สังคมสูงวัยกับโลกสมัยใหม่

Authors

  • วิชนี คุปตะวาทิน, แมน วาสนาพงษ์, พรทิพย์ ขุนดี และรัชตา มิตรสมหวัง

Abstract

ประมาณ ครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยมีจํานวนผู้สูงวัยคิดเป็นเพียงร้อยละ 5 ของประชากรทั้งหมด ประกอบด้วยจํานวนประชากรวัยทํางานและวัยเด็กสูงถึงร้อยละ 52.8 และ 42.1 ตามลําดับ สัดส่วนประชากรวัยเด็กที่ค่อนข้างสูงในช่วงเวลานั้น ส่งผลให้ประเทศไทยมีประชากรวัยแรงงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและถึงจุดสูงสุดเมื่อ ปีพ.ศ. 2553 (จํานวนประมาณ 40 ล้านคน) แต่จากนั้นเป็นต้นมา สัดส่วนของ ประชากรวัยแรงงานก็เริ่มลดลงตามลําดับเมื่อเปรียบเทียบกับประชากรสูงวัยในแต่ละประเทศ จากรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส) กล่าวว่า ในปีพ.ศ. 2559 ประเทศสิงคโปร์มีผู้สูงวัยมากที่สุดในอาเซียน (18.7 %) รองลงมาคือ ไทย    (16.5 %) และเวียดนาม (10.7 %) และคาดประมาณว่า ในอีก 30 ปีข้างหน้า คือ ปี พ.ศ. 2583 ทั้งสามประเทศก็จะเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด(Super Aged  Society)    ส่วนประเทศบรูไน กัมพูชา ลาว และฟิลิปปินส์ ยังถือว่าเป็นประเทศที่มีสัดส่วนผู้สูงวัยจำนวนน้อยน้อยในปัจจุบัน ในขณะที่ประเทศอินโดนีเซีย เมียนมาร์ และมาเลเซีย จัดเป็นประเทศที่กำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ในอีก ไม่ถึง 10 ปีข้างหน้า ทั้งสามประเทศนี้จะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์

การที่จะกำหนดว่า ประเทศใดได้เข้าสู่ "สังคมสูงวัย( Aged Society)" หรือไม่ พิจารณาจากสัดส่วนของประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปที่มีจำนวนมากกว่าประชากรวัยอื่น ร้อยละ 7 แต่ถ้าประเทศนั้นมีจำนวนประชากรสูงวัยมากกว่าร้อยละ 14 ก็เรียกว่าเข้าสู่ "สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ (Complete Aged Society )" และหากประเทศใดมีประชากรสูงวัยมากกว่าร้อยละ 20 แสดงว่าประเทศนั้นได้เข้าสู่ "สังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super Aged  Society)” แล้ว (Pramote  Prasartkul , 2013)  พระราชบัญญัติผู้สูงอายุแห่งชาติ นิยามว่าผู้สูงอายุคือผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งคนเหล่านี้อยู่ในวัยเกษียณ จึงเป็นผู้ไม่มีรายได้หรือรายได้ลดลง แม้ว่าจะมองในกลุ่มเกษตรกรที่ยังมีงานทำแต่ก็ต้องยอมรับว่าเกษตรกรเป็นผู้มีรายได้น้อย


 

 

ตารางที่ 1  :  ร้อยละของประชากรที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ของประเทศในอาเซียน ปี พ.ศ. 2556 และ พ.ศ. 2583 

(United Nations, 2011)     

 

 

ประเทศไทยได้เข้าสู่การเป็นสังคมสูงวัย (Aged Society) มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2548 เป็นต้นมา โดย 1 ใน 10 ของประชากรไทยเป็นประชากรมีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป  คาดกันว่าประเทศไทยจะเป็น “สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์” (Complete Aged Society) ในอีก 3 ปีข้างหน้า คือใน ปีพ.ศ. 2564  ประชากรสูงวัยจะเพิ่มขึ้นถึง 1 ใน 5 และเป็น “สังคมสูงวัยระดับสุดยอด” (Super Aged Society) ภายในปีพ.ศ. 2578 ซึ่งประมาณการว่า จะมีประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 30 ของจํานวนประชากรทั้งหมด (สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2558) การลดลงของจำนวนและสัดส่วนประชากรวัยเด็กและวัยทำงาน ในขณะที่จำนวนและสัดส่วนประชากรผู้สูงวัยยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นว่าโครงสร้างทางอายุของประชากรไทยเป็นประชากรสูงวัยได้อย่างชัดเจน

