เกี่ยวกับกองทุน
กองทุนจะทำอะไร
สนับสนุนและกระตุ้นให้เกิด “สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์”
สร้างนวัตกรรมสื่อแบบต่างๆ เพื่อทลายกรอบการผลิตเนื้อหาแบบเดิมๆ เพิ่มเนื้อหาที่เป็นทางเลือกในการรับรู้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ได้มากขึ้น และนำเสนอข้อมูลที่จำเป็นต้องรู้ในมิติที่คนต้องการเพื่อการเล่าเรื่องที่รอบด้าน หลากหลายแง่มุม และขับเคลื่อนประเด็นที่เป็นประโยชน์สู่การมีส่วนร่วมของคนในสังคมได้ พร้อมทั้งสร้างฐานความรู้ด้านต่างๆ ในการสนับสนุนการสร้างสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
สร้าง “การมีส่วนร่วม”
กองทุนจะเป็นกำลังสำคัญในการสร้างการมีส่วนร่วมทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนโดยสร้างรูปแบบการประสานงานให้เกิดประสิทธิภาพและยั่งยืน
สร้าง “การรู้เท่าทันสื่อ” และ “การเฝ้าระวังสื่อ”
กองทุนมีบทบาทหน้าที่ “เป็นผู้สนับสนุน” ด้านการ “รู้เท่าทันสื่อ” ระหว่างผู้เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อในประเทศไทย จับมือ เครือข่าย ร่วมแรง ร่วมทุน เตรียมความพร้อม ในการผลักดันการรู้เท่าทันสื่อเข้าสู่ระบบการศึกษา จัดเตรียมทรัพยากรด้านข้อมูลหรืออื่นใด สนับสนุนการส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อ สนับสนุนการวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้สื่อและการสื่อสารของไทยในเชิงลึกและองค์ความรู้เกี่ยวกับการชี้วัดระดับการรู้เท่าทันสื่อ
เป็นแหล่งทุนเพื่อการสร้างสังคม “รู้เท่าทันสื่อ” ให้แก่เด็ก เยาวชนและครอบครัวเป็นสำคัญ พร้อมทั้งมีบทบาทหน้าที่ในการเฝ้าระวังสื่อที่คำนึงถึงการตรวจสอบแบบกัลยาณมิตร สร้างฐานข้อมูล สร้างนวัตกรรม ทำงานเชิงประเด็นและมีกลุ่มเป้าหมายหลากหลาย สร้างพลเมืองที่ไหวรู้ต่อการเฝ้าระวัง ทำงานแบบเครือข่ายเข้มแข็ง และเคลื่อนไหวผ่านสื่อสารสาธารณะ
วัตถุประสงค์ / อำนาจหน้าที่
พระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ.2558 กำหนดวัตถุประสงค์ / อำนาจหน้าที่กองทุนฯ ดังนี้
มาตรา 5
ให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่งเรียกว่า “กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” ให้กองทุนเป็นนิติบุคคลและมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
(1) รณรงค์ ส่งเสริม และสนับสนุนการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
(2) ส่งเสริมให้มีการพัฒนาศักยภาพของผู้ผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
(3) ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนโดยเฉพาะเด็ก เยาวชนและครอบครัวมีทักษะในการรู้เท่าทันสื่อ เฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ และสามารถใช้สื่อในการพัฒนาตนเองชุมชนและสังคม
(4) ส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวาง เพื่อให้เกิดการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
(5) ส่งเสริมให้มีการศึกษาวิจัย อบรม พัฒนาองค์ความรู้และการสร้างนวัตกรรมด้านสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
(6) ส่งเสริมบุคคล องค์กรชุมชน องค์กรเอกชน องค์กรสาธารณประโยชน์ ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ที่ดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับสื่อให้มีการผลิตและพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
(7) ดำเนินการและส่งเสริมให้มีสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้อย่างทั่วถึง
มาตรา 9
ให้กองทุนมีอำนาจกระทำกิจการต่าง ๆ ภายในขอบแห่งวัตถุประสงค์ตามมาตรา 5 และอำนาจเช่นว่านี้ให้รวมถึง
