ผู้สูงอายุไทยในศตวรรษที่ 21
บทคัดย่อ
ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 และกำลังจะก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปี พ.ศ.2564 การเตรียมความพร้อมรับมือสังคมผู้สูงอายุจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในยุคศตวรรษที่ 21 ซึ่งปัจจุบันปัญหาที่พบในผู้สูงอายุส่วนมากคือ ด้านสุขภาพร่างกาย ด้านจิตใจ ด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ ด้านการดูแล และด้านเทคโนโลยี เป็นต้น ปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อผู้สูงอายุโดยตรงหากไม่มีทักษะและการวางแผนหรือเตรียมความพร้อมย่อมส่งผลไปถึงอนาคต เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวจึงควรการสร้างการเรียนรู้ทักษะที่สำคัญในศตวรรษที่ 21 ให้แก่ผู้สูงอายุ คือ ทักษะ 3R x 7C ประกอบด้วย ทักษะ3 R คือ อ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็น ทักษะ 7C คือ 1.การคิดอย่างมีวิจารณญาณและการแก้ปัญหา 2.การสร้างสรรค์และนวัตกรรม 3.ด้านความเข้าใจต่างวัฒนธรรม ต่างกระบวนทัศน์ 4.ด้านความร่วมมือ การทำงานเป็นทีม และภาวะผู้นำ 5.ด้านการสื่อสาร สารสนเทศ และรู้เท่าทันสื่อ 6.ทักษะด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยี สารสนเทศและการสื่อสาร 7.ทักษะอาชีพ และการเรียนรู้ ทักษะดังกล่าวผู้สูงอายุอาจไม่จำเป็นต้องมีครบทุกด้านเพราะบริบทของผู้สูงอายุแต่ละคนแตกต่างกัน แต่ทักษะที่ผู้สูงอายุควรจะมีได้แก่ 3R อ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็น และ 3 C คือ ความเข้าใจต่างวัฒนธรรม ด้านความร่วมมือ การทำงานเป็นทีมและทักษะด้านคอมพิวเตอร์ ดังนั้นเพื่อเป็นการสร้างคุณค่าแก่ผู้สูงอายุให้สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม โดยเฉพาะกรมกิจการผู้สูงอายุ ควรจัดทำโครงการฝึกทักษะให้แก่ผู้สูงอายุทั้งด้าน การฝึกทักษะคอมพิวเตอร์เบื้องต้น จัดกิจกรรมเพื่อฝึกทักษะการทำงานเป็นทีม