ปัจจัยที่มีผลต่อการทำงานอย่างมีความสุขของนักสังคมสงเคราะห์ ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ผู้แต่ง

  • สุนิสา สุขสงเคราะห์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คำสำคัญ:

นักสังคมสงเคราะห์, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, ปัจจัย, ความสุขในการทำงาน

บทคัดย่อ

     การศึกษาเรื่อง “ปัจจัยที่มีผลต่อการทำงานอย่างมีความสุขของนักสังคมสงเคราะห์ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการทำงานอย่างมีความสุข ของนักสังคมสงเคราะห์องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและศึกษาความคิดเห็นของนักสังคมสงเคราะห์องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต่อการทำงานอย่างมีความสุข เป็นการศึกษาเชิงปริมาณ รวบรวมข้อมูลโดยการใช้แบบสอบถามที่สร้างขึ้นเป็นเครื่องมือในการเก็บข้อมูลจากนักสังคมสงเคราะห์องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 267 คน ประมวลผลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปทางสถิติเพื่อการวิจัยทางสังคม (SPSS) และเสนอผลการศึกษาในลักษณะของการพรรณนาประกอบตารางสถิติ ได้แก่ ใช้สถิติความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน มาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) เปรียบเทียบตัวแปรต้นกับตัวแปรตาม เพื่อวิเคราะห์ปัจจัยของกลุ่มตัวอย่างที่มีความสัมพันธ์กัน โดยการหาค่า t-test, F-test, วิเคราะห์การเปรียบเทียบรายคู่ (Post Hoc) ของค่าเฉลี่ยระหว่างตัวแปรต้นกับตัวแปรตาม โดยวิธีเชฟเฟ่ (Scheffe) และวิเคราะห์ข้อมูลโดยการจำแนกความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อนำผลการศึกษาที่ได้มาเป็นข้อมูลประกอบการวิเคราะห์อภิปรายผล โดยผลการศึกษาสรุปได้ ดังนี้

          กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง อายุระหว่าง 26-30 ปี สถานภาพสมรส จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มีตำแหน่งนักสังคมสงเคราะห์ มีอายุราชการ 6-10 ปี มีรายได้ 15,001-20,000 บาทต่อเดือน ซึ่งเพียงพอต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่มีใบประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์รับอนุญาต ได้รับสิทธิสวัสดิการตามสิทธิข้าราชการ และได้รับเงินโบนัสประจำปี โดยกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีความคิดเห็นเกี่ยวกับการทำงานอย่างมีความสุขด้านมีสุขภาพดี ( gif.latex?\bar{X}= 3.86) คือ มีวิธีการดูแลสุขภาพตนเอง โดยมีความเห็นว่าตนเองมีสุขภาพแข็งแรง ทานอาหารครบ 5 หมู่ ด้านน้ำใจงาม ( gif.latex?\bar{X} = 4.01) พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีความสุขเมื่อได้ช่วยเหลือผู้อื่น มีความยินดีกับความสำเร็จของเพื่อนร่วมงาน เมื่อเพื่อนร่วมงานได้เลื่อนตำแหน่ง ด้านการผ่อนคลาย ( gif.latex?\bar{X} = 3.74) กลุ่มตัวอย่างมีความเห็นว่าตนเอง สามารถจัดการความเครียดจากการทำงานด้วยการทำงานอดิเรก ส่วนด้านการหาความรู้ ( gif.latex?\bar{X} = 3.76) พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีความสุขและยินดีรับคำแนะนำจากผู้อื่นเพื่อพัฒนาการทำงาน ด้านการมีคุณธรรม ( gif.latex?\bar{X} = 3.98) พบว่ากลุ่มตัวอย่าง
มีความสุข โดยสามารถปฏิบัติงานตามหลักจรรยาบรรณวิชาชีพ ในด้านการใช้เงินเป็น ( gif.latex?\bar{X} = 3.53) พบว่ากลุ่มตัวอย่างมีความสุข เมื่อมีการวางแผนการใช้เงินก่อนใช้ ความคิดเห็นเกี่ยวกับการทำงานอย่างมีความสุขด้านความสุขของครอบครัว (gif.latex?\bar{X}  = 3.93) กลุ่มตัวอย่างมีความเห็นว่าตนเองมีความสุขเมื่อกระทำผิด ครอบครัว
จะให้อภัย และความสุขขององค์กรและสังคม (gif.latex?\bar{X}  = 3.80) โดยกลุ่มตัวอย่างสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้
อย่างมีความสุข ในภาพรวมพบว่า ความแตกต่างระหว่างช่วงอายุ จะมีความสุขในการทำงานภาพรวม แตกต่างกันโดยมีนัยยะสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 (P=0.01) และกลุ่มตัวอย่างที่มีใบประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์รับอนุญาต และไม่มีใบประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์รับอนุญาต มีความสุขในการทำงานภาพรวม แตกต่างกันโดยมีนัยยะสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 (P=0.00)