เมื่อโครงสร้างประชากรเปลี่ยนไป ลักษณะการพึ่งพิงกันก็เปลี่ยนไปด้วย เมื่อดูจากอัตราส่วนพึ่งพิงวัยเด็กและวัยสูงวัยแล้ว จะพบว่า อัตราส่วนพึ่งพิงวัยเด็กลดลงมากอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 จนถึงปีพ.ศ. 2578 ในช่วงเวลาเดียวกัน อัตราส่วนพึ่งพิงวัยสูงวัยกลับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แนวโน้มรูปแบบการพึ่งพิงจะเปลี่ยนเป็นจากการพึ่งพิงของเด็กมาสู่การพึ่งพิงของผู้สูงวัย ดังตารางอัตราส่วนพึ่งพิงรวม วัยเด็ก และ สูงวัย ในช่วงปีพ.ศ. 2503-2578   ดังนี้

 

  

ปี พ.ศ.

อัตราส่วนพึ่งพิง รวม

รวม

วัยเด็ก

วัยสูงอายุ

2503

85.2

80.0

5.2

2513

92.9

87.0

5.9

2523

72.0

65.9

6.1

2533

51.2

44.2

7.0

2543

51.3

36.9

14.4

2548

49.9

34.4

15.5

2558

49.3

28.4

20.9

2568

55.9

25.0

30.9

2578

65.2

23.7

41.4

*หมายเหตุ  อัตราส่วนพึ่งพิงของปี พ.ศ. 2503-2543 คํานวณจากสํามะโนประชากร และของปีพ.ศ. 2548-2578 คํานวณจาก การฉายภาพประชากร (ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์, 2549)

 

 

      ในปีพ.ศ. 2503 ประเทศไทยมีอัตราส่วนเกื้อหนุนผู้สูงวัยจำนวนมาก  มีคนวัยทำงาน 12 คน ซึ่งช่วยกันดูแลผู้สูงวัย 1 คน แต่จำนวนได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง คาดว่าในปีพ.ศ. 2578 จะมีคนวัยทำงานเพียง 2 คนเท่านั้นที่จะดูแลผู้สูงอายุ 1 คน (ปัทมา,2549)  สำหรับสังคมที่มีจำนวนผู้สูงวัยมากจะมีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เนื่องจากกําลังแรงงานซึ่งเป็นปัจจัยสำหรับการผลิตได้ลดลง คนวัยทํางานจึงต้องทำงานหนักเพื่อแบกรับภาระการเลี้ยงดูผู้สูงวัยที่เพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ค่าใช้จ่ายทั้งภายในครอบครัวและรายจ่ายเกี่ยวกับสุขภาพและการรักษาพยาบาลมีแนวโน้มสูงขึ้น อีกทั้งในระยะยาวการออมและการลงทุนของผู้สูงวัยก็ลดลงด้วยเนื่องจากผู้สูงวัยไม่มีรายได้เข้า มีแต่จะต้องนำเงินออมออกมาใช้ซึ่งอาจไม่เพียงพอแก่การดํารงชีพ