(1) ถือกรรมสิทธิ์ มีสิทธิครอบครอง และมีทรัพยสิทธิต่าง ๆ
(2) ก่อตั้งสิทธิ หรือกระทำนิติกรรมใด ๆ ทั้งในและนอกราชอาณาจักร
(3) หาผลประโยชน์จากทรัพย์สินของกองทุน
(4) กระทำการอื่นใดบรรดาที่เกี่ยวกับหรือเกี่ยวเนื่องกับวัตถุประสงค์ของกองทุน
มาตรา 21
คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลกองทุนให้ดำเนินกิจการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในมาตรา 5 อำนาจหน้าที่เช่นว่านี้ให้รวมถึง
(1) กำหนดนโยบาย แผน และยุทธศาสตร์เกี่ยวกับการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
(2) ออกประกาศกำหนดลักษณะของสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์
(3) กำหนดมาตรการเพื่อส่งเสริมการพัฒนาและสร้างทักษะในการรู้เท่าทันสื่อ รวมทั้งเพื่อส่งเสริมการใช้สื่อเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง ชุมชน และสังคม
(4) กำหนดมาตรการเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเฝ้าระวังสื่อตามมาตรา 5 (3)
(5) กำหนดมาตรการเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือและประสานงานระหว่างส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ รวมทั้งภาคเอกชน ในการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
(6) ให้ความเห็นชอบแผนการดำเนินงานประจำปี แผนการเงินและงบประมาณประจำปีของกองทุน
(7) ออกข้อบังคับว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสรรเงินแก่โครงการหรือกิจกรรมที่เกี่ยวกับการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
(8) ออกข้อบังคับว่าด้วยการจัดแบ่งส่วนงานภายในของสำนักงาน และขอบเขตหน้าที่ของส่วนงานดังกล่าว
(9) ออกข้อบังคับว่าด้วยการคัดเลือกผู้จัดการ การปฏิบัติงานและการมอบอำนาจของผู้จัดการ
(10) ออกข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงาน การบริหารงานบุคคล การเงิน การพัสดุและทรัพย์สินของสำนักงาน และการตรวจสอบภายในของกองทุน
(11) ออกข้อบังคับว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าตอบแทน หรือค่าบริการในการดำเนินกิจการของกองทุน
(12) กำหนดจำนวน ตำแหน่ง ระยะเวลาจ้าง อัตราเงินเดือนและค่าจ้าง เงินเดือนของเจ้าหน้าที่และลูกจ้าง
(13) แต่งตั้งที่ปรึกษา คณะอนุกรรมการเกี่ยวกับการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน คณะอนุกรรมการเกี่ยวกับการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ คณะอนุกรรมการส่งเสริมสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์และคณะอนุกรรมการอื่น ตามที่เห็นสมควรเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
(14) กระทำการอื่นใดที่จำเป็นเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของกองทุน
ประกาศตาม (2) และข้อบังคับตาม (7) ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา 25
สำนักงานมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(1) รับผิดชอบงานธุรการของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และคณะอนุกรรมการตามมาตรา 21 (13)
(2) เสนอนโยบาย แผน และยุทธศาสตร์เกี่ยวกับการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์แผนการดำเนินงานประจำปี แผนการเงินและงบประมาณประจำปีของกองทุน รวมทั้งศึกษา วิเคราะห์และประเมินผลการดำเนินการของกองทุนต่อคณะกรรมการ
(3) ให้คำแนะนำแก่ผู้ผลิตสื่อในการผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
(4) จัดทำบัญชีและรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีของกองทุน
(5) ดำเนินการอื่นใดตามที่คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และคณะอนุกรรมการตามมาตรา 21 (13) มอบหมาย