          ข้อเสนอแนะในการศึกษา องค์กรควรมีการส่งเสริมให้บุคลากรวางแผนการเงินเพื่อลดหนี้ ส่งเสริมให้มีพื้นที่การสร้างสุข เช่น การออกกำลังกาย จัดกิจกรรมร่วมกันของบุคลากรเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ ลดความเครียดจากการทำงาน มีการพัฒนาศักยภาพผู้บริหาร หัวหน้างาน และนักสังคมสงเคราะห์ให้มีทักษะการทำงานเป็นทีม การทำงานร่วมกับเครือข่ายที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงสนับสนุนให้นักสังคมสงเคราะห์เข้ารับการประเมินความรู้เพื่อให้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นนักสังคมสงเคราะห์รับอนุญาต สนับสนุนการดูแลสุขภาพของพนักงาน ให้มีการตรวจสุขภาพประจำปี มีกิจกรรมส่งเสริมการทำความดีในองค์กร เช่น การมอบรางวัลให้กับพนักงานที่มีน้ำใจต่อเพื่อนร่วมงานประจำเดือน สนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ได้ทำงานตามหน้าที่อย่างมีอิสระ ภายใต้กฎ ระเบียบที่ถูกต้อง มอบหมายงานให้ตรงกับหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ปฏิบัติงานและควรมีการป้องกันการทุจริตอย่างจริงจัง โดยไม่เอื้อผลประโยชน์ให้กับพวกพ้อง

References

เกื้อจิตร ชีระกาญจน์. (2551). แรงงานสัมพันธ์. กรุงเทพ: มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต.

ทิพวรรณ หล่อสุวรรณรัตน์. (2557). ทฤษฎีองค์การสมัยใหม่. กรุงเทพ: บริษัทแซทโฟร์พริ้นติ้ง จำกัด

เบญจมาศ สมศรี. (2553). แนวทางเสริมสร้างกำลังใจในการปฏิบัติงานของพนักงานราชการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต). มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์.

แผนงานสุขภาวะองค์กรภาคเอกชน. (2552). คู่มือมาสร้างองค์กรแห่งความสุขกันเถอะ. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ.

พัชรพรรณ ชื่นสงวน. (2554). ความสัมพันธ์ระหว่างเชาวน์จิตวิญญาณ ความรู้สึกมีคุณค่าในตนเองและความสุขในการทำงานของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) (รายงานวิจัย). กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

สภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์. (2562). รายงานการประชุมหารือระหว่างกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นกับสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ วันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2562.

อาริญา เฮงทวีทรัพย์สิริ. (2558). ความผูกพันต่อองค์การ บุคลิกภาพห้าองค์ประกอบและความสุขในการทำงานของพยาบาล โดยมีพฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การเป็นตัวแปรสื่อ: กรณีศึกษาโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐแห่งหนึ่ง (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต). มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2021-12-30