กระบวนการผลักดันพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558

ผู้แต่ง

  • สุทธิชัย รักจันทร์ นักวิชาการอิสระ

บทคัดย่อ

งานวิจัยชิ้นนี้เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ เป้าหมายวิเคราะห์และอธิบายกระบวนการผลักดันพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558  มีวัตถุประสงค์ประการแรก เพื่อศึกษาวิเคราะห์พัฒนาการของนโยบายและกระบวนการกำหนดนโยบายในพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ช่วงเวลา พ.ศ.2548 - 2558  ประการที่สองเพื่อศึกษาบทบาทของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการกำหนดนโยบายในพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 โดยใช้วิธีวิจัยเชิงคุณภาพในการเก็บรวบรวมข้อมูลเอกสารชั้นต้น เอกสารชั้นรอง ข้อมูลบันทึกบทสัมภาษณ์ในสื่อออนไลน์รูปแบบต่าง ๆ และการสัมภาษณ์แบบไม่มีโครงสร้าง

ผลการศึกษาพบว่า ด้วยกระแสการเมืองที่มีความขัดแย้งซึ่งเป็นเรื่องปกติในระบอบประชาธิปไตย เหตุการณ์ชุมนุมเกิดขึ้นเรื่อยมา ปรากฏการณ์ผ่านการรับรู้ของประชาชนผ่านสื่อสารมวลชน วาระปัญหาก่อตัวของพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ด้วยกัน 2 ประการ คือ ปัญหาเจ้าหน้าที่รัฐ พบว่าขอบเขตการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการกับการชุมนุมไม่ชัดเจน ส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ต้องตั้งอยู่บนดุลยพินิจภายใต้เงื่อนไขสถานการณ์ที่กดดัน การใช้อำนาจหน้าที่โดยไม่ชอบ และปัญหาการขาดความมั่นใจในการปฏิบัติงาน

ด้านปัญหาผู้ชุมนุม พบว่า มีปัญหาหลายด้าน อาทิ การอ้างความชอบธรรมจากการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธที่ขึ้นอยู่กับบริบทของสถานการณ์ในขณะนั้น ปัญหาการจำกัดขอบเขตเสรีภาพการชุมนุมทั้งในสถานการณ์ปกติและไม่ปกติ ปัญหาการบังคับกฎหมายอื่นในการจำกัดเสรีภาพการชุมนุม และที่สำคัญคือ ปัญหาทัศนคติเกี่ยวกับการชุมนุมสาธารณะของไทย พบว่ารัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐมีทัศนคติเชิงลบต่อการชุมนุม

 

จากวาระปัญหาข้างต้นส่งผลให้มีการผลักดันกฎหมายร่วมกับกระแสการเมือง พ.ศ.2548 - 2557 มีการชุมนุมใหญ่ทางการเมือง มีการเผชิญหน้าระหว่างรัฐบาลกับผู้ชุมนุมที่สร้างความเสียหาย ทั้งนี้พบว่า ฐานคิดในการร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นผลสะท้อนมาจากการหวาดกลัวของสังคมและรัฐต่อการชุมนุมทางการเมืองในทศวรรษที่ผ่านมา

พัฒนาการของกฎหมายชุมนุมไทย พบว่า ก่อนที่จะร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะฯ ในอดีตไม่ว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหรือรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารต่างเสนอร่างกฎหมายชุมนุม ในอดีตมีความพยายามร่างกฎหมายชุมนุมหลายครั้ง คือ พ.ศ.2498 มีร่างกฎหมายเป็นรูปธรรมในปี พ.ศ.2536, 2550, 2553 และ 2557 ซึ่งหลังการชุมนุมมีการนำเสนอกฎหมายฉบับนี้เสมอ

กระบวนการกำหนดนโยบายในพระราชบัญญัติการชุมนุม พ.ศ 2558 สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามผลักดันจากกลุ่มผลประโยชน์เชิงสถาบันที่ประกอบด้วยชนชั้นนำซึ่งเป็นฝ่ายบริหาร คณะรัฐมนตรี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้เชี่ยวชาญในการร่างหรือนักเทคนิคสามารถตัดสินใจในระบบการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยได้  โดยเฉพาะสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ได้เข้ามาผลักดันด้วยการเสนอร่างกฎหมายทั้งในอดีตจนถึงร่างกฎหมาย พ.ศ.2557 และกระบวนการกำหนดนโยบายยังคงมีส่วนร่วมที่จำกัดความคิดเห็นของภาคส่วนต่าง ๆ ที่มีส่วนได้เสียภายในระยะเวลาจำกัด แม้ว่าภาคประชาชน นักวิชาการ องค์กรของรัฐและองค์กรระหว่างประเทศได้คัดค้านหรือขอให้ชะลอการพิจารณาไว้ก็ตาม แต่สภานิติบัญญัติแห่งชาติรีบเร่งพิจารณา ซึ่งการผ่านร่างกฎหมายที่มาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติภายในเวลาสั้น ๆ ทั้งนี้กฎหมายฉบับนี้ผลักดันสำเร็จในยุคที่ไม่เป็นประชาธิปไตยย่อมส่งผลถึงความไม่ชอบธรรมต่อกฎหมายและการนำไปปฏิบัติ

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2018-06-24