วารสารนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้กำหนดแนวปฏิบัติทางจริยธรรมสำหรับการตีพิมพ์เผยแพร่บทความ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บทความทุกบทความมีคุณภาพสูงสุด บทความที่ไม่ได้มีมาตรฐานสอดคล้องกับแนวปฏิบัติทางจริยธรรมดังกล่าว จะไม่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ ฉะนั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ได้แก่ ผู้เขียน บรรณาธิการ และผู้ประเมินบทความมีหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติทางจริยธรรม

 หน้าที่ของบรรณาธิการ

1. บรรณาธิการมีหน้าที่รับผิดชอบในการพิจารณาคุณภาพของบทความที่เสนอตีพิมพ์ และมีกระบวนการประเมินบทความที่เป็นธรรม เพื่อให้บทความมีมาตรฐานสำหรับการเผยแพร่

2. บรรณาธิการต้องไม่เปิดเผยข้อมูลของผู้เขียนและผู้ประเมินบทความตลอดระยะเวลาที่อยู่ในกระบวนการประเมินบทความให้กับผู้ไม่เกี่ยวข้อง

3. บรรณาธิการต้องพิจารณาความทันสมัย ความชัดเจน อีกทั้งความสอดคล้องของเนื้อหากับวัตถุประสงค์ของวารสารเป็นสำคัญ โดยบทความที่ได้รับการตีพิมพ์ต้องผ่านกระบวนการประเมินบทความเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

4. บรรณาธิการจะต้องปฏิเสธการตีพิมพ์บทความที่เคยมีการตีพิมพ์มาก่อน

5. ในกรณีที่เกิดความไม่แน่ใจหรือมีข้อสงสัยในเนื้อหาของบทความ ต้องหาหลักฐานมาพิสูจน์ ก่อนบรรณาธิการจะปฏิเสธการตีพิมพ์บทความ

6. บรรณาธิการต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือส่วนได้เสียกับผู้เขียนและผู้ประเมินบทความ

7. หากตรวจพบการคัดลอกผลงานของบุคคลอื่น บรรณาธิการต้องติดต่อผู้เขียนหลักทันที เพื่อขอคำชี้แจงการตีพิมพ์บทความนั้น ๆ

8. บรรณาธิการต้องปฏิเสธการตีพิมพ์บทความที่มีการคัดลอกผลงานของบุคคลอื่น และสงวนสิทธิ์ในการตรวจสอบซ้ำแม้ว่าบทความจะได้รับการตีพิมพ์ไปแล้ว

หน้าที่ของผู้ประเมินบทความ

1. ผู้ประเมินบทความจะต้องไม่เปิดเผยข้อมูลหรือเนื้อหาของบทความให้บุคคลอื่น ตลอดระยะเวลาของการประเมินบทความ

2. ผู้ประเมินบทความจะต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้เขียน หรือรู้จักกับผู้เขียนเป็นการส่วนตัว ในกรณีที่ผู้ประเมินรู้สึกไม่สามารถประเมินบทความได้อย่างอิสระ ให้แจ้งบรรณาธิการและยกเลิกการเป็นผู้ประเมินบทความนั้น ๆ

3. ผู้ประเมินจะต้องไม่ประเมินบทความที่ตนเองมีส่วนได้เสียหรือผลประโยชน์ทับซ้อน อันเนื่องมาจากการเป็นคู่แข่งหรือเป็นคู่ความร่วมมือ หรือมีความเกี่ยวพันอื่น ๆ กับสถาบันที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบทความนั้น ๆ

4. ผู้ประเมินควรประเมินบทความในสาขาที่มีความเชี่ยวชาญ โดยพิจารณาความสำคัญของเนื้อหาในบทความ และพิจารณาบทความโดยวิเคราะห์คุณภาพและความเข้มข้นของเนื้อหา โดยไม่ใช้ความคิดเห็นส่วนตัว

5. ผู้ประเมินจะต้องประเมินบทความโดยไม่คำนึงถึงชาติกำเนิด เพศ สัญชาติ ความเชื่อทางศาสนา และการเมืองของผู้เขียน

6. ผู้ประเมินบทความสามารถระบุผลงานวิจัยที่มีความคล้ายคลึงกับบทความที่ตนเองประเมิน หากส่วนใดส่วนหนึ่งของบทความมีความเหมือนหรือคล้ายคลึงกับผลงานของบุคคลอื่น ผู้ประเมินบทความต้องแจ้งให้บรรณาธิการทราบ

หน้าที่ของผู้เขียน

1. ผู้เขียนต้องรับรองว่าผลงานของตนมีความใหม่ ไม่ได้ละเมิดลิขสิทธิ์ หรือคัดลอกผลงานของผู้อื่นบางส่วนหรือทั้งหมดโดยปราศจากการอ้างอิงที่ชัดเจน

2. ผู้เขียนต้องรับรองว่าบทความที่ส่งมานั้นยังไม่เคยตีพิมพ์หรืออยู่ระหว่างการเสนอเพื่อพิจารณาตีพิมพ์ในวารสารอื่น หรือในสื่อออนไลน์อื่น ๆ

3. ผู้เขียนต้องนำเสนอข้อมูลที่เป็นความจริง ไม่นำเสนอข้อมูลอันเป็นเท็จ การนำเสนอข้อมูลอันเป็นเท็จเป็นการทำผิดจริยธรรม

4. ผู้เขียนต้องอ้างอิงผลงานของผู้อื่นหรือคำที่ปรากฏในเนื้อหา (เชิงอรรถ) หากมีการนำผลงาน หรือคำเหล่านั้นมาใช้ในผลงานของตนเอง รวมทั้งจัดทำบรรณานุกรมท้ายบทความทุกรายการ

5. ผู้เขียนต้องนำเสนอบทความให้เป็นไปตามรูปแบบที่วารสารกำหนด

6. ผู้เขียนทุกคนที่มีชื่อปรากฏในบทความต้องเป็นผู้มีส่วนร่วมในการวิจัยจริง

7. ผู้เขียนต้องระบุชื่อสถาบันหรือแหล่งทุนที่สนับสนุนในการทำวิจัยนี้ (ถ้ามี)

8. ผู้เขียนต้องระบุผลประโยชน์ทับซ้อน (ถ้ามี)

9. กรณีที่ผู้เขียนพบความผิดพลาดของเนื้อหาในบทความที่เสนอตีพิมพ์หรือบทความที่ได้ตีพิมพ์ไปแล้ว ผู้เขียนจะต้องแจ้งให้บรรณาธิการทราบทันที และให้ความร่วมมือในการแก้ไขความผิดพลาดนั้น รวมถึงตรวจสอบบทความซ้ำ