แนวทางการสร้างวิถีชีวิตแบบประชาธิปไตยบนพื้นฐานของวัฒนธรรมชนเผ่าพื้นเมืองในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของไทย

ผู้แต่ง

  • นพพล อัคฮาด คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์

คำสำคัญ:

ประชาธิปไตยชุมชน, วีถีวัฒนธรรมชุมชน, ชุมชนชาติพันธุ์พื้นเมือง, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

บทคัดย่อ

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ถอดบทเรียนกระบวนการทำงานในชุมชนแต่ละวัฒนธรรมชุมชนชาติพันธุ์ที่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างคุณลักษณะของวิถีประชาธิปไตยชุมชนกับวิถีวัฒนธรรมชุมชน และ 2) วิเคราะห์และอภิปรายผลที่จะนำไปสู่การสร้างบทสรุปจากการศึกษาในการใช้เป็นแนวทางการสร้างวิถีชีวิตแบบประชาธิปไตยบนพื้นฐานของวัฒนธรรมชนเผ่าพื้นเมืองในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยเป็นแบบองค์รวม ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ ได้แก่ การใช้เทคนิคแบบกรณีศึกษาใน 5 ชุมชนชาติพันธุ์ที่มีลักษณะตามที่ต้องการศึกษา ใช้กลุ่มผู้ให้ข้อมูลสำคัญ จำนวน 18 - 22 คน เพื่อสัมภาษณ์ข้อมูลเชิงลึก และการประชุมกลุ่มย่อย รวมทั้งการสังเกตแบบมีส่วนร่วมในกิจกรรมของชุมชน และนำข้อมูลเอกสารที่เกี่ยวข้องมาทำการวิเคราะห์เนื้อหา และการวิเคราะห์วาทกรรมเปรียบเทียบจากบริบทของภาษาที่เรียบเรียงขึ้นจากข้อมูลเชิงพรรณนาและทำการตรวจสอบสามเส้าของข้อมูลเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องในการใช้พรรณนาในการแสดงผลในครั้งนี้ ผลการศึกษาพบว่า วิถีวัฒนธรรมชุมชนสามารถส่งเสริมให้เกิดคุณลักษณะของความเป็นประชาธิปไตยในชุมชนชาติพันธุ์พื้นเมืองในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตามที่ศึกษาได้โดย  1) ชุมชนมีการสร้างเกาะป้องกันชุมชนด้วยวิถีวัฒนธรรมชุมชนขึ้น  2) ประชาธิปไตยชุมชนต้องอาศัยพื้นฐานความเป็นชุมชนเสมอ  3) ประชาธิปไตยชุมชนเป็นกระบวนการหนึ่งของวิถีวัฒนธรรมในชุมชน ซึ่งวิถีดังกล่าวทำให้เกิดพลังของชุมชนในการใช้เป็นวิธีการช่วยทำงานชุมชน หรือนำมาปรับใช้ในการจัดทำบริการสาธารณะหรือการดำเนินงานตามนโยบายภาครัฐที่เข้าไปสู่ชุมชน  ซึ่งทำให้เกิดกระบวนการสร้างประชาธิปไตยในชุมชนที่สำคัญ คือ 1) ประชาธิปไตยแบบปกป้อง ได้แก่ การสร้างภูมิคุ้มกันภายในชุมชนด้วยกลไกการสร้างวัฒนธรรมชุมชน 2) ประชาธิปไตยแบบทางตรง ได้แก่  การคัดเลือกตัวแทนสมาชิกหรือคณะกรรมการของชุมชนเพื่อทำกิจกรรมสาธารณะ โดยมุ่งเน้นและให้ความสำคัญไปกับความเป็นผู้นำที่ต้องผ่านการพิสูจน์ตัวเองจนได้รับการยอมรับจากสมาชิกในชุมชน  3) ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ได้แก่ ชาวชุมชนได้ร่วมกันแก้ปัญหาด้วยกระบวนการการมีส่วนร่วมจากการลงมือทำงานเองตามความสนใจและความถนัดของแต่ละคน  4) ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ ได้แก่ มีการเรียกประชุมสม่ำเสมอ มีการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบภายในชุมชน มีความโปร่งใสในการทำงานของกลุ่มในหมู่แกนนำซึ่งชุมชนเชื่อว่าเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ และมีระบบผู้อาวุโสเป็นที่สร้างความเชื่อถือในการกลั่นกรองประเด็นการปรึกษาหารือ มีการแบ่งการดูแลเป็นระบบย่อยทำหน้าที่ประสานงานและดำเนินการแลกเปลี่ยนการรับฟังความเห็นของสมาชิกให้เป็นไปอย่างทั่วถึง  เป็นต้น  ซึ่งกระบวนการดังกล่าวได้นำไปสู่แนวทางการพัฒนาการให้บริการสาธารณะระหว่างสมาชิกชุมชนด้วยกันซึ่งเป็นปรากฏการณ์หนึ่งสำหรับการสร้างความเป็นพลเมืองแบบประชาธิปไตยที่เหมาะสมกับชุมชนที่ใช้วิถีวัฒนธรรมชนเผ่าพื้นเมืองในการพัฒนาตนเองตามที่เกิดขึ้นดังนี้  1) สร้างความรับผิดชอบ  ที่สามารถสร้างนักบริหารในชุมชนขึ้น ให้มีความรับผิดชอบต่อสมาชิกคนอื่นๆในชุมชน ในฐานะที่ตนเป็นตัวแทนของชุมชนที่มีภาระหน้าที่ความรับผิดชอบต่อสมาชิกของชุมชนเดียวกันเพิ่มขึ้น  2) การสร้างพลเมือง ที่มีการใส่จิตวิญญาณของชุมชนเข้าไปในการทำงานให้กับชุมชน  ถือเป็นหลักการสำคัญของการสร้างพลเมืองของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย  และ  3) การสร้างภาคประชาสังคมในการสะท้อนความคิดและความต้องการของชุมชน  ซึ่งเป็นตัวแทนที่เกิดขึ้นระหว่างภาครัฐและสมาชิกในชุมชน ในการที่จะทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์สาธารณะให้เกิดขึ้นกับทั้งสองฝ่าย  ทำให้ชุมชนสามารถทำการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหรือวิธีการทำงานชุมชนให้เหมาะสมกับบริบทชุมชน และเป็นที่น่าพึงพอใจให้แก่หน่วยงานรัฐที่เห็นความสำคัญ จนนำไปสู่การทำให้เกิดความเข้มแข็งของสังคมขนาดเล็กที่มีการใช้วัฒนธรรมชาติพันธุ์พื้นเมืองของกลุ่มตนในการดำรงอยู่ในสังคมประชาธิปไตยดังเช่นปัจจุบันอยู่ได้

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2016-12-31