อนาคตภาพมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยในทศวรรษหน้า (2559-2569)

Main Article Content

สำราญ ทองแพง

บทคัดย่อ

การวิจัยเรื่องนี้เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพได้กำหนดวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอนาคตของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยในทศวรรษหน้า (2559-2569) โดยจะมีการศึกษา 3 ระยะคือ ระยะที่ 1 เป็นการศึกษาจากเอกสารและบริบทของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย รวมทั้งการพิจารณา จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาสและอุปสรรค นอกจากนั้นยังใช้วิธีการถอดบทเรียนจากวิทยาเขตที่เป็น Best Practice จำนวน 3 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วังน้อย เชียงใหม่และ พะเยา ที่มีความสามารถจัดการศึกษาที่เกิดประสิทธิผลสู่ความเป็นเลิศ ส่วนระยะที่ 2 เป็นการศึกษาอนาคตภาพของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยในทิศทางที่เป็นไปได้ โดยใช้การศึกษาด้วยเทคนิค EDFR (Ethnographic Delphi Futures Research) สอบถามผู้ทรงคุณวุฒิ 20 คน สำหรับระยะที่ 3 เป็นการสร้างอนาคตภาพของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ด้วยการสร้างแผนยุทธศาสตร์ การวิเคราะห์ ผลกระทบของแผนยุทธศาสตร์ การเขียนภาพร่างอนาคตของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และการประเมินความเป็นไปได้ (Feasibility Study) จากการทำการสนทนากลุ่ม (Focus Group Discussion) ของผู้เชี่ยวชาญจำนวน 10 คน


                   ผลการวิจัยพบว่า มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัยมีบริบทสำคัญคือเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ที่สอนเนื้อหาเกี่ยวกับศาสนาพุทธแก่พระภิกษุ สามเณร และคฤหัสถ์ ตั้งแต่ระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก มีวิทยาเขต 10 แห่ง วิทยาลัยสงฆ์ 8 แห่ง และสถาบันสมทบ 7 แห่ง สถานะภาพการจัดตั้งเป็นนิติบุคคลในกำกับของรัฐ ผลการวิเคราะห์ SWOT Analysis ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ด้านจุดแข็ง พบว่า ได้ชื่อว่าเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ที่มีเครือข่ายวิทยาเขตขยายไปหลายจังหวัด  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีหลักฐาน ที่เน้นในหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา รวมทั้งมีงานวิจัยและบริการชุมชนทางด้านพระพุทธศาสนาที่เป็นประโยชน์ต่อคณะสงฆ์และชุมชนสังคม  ด้านจุดอ่อน พบว่า เนื่องจากขาดระบบการคัดเลือก ทำให้ได้นิสิตที่มีวัยวุฒิ และคุณวุฒิของปีนั้น ๆ มีความรู้พื้นฐานแตกต่างกัน  ปฏิสัมพันธ์เชิงแลกเปลี่ยนระหว่างสถาบันชุมชนยังไม่เป็นระบบ  ทำให้งานวิจัยเชิงบูรณาการมีน้อย ด้านโอกาส  พบว่า มีต้นทุนทางสังคมสูง จึงได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล คณะสงฆ์  และนานาชาติด้านงบประมาณ ด้านอุปสรรค พบว่า การขาดแคลนคณาจารย์ที่มีคุณวุฒิทางการศึกษาไม่ตรงตามสาขาวิชาที่สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษากำหนด


                   เมื่อวิเคราะห์การจัดการศึกษาที่เกิดประสิทธิผลและนำไปสู่ความเป็นเลิศของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเกิดจากการจัดการอย่างเป็นระบบ โดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามาเกี่ยวข้องทำให้เกิดความตระหนักในการเห็นคุณค่าขององค์กร  การศึกษาอนาคตภาพของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในมิติของแนวโน้ม พบว่า มหาวิทยาลัยมุ่งผลิตสนองความต้องการของผู้เรียนและสังคม  ทั้งระดับปริญญาตรีและระดับบัณฑิตศึกษาในสาขาต่าง ๆ นอกจากนั้นยังมีหลักสูตรระยะสั้นอีกหลากหลายสาขา

Article Details

บท
บทความ

References

ไธพัตย์ สุนทรวิภาต. (2558). ยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาของโรงเรียนชายขอบ
จังหวัดเชียงราย. เชียงราย : วิทยานิพนธ์ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษาและการพัฒนาสังคม.
มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย.

วุฒิชัย มูลศิลป์. (2554). การปฏิรูปการศึกษาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
จนถึงการเริ่มต้นการศึกษาใหม่. กรุงเทพฯ : วัฒนาพานิช.

สนิท สมัครการ. (2534). วิวัฒนาการทางวัฒนธรรมของสังคมไทย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์.

Heffron Florence. (1989). Organization Theory and Public Organization the Political
Connection. New Jersey: Prentice-Hall.