รัฐกับศาสนา: ความไม่ชัดเจนของรัฐไทยในความเป็นรัฐโลกาวิสัยหรือรัฐศาสนา

ผู้แต่ง

  • กันต์ แสงทอง
  • ภัสสรา บุญญฤทธิ์

บทคัดย่อ

ในความเป็นรัฐสมัยใหม่ในโลกตะวันตกนั้นได้แยก ศีลธรรมทางศาสนาและวิถีทางของคนธรรมดาไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังสนธิสัญญา เวสปาเลี่ยน นำมาสู่จุดกำเนิดรัฐสมัยใหม่ที่เป็นรัฐฆราวาสวิสัย (secular state ) ปราศจากการครอบงำใดของทางศาสนา แต่ในกรณีของไทยนั้นมีความแตกต่างออกไปในกระบวนการสร้างรัฐสมัยใหม่ในรัชกาลที่ 5 หรือช่วงราว พ.ศ.2435 ในการปฏิรูประบบราชการเพื่อสร้างให้สยามกลายเป็นรัฐสมัยใหม่เหมือนกับประเทศมหาอำนาจตะวันตก แต่ในความแตกต่างของสยามนั้นมิได้แยกศาสนาออกจากรัฐแต่กลับนำศาสนาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบราชการในรัฐสมัยใหม่ด้วย นั้นคือการตั้งมหาเถรสมาคมเพื่อเป็นองค์กรที่ดูแลควบคุมพระสงฆ์ของไทยโดยเฉพาะ โดยจัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2445 จนมีพัฒนาการมาจนถึง พ.ศ.2485 และกลับมาสู่รูปแบบเดิมในปี พ.ศ.2505 และยังใช้รูปแบบการปกครองสงฆ์สืบเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้

จากการที่รัฐได้นำเอาพุทธศาสนามาเป็นส่วนหนึ่งของรัฐแล้วทำให้รัฐไทยเกิดความกำกวมในความเป็นรัฐสมัยใหม่เหมือนตะวันตกกับรัฐก่อนสมัยใหม่ที่ศาสนายังมีความเกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครองอยู่ ดูจากการแทรกแซงการปกครองสงฆ์ ในกรณีการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ใน ปีพ.ศ.2560 การนำเอาวันสำคัญในทางพุทธศาสนามาเป็นวันหยุดราชการ และรัฐพิธีที่เน้นไปทางพุทธศาสนาเป็นส่วนมาก ทำให้รัฐไทยไม่ได้เข้ารูปแบบของรัฐสมัยใหม่อย่างสมบูรณ์หรือเป็นรัฐก่อนสมัยใหม่ แต่เป็นรัฐกำกวมที่อยู่ร่วมกับศาสนาและเชิดชูศาสนาพุทธมากกว่าศาสนาอื่น แม้ไม่ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญก็ตามแต่ก็มีศาสนาพุทธเป็นกลไกหนึ่งของรัฐในการสร้างระเบียบแบบแผนให้กับสังคม

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2018-06-24