      อย่างไรก็ตาม  การเปลี่ยนแปลงประชากรก็ทำให้ให้เกิดนัยยะเชิงนโยบายได้หลายประการ อาทิเช่น เมื่อจำนวนเด็กเกิดใหม่ลดน้อยลงในแต่ละปีอย่างต่อเนื่อง รัฐก็จะสามารถทุ่มเทงบประมาณไปเพื่อเน้นการพัฒนาคุณภาพด้านสุขอนามัยแม่และเด็กได้เพิ่มขึ้น รวมถึงเน้นการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของเด็กได้ด้วย ในภาพรวมปัจจุบัน ประเทศไทยยังมีช่องว่างทางสังคมและเศรษฐกิจกว้างพอควร โดยเฉพาะรายได้ต่อหัวของประชากร ระดับการศึกษา การกระจายโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ  ปัญหาสังคมสูงวัยไม่ได้เพิ่งเกิดในโลก แต่มีหลายประเทศที่มีประสบการณ์นี้มาก่อนประเทศไทย เช่น กลุ่มประเทศในยุโรป ญึ่ปุ่น ซึ่งประเทศเหล่านี้มองประเด็นปัญหาสังคมสูงวัยว่าเป็นสิ่งท้าทาย มีการเน้นไปที่การสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตแบบ Active Ageing โดยการส่งเสริม สนับสนุนให้ผู้สูงวัยได้นำประสบการณ์ ความรู้ และความสามารถของตนมาใช้ในการดำเนินชีวิตของตนเองและแสดงบทบาทในสังคมโดยการใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือ ถือเป็นการส่งเสริมศักยภาพและพัฒนาผู้สูงวัย นอกจากนี้ยังเน้นเรื่องการใช้สร้างเสริมสุขภาพ ตลอดจนส่งเสริมเกี่ยวกับการออมเพื่อความมั่นคงในบั้นปลายชีวิตด้วย(ส่วนอาเซียน สำนักการประชาสัมพันธ์ต่างประเทศ ,http://thailand.prd.go.th )

ประเทศญี่ปุ่นมีสัดส่วนประชากรผู้สูงวัยมากที่สุดในโลก มีการนำทฤษฎี “อิบะโช” มาใช้แก้ปัญหาในขณะที่สัดส่วนประชากรของผู้สูงวัยมีมากกว่าประชากรวัยอื่นๆ ด้วยการสร้างจิตสำนึกให้ลูกหลานและคนในสังคมยอมรับว่าผู้สูงวัยก็คือส่วนหนึ่งของสังคมที่มีคุณค่า เป็นผู้ที่มีประสบการณ์ สามารถสร้างความเจริญให้แก่ประเทศชาติการเป็นผู้สูงวัย ไม่ได้หมายความว่าจะทำประโยชน์ให้ผู้อื่นและสังคมไม่ได้ ผู้สูงวัยเป็นเพียงผู้ที่ถึงวัยชราภาพตามที่ธรรมชาติกำหนดเท่านั้น แน่นอนว่าสังขารย่อมเสื่อมลง การเคลื่อนไหวช้าลงและลำบากมากขึ้น ลูกหลานจึงต้องรับภาระช่วยเหลือดูแล “ อิบะโช” ช่วยให้เกิดความเข้าใจกันระหว่างลูกหลานกับผู้สูงวัย เกิดการยอมรับว่าผู้สูงวัยมีสิทธิที่จะเลือกวิถีชีวิตของตนเองและมีคุณค่าต่อสังคม ไม่เป็นภาระของลูกหลานหรือสังคมแต่อย่างใด  ทางด้านรัฐก็มองว่า เมื่อคนอายุยืนและชรา เขาเหล่านั้นก็ควรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ไปไหนมาไหนสะดวกและมีความปลอดภัย การลงทุนของรัฐเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้ผู้สูงวัยไม่ใช่การลงทุนที่เสียเปล่า เพราะวันหนึ่งข้างหน้าผู้ที่ยังไม่เป็นผู้สูงวัยก็ย่อมชราลงอย่างแน่นอนและเขาเหล่านั้นก็จะได้ใช้ในวันข้างหน้า  นับเป็นการปรับเปลี่ยนวิธีคิดการมองผู้สูงวัยจากการที่เคยเป็นผู้พึ่งพิงมาเป็นการมองผู้สูงวัยในฐานะพลังของสังคม ที่สะท้อนให้เห็นถึงความมีคุณค่าและความสามารถทางสติปัญญา แม้ทางกายภาพของร่างกายจะเปลี่ยนไปแต่ไม่มีผลกระทบต่อการทำงาน หรือการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมต่างๆแต่อย่างใด  นับว่าญี่ปุ่นเป็นชาติแรกที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุจนหลายๆประเทศต่างเจริญรอยตาม (อนันต์ อนันตกูล, 2560)

