กลวิธีการใช้ภาษาเสียดสีเพศหญิงในบทเพลงของ ธันวา ราศีธนู

Main Article Content

มันทนา ขุมกลาง

บทคัดย่อ

การศึกษานี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษากลวิธีการใช้ภาษาเสียดสีเพศหญิงในบทเพลงของธันวา ราศีธนู ตั้งแต่ พ.ศ. 2552 – 2558 จำนวน 7 อัลบั้ม รวม 68 เพลง กลวิธีการใช้ภาษาเสียดสีเพศหญิงในบทเพลงของธันวา ราศีธนู พบว่ามีการใช้ถ้อยคำเสียดสี ซึ่งสามารถวิเคราะห์ได้ 6 ประเด็น ได้แก่ กลวิธีการใช้ถ้อยคำเชิงคำถามวาทศิลป์ เป็นรูปแบบคำถามที่ไม่ต้องการคำตอบด้วยเจตนาเพื่อวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของเพศหญิง และเฉพาะเจาะจงถึงจุดบกพร่องของเรื่องราวระหว่างคู่รักที่ไม่ซื่อสัตย์ต่อกัน โดยปรากฏคำว่า “ไหม” และ “หรือไง” ประกอบบริบทของถ้อยคำเพื่อแสดงในรูปประโยคคำถามที่ต้องการเสียดสีเพศหญิง กลวิธีการใช้ถ้อยคำเชิงเปรียบ คือ การเปรียบเทียบเพศหญิงกับสัตว์ อมนุษย์ ตัวละครในวรรคดี รวมทั้งการกล่าวตรงความหมายกับสถานภาพของบุคคลในสังคม ซึ่งมีการใช้คำเปรียบที่ทำให้เกิดจินตภาพ และเข้าใจบริบทจากการพรรณนาเป็นเรื่องราว อันส่งผลกระทบต่อเพศชาย ถ้อยคำเสียดสีเพศหญิงดังกล่าวจึงเป็นนัยในเชิงอำนาจที่สื่อสารถึงความต้องการของเพศชายด้านความเป็นผู้นำ ศักดิ์ศรี และความเป็นมนุษย์ นอกจากนี้ยังอธิบายให้เห็นถึงสภาพสังคมของบุคคลทั้งสองเพศที่ต่างสัมพันธ์กันในการดำรงชีวิตอย่างปฏิเสธไม่ได้


กลวิธีการใช้ถ้อยคำล้อเลียน เป็นการใช้คำล้อเลียนผู้หญิงที่มีความรุนแรงมาก ส่อถึงผู้หญิงหลายประเภททั้งนอกใจ ผู้หญิงไม่ดี รวมไปถึงผู้หญิงที่เจ้าชู้แอบลักกินขโมยกิน ของคนอื่น นอกจากนี้คำที่ใช้ล้อเลียนในบทเพลงของธันวา ราศีธนู ยังมีการล้อผู้หญิงนั้น เป็นสัตว์ เช่น ปลาไหล กิ้งก่าทอง งูดิน เป็นต้นซึ่งการล้อเลียนผ่านตัวแทนคำเหล่านี้นั้นถือว่าเป็นการล้อเลียนหรือหลอกด่าเช่นกัน กลวิธีการใช้ถ้อยคำกระทบ ซึ่งสื่อให้รู้ว่าฝ่ายหนึ่งมีเจตนาที่จะสื่อให้อีกฝ่ายรู้ในเจตนารมณ์ที่ต้องการกล่าวกระทบ หรือชี้ข้อผิดพลาดความบกพร่อง ของเพศหญิง ซึ่งถูกมองในแง่ลบถึงถ้อยคำที่สื่อถึงพฤติกรรมที่ถูกกล่าวถึงนั้นและแสดงถึง การต่อว่าผู้หญิงทั้งโดยนัยและทางตรง กล่าวคือตัวอย่างโดยนัย คือคำว่า “ใจดำ” ส่วนพูดต่อว่าโดยตรงๆ เช่น “สันดาน” เป็นต้น ทั้งนี้ก็เพราะต้องการสื่อให้เห็นถึงพฤติกรรมและการกระทำของผู้หญิงที่มีนิสัยไม่ซื่อสัตย์ในความรักหรือไม่มีความมั่นคงในรักนั้นเลย อีกทั้งยังแสดงถึง การแสดงออกของผู้หญิงในเชิงพฤติกรรมที่เล่นชู้กับชายคนอื่น หรือไม่พอใจในรักที่ตัวเองมีอยู่ นำมาซึ่งการถูกมองว่าไม่ดีและส่ำส่อน


