แนวทางการบริหารงานแบบมีส่วนร่วมในการจัดการความรู้ของสถานศึกษา ในอำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่

ผู้แต่ง

  • ดวงฤทัย โพธิกุล คณะคุรุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
  • สายฝน แสนใจพรม

คำสำคัญ:

การบริหารงาน, การจัดการความรู้, การมีส่วนร่วม, แนวทาง

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพและแนวทางการบริหารแบบมีส่วนร่วมในการจัดการความรู้ของสถานศึกษาในอำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ประชากรที่ใช้ในการวิจัย คือ ผู้บริหารสถานศึกษา ครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ศึกษานิเทศก์ จำนวน 391 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล คือ แบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์ และแบบบันทึกข้อมูลการประชุมกลุ่ม วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณโดยใช้สถิติ ค่าเฉลี่ย ค่าร้อยละและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ข้อมูลเชิงคุณภาพวิเคราะห์เนื้อหาและสรุปบรรยายแบบพรรณนา

            ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้

  1. 1. สภาพการบริหารแบบมีส่วนร่วมในการจัดการความรู้ของสถานศึกษาในอำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ พบว่า โดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง เมื่อพิจารณาเป็นรายขั้นตอนพบว่า การสร้างและแสวงหาความรู้ อยู่ในระดับน้อย เนื่องจาก ขาดแคลนงบประมาณในการสนับสนุน อีกทั้งการเข้าร่วม ประชุม อบรมสัมมนา จะเป็นวันหยุดซึ่งทำให้ครูขาดความกระตือรือร้นในการเสาะแสวงหาความรู้ใหม่ ๆ ส่วนอีก 6 ขั้นตอน (การบ่งชี้ความรู้ การจัดการความรู้ให้เป็นระบบการประมวลและกลั่นกรองความรู้ การเข้าถึงความรู้ การแบ่งปันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การเรียนรู้) อยู่ในระดับปานกลาง
  2. 2. แนวทางการบริหารแบบมีส่วนร่วมในการจัดการความรู้ของสถานศึกษาในอำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ มีดังนี้

            2.1 ผู้บริหารสถานศึกษาควรเป็นผู้นำในการจัดประชุมทำแผนปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับการบ่งชี้ความรู้รวมทั้งเปิดโอกาสให้ครูและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานร่วมกันวางแผนตัดสินใจและลงมือจัดทำแผนปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับการบ่งชี้ความรู้   กกกกกก

            2.2 ผู้บริหารสถานศึกษาควรผู้นำในการพัฒนาตนเอง มีการวางแผนร่วมกันกับครูในการกำหนดปฏิทินสนับสนุนให้ครูสร้างและแสวงหาความรู้ใหม่ ๆ อีกทั้งผู้บริหารสถานศึกษาควรรับฟังความคิดเห็นระดมความคิดเห็นมาปรับปรุง สนับสนุนให้ครูดำเนินการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ รวมทั้งติดตามผลการสร้างนวัตกรรม

            2.3 ผู้บริหารสถานศึกษาควรประชุมวางแผน ตัดสินใจ แต่งตั้งคณะทำงาน มีการเชิญวิทยากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT) มาอบรมการจัดการความรู้ให้เป็นระบบแก่ครู แล้วกระตุ้นให้ครูลงมือปฏิบัติจัดการความรู้ให้เป็นระบบ แล้วผู้บริหารสถานศึกษามีการติดตามผล

            2.4 ผู้บริหารสถานศึกษาควรเป็นผู้นำร่วมกันกับครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน วางแผน ตัดสินใจ ตรวจสอบความรู้ มีการแต่งตั้งคณะทำงาน สนับสนุนการใช้สื่อเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการประมวลและกลั่นกรองความรู้ แล้วผู้บริหารสถานศึกษามีการ ติดตามผล มีการทบทวนปรับปรุงความรู้ให้ทันสมัยอยู่เสมอ

            2.5 ผู้บริหารสถานศึกษาควรแต่งตั้งคณะทำงาน เชิญวิทยากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ               (ICT)มาอบรมการเข้าถึงความรู้โดยใช้สื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมทั้งสนับสนุนให้ครูประชาสัมพันธ์ข้อมูลใหม่ ๆ แล้วผู้บริหารสถานศึกษาติดตามผลการจัดสรรทรัพยากรให้เพียงพอต่อการเข้าถึงความรู้

            2.6 ผู้บริหารสถานศึกษาร่วมกับครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน วางแผน ตัดสินใจสร้างชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) กระตุ้นให้ทุกคนร่วมกิจกรรมแบ่งปันแลกเปลี่ยนความรู้ สนับสนุนให้ครูมีแนวทางการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (BEST )ของตนเอง อีกทั้งผู้บริหารสถานศึกษาสนับสนุนและติดตามผลการสร้างเว็บไซต์ของครูในการแบ่งปันความรู้

            2.7 ผู้บริหารสถานศึกษาวางแผนตัดสินใจร่วมกับครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จัดทำ ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) ทุกเดือน ส่งเสริมระบบพี่เลี้ยง (Coaching and Mentoring) ส่งเสริมสนับสนุนบุคลากรเข้ารับการอบรม สัมมนา แล้วผู้บริหารสถานศึกษามีติดตามการสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้

คำสำคัญ : การบริหารแบบมีส่วนร่วม , การจัดการความรู้

References

ญาดา ยุพานวิทย์. (2558). การศึกษาสภาพการจัดการความรู้ของสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขต พื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 32. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต. มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์.

นภัสนันท์ จิตรภักดี. (2560). รูปแบบการมีส่วนร่วมของครูในการจัดการความรู้ในสถานศึกษา สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น. วิทยานิพนธ์ปริญญาดุษฎีบัณฑิต. มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี.

รพีพร รักเดช. (2558). การจัดการความรู้ของผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุรินทร์ เขต 1. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์

วีรวัฒน์ คำมะยอม. (2558). การจัดการความรู้ในสถานศึกษา สังกัดสำนักงาน เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 35 จังหวัดลำพูน. การศึกษาค้นคว้าอิสระปริญญามหาบัณฑิต. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

ศิริวรรณ งอกงาม. (2558). การจัดการความรู้ในโรงเรียนศูนย์เครือข่าย พัฒนาคุณภาพการศึกษาแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน. การศึกษาค้นคว้าอิสระปริญญามหาบัณฑิต. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

โศภิดา คล้ายหนองสรวง. (2558). การบริหารแบบมีส่วนร่วมที่ส่งผลต่อประสิทธิผลของสถานศึกษาสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาร้อยเอ็ด เขต3. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยบูรพา

สถาบันพัฒนาผู้บริหารการศึกษา. (2548). หลักการจัดการศึกษายุคใหม่. (ม.ป.ท.)

สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 2. (2561). รายงานระบบสารสนเทศเพื่อ การบริหาร EMIS ข้อมูลโรงเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 2 ปีการศึกษา 2561. (ระบออนไลน์), แหล่งที่มา http://emis.cme2.go.th/report_hr, เข้าดูเมื่อวันที่ 15/1/2562.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

20-10-2020