ปัจจุบัน ประเทศไทยเป็นสังคมสมัยใหม่หรือสังคมแห่งดิจิทัล ผู้สูงวัยอาจมีความเครียดเพราะการใช้เทคโนโลยีที่ก้าวล้ำอย่างรวดเร็วจนตามแทบไม่ทัน ทำให้จำเป็นที่จะต้องได้รับการพัฒนาศักยภาพให้มีความรู้ ความเข้าใจ และมีทักษะในการใช้เครื่องมือเครื่องใช้และ อุปกรณ์ต่างๆที่ถูกพัฒนามากขึ้น มีการนำเทคโนโลยีต่างๆมาใช้เพื่อประโยชน์ในการสื่อสาร การปฏิบัติงาน การอยู่ร่วมกัน และการทำกิจกรรมพื้นฐานในชีวิตประจำวัน เช่น คอมพิวเตอร์ โซเชียลมีเดีย สมาร์ทโฟน แทปเล็ต และสื่อออนไลน์ เป็นต้น  แต่จากข้อมูลการสำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2560  พบว่า มีผู้สูงวัยไทยเพียงร้อยละ 4.2 ที่อาศัยอินเตอร์เน็ต หรือ โซเชียลมีเดียเพื่อรับข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อการดูแลสุขภาพ ตลอดจนการทำธุรกรรมการเงิน การปรับตัวของผู้สูงวัยจึงเป็นประเด็นสำคัญที่สังคมควรให้ความสำคัญ สังคมยังต้องช่วยกันปลุกจิตสำนึกของคนสองกลุ่ม คือ กลุ่มผู้สูงวัยและกลุ่มผู้ยังไม่สูงวัยซึ่งวันหนึ่งย่อมต้องแก่เฒ่าลง ทั้งนี้เพื่อการเตรียมพร้อมสำหรับวันข้างหน้า และ ทุกคนในสังคมก็ควรตระหนักว่าการเตรียมการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยแก่ผู้สูงวัยไม่ใช่ภาระ แต่เป็นหน้าที่ของทุกคน เพราะอนาคตของชาติในวันหน้าขึ้นอยู่กับการดูแลผู้สูงวัยในวันนี้ การมอบสิ่งอำนวยความสะดวกให้ผู้สูงวัยเป็นภาระที่ไม่หนักเท่ากับการปล่อยให้ผู้สูงวัยต้องมีชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยว ไร้ความหมาย ไม่ภาคภูมิใจเพราะรู้สึกเหมือนเป็นภาระให้กับลูกหลาน ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความรู้สึกน้อยใจ ซึมเศร้า อีกทั้ง ตามปกติผู้สูงวัยก็จะมีสุขภาพร่างกายเสื่อมโทรม ไม่แข็งแรงอยู่แล้ว จึงจำเป็นต้องมีผู้ดูแลเอาใจใส่และใช้เงินเป็นค่ารักษาพยาบาลในขณะที่ตนเองไม่มีรายได้ ทำให้มีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจึงส่งผลให้มีเงินออมน้อยลงและ เงินลงทุนลดลง สำหรับภาครัฐบาลจำเป็นต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายทางด้านสวัสดิการเพื่อบริการสังคมทางด้านสุขภาพแก่ผู้สูงวัย การที่มีผู้สูงวัยมากขึ้นทำให้ปัจจัยการผลิตทางด้านแรงงานลดลง ซึ่งอาจจะส่งผลทำให้ค่าแรงสูงขึ้นหรือเกิดการขาดแคลนแรงงาน ถึงแม้ว่าการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานจะสามารถทำได้โดยการนำเครื่องมือ เครื่องจักร หรือนำเทคโนโลยีมาใช้ทดแทนแรงงานคน หรือแม้แต่การนำเข้าแรงงานต่างด้าว  ก็ต้องพิจารณาให้รอบคอบถึงผลกระทบต่อความมั่นคง เศรษฐกิจ และ สังคม ของประเทศชาติด้วย

รัฐบาลปัจจุบันได้เร่งขับเคลื่อนนโยบายประเทศไทย 4.0 ซึ่งมีเป้าหมาย ในการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยจากวันนี้ไปสู่ประเทศไทยในวันข้างหน้าอีก 20 ปีภายใต้วิสัยทัศน์ประเทศไทย มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน โดยหนึ่งในประเด็นที่รัฐบาลให้ความสําคัญ คือ การดําเนินการปรับโครงสร้างทรัพยากรคนของประเทศ   โดยในส่วนของผู้สูงวัยนั้น ได้มีการวางเป้าหมายที่จะสร้างความมั่นคงให้สังคมสูงวัย เป็น “สังคมผู้สูงวัยที่มีพลัง” (Active Ageing Society) โดยมีการดำเนินการในระดับหนึ่ง อาทิเช่น มีพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ กองทุนการออมแห่งชาติ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ

