การศึกษาต้นทุนสิ่งแวดล้อมสำหรับการประเมินคุณค่าของการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย

Main Article Content

นวลนดา สงวนวงษ์ทอง
สมพจน์ กรรณนุช
วรางคณา ศรนิล
กฤช เอี่ยมฐานนท์

Abstract

นับแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 เป็นต้นมา การพัฒนาเศรษฐ กิจของประเทศไทยให้ความสำคัญต่อภาคอุตสาหกรรม มีมาตรการส่งเสริมการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมหลายด้าน ได้แก่ การลงทุนของรัฐด้านโครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภค และการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีรูปแบบต่าง ๆ อุตสาหกรรมเป็นการผลิตที่มีโครงสร้างปัจจัยการผลิตที่ซับซ้อน และมีวัตถุอันตรายหลากหลายชนิดเป็นวัตถุดิบ มีการรั่วไหลในสภาพปฏิกูลจากอุตสาหกรรมในสถานะต่าง ๆ ได้แก่ ของแข็ง ของเหลว ก๊าซ อุณหภูมิ กลิ่น เสียง แรงสั่นสะเทือน และมลทัศน์ เป็นต้น เมื่ออุตสาหกรรมสร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น ทำให้การพัฒนาอุตสาหกรรมมีต้นทุนสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกลี่ยงไม่ได้   ต้นทุนสิ่งแวดล้อมมี 4  ด้าน ได้แก่ ด้านสุขภาพ ด้านเศรษฐกิจและสวัสดิการ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และด้านความมั่นคงของระบบนิเวศ (สมพจน์ กรรณนุช, 2550 : 287 – 288) ต้นทุนสิ่งแวดล้อมมีสถานะเป็นสาธารณะทำให้ปราศจากมูลค่าในระบบต้นทุนการผลิตและราคาสินค้า การบริโภคและการผลิตสินค้า  ดังนั้นการไม่นับรวมต้นทุนสิ่งแวดล้อม ทำให้มีต้นทุนคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง (Pigou, 1960) การประเมินคุณค่าของการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ปราศจากการนับรวมต้นทุนสิ่งแวดล้อมจึงนับว่าคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง

การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินคุณค่าของการพัฒนาอุตสาหกรรมที่แท้จริงโดยคิดต้นทุนสิ่งแวดล้อมเป็นองค์ประกอบของต้นทุนการบริโภคและผลิตสินค้าครอบคลุมอุตสาหกรรม 93 สาขา ตามมาตรฐานระบบข้อมูลตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิตของประเทศไทย การคำนวณคุณค่าของอุตสาหกรรมประกอบด้วย 1) การคำนวณมูลค่าเพิ่มรวม ได้แก่ ผลรวมของมูลค่าเพิ่มทางตรงและทางอ้อม 2) การคำนวณต้นทุนสิ่งแวดล้อมประกอบด้วยการคำนวณต้นทุนสิ่งแวดล้อมรวม ได้แก่ ผลรวมของต้นทุนสิ่งแวดล้อมทางตรงและทางอ้อม การคำนวณทั้งสองกรณีใช้แบบจำลองปัจจัยการผลิตและผลผลิต (Input-Output Model) ตามมาตรฐานของ Leontief (1966) เพื่อเป็นเครื่องมือคำนวณหามูลค่าเพิ่มที่แท้จริงของการพัฒนาอุตสาหกรรม ซึ่งคือผลต่างระหว่างมูลค่าเพิ่มรวมกับต้นทุนสิ่งแวดล้อมรวม

การศึกษา พบว่า  ค่าเฉลี่ยสัมประสิทธิ์มูลค่าเพิ่มรวมของอุตสาหกรรมเท่ากับ 0.62 และค่าเฉลี่ยสัมประสิทธิ์ต้นทุนสิ่งแวดล้อมรวมเท่ากับ 0.10 อุตสาหกรรมกลุ่มที่มีสัมประสิทธิ์มูลค่าเพิ่มที่แท้จริงมากกว่าและเท่ากับค่าเฉลี่ย 0.52 มีจำนวนรวม 45 สาขา ลักษณะเด่นของอุตสาหกรรมเหล่านี้ ได้แก่ เป็นอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับภาคเกษตรซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้ปัจจัยการผลิตขั้นกลางผลิตในประเทศในสัดส่วนที่สูง อุตสาหกรรมกลุ่มที่มีสัมประสิทธิ์มูลค่าเพิ่มที่แท้จริงต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 0.52 มีจำนวนรวม 48 สาขาลักษณะเด่นของอุตสาหกรรมเหล่านี้ ได้แก่ เป็นอุตสาหกรรมประกอบชิ้นส่วนนำเข้าจากต่างประเทศ และมีการเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมในประเทศน้อย ใช้ปัจจัยการผลิตขั้นกลางที่นำเข้าจากต่างประเทศในสัดส่วนที่สูง

ข้อเสนอแนะในเชิงนโยบายพิจารณาจากผลการศึกษา ได้แก่ แนวทางที่ 1 การยกระดับคุณค่าของการพัฒนาอุตสาหกรรมพิจารณาจากสัมประสิทธิ์ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจรวม โดยการยกระดับมูลค่าเพิ่มประกอบด้วยค่าจ้างแรงงาน ผลกำไรของผู้ประกอบการ และรายได้ของรัฐจากภาษีทางอ้อม โดยอาศัยการพัฒนาปัจจัยที่จะช่วยเพิ่มพูนสัดส่วนของมูลค่าเพิ่มในกระบวนการผลิต การยกระดับสัมประสิทธิ์ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่แท้จริง เกิดขึ้นได้จากการส่งเสริมให้เกิดความหลากหลายของอุตสาหกรรมเพื่อให้อุตสาหกรรมต่างๆมีความสามารถ ใช้ปัจจัยการผลิตที่ผลิตในประเทศในสัดส่วนสูงขึ้น  และแนวทางที่ 2 การยกระดับคุณภาพสิ่งแวดล้อมโดยการลดต้นทุนสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรมสาขาที่มีค่าสัมประสิทธิ์ต้นทุนสิ่งแวดล้อมรวมในเกณฑ์สูง ซึ่งต้องการการกำกับดูแล   การส่งเสริมการพัฒนา และการนำเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาใช้ในกระบวนการผลิต

Article Details

Section
Articles