การศึกษาบริบทและแบบแผนการดื่มสุรา ของแรงงานข้ามชาติชาวพม่าในพื้นที่จังหวัดเชียงราย

Main Article Content

ณัฐธิดา จุมปา
เพ็ญพักตร์ ไชยนุรักษ์
อัศวิน จุมปา

บทคัดย่อ

การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสาเหตุปัจจัยแวดล้อม แบบแผนพฤติกรรม และผลกระทบจากการดื่มสุราของแรงงานข้ามชาติชาวพม่าในจังหวัดเชียงรายเพื่อหาแนวทางและมาตรการการป้องกันและแก้ไขปัญหา เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามกับแรงงานข้ามชาติชาวพม่าที่เป็นกลุ่มตัวอย่างในการศึกษา จำนวน 385 คน  ที่มีพฤติกรรมดื่มสุรา แบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้างกับตัวแทนนายจ้างและสถานประกอบการ จำนวน 9 คน การสนทนากลุ่มย่อยกับตัวแทนนายจ้างและสถานประกอบการและเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง จำนวน 15 คน และการศึกษากรณีศึกษาเพื่อศึกษาเชิงลึกกรณีศึกษาแรงงานข้ามชาติที่มีแบบแผนพฤติกรรมการดื่มสุราและผลกระทบจากการดื่มสุรา วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปทางสถิติและจัดกลุ่มข้อมูลในตารางเปรียบเทียบ วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพโดยทำการแจกแจงและจัดกลุ่มข้อมูลในตารางเปรียบเทียบ (Comparative Table) เพื่อหาคำตอบอธิบายตามรายวัตถุประสงค์ ผลการศึกษาพบว่า


   สาเหตุปัจจัยแวดล้อมและแบบแผนพฤติกรรมการดื่มสุราของแรงงานข้ามชาติชาวพม่าในพื้นที่จังหวัดเชียงราย พบว่า แรงงานส่วนใหญ่เริ่มดื่มสุราครั้งแรกในช่วงอายุระหว่าง 16 - 20 ปี ในงานเลี้ยงสังสรรค์ งานฉลอง ประเพณีต่างๆ มีค่าใช้จ่ายในการดื่มสุราเฉลี่ยเดือนละ  896.94 บาท สุราที่นิยมดื่มมากที่สุดคือ เหล้าขาว มีพฤติกรรมการดื่มสุราแบบมีความเสี่ยง (Hazardous Drinking) มากที่สุด ร้อยละ 63.64 ดื่มแบบเสี่ยงต่ำ (Low Risk Drinking) ร้อยละ 20.78 ดื่มแบบอันตราย (Harmful Use) ร้อยละ 10.13 และดื่มแบบติด (Alcohol Dependence) ร้อยละ 5.45 บริบทด้านสังคมและวัฒนธรรมมีผลต่อพฤติกรรมการดื่มสุราของแรงงานในระดับมากที่สุด (= 4.52) รองลงมาบริบทด้านความเครียด (= 4.15) บริบทด้านวาระโอกาสการดื่ม (= 4.08) และบริบทสิ่งแวดล้อมและลักษณะของประเภทงานในระดับมาก (=3.95)


   ผลกระทบจากการดื่มสุราต่อตนเองและสุขภาพ พบว่า เป็นปัจจัยด้านการบั่นทอนสุขภาพกายและจิตมากที่สุด ร้อยละ 86.8  เกิดภาวะติดสุรา ร้อยละ 70.9 และเป็นสาเหตุให้เกิดโรคต่างๆ ร้อยละ 55.8 ผลกระทบต่อการทำงาน พบว่า ถูกนายจ้างตักเตือนมากที่สุด ร้อยละ 82.9 รองลงมาคือ ขาดงาน ร้อยละ 70.9 และประสิทธิภาพจากการทำงานต่ำ ร้อยละ 60.3 ผลกระทบต่อครอบครัวและสังคม พบว่า รายจ่ายของครอบครัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 77.1 รองลงมาคือ การทะเลาะเบาะแว้ง ร้อยละ 73.8 และเป็นสาเหตุให้เกิดอารมณ์หงุดหงิดต่อคนในครอบครัว ร้อยละ 73.2


   แนวทางและมาตรการการป้องกันแก้ไขปัญหาการดื่มสุราของแรงงานข้ามชาติชาวพม่าในจังหวัดเชียงราย ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนโดยเฉพาะนายจ้างสถานประกอบการต้องเข้มงวดในกฎระเบียบข้อบังคับเรื่องการดื่มสุราของแรงงานและนำไปสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริง ให้ความร่วมมือหน่วยงานภาครัฐในการให้ความรู้และสร้างความตระหนักในการป้องกันแก้ไขปัญหาร่วมกับหน่วยงานรัฐเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลดพฤติกรรมการดื่มสุราของแรงงานข้ามชาติชาวพม่าที่จะนำมาซึ่งผลกระทบต่างๆ ในสังคมไทย

Article Details

บท
บทความ

References

กรวรรณ บุษบง. (2557). พฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของนิสิตสาขาสุขศึกษา
คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

จุฬาภรณ์ โสตะและคณะ. (2554). การพัฒนาศักยภาพแกนนำนักศึกษาเพื่อเสริมสร้างค่านิยมการไม่ดื่มแอลกอฮอล์. ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา. กรุงเทพมหานคร.

ณัฐธิดา จุมปา. (2558). ตลาดแรงงานของแรงงานข้ามชาติชาวพม่า: นโยบายการจัดการแรงงานในพื้นที่จังหวัดเชียงราย. มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย.

ธนกฤต ชัยถวัลย์วงศ์ และรัศมน กัลป์ยาศิริ. (2556). การดื่มแอลกอฮอล์ของคนงานก่อสร้างในเขตกรุงเทพมหานคร. วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย. ปีที่58. ฉบับที่ 4 ตุลาคม – ธันวาคม 2556.

ปรียาพร ศุภษร. (2550). ปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ของนักศึกษาระดับอุดมศึกษาอำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม. กศ.ม. จิตวิทยาการศึกษา. มหาสารคาม. มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.

รุ้งตะวัน อย่างธาราและคณะ. (2548). พฤติกรรมการซื้อและการดื่มสุราในเขตกรุงเทพมหานคร. มหาวิทยาลัยราช
ภัฏจันทรเกษม. กรุงเทพมหานคร.

ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา. (2556). สถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และผลกระทบในประเทศไทย ปี 2556. ศูนย์วิจัยปัญหาสุราสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศกระทรวงสาธารณสุข. กรุงเทพมหานคร.

สันติ อุทรังษ์. (2552). พฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประชาชน ตำบลคาเหมือดแก้ว อำเภอห้วยเม็ก จังหวัดกาฬสินธุ์. วารสารวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพ. กรกฎาคม – ตุลาคม 2552.

สำนักงานจัดหางานจังหวัดเชียงราย. (2558). ข้อมูลจากรายงานสถานการณ์แรงงานเชียงราย ไตรมาสที่ 2 ปี 2558 เมษายน–มิถุนายน 2558.

สมยศ กองมนต์. (2556). ปัญหาและผลกระทบจากแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่าในพื้นที่อำเภอสันทราย จังหวัด
เชียงใหม่. รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
(สืบค้นจาก http://kanchanapisek.or.th เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2558)