จากพระราชบัญญัติผู้สูงอายุแห่งชาติมีการนิยามผู้สูงวัยว่าคือผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งคนเหล่านี้อยู่ในวัยปลดเกษียณ เป็นผู้ไม่มีรายได้หรือรายได้ลดลง (Foundation for Older ’s Development , 2011) ดังนั้นนอกจากปัญหาเกี่ยวกับความเสื่อมของร่างกายและจิตใจ ค่านิยมทางสังคมที่มองผู้สูงวัยว่าเป็นผู้พึ่งพิง  และสถานภาพทางสังคม ก็มีปัญหาเกี่ยวกับรายได้ด้วย ซึ่งปัญหาเหล่านี้ทำให้ผู้สูงวัยจำเป็นต้องพึ่งพิงด้านสินค้าและบริการจากสถาบันทางสังคมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ครอบครัว ชุมชน  องค์กรภาครัฐหรือเอกชน( ศศิพัฒน์ ยอดเพชร, 2544 ) แต่ต้องไม่ลืมว่างบประมาณและทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดไม่สามารถให้แก่ผู้ที่พึ่งพิงจำนวนมากตามที่ต้องการได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว 

 สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งในชีวิตของสังคมปัจจุบันและอนาคตก็คือ เทคโนโลยี การสื่อสารคมนาคม เครือข่ายสื่อสารไร้สาย การใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ของผู้สูงวัยมีส่วนทำให้ชีวิตมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและปรับปรุงคุณภาพชีวิตประจำวันเช่นการอำนวยความสะดวกในการขนส่ง การสื่อสาร และการมีส่วนร่วมในชีวิตทางสังคม นอกจากนี้ยังมีการเชื่อมโยงผู้สูงวัยกับบริการที่ตรงกับความต้องการของพวกเขาด้วย ประชากรทุกกลุ่ม ทุกวัย ทุกคนล้วนอยู่ภายใต้บริบทเทคโนโลยีที่มีบทบาทต่อการดำเนินชีวิต  โดยเฉพาะการติดต่อสื่อสาร ประชากรทุกวัย รวมทั้งผู้สูงวัยก็จำเป็นต้องเรียนรู้การใช้สื่อใหม่ๆเพื่อใช้ประโยชน์และเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของตนเอง เทคโนโลยีจะช่วยให้การเรียนรู้ไม่มีวันหยุดนิ่ง สามารถทำได้อย่างอิสระและกว้างขวาง ไม่ถูกจำกัดด้วยพื้นที่ ระยะทาง และ เวลา และเป็นพลังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม การที่ผู้สูงวัยได้มีโอกาสเรียนรู้และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีจะเป็นเครื่องมือดึงศักยภาพภูมิปัญญาและประสบการณ์ของตนออกมาใช้พัฒนาตนเองและสังคมได้อย่างสะดวก รวดเร็ว 

