การพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรมจักสานเชิงสร้างสรรค์ที่มีเอกลักษณ์ชุมชน กลุ่มจักสานบ้านป่างิ้ว ตำบลทาเหนือ อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่

ผู้แต่ง

  • อรนุตฎฐ์ สุธาคำ

คำสำคัญ:

ผลิตภัณฑ์หัตถกรรมจักสาน, งานหัตถกรรมเชิงสร้างสรรค์, ป้ายสินค้า, ปกาเกอะญอ, เอกลักษณ์ชุมชนกะเหรี่ยง

บทคัดย่อ

             การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์  1. เพื่อศึกษาเอกลักษณ์เฉพาะของชุมชนบ้านป่างิ้ว  2. เพื่อพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์เครื่องจักสานที่ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคในยุคการตลาด 4.0   3. เพื่อออกแบบป้ายสินค้าของกลุ่มที่สามารถใช้ส่งเสริมการตลาด     กลุ่มตัวอย่างในการวิจัย คือ กลุ่มจักสานบ้านป่างิ้ว อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่  จำนวน 17 ราย  นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวหมู่บ้านป่างิ้ว ทาเหนือ  จำนวน 50  ราย รวม 67 ราย  โดยใช้วิธีสุ่มอย่างง่าย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่  แบบสัมภาษณ์  แบบสอบถาม และ แบบประเมินความเหมาะสมของรูปแบบผลงาน ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติวิเคราะห์  ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และสถิติวิเคราะห์เชิงเนื้อหา  

              ผลการวิจัย พบว่า ชุมชนหมู่ 4 บ้านป่างิ้ว เป็นกะเหรี่ยงปกาเกอะญอ หรือ สะกอร์ มีเอกลักษณ์ของที่แสดงถึงความเป็นตัวตนของกะเหรี่ยงปกาเกอะญอ ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนพื้นฐานของวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตความเป็นอยู่ และ การยอมรับร่วมกัน และถือปฏิบัติสืบต่อกันมา จนกลายเป็นวัฒนธรรมการดำรงชีวิตของคนในชุมชน บ้านป่างิ้ว   อาชีพหลักคือ เกษตรกรรม ทำนาปีละครั้ง อาชีพเสริมกลุ่มผู้หญิงทอผ้าและกลุ่มผู้ชายจักสาน  ภาษา ใช้ภาษากะเหรี่ยงในการสื่อสารภายในชุมชน ประธานกลุ่มและสมาชิกบางคนได้เรียนภาษาไทยและพูด อ่าน เขียนภาษาไทยได้ สามารถสื่อสารกับบุคคลภายนอกได้   วัฒนธรรมการแต่งกาย จะแต่งกายชุดกะเหรี่ยง สะพายย่าม เด็กหรือหญิงสาวที่ยังไม่แต่งงานจะใส่ชุดยางขาว ปักลวดลายด้วยเส้นด้ายทอ ไม่ปักลูกเดือย ส่วนผู้หญิงที่แต่งงานแล้วจะใส่เสื้อผ้ามีสีสันที่ทอเอง ปักลวดลายและปักลูกเดือย  ผู้ชายทั้งเด็กและผู้ใหญ่จะใส่เสื้อยาง มีสีสันสดใส วิถีการดำรงชีวิตความเป็นอยู่ เป็นชนเผ่ากลุ่มอนุรักษ์ที่ยังใช้ภูมิปัญญาพื้นถิ่น รักษาความเชื่อ ประเพณี อาคารบ้านเรือนปัจจุบันจะเป็นเหมือนบ้านพื้นราบ แต่ยังคงมีลักษณะของกะเหรี่ยง คือ สร้างแบบมีการยกพื้นสูงมีใต้ถุนบ้าน เอกลักษณ์ของชนเผ่าจะปรากฏในลวดลายของเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายและเครื่องใช้สอยในชีวิตประจำวัน ซึ่งได้แก่ เครื่องมือที่ใช้หาอาหาร เช่น ปลอกมีดพร้า กระบุงเก็บผัก เก็บกิ่งไม้ทำฟืน กระติบข้าวเหนียว เข่งใส่สัตว์เลี้ยง เป็ด ไก่ และยังพบว่านักท่องเที่ยวที่เข้ามาในหมู่บ้านป่างิ้ว เป็นผู้บริโภคที่นิยมสินค้ากลุ่มชาติพันธุ์ ส่วนใหญ่มีความต้องการซื้อสินค้ากลุ่มชาติพันธุ์ไปใช้ใส่ของ  ใช้ในการตกแต่งที่พักอาศัย และ ซื้อเป็นของฝากของที่ระลึก ช่วงที่นักท่องเที่ยวไม่เข้ามาเที่ยวเลย คือ ช่วงฤดูฝน ส่วนฤดูหนาว จะมาเยี่ยมชมมากที่สุด และจากการสัมภาษณ์ประธานกลุ่มและสมาชิกกลุ่ม พบปัญหาของผลิตภัณฑ์จักสานที่จำหน่ายดังนี้ สินค้ามีความประณีตในบางรูปแบบ ผลิตภัณฑ์มีรูปแบบไม่หลากหลาย ไม่มีความแปลกใหม่ และขาดเอกลักษณ์ของชุมชน ผู้วิจัยได้ออกแบบภายใต้กรอบแนวคิด การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์ของชุมชนเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ มีรูปแบบที่ทันสมัยสอดคล้องกับความต้องการซื้อของนักท่องเที่ยวที่นิยมสินค้ากลุ่มชาติพันธุ์ และ มี ป้ายสินค้า (tag) ที่ช่วยให้จดจำกลุ่มง่ายและสามารถกลับมาซื้อใหม่ได้ โดยใช้หลักการออกแบบผลิตภัณฑ์ ผลงานออกแบบผลิตภัณฑ์หัตถกรรมจักสานสำหรับงานตกแต่งและใช้สอย  มีจำนวน 6 รูปแบบ ได้แก่  โคมไฟแขวน  ตะกร้าแขวน  ตะกร้า  กระเป๋า พร้อมป้ายสินค้า  ผลการประเมินความเหมาะสมของรูปแบบผลงานออกแบบผลิตภัณฑ์และป้ายสินค้า โดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบ มีความเห็นว่าเหมาะสมระดับมากที่สุด เพราะมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบและลวดลายเดิมๆ ให้เป็นงานที่แปลกใหม่มีความทันสมัย มีเอกลักษณ์ของชุมชน รูปแบบเหมาะสมกับประโยชน์ใช้สอย ใช้งานสะดวก และมีความเป็นไปได้ในการผลิต

Downloads

เผยแพร่แล้ว

07/01/2020