กลวิธีการกล่าวเหน็บแนมผู้หญิงในเพลงของธันวา ราศีธนู มีการเหน็บแนมเรื่องพฤติกรรมของผู้หญิงเชิงลบที่ไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม โดยการกล่าวตอกย้ำถึงพฤตกรรม อันเลวร้ายของผู้หญิง คือ การหลอกลวง การล้อเล่นกับความรู้สึกของผู้ชายด้วยความเห็นแก่ตัว การคบผู้ชายหลายคน และการนอกใจสามี มีการเหน็บแนมผู้หญิงโดยการนำไปเปรียบกับสัตว์และสิ่งต่างๆ ที่มีความหมายไม่ดีที่สอดคล้องกับพฤติกรรมนั้นๆ ของผู้หญิง และมีการเหน็บแนมโดยนำสำนวนต่างๆ ที่มีความหมายเชิงลบที่สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้หญิง และ กลวิธีการใช้ถ้อยคำประชดประชัน โดยภาษาที่ใช้สื่อความหมายนั้นต้องตีความตรงข้ามกับถ้อยคำและการใช้ถ้อยคำประชดประชันจากบทเพลงของธันวา ราศีธนู ส่วนใหญ่จะเป็นคำที่แรง และความหมายตรงตามที่สื่อสาร ส่งผลให้ผู้ที่ฟังสะเทือนอารมณ์ ผสมผสานกับเสียงร้อง ที่กึกก้องของเจ้าของบทเพลง ยิ่งทำให้ถ้อยคำการประชดประชันนั้นดูสมจริงมากยิ่งขึ้น

Article Details

บท
บทความวิชาการ

References

เดชา ศิริภัทร. (2549). ปีนต้นงิ้ว. (ออนไลน์). แหล่งที่มา: https://www.doctor.or.th/article/detail/3261. วันสืบค้น 8 กุมภาพันธ์ 2560.

ธนัณชัย สังห์มาตย์. (2557). ประเภทของการเปรียบเทียบ. (ออนไลน์). แหล่งที่มา: https://www.gotoknow.org/posts/500905. วันสืบค้น 8 กุมภาพันธ์ 2560.

เบญจวรรณ มณีฉาย. (2537). สำนวนไทยโวหาร. กรุงเทพฯ: ภูมิบัณฑิตการพิมพ์.

พิชัยลักษณ์ ไชยวงค์. (2551). ทฤษฎีเจียมเนื้อ เจียมตัว. (ออนไลน์). แหล่งที่มา: http://oknation.nationtv.tv. วันที่สืบค้น 18 กุมภาพันธ์ 2560

ราชบัณฑิตยสถาน. (2556). พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน.

วรเชษฐ โชคชัย. (2560). มายาหญิงร้อยเล่มเกวียน. (ออนไลน์). แหล่งที่มา: https://www.gotoknow.org/posts/480688. วันสืบค้น 2 กุมภาพันธ์ 2560.

วิสาข์ อนุกูล. (2550). ความสัมพันธ์ระหว่างแรงจูงใจกับสภาพการปฏิบัติงานของพนักงานองค์การของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต คณะศึกษาศาสตร์. มหาวิทยาลัยรามคำแหง. ถ่ายเอกสาร

สมปอง สิมมา. (2557). โศกนาฏกรรมชีวิตตัวละครเอกหญิง: ศึกษาเปรียบเทียบวันทองในเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนกับเทสส์ ใน Tess of the D’Urbervilles. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต คณะศึกษาศาสตร์. มหาวิทยาลัยรามคำแหง. ถ่ายเอกสาร

สังเวียน ไสว. (2554). สัตว์ป่าสงวน. (ออนไลน์). แหล่งที่มา: https://sites.google.com/site/bv540107/. วันที่สืบค้น 8 กุมภาพันธ์ 2560

สันทัด จันทร์ขุน. (2549). การใช้คำ ภาษิต และโวหารในวรรณกรรมเพลงบอกของเพลงบอก สร้อย เสียงเสนาะ. สงขลา: มหาวิทยาลัยทักษิณ

อุมาภรณ์ สังขมาน. (2559). กลวิธีทางภาษาในวัจนกรรมเสียดสี เพื่อเสียดสี เพื่อสร้างความตลกขบขันของไทย. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

Siamreptile. (2552). งูดิน. (ออนไลน์). แหล่งที่มา: http://www.siamreptile.com. วันที่สืบค้น 8 กุมภาพันธ์ 2560.