การระดมทรัพยากรของขบวนการคัดค้านโรงงานไฟฟ้าขยะ (ไพศาลี-หนองบัว) จังหวัดนครสวรรค์

ผู้แต่ง

  • ขวัญฤทัย เรือนเพชร นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชารัฐศาสตร์ แขนงวิชาการเมืองการปกครอง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์
  • รตา อนุตตรังกูร สาขาวิชารัฐศาสตร์ คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์

คำสำคัญ:

การระดมทรัพยากร, ขบวนการคัดค้านโรงงานไฟฟ้าขยะ

บทคัดย่อ

บทความนี้มีวัตถุประสงค์ คือ 1) เพื่อศึกษาการระดมทรัพยากรของขบวนการคัดค้านโรงงานไฟฟ้าขยะ (ไพศาลี-หนองบัว) จังหวัดนครสวรรค์ และ 2) เพื่อเปรียบเทียบการระดมทรัพยากรของขบวนการคัดค้านโรงงานไฟฟ้าขยะ (ไพศาลี-หนองบัว) จังหวัดนครสวรรค์ โดยมองผ่านทฤษฎีการระดมทรัพยากรและทฤษฎีขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมแนวใหม่เป็นสำคัญ ขบวนการคัดค้านโรงงานไฟฟ้าขยะอำเภอไพศาลีและขบวนการคัดค้านโรงงานไฟฟ้าขยะอำเภอหนองบัวมีการระดมทรัพยากร อยู่ 6 ประเด็น คือ 1) ด้านทรัพยากรบุคคล 2) ด้านเงิน 3) ด้านวัสดุและอุปกรณ์ 4) ด้านข้อมูล 5) ด้านเทคโนโลยี และ 6) ด้านหน่วยงานภาครัฐและเอกชน

           ผลการวิจัย พบว่า ขบวนการคัดค้านโรงงานไฟฟ้าขยะไพศาลีมีการระดมทรัพยากร ทั้ง 6 ประเด็น        พบจุดอ่อน คือ ด้านข้อมูล เนื่องจากข้อมูลส่วนใหญ่ที่ประชาชนในพื้นที่รับรู้นั้น มาจากบริษัทผู้รับผิดชอบการสร้างโรงไฟฟ้าขยะเป็นหลัก จึงได้ข้อมูลที่ไม่มีความเป็นกลาง ในส่วนของจุดแข็งของขบวนการคัดค้านโรงฟ้าขยะไพศาลี คือ ด้านทรัพยากรบุคคล ที่รวมตัวกันอย่างเข้มแข็งจนนำไปสู่การยื่นหนังสือร้องเรียนต่อศาลปกครอง ซึ่งศาลปกครองตัดสินให้โรงงานไฟฟ้าชนะคดีความ แต่ ณ ขณะนั้น ใบอนุญาตการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะได้หมดอายุลง จึงทำให้    การก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าขยะในพื้นที่อำเภอไพศาลีไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ ทำให้ขบวนการคัดค้านโรงงานไฟฟ้าขยะไพศาลีประสบความสำเร็จในการเคลื่อนไหวคัดค้านในประเด็นดังกล่าว

              ทางขบวนการคัดค้านโรงงานไฟฟ้าขยะหนองบัวมีการระดมทรัพยากร ทั้ง 6 ประเด็น พบจุดอ่อน คือ ด้านหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ซึ่งกลุ่มคัดค้านโรงงานไฟฟ้าขยะหนองบัวมีการเรียกร้องต่อหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องอยู่หลายแห่งอย่างต่อเนื่องมาตลอดจนถึงปัจจุบัน แต่ไม่ค่อยได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร จึงทำให้ประชาชนในพื้นที่ต้องรวมตัวกันจนกลายมาเป็นจุดแข็งของขบวนการคัดค้านนี้ ทั้งในสัดส่วนของจำนวนผู้เข้าร่วมชุมนุมและยุทธวิธีในการคัดค้านทั้งที่ถูกและผิดกฎหมายอย่างมีเอกลักษณ์เฉพาะพื้นที่ โดยเฉพาะด้านวัสดุและอุปกรณ์ ทางขบวนการมีการใช้รถอีตุ๊ก เพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการคัดค้านโรงไฟฟ้าขยะ เพราะรถอีตุ๊กแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ที่ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร จึงทำให้รถอีตุ๊กเป็นอุปกรณ์สำคัญในการปิดถนนประท้วง ซึ่งปัจจุบันขบวนการคัดค้านนี้ก็ยังพยายามที่ใช้จุดแข็งที่มีในการคัดค้านโรงงานไฟฟ้าขยะอย่างต่อเนื่อง แต่ยังก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ เพราะโรงงานไฟฟ้าขยะยังมีการก่อสร้างอย่างต่อเนื่องจนเกือบแล้วเสร็จและยังไม่มีหน่วยงานใดออกมาให้ความช่วยเหลือในการคัดค้านของขบวนการนี้

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2020-12-20