ปัญหาความเหลื่อมล้ำในความเจริญระหว่างภูมิภาคของไทยในทัศนทางการเงิน

Main Article Content

เอกฉัตร สิริสรรคานันต์

Abstract

การพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวของ  neo-classical  growth  model  ก่อให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแก่ประเทศไทยอย่างเห็นได้ชัด  อย่างไรก็ตาม  ในอีกด้านหนึ่ง  ความเจริญดังกล่าวกลับกระจุกตัวอยู่เฉพาะกับในบางพื้นที่และไม่เกิดการโน้มเข้าหากัน  (convergence)  ตามแนวคิดของ  neo-classical  growth  model  แต่กลับสอดคล้องกับ  endogeneous growth model  ที่เชื่อว่าความเจริญจะไม่โน้มเข้าหากัน  (divergence)  แทน    ในทัศนะทางการเงิน     สาเหตุสำคัญที่ทำให้บางภูมิภาคของไทยยังคงล้าหลังส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ยังคงมีกลุ่มประชากรอีกจำนวนมาก  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรและธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ยากจนและขาดหลักทรัพย์ค้ำประกันยังคงไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการกู้ยืมได้  ดังนั้น  เพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประชากรเหล่านี้  การพัฒนาทางการเงินในระดับท้องถิ่น  (local  financial  development)  น่าจะเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้ประชากรเหล่านี้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น  อย่างไรก็ตาม  แม้เงินทุนจะเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างโอกาสในการเติบโตของแต่ละกลุ่มอาชีพ  แต่เงินทุนเพียงปัจจัยเดียวย่อมไม่เพียงพอต่อการสร้างเติบโตอย่างยั่งยืนได้  การให้ทักษะและความรู้ในการประกอบอาชีพในหลายๆด้านต้องเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ภาครัฐจะต้องให้ความสำคัญและดำเนินการควบคู่กันไป  เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาจากภายในตามแนวคิดของ  endogeneous  growth  model  ได้อย่างแท้จริง

Article Details

Section
Articles