี้โดยภาพรวมมันคือสังคมความรู้หรือสังคมที่เต็มไปด้วยความรู้หรือพูดอีกแบบหนึ่งคือสังคมที่เต็มไปด้วยผู้รู้ ซึ่งอันนี้ผมคิดว่าไม่ค่อยโอเค ความรู้เป็นสิ่งที่ดีแต่ความรู้ที่มากไปไม่มีประโยชน์ ทำไมถึงพูดอย่างนั้น ผมปรารถนาที่จะเห็นว่านอกจากสังคมที่เต็มไปด้วยผู้รู้และความรู้แล้ว ผมอยากเห็นสังคมในอนาคตเป็นสังคมของผู้ลงมือทำ หรือผู้กระทำ คือไม่ใช่แค่รู้แล้วมาถกเถียงกันแล้วแยกย้ายกลับบ้านนอน แต่เอาความรู้นั้นไปทำให้เกิดเป็นประโยชน์ทั้งลบทั้งบวกก็ได้ แต่ต้องลงมือทำก่อนอย่าสักแต่ว่ารู้ และจากสังคมผู้รู้หรือสังคมความรู้ ควรจะเปลี่ยนมาเป็นสังคมผู้กระทำหรือผู้ลงมือทำ อย่างนี้ผมว่าจะมีประโยชน์ต่อตัวสังคมจริงๆ มากกว่า เราไม่สามารถขับเคลื่อนสังคมได้แค่ด้วยความรู้ แต่เราขับเคลื่อนสังคมได้ด้วยการลงมือทำจริงๆ และการลงมือทำจริงๆ เราต้องลงมือทำที่ตัวเราเองเป็นคนแรก เพราะฉะนั้นจากสำนึก ขั้นตอนที่หนึ่งคือ เราควรจะสร้างคนให้เป็นคนมีสำนึก อันที่สองคือ ลงมือทำที่ตัวเอง แล้วพวกเขาสามารถเรียกร้องจากโลก จากสังคมได้ไหม เรียกร้องได้ มีสิทธิ แต่ว่าคนแรกที่เขาต้องเรียกร้องไม่ใช่ชาวบ้าน ไม่ใช่คนอื่น เป็นตัวเขาเองที่เขาต้องเรียกร้อง ถ้าเขาอยากได้เรื่องอะไรหรือประเด็นอะไรเขาต้องเรียกร้องที่ตัวเขาเองก่อนเป็นอันดับแรก ก่อนที่จะไปเรียกร้องอันนั้นอันนี้กับคนนั้นคนนี้ เราต้องเริ่มจากตัวเองก่อน ถ้าเป็นอย่างนี้ได้จริงผมว่าการขับเคลื่อนสังคมจะมีพลังมากกว่าแค่ในระดับวาทกรรม คือมันจะเกิดขึ้นจริงได้ มันมีคำๆ หนึ่งที่ผมฟังทีไรแล้วผมรู้สึกไม่ชอบ คือหน่วยงานราชการชอบพูดคำสวยๆ ว่า “ความรู้ต้องคู่กับคุณธรรม” แต่อันที่จริงความรู้ไม่จำเป็นต้องคู่กับคุณธรรม สำหรับผมผมคิดว่าความรู้ต้องคู่กับการลงมือทำมากกว่า เพราะถ้าความรู้ไปจับคู่กับคุณธรรมมันก็จบแค่ระดับวาทกรรม มันไม่ได้ลงมือปฏิบัติจริง มันไม่มีประโยชน์ เพราะฉะนั้นความรู้ต้องคู่กับการกระทำ และประเด็นสุดท้ายที่ผมอยากจะบอกก็คือในความเป็นจริงแล้ว ผมบอกว่าเราต้องเริ่มเข้าใจตัวของเราก่อน เพราะผมเชื่อว่ามนุษย์โดยส่วนใหญ่ไม่ได้รู้จักตัวเองจริงๆ เราจึงตกหลุมพรางของกับดักทางความคิดความรู้ต่างๆ ได้ง่ายมาก เมื่อสักครู่อาจารย์ยาย (ผศ.ดร.อภิญญา เฟื่องฟูสกุล) พูดจบได้น่าสนใจว่าทำยังไงเราถึงจะไม่ตกเป็นเหยื่อของ neoliberalism (ลัทธิเสรีนิยมใหม่) ผมคิดว่าวิธีหนึ่งที่เราจำเป็นจะต้องทำก็คือหันกลับมาใส่ใจตัวเราจริงๆ เมื่อเช้าอาจารย์ยศ สันตสมบัติ พูดถึง 5 ขั้นตอน ซึ่งค่อนข้างน่าสนใจก็คือ ขั้นตอนแรกอาจารย์บอกว่าเราจะต้องสอนนักศึกษาให้รู้จักสะท้อนย้อนคิด ขั้นที่สองเราต้อง demystify หรือขจัดมายาคติหรือรู้เท่าทันมายาคติ จนนำไปสู่ขั้นที่สามคือเปิดพื้นที่ แต่พื้นที่ตรงนี้ผมคิดว่าเรายังไม่จำเป็นต้องเปิดให้คนอื่น เราเปิดให้ตัวเราเองก่อน และเมื่อเราเปิดพื้นที่ให้ตัวเราเองได้แล้วเราถึงจะมีกำลังหรือมีความเป็นไปได้ที่เราจะไปขับเคลื่อนคนอื่น เพราะฉะนั้นโดยภาพรวมผมอยากจะนำเสนอในเชิงสรุปว่าโดยส่วนตัว ผมคิดว่าในวันพรุ่งนี้หรือในอนาคต ถ้าเราจะใช้ชีวิตอยู่กับมันได้อย่างค่อนข้างจะเป็นไปได้หรือไม่เดือดร้อนมากนัก ข้อที่หนึ่งที่จำเป็นต้องมีคือ เราต้องเป็นคนที่มีความรู้ ความรู้ก็สำคัญเพียงแต่เราอย่าไปหลงใหลกับมันจนเกินไป เราต้องมีความรู้ ขั้วหนึ่งคือความรู้ อีกขั้วหนึ่งเป็นเรื่องของการกระทำหรือการลงมือทำ แล้วตรงกลางคืออะไร ตรงกลางก็คือที่ผมพูดไปตั้งแต่ตอนต้นคือต้องมีสำนึก เราต้องเป็นคนที่มีสำนึก สำนึกตัวนี้จริงๆ แล้วมันมีอยู่แค่สองข้อที่จะเอาไปใช้ได้จริงในชีวิตจริง ข้อที่หนึ่งคือเราต้องดูความควรไม่ควรในสิ่งที่เรากำลังทำ ข้อที่สองสมมติถ้าเราจะเรียกมันว่าคุณธรรม มันก็คือการต้องจริงจังกับการถามตัวเองว่า สิ่งที่เราทำกันอยู่ตรงนี้หรือตัวเราทำตอนนี้เป็นสิ่งที่เราทำแล้วเราเดือดร้อนไหม คนอื่นเดือดร้อนไหม ถ้าเราทำแล้วตัวเราไม่เดือดร้อน คนอื่นก็ไม่เดือดร้อนเราก็ทำไปเถอะมันไม่ได้เป็นอะไร นี่คือสิ่งที่ผมเรียกมันว่า คุณธรรม คุณธรรมสำหรับผมในชีวิตจริงก็คือแค่นี้ เราต้องตรงต่อตัวเอง จริงจังกับตัวเอง ว่าสิ่งที่เราทำอยู่มันทำแล้วตัวเราเดือดร้อนหรือเปล่า คนอื่นเดือดร้อนไหม ถ้าตัวเราไม่เดือดร้อน คนอื่นไม่เดือดร้อน ใครจะมองว่ามันถูกหรือผิด ดีหรือไม่ดี ก็ไม่เป็นไร ทำไปเถอะ จริงๆ ชีวิตมันก็มีแค่นี้ แล้วถ้าเราสามารถชัดเจน จริงจังกับตรงนี้ได้ผมว่ามันเป็นคุณสมบัติพื้นฐานของความเป็นคนที่ไม่ว่าในอนาคตจะยุคไหน รูปแบบไหนเราก็จะอยู่ได้Downloads
Published
2024-12-27
How to Cite
Panyagaew, Wasan, Rangsan Prathumwan, Pinkaew Laungaramsri, and Pirote Kongthaweesak. 2024. “สังคมวิทยา-มานุษยวิทยา เชียงใหม่ ในบททบทวน สู่ภารกิจใหม่ในวันพรุ่ง”. Social Sciences Academic Journal, Faculty of Social Sciences, Chiang Mai University 36 (2):32-46. https://so04.tci-thaijo.org/index.php/jss/article/view/277012.
Issue
Section
Special Section
License
Copyright (c) 2024 Social Sciences Academic Journal, Faculty of Social Sciences, Chiang Mai University
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.
All written articles published on Journal of Social Sciences is its author’s opinion which is not belonged to Social Sciences Faculty, Chiang Mai University or is not in a responsibility of the journal’s editorial committee’s members.