การใช้กระบวนการอัดร้อนใบข้าวโพดเพื่อใช้เป็นวัสดุทดแทนสำหรับการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์

Main Article Content

สิปราง เจริญผล

บทคัดย่อ

ปัญหาที่พบในพื้นที่ คือหลังจากการทำเกษตรในแต่ละฤดูไม่ว่าจะเป็นการทำนาปลูกข้าว ปลูกข้าวโพดเกษตรกรจะทำการเผาซังข้าวและต้นข้าวโพด เพื่อปรับสภาพดินในการทำการเพาะปลูกครั้งต่อไป การเผาทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ การวิจัยนี้ได้มุ่งเน้นสร้างเครื่องมือและเทคโนโลยีเครื่องอัดร้อน เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในกระบวนการทดลองผลิตวัสดุทดแทนจากใบข้าวโพดและเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร วัตถุประสงค์เพื่อช่วยลดมลพิษทางอากาศ สร้างความตระหนักถึงการนำทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ สร้างรายได้ รวมถึงการใช้ทรัพยากรที่มีในท้องถิ่นอย่างเหมาะสม โดยเครื่องอัดร้อนที่ออกแบบขึ้นนี้ สามารถควบคุมอุณหภูมิความร้อนได้ถึง 140 องศาเซลเซียส กำหนดแรงอัดด้วยระบบไฮโดรลิคได้ถึง 2500 กิโลกรัมหรือเท่ากับ 2.5 ตัน ควบคุมระยะเวลาในการอัดแบบอัตโนมัติ ผลการทดลองในงานวิจัยครั้งนี้ โดยการทดลองตัวประสานมีอัตราผสม 5 : 2 : 2 (ใบข้าวโพดปั่น : แป้งมันสำปะหลัง : น้ำ) กำลังการอัด 50 นิวตัน ระยะเวลาในการอัด 5 นาที วัสดุทดแทนที่อัดได้ขนาด 400 x 600 x 50 มิลลิเมตร ผ่านการทดสอบคุณสมบัติทางกายภาพเกี่ยวกับการวัดค่าความชื้น และการทดสอบกำลังต้านแรงดึง ตามมาตรฐานมยผ. 1225-51 การทดสอบค่าความชื้นก่อนอัดที่ 8 องศาเซลเซียสนำแผ่นวัสดุที่อัดเข้าตู้อบที่อุณหภูมิ 105 องศาเซลเซีส เวลาในการอบ 12 ชั่วโมง ค่าปริมาณความชื้นเฉลี่ยร้อยละ 0.15 การทดสอบกำลังต้านแรงดึง วัสดุทดสอบขนาด กว้าง 57.7 มิลลิเมตร หนา 69 มิลลิเมตรค่าการรับแรงดึง 16.62 N/mm2


คำสำคัญ: กระบวนการอัดร้อน  วัสดุทดแทน  พัฒนาผลิตภัณฑ์

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

กรมควบคุมมลพิษ. (2562) สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงราย
ดิสร พิณทอง.(2560) การพัฒนาเครื่องอัดแผ่น จากวัสดุธรรมชาติ. ศิลปะและสถาปัตยกรรมศาตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร, ปีที่ 8 ฉบับที่ 1 หน้า 98-111
นิตยา พัดเกาะ.(2560) การศึกษาการทำแผ่นกระเบื้องหลังคาจากเส้นใยธรรมชาติ กรณีศึกษา : เส้นใยใบสับปะรดและเส้นใยเปลือกข้าวโพด. วารสารวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปีที่ 12 ฉบับที่ 1 หน้า 11-19
นคร ทิพยาวงศ์. (2553) เทคโนโลยีการแปลงสภาพชีวมวล. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ ส.ส.ท.
วรรณวนัช มุ่งสุด. (2558) การศึกษากรรมวิธีการขึ้นรูปแบบเย็นของวัสดุรีไซเคิลจากเศษ เมลามีน.ผลงานวิจัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
วีรชัย อาจหาญ.(2555) โครงการศึกษาแนวทางบริหารจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงและลดการเกิดหมอกควัน . ผลงานวิจัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
สุภิญญา ธาราดล.(2559) การพัฒนาผลิตภัณฑ์ซังข้าวโพดอัดขึ้นรูปเพื่องานประดิษฐ์. ผลงานวิจัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี