ความสัมพันธ์ระหว่างการควบคุมคุณภาพงานสอบบัญชีสหกรณ์ กับคุณภาพการสอบบัญชีของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์

ผู้แต่ง

  • ณัฐกฤต ศรีสอาด -
  • ปานฉัตร อาการักษ์
  • อรวรรณ เชื้อเมืองพาน

คำสำคัญ:

การควบคุมคุณภาพงานสอบบัญชีสหกรณ์ , คุณภาพการสอบบัญชีสหกรณ์ , กรมตรวจบัญชีสหกรณ์

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาสภาพการควบคุมคุณภาพงานสอบบัญชีสหกรณ์ของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ 2) เพื่อทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างการควบคุมคุณภาพงานสอบบัญชีสหกรณ์กับคุณภาพการสอบบัญชีของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ 3) เพื่อศึกษาปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพการควบคุมคุณภาพงานสอบบัญชีสหกรณ์ของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ประชากรกลุ่มเป้าหมาย ที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ หัวหน้าสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ในสังกัดกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ รวมทั้งสิ้น จำนวน 70 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือแบบสอบถาม โดยใช้ค่าเฉลี่ย,ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน,การวิเคราะห์สหสัมพันธ์และการวิเคราะห์ความถดถอยแบบพหุคูณในการวิเคราะห์ข้อมูล

ผลการวิจัย พบว่า หัวหน้าสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ในสังกัดกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ มีระดับความคิดเห็นเกี่ยวกับระดับการควบคุมคุณภาพงานสอบบัญชีและคุณภาพการสอบบัญชีอยู่ในระดับมากที่สุดใน  ทุกด้าน เมื่อทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างการควบคุมคุณภาพงานสอบบัญชีกับคุณภาพการสอบบัญชีของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ พบว่า การควบคุมคุณภาพงานสอบบัญชีมีความสัมพันธ์และมีผลกระทบเชิงบวกกับคุณภาพการสอบบัญชีด้านความรับผิดชอบของผู้นำ ด้านการตอบรับงานและการรักษาลูกค้า ด้านการมอบหมายงานและพัฒนาความรู้ทางวิชาชีพ ด้านการปฏิบัติงาน ด้านการติดตามผลในส่วนของด้านจรรยาบรรณของผู้สอบบัญชีมีความสัมพันธ์กับคุณภาพการสอบบัญชี แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพการสอบบัญชี การควบคุมคุณภาพงานสอบบัญชีสหกรณ์จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่กรมตรวจบัญชีสหกรณ์นำมาใช้สร้างความเชื่อมั่นและเพิ่มคุณภาพการสอบบัญชีของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ทั้งนี้ยังพบปัญหาอุปสรรคของการควบคุมคุณภาพงานสอบบัญชีสหกรณ์ เช่นจำนวนผู้สอบบัญชีที่มีน้อยเมื่อเทียบกับปริมาณงาน รวมถึงการที่ผู้สอบบัญชียังขาดความเข้าใจเกี่ยวกับ         การควบคุมคุณภาพงานสอบบัญชี ซึ่งเป็นประกาศใหม่ของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ จากปัญหาที่กล่าวมาข้างต้น นับว่าเป็นอุปสรรคต่อการที่ผู้สอบบัญชีจะสามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามการควบคุมคุณภาพการสอบบัญชีของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพงานสอบบัญชีสหกรณ์ ดังนั้นกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ควรเพิ่มกรอบอัตรากำลังแต่ละจังหวัด และจัดให้มีการอบรมสม่ำเสมอทุกปี ทั้งด้านวิชาการและจรรยาบรรณผู้สอบบัญชีตามหลักเกณฑ์และประกาศ เรื่อง การควบคุมคุณภาพงานสอบบัญชีสหกรณ์ พ.ศ.2563

References

ดวงเนตร ชูผล. (2559). ความสัมพันธ์ระหว่างระบบมาตรฐานการควบคุมคุณภาพงานสอบบัญชีกับคุณภาพการสอบบัญชีในกรมตรวจบัญชีสหกรณ์. วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต สาขาการบัญชี คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.

ทิพวรรณ์ ศิริมาตร. (2555). ผลกระทบของคุณลักษณะหลักฐานการสอบบัญชีที่ดีที่มีต่อคุณภาพการสอบบัญชีของผู้สอบบัญชีรับอนุญาตในประเทศไทย. วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต สาขาการบัญชี คณะการบัญชีและการจัดการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.

ธัญลักษณ์ ศรีพรสวรรค์. (2553). การศึกษาเชิงคุณภาพเกี่ยวกับปัญหาและผลกระทบของการนำมาตรฐานการควบคุมคุณภาพสำนักงานสอบบัญชีมาปฏิบัติ. วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

นภาพร กุลสุวรรณ. (2555). ผลกระทบของการควบคุมคุณภาพที่มีต่อการดำเนินงานของสำนักงานสอบบัญชีในประเทศ. วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต คณะการบัญชีและการจัดการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.

พรนภา ประเสริฐศักดิ์. (2559). ปัจจัยที่ส่งผลต่อการปฏิบัติตามมาตรฐานการควบคุมคุณภาพ ฉบับที่ 1 (TSQC1) ของสำนักงานสอบบัญชีขนาดเล็กและผู้สอบบัญชีอิสระ. วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยบูรพา.

วันสิริ ประเสริฐทรัพย์. (2563). ผลกระทบการควบคุมคุณภาพตามมาตรฐานควบคุมคุณภาพ ฉบับที่ 1 (TSQC1) ที่มีต่อคุณภาพ การสอบบัญชีของสำนักงานสอบบัญชีระหว่างประเทศ (Big 4) และในประเทศ (Non - Big 4) ในมุมมองผู้สอบบัญชีที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในประเทศไทย. วารสารวิชาการมหาวิทยาลัยฟารอีสเทอร์น. 14 (1), 19 - 20.

ศิลปพร ศรีจั่นเพชร. (2552). การควบคุมคุณภาพสำนักงานสอบบัญชีสำหรับสำนักงานสอบบัญชีขนาดเล็กและขนาดกลาง. วารสารวิชาชีพบัญชี. 5 (14), 26 - 28.

อัมไพวรรณ หมื่นแสน. (2561). ความเสี่ยงในการสอบบัญชี กรณีศึกษาผู้สอบบัญชีสหกรณ์ในจังหวัดเชียงใหม่. การค้นคว้าอิสระมหาบัณฑิต คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่.

อุษณา ภัทรมนตรี. (2558). การตรวจสอบภายในสมัยใหม่ (5). กรุงเทพฯ: จามจุรีโปรดักท์.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2023-06-30