      ประเด็นผู้สูงวัยไทยเป็นประเด็นสำคัญ จําเป็นอย่างยิ่งที่ต้องวางแผนระยะยาวให้รอบคอบ รวมทั้งมีการนำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม แม้แต่ตัวของผู้สูงอายุเองก็ต้องเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาทั้งระดับตนเองโดยการพร้อมที่จะก้าวออกจากความกลัวการใช้เทคโนโลยีและพัฒนาทักษะการใช้เทคโนโลยีเพื่อทำให้ตนเองได้รับข้อมูลข่าวสารทันต่อสถานการณ์ มีประสบการณ์แปลกใหม่ของโลกดิจิทัล ซึ่งจะช่วยลดช่องว่างระหว่างวัย  ได้ประโยชน์เกี่ยวกับสุขภาพ  ตลอดจนทำให้อยู่ในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรีและสร้างคุณค่าให้แก่ตนเอง ปัจจุบันทิศทางด้านระบบโครงสร้างสังคม สวัสดิการ การวางแผนทรัพยากร และการขยายโอกาสการเรียนรู้ประโยชน์ของการใช้สื่อเทคโนโลยีและสื่อสังคมออนไลน์ของไทยยังไม่ชัดเจนและยังไม่กระจายสู่กลุ่มผู้สูงวัยโดยทั่วถึง โดยเฉพาะผู้สูงวัยที่อยู่ในชนบทห่างไกล การศึกษาน้อย และรายได้ต่ำ อีกทั้งไม่ทันต่อสถานการณ์สังคมสูงวัยซึ่งเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ปัญหาที่เกิดจากลักษณะทางประชากรศาสตร์ต่างๆ อาทิเช่น รายได้ การศึกษา สถานที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ความบกพร่องทางร่างกาย ความซับซ้อนของเทคโนโลยีใหม่ๆทำให้ผู้สูงวัยขาดแรงจูงใจในการใช้เทคโนโลยี เกิดเป็นอุปสรรคที่ทำให้ขาดทักษะดิจิทัลในการดำรงชีวิตในสังคมที่เปลี่ยนแปลง การเข้าถึงเทคโนโลยีอย่างไม่เท่าเทียมกันและไม่เหมาะสมกับความรู้ ความสามารถของผู้สูงวัย ทำให้ผู้สูงวัยขาดแรงจูงใจที่จะใช้เทคโนโลยีในการดำรงชีวิตภายใต้การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสังคม  แม้ว่าเทคโนโลยีใหม่จะมีข้อดีและประโยชน์ที่ชัดเจนแก่ผู้สูงวัย แต่เราก็ยังต้องคำนึงถึงการทำให้ผู้สูงวัยเกิดความศรัทธาในเทคโนโลยี มีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับความปลอดภัยในข้อมูลส่วนบุคคลและความปลอดภัยจากการใช้ด้วย

 

References

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. (2558). วาระปฏิรูปที่ ๓๐ : การปฏิรูประบบเพื่อรองรับสังคมสูงวัย. ค้นเมื่อ 1 มิถุนายน 2561, จาก https://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_parcy/download/parcy/057.pdf

บทสรุปสำหรับผู้บริหาร ยุทธศาสตร์การวิจัยรายประเด็นด้านผู้สูงอายุและสังคมสูงอายุ (พ.ศ.2556-2559). (2559). ค้นเมื่อ 1 มิถุนายน 2561, จาก https://www.kmutt.ac.th/rippc/nrct59/34s10.pdf

ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์ และ ปราโมทย์ ประสาทกุล. (2549). ประชากรไทยในอนาคต. สืบค้น 11 มิถุนายน 2561, จากhttp://www.ipsr.mahidol.ac.th/IPSR/AnnualConference/ConferenceII/Article/ Article02.htm

ศศิพัฒน์ ยอดเพชร. (2544). สวัสดิการผู้สูงอายุ. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพและมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย. เวทีสาธารณะ เรื่อง “สังคมสูงวัยก้าวไปด้วยกัน ครั้งที่ 2” ระหว่างวันที๋ 27-28 เมษายน 2561 ณ ห้องประชุมแคทลียา โรงแรมรามาการ์เด้นท์ ถ.วิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ.

อนันต์ อนันตกูล. (2560). สังคมสูงวัย…ความท้าทายประเทศไทย. สืบค้น 11 มิถุนายน 2561, จากhttp://www.royin.go.th/wp-ontent/uploads/2017/12/%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A1%E0%B8%AA%E0%B8%B9%E0%B8%87%E0%B8%A7%E0%B8% B1%E0%B8%A23.pdf.ttp://

Pramote Prasartkul. (2013). Population Population Aging and Health: Health: A Case Study of Thailand. สืบค้น 11 มิถุนายน 2561, จาก http://www.ipsr.mahidol.ac.th/ipsrbeta/ FileUpload/PDF/Report-File-418.pdf

United Nations. (2011). World Population Prospects The 2010 Revision Volume I: Comprehensive
Tables. สืบค้น 11 มิถุนายน 2561, จาก http://www.un.org/en/development/desa /population/
publications/pdf/trends/WPP2010/WPP2010_Volume-I_Comprehensive-Tables.pdf

Downloads

Published

2019-06-29

Issue

Section

Review Articles