พัฒนาการของผลงานบรรเลงเดี่ยวขิมในธุรกิจเพลงไทยเดิม
Main Article Content
บทคัดย่อ
การศึกษาเรื่อง พัฒนาการของผลงานบรรเลงเดี่ยวขิมในธุรกิจเพลงไทยเดิม มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพัฒนาการของผลงานบรรเลงเดี่ยวขิมในธุรกิจเพลงไทยเดิมในด้านของศิลปิน บทเพลง และลักษณะการบรรเลง ทำการศึกษาโดยวิธีการค้นคว้าเอกสารและสื่อดนตรีทั้งจากข้อมูลปฐมภูมิและทุติยภูมิ ซึ่งกำหนดขอบข่ายในการศึกษาแบ่งเป็น 4 ยุคตามลักษณะสื่อดนตรี คือ ยุคแผ่นเสียงครั่ง ยุคแผ่นเสียงลองเพลย์ ยุคเทปคาสเซ็ท และยุคซีดี ผลการศึกษาพบว่า ผลงานบรรเลงเดี่ยวขิมในธุรกิจเพลงไทยเดิมเริ่มจากในยุคแผ่นเสียงครั่งโดยบริษัทต่างชาติเข้ามาบันทึกเสียงบรรเลงเดี่ยวขิมเนื่องจากความนิยมที่มีต่อเครื่องดนตรีและชื่อเสียงของศิลปิน คือ นายพุฒ นันทพล และนายมนตรี ตราโมท ผลงานดังกล่าวเป็นการเดี่ยวเครื่องดนตรีตามนิยามความหมายทางดนตรีไทย ในยุคแผ่นเสียงลองเพลย์ เป็นช่วงที่ดนตรีไทยเริ่มเสื่อมความนิยมเนื่องจากนโยบายของรัฐที่ต้องการผลักดันประเทศไปสู่ความเป็นอารยะ ผนวกกับความนิยมที่มีต่อเพลงสากลและเพลงไทยสากล จึงส่งผลต่อผลงานเดี่ยวขิมซึ่งไม่ได้รับความนิยมโดยเป็นเพียงรายการหนึ่งที่แทรกอยู่ในชุดผลงานดนตรีไทยต่างๆ โดยบทเพลงที่นำมาบรรเลงในยุคนี้ได้แก่ เพลงสำเนียงจีนและเพลงสามชั้น(ทางเดี่ยว) ศิลปินที่ปรากฏชื่อ คือ เชวงศักดิ์ โพธิสมบัติ และสุวิทย์ บวรวัฒนา ต่อมาในยุคเทปคาสเซ็ท มีจำนวนผลงานบรรเลงเดี่ยวขิมเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ทั้งจากอิทธิพลจากละครเรื่องคู่กรรม ทำให้ขิมเป็นที่นิยม และเพลงไทยสากลที่ถูกเลือกมาใช้ในการบรรเลงในชุดผลงาน นอกจากนี้ยังมีการบรรเลงเดี่ยวขิมด้วยเพลงพื้นเมืองภาคเหนืออีกด้วย ในขณะเดียวกันกลับมีผลงานที่เป็นการบรรเลงเดี่ยวอย่างแท้จริงลดน้อยลงเมื่อเทียบสัดส่วนกับจำนวนเพลงทั้งหมด ศิลปินที่ปรากฏผลงานมีจำนวน 8 ท่าน เมื่อเข้าสู่ยุคซีดี พบว่าผลงานบรรเลงเดี่ยวขิมมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทั้งจากผลงานเก่าที่ผลิตซ้ำและที่ผลิตขึ้นใหม่ มีการผลงานที่ปรับเปลี่ยนการบรรเลงโดยนำเครื่องดนตรีสากลและเสียงสังเคราะห์เข้ามาผสมผสานกับการบรรเลงขิม รวมทั้งการบรรเลงเดี่ยวขิมในรูปแบบดนตรีสปา ซึ่งกำลังได้รับความนิยมจากธุรกิจสปา ส่วนผลงานการบรรเลงลักษณะเดิมก็ยังคงเพิ่มปริมาณมากขึ้นทั้งจากผู้ผลิตรายเก่าและรายใหม่ ศิลปินที่ปรากฏผลงานมีจำนวน 14 ท่าน จะเห็นได้ว่าพัฒนาการผลงานบรรเลงเดี่ยวขิมได้ปรับเปลี่ยนไปตามสภาพสังคมเพื่อให้การบรรเลงเดี่ยวขิมยังคงเป็นที่สนใจและดำรงอยู่ได้ในธุรกิจเพลงไทยเดิม
Article Details
รายละเอียดของลิขสิทธ์
References
ณรุทธ์ สุทธจิตต์. (2550). สังคีตนิยม ความซาบซึ้งในดนตรีตะวันตก. (พิมพ์ครั้งที่ 7). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่ง
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
บริษัท 95 ธุรกิจ จำกัด. (ม.ป.ป.). Catalogue บริษัท 95 ธุรกิจ จำกัด. ม.ป.พ.: บริษัท 95 ธุรกิจ จำกัด.
บุญธรรม ตราโมท. (2545). คำบรรยายวิชาดุริยางคศาสตร์. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร.
ปัญญา รุ่งเรือง. (2521). ประวัติการดนตรีไทย. (พิมพ์ครั้งที่ 2) กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพาณิช.
พูนพิศ อมาตยกุล. (2540). ลำนำแห่งสยาม. กรุงเทพฯ: HI-FI STEREO.
ศมกมล ลิมปิชัย. (2536). กว่าจะเป็นธุรกิจเทปเพลง. กรุงเทพฯ: บริษัทเอชทีพีเพรส จำกัด.
สงัด ภูเขาทอง. (2539). การดนตรีไทยและทางเข้าสู่ดนตรีไทย. (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ: เรือนแก้วการพิมพ์.
สุธี จันทร์ศรี. (2558, มกราคม - ธันวาคม). ไทยร่วมสมัย VS ไทยเดิม: คุณค่า สร้างสรรค์ คำวิจารณ์ และความรับผิดชอบ.
สุริยวาฑิต, 54- 59.