บทบรรณาธิการ

ผู้แต่ง

  • ภูภณัช รัตนชัย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี

บทคัดย่อ

                วารสารนิติศาสตร์และสังคมท้องถิ่นฉบับนี้ เป็น ปีที่ 3 ฉบับที่ 1 ซึ่งนับว่า เป็นบันไดที่จะก้าวไปสู่เป้าหมายในเกณฑ์การคัดเลือก และเกณฑ์การประเมินคุณภาพวารสารในฐานข้อมูล TCI เพื่อให้เป็นไปตาม กฎ กติกา ที่ศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย ได้กำหนดกรอบเอาไว้

                ประเทศไทยได้ใช้การปกครองโดยอาศัย กฎ กติกา ที่เรียกว่า “กฎหมาย” เช่นกัน โดยมีกฎหมายบังคับใช้ในระดับพระราชบัญญัติ พระราชกำหนดและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จำนวนหนึ่งพันกว่าฉบับ จึงเป็นข้อสังเกตประการหนึ่งว่าชนชาติใดที่มีอารยธรรมเป็นที่ตั้ง ชนชาตินั้นย่อมมีกฎหมายบังคับใช้เพียงเท่าที่สำคัญ   และจำเป็น หลักนี้เป็นหลักธรรมชาติ ที่สนับสนุนว่า หากชนชาติใดอาศัยอยู่ร่วมกัน    อย่างร่มเย็นเป็นสุขแล้ว ไฉนเลยจะต้องตรากฎหมายออกมาบังคับใช้อย่างมากมาย

                พระพุทธศาสนาได้รุ่งเรืองอยู่ในประเทศไทยมาหลายร้อยปี วัตถุประสงค์เบื้องต้นของพุทธศาสนามุ่งสอนให้ทุกคนเป็นคนดี โดยอาศัย ศีล เป็นเครื่องมือปฏิบัติ เพื่อพัฒนาจิตใจให้เป็นสมาธิ และเกิดปัญญาที่มองเห็นความเป็นจริงของธรรมชาติ รู้เท่าทันสภาวะจิตในอารมณ์ปัจจุบันที่เกิดความ โกรธ โลภ หลง และไม่ยอมตกอยู่ภายใต้การครอบงำของกิเลสเหล่านั้น เป็นการพัฒนาจิตใจของมนุษย์ให้สูงขึ้น จนอยู่เหนือเครื่อง  ทำใจให้เศร้าหมองดังกล่าวได้ เมื่อบุคคลใดสามารถปฏิบัติได้ก็ไม่อาจจะก่อเวร อันเป็นเหตุให้ผู้อื่นและสังคมได้รับความเดือนร้อน

               อนึ่ง ข้อสังเกตนี้ ทำให้เกิดความคิดได้ว่า การประพฤติตนของบุคคลในสังคมไทยที่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายและมีเสรีภาพในการนับถือศาสนา หลักเกณฑ์ทั้งสองประการนี้ต่างมีความย้อนแย้งกันตรงที่ว่า คนไทยส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ อันเป็นศาสนาที่ต่อต้านกิเลสทั้งปวงอย่างแท้จริง แต่พุทธสาวกบางส่วนกลับปฏิบัติตนไปในทิศทางที่ตรงกันข้ามกับหลักสอนของพุทธศาสนา แก่งแย่งช่วงชิงเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์แก่ตนเอง และพวกพ้อง ขัดต่อหลักหิริ โอตตัปปะ เป็นการละเมิดธรรม นำความเดือดร้อนให้บังเกิดแก่สังคม จนในที่สุด รัฐผู้ปกครองพยายามหาทางแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ด้วยการตรากฎหมายขึ้นมาบังคับใช้ และมีโทษทางอาญา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จะขอหยิบยกถึงปัญหา “หลักธรรมาภิบาล” ในสถาบันอุดมศึกษา อันเป็นแหล่งประเทืองปัญญาที่มีครูบาอาจารย์อบรมบ่มเพาะลูกศิษย์ให้ออกไปใช้ชีวิตภายนอกในฐานะเป็นคนดี และเป็นศิษย์ที่มีครู ดังนั้น อาชีพครูบาอาจารย์จึงเป็นอาชีพที่ควรภาคภูมิใจ และเป็นเกียรติยศสูงส่งแก่วงศ์ตระกูลที่ไม่มีบุคคลใดมาทำลายล้างให้เสื่อมเสียได้นอกจากตัวเอง

              พระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. 2562 ได้กำหนดในเรื่องการจัดการ การอุดมศึกษาที่ต้องประกอบไปด้วยหลัก 5 ประการ โดยนำ “หลักธรรมาภิบาล” เข้ามาเป็นหลักสำคัญ และได้กำหนดให้ สถาบันอุดมศึกษาและบุคลากรต้องปฏิบัติหน้าที่ตามหลักธรรมาภิบาล สถาบันอุดมศึกษาต้องจัดให้มีระบบควบคุมภายใน และระบบตรวจสอบ  ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อประโยชน์ในการป้องกัน และขจัดการขัดกันแห่งผลประโยชน์ และการทุจริตและประพฤติมิชอบ ประการสำคัญ นายกสภาสถาบันอุดมศึกษาและกรรมการสภาสถาบันอุดมศึกษา ต้องเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติหน้าที่อย่างมีธรรมาภิบาล หากเกิดกรณีมีปัญหาในการดำเนินกิจการของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่ได้กระทำการใดขัดต่อกฎหมาย ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือการไม่ปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลอย่างร้ายแรง หรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อส่วนรวม เมื่อคณะกรรมการการอุดมศึกษาหรือคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษาได้มีข้อเสนอแนะและความเห็นชอบไปยังรัฐมนตรีเพื่อวินิจฉัยชี้ขาด สั่งให้กระทำการยับยั้ง หรือยุติการดำเนินการของสถาบันอุดมศึกษา ถ้าหากสถาบันอุดมศึกษานั้น ยังฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามก็อาจส่งผลถึงการได้รับโทษทางอาญา

              บทบัญญัติที่ค่อนข้างมีการลงโทษที่รุนแรง ย่อมมีเจตนารมณ์ของกฎหมาย  เพื่อการป้องปรามมิให้บุคคลผู้มีอำนาจในการกำกับดูแล และบริหารงานราชการ ของสถาบันอุดมศึกษา กระทำการใดโดยขัดต่อพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว และได้บัญญัติในหมวดอื่น ๆ อีกหลายประการ เพื่อให้การจัดการอุดมศึกษาและการพัฒนาบุคลากรเป็นไปอย่างมีคุณภาพ และมาตรฐานทัดเทียมนานาอารยประเทศ พัฒนาบุคคลให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา มีคุณธรรม จริยธรรม และจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและแก้ปัญหาให้แก่สังคมส่วนรวมได้ เพื่อจะนำไปสู่ความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคม

              ผู้เขียนในฐานะบุคลากรของสถาบันอุดมศึกษา หวังว่ากฎหมายฉบับดังกล่าว สามารถบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ จะเดินต่อไปได้อย่างมีความมั่นคง ทำให้เกิดประโยชน์กับนักศึกษาที่จะออกไปเป็นกำลังหลักของประเทศชาติได้ต่อไปในอนาคต

               วารสารฉบับนี้ได้นำเสนอบทความวิจัย 5 เรื่องและบทความวิชาการ 3 เรื่อง ซึ่งประกอบไปด้วยปัญหาด้านกฎหมายและด้านสังคม โดยมีนักวิชาการทั้งในและนอกสถาบัน ส่งผลงานเข้ามาประเมินเพื่อพิมพ์เผยแพร่ นับว่าเป็นการพัฒนาของวงการวิชาการที่ได้นำปัญหาที่เกิดขึ้นมาตีแผ่ เพื่อให้ผู้อ่านทั้งที่เป็นประชาชนทั่วไป นักวิชาการ และหน่วยงานของรัฐได้รับทราบ และได้นำปัญหาที่เกิดขึ้นไปปรับปรุง แก้ไข ขจัดปัญหาเหล่านั้นให้หมดสิ้นไป กองบรรณาธิการของวารสารยังคงประสงค์มุ่งมั่นพัฒนาวารสาร ให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น เพื่อเป็นเวทีแหล่งเรียนรู้ในวงวิชาการต่อไป

 

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ภูภณัช รัตนชัย

 

Downloads

เผยแพร่แล้ว

06/28/2019