สังคมไทยกับปัญหาการตั้งครรภ์ของวัยรุ่น

ผู้แต่ง

  • ณัฐชยา กำแพงแก้ว คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บทคัดย่อ

 สถานการณ์การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นในประเทศไทยเป็นปัญหาที่มีแนวโน้มที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยพิจารณาจากสถิติอัตราการคลอดของวัยรุ่นที่มีอายุ 15-19 ปี ต่อประชากรหญิงในช่วงอายุดังกล่าว 1,000 คน มีการตั้งครรภ์เท่ากับ 51.2 ซึ่งสูงเป็นอันดับ 2 ในอาเซียน นอกจากนี้ยังพบว่าอายุเฉลี่ยของวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์อยู่ที่ 13-15 ปี และมีอายุน้อยสุดเพียง 10 ปีเท่านั้น ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงความรุนแรงของสถานการณ์ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นที่เกิดขึ้นในสังคมไทย อย่างไรก็ตามในการแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นของสังคมไทยมักติดอยู่ภายใต้แนวคิด และมาตรฐานของพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์ของบุคคลที่ต้องอยู่ภายใต้กรอบของการแต่งงาน และการตั้งครรภ์ที่มีการวางแผน ทำให้ทิศทางการแก้ปัญหาดังกล่าวจึงเป็นเรื่องยากลำบากแม้จะมีการดำเนินการแก้ไขผ่านการบังคับใช้พระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นก็ตาม ดังนั้นการผสมผสานแนวทางการจัดการปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทย จำเป็นต้องนำหลักพุทธวิถีมาประยุกต์ใช้ในการจัดการปัญหา โดยแบ่งแนวทางการแก้ไขออกเป็น 3 แนวทาง ประกอบด้วย การสร้างเสริมความรับผิดชอบ การส่งเสริมแนวทางการป้องกัน และการจัดการปัญหาด้วยการใช้หลักพุทธธรรม ซึ่งแนวทางดังกล่าวเป็นการบูรณาการหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา เช่น หลักอริยสัจ 4 หลักอิทธิบาท 4 หรือหลักพรหมวิหาร 4 มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์ของวัยรุ่น เพื่อประคับประคองให้วัยรุ่นที่พลาดพลั้งได้มีแนวทางในการแก้ไข ปรับปรุง และพัฒนาตนเองให้ดีขึ้น ทั้งยังเป็นการพัฒนาแนวทางในการจัดการปัญหาอย่างยั่งยืน

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2018-06-24