การประเมินผลสัมฤทธิ์ในการใช้บริการโลจิสติกส์ภายนอก

Main Article Content

พงษ์ชัย อธิคมรัตนกุล
สมคิด สมบัติภัทรา
ณัฐพล พุทธิพงษ์

Abstract

        ปัจจุบันบริษัทต่างๆ ในประเทศไทยเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบโลจิสติกส์ของตนเองมากขึ้น  หลายๆ บริษัทตัดสินใจยกระดับศักยภาพของขบวนการทำงานหรือกิจกรรมโลจิสติกส์โดยอาศัยการจัดจ้างบริษัทผู้ให้บริการโลจิสติกส์ภายนอก  อย่างไรก็ตามพบว่าบริษัทเหล่านี้จำนวนมากขาดการประเมินผลสัมฤทธิ์ในการใช้ทางเลือกดังกล่าว  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในลักษณะของการเปรียบเทียบงบประมาณหรือปัจจัยที่ใช้ไปกับผลตอบแทนหรือศักยภาพระบบโลจิสติกส์ของบริษัทที่ดีขึ้น  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคุณภาพ เวลา หรือบริการต่างๆ  ทั้งนี้เนื่องจากสภาพโดยรวมของการทำธุรกิจและพื้นฐานความรู้ความเข้าใจทั้งในเรื่องโลจิสติกส์และแนวทางการตัดสินใจเลือกใช้บริการโลจิสติกส์ภายนอกยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับบริษัทจำนวนมากในปัจจุบัน  ประกอบกับองค์ความรู้ งานวิจัยและงานวิชาการในเรื่องนี้ยังมีอยู่อย่างจำกัดในประเทศไทย  สำหรับงานวิจัยฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะพัฒนาวิธีการสำหรับประเมินผลสัมฤทธิ์ในการใช้บริการโลจิสติกส์ภายนอกของบริษัทไทยในอุตสาหกรรมต่างๆ ด้วยเทคนิคทางคณิตศาสตร์  โดยงานวิจัยนี้ประกอบไปด้วยงานสองส่วนหลักๆ โดยส่วนแรกเป็นการสำรวจข้อมูลปัจจัยและผลการเลือกใช้บริการโลจิสติกส์ภายนอกของบริษัทชั้นนำในประเทศไทย และส่วนที่สองเป็นการประยุกต์ใช้ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจมาพัฒนาวิธีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของการใช้บริการด้วยโมเดลทางคณิตศาสตร์หรือวิธี Data Envelopment Analysis (DEA)  โดยผลของการสำรวจจากตัวอย่างที่ติดต่อไปจำนวน 171 ราย  ปรากฏว่ามีผู้ตอบกลับและให้ความร่วมมือให้รายละเอียดจำนวน 95 ราย  ในจำนวนนี้อยู่ในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีจำนวน 20 ราย, กลุ่มอุตสาหกรรมวัตถุดิบและสินค้าอุตสาหกรรมจำนวน 29 ราย, กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคจำนวน 19 ราย, และกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารจำนวน 27 ราย  ผลของการสำรวจพบว่ามีบริษัทจำนวนถึง 56 รายที่ใช้บริการโลจิสติกส์ภายนอก  และมีความพึงพอใจในการใช้บริการในทุกด้านอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยปานกลางถึงสูงในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม  และผลของการประเมินผลสัมฤทธิ์ในการใช้บริการโลจิสติกส์ภายนอกด้วยวิธี DEA ที่ได้ถูกพัฒนาขึ้น  พบว่าในจำนวน 56 รายที่ได้แยกตามกลุ่มอุตสาหกรรมแล้ว  กลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีมีอย่างน้อย 5 บริษัทที่มีผลสัมฤทธิ์ต่ำกว่า 0.5  ซึ่งหมายถึงบริษัทเหล่านี้มีผลสัมฤทธิ์ในการใช้บริการโลจิสติกส์ภายนอกต่ำกว่าบริษัทอื่นและจำเป็นจะต้องปรับปรุงให้ดีขึ้น  ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมวัตถุดิบและสินค้าอุตสาหกรรมมีจำนวน 15  รายที่ต้องปรับปรุง, กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคมีจำนวน 3 ราย, และสุดท้ายกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารมีจำนวน 11 รายที่จำเป็นจะต้องมีการปรับปรุงด้วยเช่นกัน

Article Details

Section
Articles