การวิเคราะห์วาทกรรมเชิงวิพากษ์ในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
คำสำคัญ:
วาทกรรม, การวิเคราะห์วาทกรรมเชิงวิพากษ์, ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาที่ยั่งยืนบทคัดย่อ
การศึกษานี้เป็นการวิเคราะห์วาทกรรมเชิงวิพากษ์ในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” เพื่อทำความเข้าใจวาทกรรมเชิงวิพากษ์ในรายการว่ามีลักษณะ (ตัวบท) เป็นอย่างไร รวมถึงศึกษาวิถีปฏิบัติทางวาทกรรมที่ปรากฎในรายการกับวิถีปฏิบัติทางสังคมวัฒนธรรมว่ามีความสัมพันธ์ และมีสร้างอำนาจในการผลิต สร้าง และการดำรงอยู่ของความหมายในสิ่งต่าง ๆ ที่รัฐบาลพยายามแสดงออกอย่างไร โดยการศึกษาครั้งนี้ได้ใช้การวิเคราะห์วาทกรรมเชิงวิพากษ์ (Critical Discourse Analysis) เป็นแนวทางในการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างวาทกรรมกับสังคม โดยมีการวิเคราะห์ตัวบท (Text) วิถีปฏิบัติทางวาทกรรม (Discourse Practice) และวิถีปฏิบัติทางสังคมวัฒนธรรม (Socio-cultural Practice) ตามแนวทางของ Norman Fairclough (1995) โดยเก็บรวมรวมข้อมูลย้อนหลัง ตั้งแต่วันออกอากาศวันที่ 6 ตุลาคม 2560 ถึงวันที่ 29 มีนาคม 2562 จำนวน 94 ตอน จากเว็บไซต์สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ ผลวิเคราะห์วาทกรรมเชิงวิพากษ์ พบว่า มีวาทกรรมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืนก่อเกิดเป็นตัวบท 5 ชุด ได้แก่ ตัวบทในการสร้างการยอมรับในระดับนานาชาติ ตัวบทในการปฏิรูปประเทศด้วยการสร้างความ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ตัวบทในการดำเนินงานตามพระราชดำริ ตัวบทในการต่อต้านการทุจริตและปกป้องความมั่นคงของชาติ และตัวบทในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ โดยวิถีปฏิบัติทางวาทกรรมนี้จะทำให้ประชาชนผู้รับฟังรายการเกิดการยอมรับแนวทางการบริหารงานของรัฐบาลผ่านการสร้างตัวบทที่ทำให้เห็นว่ารัฐบาลน้อมนำเอา “ศาสตร์พระราชา” และ “แนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน” มาปฏิบัติเพื่อทำให้เกิดการยอมรับสิ่งที่รัฐบาลนำเสนอ ส่วนการสื่อสารทางวาทกรรมเกี่ยวของกับการที่พัฒนานั้นที่แฝงไปด้วยการสร้างความชอบธรรม การนำเสนอผลการปฏิบัติงานของรัฐบาลเพื่อหวังสร้างภาพลักษณ์ที่ดี สร้างความน่าเชื่อถือโดยการนำการพัฒนาที่ยั่งยืนและศาสตร์พระราชามาใช้เป็นแนวทางการบริหารประเทศของรัฐบาล