การศึกษาการเมืองถิ่นและนักการเมืองถิ่นจังหวัดหนองบัวลำภู

ผู้แต่ง

  • วัลลภ รัฐฉัตรานนท์ ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • นพพล อัคฮาด คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์

คำสำคัญ:

การเมืองถิ่น, นักการเมืองถิ่น, จังหวัดหนองบัวลำภู

บทคัดย่อ

การสำรวจเพื่อประมวลข้อมูลการเมืองถิ่นและนักการเมืองถิ่นในพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู มีวัตถุประสงค์เพื่อรู้จักนักการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งในจังหวัดหนองบัวลำภูตั้งแต่มีการจัดตั้งเป็นจังหวัดหนองบัวลำภูขึ้นจนถึงปัจจุบัน และกลวิธีการหาเสียงของนักการเมือง ใช้วิธีการศึกษาเชิงคุณภาพ ทำการเก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์และการเข้าสังเกตแบบมีส่วนร่วมในพื้นที่ช่วงเดือนเมษายน–เดือนกันยายน พ.ศ.2555 แล้วทำการตรวจสอบความถูกต้องและสร้างข้อสรุปโดยการจำแนกและจัดระบบข้อมูล จากการศึกษาพบว่า นักการเมืองถิ่นจังหวัดหนองบัวลำภูสามารถจำแนกได้ดังนี้ คือ นักการเมืองท้องถิ่น, นักธุรกิจในท้องถิ่น, ข้าราชการในพื้นที่ และบุคคลที่สืบทายาททางการเมืองของคนในครอบครัว ส่วนผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นนักการเมืองชายจำนวน 10 คน นักการเมืองหญิง 2 คน ในจำนวนนี้มีผู้ที่มีความสัมพันธ์กับนักการเมืองคือ เป็นบิดา-บุตร 1 คน และคู่สมรส 1 คน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับการเลือกตั้งมีจำนวน 7 คน โดยอยู่ในตำแหน่งมากสุด คือ 13 สมัย ได้แก่ นายกิตติศักดิ์ หัตถสงเคราะห์ รองลงมา ได้แก่ นายไชยา พรหมา จำนวน 8 สมัย และนายวิชัย สามิตร 5 สมัย และสมาชิกวุฒิสภาที่ได้รับการเลือกตั้ง คนละ 1 สมัย จำนวน 5 คน พรรคการเมืองที่มีบทบาทในการเมืองถิ่นจังหวัดหนองบัวลำภู นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2538 จนถึง พ.ศ.2544 ที่ได้รับความนิยมจากประชาชน ได้แก่ พรรคความหวังใหม่ พรรคกิจสังคม และพรรคชาติพัฒนา และในช่วงปี พ.ศ.2544 – ปัจจุบัน กระแสความนิยมของพรรคไทยรักไทยหรือพรรคการเมืองที่ ดร.ทักษิณ ชินวัตร ให้การสนับสนุน เช่น พรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย จะได้รับความนิยมจากประชาชนในจังหวัดหนองบัวลำภูอย่างสูง สำหรับวิธีการ และกลวิธีการหาเสียงในการเลือกตั้งของนักการเมืองถิ่นในจังหวัดหนองบัวลำภู มีหลายรูปแบบ ได้แก่ การปราศรัย การใช้รถยนต์ติดเครื่องขยายเสียงประชาสัมพันธ์ การให้เงินซื้อเสียง การเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม และการใช้หัวคะแนนในระดับหมู่บ้าน และบทบาทและความสัมพันธ์ของกลุ่มผลประโยชน์และกลุ่มที่ไม่เป็นทางการ พบว่า ครอบครัว ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง เครือข่ายระบบราชการในพื้นที่ การมีภูมิลำเนาในพื้นที่ และกลุ่มคนเสื้อแดงในพื้นที่ล้วนเป็นปัจจัยที่สนับสนุนทางการเมืองแก่นักการเมืองถิ่นในจังหวัดหนองบัวลำภู ข้อเสนอแนะเพื่อการศึกษาวิจัยในโอกาสต่อไป ในเบื้องต้นควรจัดให้มีการประชุมสัมมนาในเชิงประวัติศาสตร์การเมืองจังหวัดหนองบัวลำภู เพื่อจะได้ข้อมูลรายละเอียดข้อคิดเห็นที่หลากหลายขึ้น การศึกษาวิจัยเรื่องนี้ควรเป็นโครงการต่อเนื่อง เพราะสถานการณ์การเมืองถิ่นจังหวัดหนองบัวลำภูได้พัฒนาการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งการศึกษาเป็นกรณีเฉพาะบทบาทของพรรคไทยรักไทยหรือพรรคการเมืองที่เชื่อมโยงกับ ดร.ทักษิณ ชินวัตร เช่น พรรคพลังประชาชน และเพื่อไทย และกลุ่มคนเสื้อแดงในพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภูก็จะสามารถทำให้เห็นภาพรวมของการเมืองถิ่นและนักการเมืองถิ่นจังหวัดหนองบัวลำภูที่มีความคมชัดและสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2015-12-30