ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง: การตีความเชิงวิพากษ์ว่าด้วยมิติทางวัฒนธรรมจากมุมมองหลังสมัยใหม่ The Philosophy of Sufficiency Economy: A Critical Hermeneutics on the Cultural Dimensions from the Postmodern-based Perspectives
Main Article Content
Abstract
บทความนี้นำเสนอแนวคิดการวิพากษ์ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจากมุมมองทางมิติวัฒนธรรมโดยครอบคลุมถึงการตีความที่เกี่ยวข้องกับ 1) อุดมการณ์ 2) ความสัมพันธ์ทางสังคม 3) โลกทัศน์ 4) ค่านิยมที่ปรากฏในสังคมไทย ทั้งนี้โดยอาศัยการตีความเชิงวิพากษ์แบบวงจรเฮอเมิวติกส์ภายใต้กรอบของสำนักยุคหลังสมัยใหม่หรือโพสต์โมเดิร์นที่มักใช้ในการวิพากษ์องค์ความรู้ต่างๆที่มีอยู่ในโลกเพื่อกระตุ้นให้เกิดการตระหนักรู้ถึงและรู้เท่าทันสาระที่แฝงอยู่ในวาทกรรมที่หลากหลายในสังคมที่อาจมีลักษณะเป็นปฏิเสธหรือเป็นไปในทิศทางที่ตรงกันข้ามหรือขัดแย้งกับสาระหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่เน้นวิถีชีวิตแบบพอเพียงอันมีความพอประมาณ ความมีเหตุผล ระบบภูมิคุ้มกันบนฐานแห่งความรู้ควบคู่คุณธรรมอันเป็นแนวทางหลักของการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนทุกระดับตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชนจนถึงระดับรัฐ รวมทั้งการพัฒนาและการบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลางโดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ อนึ่ง บทความนี้เสนอประเด็นวิพากษ์รวมสี่ประเด็นหลัก อันได้แก่ ก) ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในฐานะอุดมการณ์กระแสหลักและพันธกิจของชาติ ข) ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในฐานะพุทธทัศน์ที่มุ่งพัฒนามิติทางจิตใจต้านภัย “ระลอกวิกฤตแห่งยุคสมัยใหม่” ค) ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในฐานะภาคปฏิบัติการจริงของวาทกรรมในการถอนรื้อ สร้างใหม่และฟื้นฟูของอัตลักษณ์ไทยว่าด้วยความสัมพันธ์ทางสังคมและ ง) ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในฐานะการปฏิวัติสังคมว่าด้วยค่านิยมบางประการของไทย ทั้งนี้ บทความนี้มีจุดมุ่งหมายในการผลักดันให้เกิดพลังขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนทั้งในด้านทัศนคติ องค์ความรู้และพฤติกรรมของคนไทยในการน้อมรับด้วยความเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงหลักการและแนวทางของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอันเป็นหลักการที่สอดคล้องกันกับพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาหลักของชาวไทยที่มีแก่นคำสอนที่เน้นสติปัญญาและเหตุผลเป็นสำคัญ